Monday, 13 August 2007

โฆษณาเอาท์ดอร์ไทยยังอ่อน ชี้สเปเชียลเอฟเฟ็กต์ไม่เข้า

เผยผลงานมหกรรมโฆษณาภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 9 “เจ๊ ยูไนเต็ด” มาแรงโกยรางวัลใหญ่จากหนังโฆษณาโฟมล้างหน้าสมูทอี ชุดซีรีย์จุ๋ม ทั้งเดอะ เบสต์ ออฟ ฟิล์มควบด้วยรางวัลโกลด์ ด้าน บีบีดีโอ กรุงเทพฯเจ๋งสื่อสิ่งพิมพ์คว้า 3 รางวัลใหญ่จากสินค้าไฟฉายแม็กไลท์ วาย แอนด์ อาร์ชี้ปีนี้บอร์ดตัดสินเด็กขึ้นทำให้มุมมองเปลี่ยนตาม ด้าน “ตี๋ แม็ทชิ่ง” เผยงานคราฟท์ไทยส่งเข้าร่วมน้อยและไม่โดดเด่น มหกรรมโฆษณาภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือเอพีแอดเฟส ครั้งที่ 9 ประจำปี2549 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 9-11 มีนาคมที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “What’s Next” ซึ่งจะบอกถึงแนวโน้มทิศทางผลงานโฆษณาว่าจะไปในทิศทางใด โดยปีนี้มีผู้แทนจากเอเจนซีเข้าร่วมงานกว่า 400 แห่งจาก 34 เมือง หรือกว่า 1,400 คน ซึ่งถือว่าสูงกว่าปีก่อนถึง 30% ส่วนผลงานที่ส่งเข้าร่วมก็ไม่น้อยหน้าปีที่แล้ว 4,738 ชิ้น ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17% โดยปีนี้ประเทศที่ส่งผลงานเข้าประกวดมากที่สุด คือ อินเดีย มี 797 ชิ้นจาก 5เมือง รองลงมาเป็นไทยส่งผลงานเข้าประกวด 766 ชิ้น และอันดับ 3 เป็นสิงคโปร์ ส่วนผลงานภาพยนตร์โฆษณาของไทยที่ได้สร้างชื่อเสียงในเวทีแอดเฟสครั้งนี้ คือ “สมูทอี เบบี้ เฟช โฟม” ชุดThe Love Story (ซี่รีย์จุ๋ม) ได้รับรางวัลภาพยนตร์โฆษณาที่ดีที่สุด (The Best of Film) ควบด้วยรางวัลโกลด์ประเภทแคมเปญอีกหนึ่งรางวัล โดยรางวัลโกลด์ทั้งหมดที่ได้รับคัดเลือกในปีนี้มี 6 รางวัล ไทยกวาดมาได้ 4 รางวัล ซึ่งอีก 3 รางวัลตกเป็นของครีเอทีฟ จูซ/จีวันในผลงานโฆษณากรุงเทพฯประกันภัย ชุดTwisterและ Tyre รวมทั้งรางวัลประเภทแคมเปญในชุด Robbery/Tyre/Twister อีกกลุ่มหนึ่งที่วงการโฆษณาให้ความสำคัญไม่แพ้ภาพยนตร์โฆษณา คือ สื่อสิ่งพิมพ์หรือพริ๊น แอดที่ไทยโกยรางวัลโกลด์ 3 รางวัลจากทั้งหมด 5 รางวัล โดยปีนี้บีบีดีโอ กรุงเทพฯ สามารถกวาด 3 รางวัลใหญ่ได้จากสินค้า Maglite ในแคมเปญชุด A go go bar, Streetralker และ XXX Cinema คว้ารางวัลเดอะ เบสต์ ออฟ พริ๊นและโกลด์ นอกจากนี้ผลงาน XXX Cinema ยังได้รางวัลโกลด์มาครองด้วยอีกรางวัลประเภทเดี่ยว และจีวันคว้ารางวัลโกลด์ไป 1 รางวัลจากสินค้า Minery ชุดฟุต แคร์ เจ๊ ยูไนเต็ดมาแรงโกยรางวัลใหญ่หนังโฆษณา นางสาวจุรีพร ไทยดำรงค์ ประธานบริษัท เจ๊ ยูไนเต็ด จำกัดและหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินผลงานสื่อกลางแจ้ง(Outdoor) เปิดเผยถึงภาพรวมของงานแอดเฟสครั้งนี้ว่า ปีนี้ผลงานเอาท์เดอร์หรือสื่อกลางแจ้งของไทยยังสู้ชาติอื่นอย่างมาเลเซียและญี่ปุ่นไม่ได้ เนื่องจากไทยจะให้ความสำคัญกับสื่อภาพยนตร์โฆษณา(TVC) มากกว่า ซึ่งปีนี้มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและผลงานที่ได้รับรางวัลโกลด์( Gold) ก็มีไม่มากโดยมีประมาณ 6 รางวัล ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์หรือพริ๊นแอดของไทยปีนี้มองว่าใช้ได้ แต่ยังสู้ปีที่แล้วที่มีแคมเปญแรงและมีความโดดเด่นกว่า ในส่วนของบริษัทเจ๊ฯปีนี้ส่งผลงานภาพยนตร์โฆษณาเข้าประกวด 16 เรื่อง และได้รางวัลใหญ่ 2 รางวัล ได้แก่ สมูทอี ที่มีตัวละครชื่อจุ๋มเป็นตัวเดินเรื่องได้รับรางวัลภาพยนตร์โฆษณาที่ดีที่สุด (The Best of Film) และรางวัลโกลด์ ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์และกลางแจ้งปีนี้บริษัทฯไม่ได้ส่งเข้าประกวด ทั้งนี้บริษัทฯเปิดดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤษาคม 2548 โดยยอดรายได้ของบริษัทฯเป็นไปตามเป้าที่วางไว้หรือประมาณ 150 ล้านบาท ปีนี้บริษัทฯตั้งเป้ายอดขายจะโตขึ้น เนื่องจากมีการปรับโครงสร้างในบริษัทฯใหม่ในด้านต่างๆ เช่น เพิ่มบุคลากรและลูกค้าใหม่ที่คาดว่าจะมีเพิ่มอีก 5-6 แบรนด์ปัจจุบันลูกค้าของบริษัทฯมีกว่า 10 แบรนด์ อาทิ ยาสีฟันเดนทิสเต้, สมูทอี โกลด์ หลอดไฟซิลวาเนีย, สสส. และดีเอชซี เป็นต้น Y & R ชี้ปีนี้บอร์ดเด็กขึ้นมุมมองเปลี่ยนตาม นายตรง ตันติเวชกุล ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท วาย แอนด์ อาร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ผลงานโดยรวมปีนี้ยังมองว่าน่าตื่นเต้นและน่าสนใจ โดยในตัวชิ้นงานปีนี้มีประเด็นในการนำเสนอขายไอเดียแต่จะคล้ายๆปีที่แล้ว ส่วนวิธีการถ่ายทำและการเล่าเรื่องยังน่าสนใจอยู่และมีความใหม่อยู่เสมอ ส่วนตัวคณะกรรมการตัดสินปีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนหนุ่มสาวมากขึ้นกว่าทุกปี จึงทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในแง่การคอมเมนต์ผลงานที่ได้รับรางวัล “ปีนี้ผลงานภาพยนตร์โฆษณาของไทยมองว่าคล้ายกับเมื่อ 2 ปีก่อนที่เราเจอทางแล้ว โดยผลงานที่โดดเด่นเห็นจะเป็นกรุงเทพประกันภัยที่ดูใหม่ ส่วนพริ๊นแอดปีนี้โปรดักส์ชั่นโดดเด่นและวิธีการถ่ายทำดี ขณะที่นิว มีเดียที่เมื่อ 1-2 ปีที่แล้วพีคมาก แต่ปีนี้ยังไม่เห็นแรงเท่า ในส่วนของวาย แอนด์ อาร์ปีนี้ส่งผลงานเข้าประกวด 2-3 งานและมีได้ไฟนอลลิสต์” แม็ทชิ่งเผยงานคราฟท์ไทยยังอ่อน นายสมชาย ชีวสุทธานนท์ กรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท แม็ทชิ่ง สตูดิโอ จำกัด (มหาชน) และหนึ่งในคณะกรรมการผลิตชิ้นงานโฆษณา(Film Craft) เปิดเผยว่า ผลงานการผลิตชิ้นงานโฆษณาของไทยในปีนี้มองว่ามีความโดดเด่นของตัวชิ้นงานโฆษณาน้อย ส่วนหนึ่งมาจากชิ้นงานที่ส่งเข้ามาประกวดมีน้อยกว่าปีที่แล้ว อีกทั้งเวทีแอดเฟสเป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ชิ้นงานคราฟท์จากต่างประเทศส่งเข้ามาเพิ่มหรือกว่า 130 ชิ้นงาน โดยเท่าที่ดูภาพรวมของผลงานพบว่ามาตรฐานการผลิตชิ้นงานโฆษณาสูงขึ้น “จากการร่วมตัดสินงานคราฟท์ในปีนี้มองเห็นถึงความละเอียดอ่อนในวิธีการนำเสนอ และมุมมองที่พัฒนาขึ้น สามารถใช้เทคนิคในการผลิตชิ้นงานโฆษณามาช่วยส่งเสริมให้งานโฆษณามีความน่าสนใจมากขึ้น” ในส่วนของผลงานไทยที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ยังมีน้อย โดยไทยส่งผลงานในส่วนของสเปเชียล เอฟเฟกต์ และ กราฟฟิคเข้าประกวด ซึ่งผลงานยังไม่เข้าตามากนัก ส่วนงานตัดต่อและกำกับภาพยนตร์โฆษณาไม่มีผู้ส่งเข้าประกวด