Monday 13 August 2007

Producer ก้านกล้วย


แม้งานจะรัดตัวเหมือนงูเหลือมรัดเหยื่อ เพราะกำลังเร่งผลิตภาพยนตร์การ์ตูน แอนนิเมชั่นฟอร์มยักษ์เรื่อง "ก้านกล้วย" ของบริษัทกันตนา แอนนิเมชั่น จำกัด ให้ทันออกมาฉายในปีหน้า (ค.ศ.2005) แต่เมื่อ "หญิงไทย" ขอนัดสัมภาษณ์ถึงงานแอนนิเมชั่นที่เธอรัก "อัจฉรา กิจกัญจนาสน์" ผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์กราฟฟิค ก็พยายามปลีกเวลามาคุยกับเรา ถึงจะอยู่ในสภาพที่ยุ่งกับงานจน "หัวฟู" แต่ใบหน้ายังคงเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มอย่างคนอารมณ์ดี คุณตั้ม...อัจฉรา เล่าถึงประวัติการศึกษาของตัวเองให้ฟังว่า "...ตั้มจบปริญญาตรีทางด้านออกแบบอุตสาหกรรม คณุสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แล้วไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก่อนไปเมืองนอกก็แต่งงานก่อน แต่งงานแล้วก็ไปเรียน บังได้เห็นไตเติ้ล เครดิตในตอนท้ายของ HBO เคเบิ้ลทีวีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กราฟฟิค ดีไซน์ เราก็โอ.เค. เลยว่าขอเรียนอันนี้ละ อยากเรียน เพราะตั้งแต่เรายังเด็กชอบดูหนังไซไฟ หนังแนววิทยาศาสตร์ มีอิเมจิเนชั่น ก้ไปเรียนปริญญาโททางด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิค ดีไซน์ที่ลองเชสเตอร์ อินสติติว ออฟเทคโนโลยี ที่ลองเชสเตอร์ นิวยอร์ก เพื่ออนาคตจะได้ทำหนังบ้าง ตอนนั้นคิดไว้เล่น ๆ แต่ก็ไม่นึกว่าจะได้มาทำจริง ๆ ในตอนนี้... ...เรียนจบ ฝึกงานที่นิวยอร์ก แมนฮัตตัน 1 ปี เป็นงานที่อยู่ในสายงานคอมพิวเตอร์กราฟฟิคที่ได้เรียนมา จากนั้นก็กลับเมืองไทย ทำงานอยู่หลายแห่ง จนในที่สุดก็เข้ามาทำงานที่กันตนา แอนนิเมชั่น โดยเริ่มเป็น Producer Special Effect เริ่มเข้าใกล้ความฝันในวันเด็ก..."
งานผลิตของกันตนา แอนนิเมชั่นมีอะไรบ้างคะ "...คงต้องเล่าตั้งแต่สมัยปี 2530 ตอนนั้นฝ่ายผลิตการ์ตูนของบริษัทกันตนา แอนนิเมชั่น จำกัด ในเครือบริษัทกันตนา กรุ๊ป ได้ก่อตั้งขึ้น และร่วมผลิตงานให้กับบริษัทโตเอะ ประเทศญี่ปุ่น ในส่วนของ Production พร้อมกันนั้นได้ส่งบุคลากรไปอบรมยังประเทศญี่ปุ่นในหน้าที่ต่าง ๆ เช่น การเขียน In-between (ภาพต่อเนื่อง) และการลงสีให้ภาพออกมาดูสมจริง ผลงานที่กันตนา แอนนิเมชั่น ผลิตให้กับบริษัทโตเอะ ได้แก่ เซลเล่อร์มูน สแลม ดั๊งค์ ดรากอนบอล และเซนต์เซย่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังผลิตการ์ตูนให้กับยูเนสโกเรื่อง The Dog who want to be the sun (นิทานพื้นบ้านไทยความยาว 15 นาที) และ MEENA (นิทานพื้นบ้านของอินเดีย ความยาว 15 นาที) ฝ่ายผลิตการ์ตูนทำงานมา 9 ปี จนกระทั่งบริษัทโตเอะได้เปลี่ยนแปลงวิธีการผลิต จากการลงสีด้วยมือมาเป็นใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้ฝ่ายผลิตการ์ตูนกันตนา แอนนิเมชั่น หยุดงานผลิตลงชั่วคราว ...ในปี 2536 บริษัทได้จัดตั้งฝ่ายคอมพิวเตอร์กราฟฟิค ขึ้นรองรับการผลิต Visual Effect ให้กับภาพยนตร์ไทยเรื่อง "กาเหว่าที่บางเพลง" ซึ่งเป็นผลงานการสร้างของบริษัทกันตนาโมชั่น พิคเจอร์ จากนั้นก็ได้ขยายสายงานทางด้าน Visual Effect และ 3D Animation (ภาพยนตร์แอนนิเมชั่นระบบสามมิติ) เพื่อรองรับงานโฆษณาของกันตนา ไฮ-เอนด์ โพสต์ (Kantana Hi-End Post Production) ช่วงนี้ละค่ะที่ตั้งเริ่มเข้ามาทำงานกับกันตนา... ...ปัจจุบันนี้ฝ่ายคอมพิวเตอร์กราฟฟิค ได้รับความไว้วางใจให้ร่วมงานผลิตโฆษณาโดยตรงกับ Production House และ Advertising Agency โดยให้คำปรึกษาทุกขั้นตอนการผลิต รวมถึงมีส่วนในการถ่ายทำและร่วมพัฒนาแนวคิดจนเกิดภาพที่ปรากฎในภาพยนตร์โฆษณา มีผลงานที่โดดเด่นและได้รับรางวัลมากมาย... ...ในช่วงปลายปี 2544 ฝ่ายคอมพิวเตอร์กราฟฟิค ได้สร้างสรรค์การ์ตูนซีรี่ส์ชุด "ซน 100%" ขึ้น โดยทีมงานเริ่มต้นตั้งแต่การคิดเรื่อง ระดมมันสมองช่วยกันคิดโครงเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องความซนแสบซ่าของเด็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง ใส่เหตุการณ์ต่าง ๆ ใส่มุขตลกขบขันหรรษา จากนั้นฝ่ายเขียนบทจะนำไปเขียนแล้วส่งให้ฝ่าย Story Board ร่างออกมาเป็นภาพ ระหว่างนั้นทีมพากษ์ก็เริ่มทำบทพากษ์ ใส่เสียงตัวละครตามคาเร็คเตอร์ของตัวนั้น ๆ หลังจากนั้นก็นำ Story Board และภาพที่ได้มาตัดต่อร้อยเป็นเรื่องราวให้ลงตัวพอดีเป๊ะทั้งจังหวะ เวลาและความสนุกสนาน ในระหว่างนั้นตัวการ์ตูนและข้าวของต่าง ๆ และฉากทั้งหมดจะถูกออกแบบโดยฝ่ายอาร์ต เพื่อให้ฝ่ายโมเดลรับไปสร้างต่อเป็นภาพสามมิติ เมื่อได้โมเดลครบก็นำมาประกอบเป็นงาน Lay Out เพื่อให้เห็นภาพรวมของ Animation ทั้งเรื่อง... ....ในการทำการ์ตูนซีรี่ส์ชุดนี้ เรื่องที่ต้องใช้เวลามากที่สุด คือ การทำ Animation (ทำภาพนิ่งให้เป็นภาพเคลื่อนไหว) เพราะคนทำ Animation ที่เราเรียกกันว่าเป็น "Animation" นั่นเปรียบเหมือนเป็นทั้งผู้กำกับฯ ตากล้อง และนักแสดงในคน ๆ เดียวกัน เขาต้องดูทั้งองค์ประกอบภาพ ความเคลื่อนไหวของตัวละคร และอารมณ์ของเรื่อง เรียกว่ากว่าจะได้มาแต่ละตอนก็...เหนื่อยมาก ๆ ... ...อีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การใส่แสง สี ให้ภาพการ์ตูนแอนนิเมชั่นเกิดสีสันสดใสสวยงาม จากนั้นจึงนำเสียงตัวละครที่พากย์ไว้มามิกซ์รวมกับดนตรี และซาวน์ด์เอ็ฟเฟ็คท์ต่าง ๆ ซึ่งจะจบสมบูรณ์พร้อมออกฉาย การ์ตูนเรื่อง ซน 100% นี้ออกออกกาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี มาตั้งแต่ 6 พฤษภาคม วันพฤหัส-ศุกร์ เวลา 18.01 น. มีทั้งหมด 26 ตอนค่ะ... ...จากซีรี่ส์เรื่อง ซน 100% ก็มาถึงภาพยนตร์แอนนิเมชั่นเรื่อง "ก้านกล้วย" ซึ่งเป็นเรื่องของช้างเชือกหนึ่งที่ออกเดินทางผจญภัยไปกับผองเพื่อนเพื่อตามหาพ่อ ในที่สุดด้วยรูปร่างที่ถูกต้องตามหลักคชลักษณ์ ทำให้ก้านกล้วยถูกเลือกให้เป็นช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรฯ ความกล้าหาญของก้านกล้วยทำให้ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า "เจ้าพระยาปราบหงสาวดี"...
ความแตกต่างระหว่างการทำการ์ตูนออกฉายเป็นตอน ๆ ทางโทรทัศน์กับเป็นภาพยนตร์ฉายในโรง "...แตกต่างกันเยอะมาก มาก มาก (เน้นเสียง) ลองนึกถึงคนทำละครโทรทัศน์กับคนสร้างภาพยนตร์ ตั้มว่าคนสร้างภาพยนตร์จะเจอปัญหาเดียวกันหมด คือทำอย่างไรให้คนยอมเสียเงินมาดูหนัง อย่างทีวี พอคนเปิดเจอ โอ๊ะ! ถูกใจ ชอบ ก็จะดูได้เลย แต่ถ้าเขาอยากมาดูหนัง เขาต้องแต่งตัวขับรถออกจากบ้านมาซื้อตั๋ว โจทย์ยากของคนคิดจะทำหนังไม่ว่จะเป็นหนังการ์ตูน หรืออะไรนั่นก็คือ ทำอย่างไร เราจึงจะชักจูงในคนที่นั่งอยู่ที่บ้านอยากเดินทางมาหนังของเราที่โรงหนัง ภาพยนตร์แอนนิเมชั่นที่เราสร้างขึ้นมามันต้องมีอะไรน่าสนใจพอที่จะชักจูงให้เขาอยากมาดู... ...นอกจากนี้ความแตกต่างทางด้านเนื้อหา ซึ่งถ้าเป็นตอน ๆ เราก็ขมวดท้ายจบได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ถ้าเป็น Feature Film (ภาพยนตร์เรื่องยาว) อย่างเช่น "ก้านกล้วย" มีความยาวของหนังอยู่ที่ 80 นาที เวลาชั่วโมงกว่า ๆ นี้เราต้องหาวิธีการเล่าเรื่องให้ผู้ชมรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับหนัง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย... ...คิดกันง่าย ๆ เลยนะคะว่าโทรทัศน์ที่เราดูกันที่บ้านขนาดใหญ่สุด 60 นิ้ว ก็ยังไม่ใหญ่เท่าไร แต่จอภาพในโรงหนังกว้างยาวไม่รู้กี่เมตร ใหญ่กว่าฝาผนังบ้าน ในแง่ของคนผลิตงานเราต้อง Pay Attention (ใส่ใจดูแล) ทุกจุด เล็ก ๆ น้อย ๆ ละเอียดแค่ไหนถ้ามีข้อผิดพลาดขึ้นมา มันก็จะขยายเป็นภาพใหญ่โตเมื่อฉายขึ้นจอในโรงภาพยนตร์ บางครั้งมีสิ่งสกปรกติดเข้าไป แม้จะเป็นเศษฝุ่นเล็ก ๆ แค่นี้ (ทำท่าจิกปลายนิ้วก้อยให้ดู) ก็อาจจะใหญ่กว่าตัวละครในจอภาพยนตร์ได้ เรียกว่าการทำภาพยนตร์ต้องประณีตละเอียด พิถีพิถันกว่ากันมากเลยค่ะ...
พี่ก่อสร้าง ...เลเบอร์ แมน
งวงแดง ...ศัตรูตัวร้าย
ชะบาแก้ว ...ช้างสาวแสนสวย
นอกจากนี้ในเรื่องของความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอนเหมือนการถ่ายทำภาพยนตร์ ผิดตั้งแต่จุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงจุดใหญ่ ๆ ซึ่งถ้าจุดใหญ่ผิดนั่นก็คือ เราเลือกสไตล์หนังผิด เท่ากับว่าเราเริ่มผิดพลาดตั้งแต่คลอดแล้ว ยังมีความผิดพลาดในการเลือกเรื่องมาทำอีก แต่สำหรับก้านกล้วยเรามั่นใจว่าว่าเราเลือกเรื่องไม่ผิดแน่ ส่วนความผิดพลาดในระบบการทำงาน ก็อาจมีบ้างที่ส่งไปผิดแผนก เพราะในการทำงานของฝ่ายเราก็เหมือน Factory (โรงงาน) เข้าทางนี้ ไปแผนกโน้น ไปแผนกนี้ แล้วก็ไปออกที่แผนกนั้น อาจมีบ้างที่โค้งไปทางโน้นทางนี้ แต่ก็ไม่ใช่ที่ส่งออกแล้วต้องถอยหลังกลับมาทำใหม่... ...ความแตกต่างของทีมพากษ์ก็ต่างกัน ในภาพยนตร์แอนนิเมชั่นเรื่อง "ก้านกล้วย" นี้ เน้นเลยว่าทีมพากษ์ต้องใช้ดารา ถามว่าถ้าเป็นดาราที่เคยพากษ์การ์ตูนแอนนิเมชั่นของต่างประเทศจะได้เปรียบกว่าไหม ก็คงไม่แน่ เพราะเราอยากได้คลื่นลูกใหม่ ที่เสียงยังไม่เป็นที่คุ้นเคยเท่าไรนัก และที่แน่ ๆ คือต้องเป็นดาราที่เข้าถึงบทบาทของตัวละครแต่ละตัว เพราะทุกตัวจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขา ในการ์ตูนซีรี่ส์เรื่อง ซน 100% เราใช้ทีมพากษ์ไม่ถึงกับใช้ดาราพากษ์ เพราะเป็นงานที่ต้องส่งงานให้ทันเวลา แต่กับภาพยนตร์ ลงได้ชื่อว่า Big Form ทุกอย่างก็ต้อง...ใหญ่...ไปหมด..."
ปัญหาใหญ่ที่อยู่ตรงหน้าขณะนี้คืออะไรคะ "...คือความกลัวว่าจะทำงานไม่เสร็จ (หัวเราะกันครืนทั้งห้อง) จริง ๆ นะคะ ออกฉายปีหน้า ถ้าทำไม่ทันจริง ๆ คงจะได้ฉายช่วง 31 ธันวาพอดี คือปัญหาในการทำภาพยนตร์เรื่องยาวมันมีเยอะมาก ถ้าเรามีเวลามากเราก็จะทำงานได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด ในเวลาที่จำกัด แต่ตอนนี้เรากำลังทำ Commercial Art (ธุรกิจศิลป์) อยู่ และการจัดสรรคนในองค์กรเกือบร้อยคนให้มีความคิดและการทำงานในทิศทางเดียวกัน เป็นเรื่องที่...สุดสุด... ...ในการทำงานกับลูกน้อง ถ้ามีจุดถกเถียงโต้แย้งกัน ตั้มอาจจะได้เปรียบตรงที่ตั้มจะเป็น (Last Call) มีอำนาจตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้าย แต่เขาโชคดีตรงที่ตั้มมี Art Background ส่วนผู้บริหารจะโชคร้าย ตรงที่ตั้มเป็น Artist ตั้มจะไม่ยอมท่าเดียว คือตั้มจะต้องเป็นคนบริหารงบประมาณในการผลิตด้วย อย่างเช่น เราต้องใช้ Software ตัวนี้ แต่ต้องใช้เงินขนาดนี้ อ้าว! ไม่มีเงินแล้วนี่ เราก็ต้องหยุดไว้ก่อนแล้วมองหาตัวใหม่ อะไรที่พอจะมาแทนที่ได้ หรือบางที่ Software ตัวนี้ทำภาพแบบนี้ออกมาได้ เจ๋งว่ะ! เอ้า! ตกลง ซื้อก็ซื้อ เราก็พยายามเฉลี่ยงบประมาณ สามารถซื้อต้นไม้ใส่ซีนนี้เพิ่มได้อีกสักต้นสองต้น แล้วทำให้ภาพสวยขึ้นนะ เราก็จัดสรรไป... เราก็อยากให้หนังออกมาเลิศเลอเพอร์เฟ็คอย่างที่เราต้องการ..."
ในตอนนี้ความก้าวหน้าเรื่องเทคโนโลยีของกันตนา แอนนิเมชั่น พัฒนาขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุดหรือยังคะ "...ถ้าเทียบกับฮอลลีวู้ด เราคงไม่สุดยอดร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนเขา เราก็ดูงาน ศึกษางานแอนนิเมชั่นของฮอลลีวู้ดพอสมควร เราทราบเทคนิคเทคโนโลยีต่าง ๆ ของเขา แต่บางครั้งเราไปไม่ถึง อย่างเช่น เขามี Animator อยู่ร้อยคน เรามี Animator อยู่เพียง 20 คน ในการทำงานแอนนิเมชั่นให้ออกมาช็อตหนึ่งในเวลา 10 วินาที เราก็ต้องทำงานหนักกว่าเขาเยอะมาก งานสร้างภาพยนตร์แอนนิเมชั่นต้องแปรผันตามเวลา และงบประมาณด้วย ทุนของเขาหนึ่งเรื่องใช้เงินหนึ่งร้อยห้าสิบล้านยูเอส ดอลลาร์ เขาย่อมมีเครื่องมือ มีอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ดีกว่าเราอยู่แล้ว... ตั้งไม่อยากให้เปรียบเทียบฝีไม้ลายมือกัน ตั้มกลัวเหมือนกันว่าพอหนังออกมาแล้ว...ตอนนี้ยังฝันร้ายอยู่เลย เราต้องรู้ว่า ข้อจำกัดของเราคืออะไร พยายามพัฒนางานของเราให้อยู่ภายใต้ขอบเขตที่จำกัด โดยพยายามพัฒนาให้งานของเราออกมามีคุณภาพให้มากที่สุด... ...ถ้าถามว่า งาน Animation ของกันตนาถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยไหม...ตั้มว่าทุกค่ายต่างก็พยายามพัฒนางานของเขา ในแง่ของผู้บริหาร ในแง่ของการทำธุรกิจ อาจใช่ว่าเราต้องเป็นที่หนึ่ง แต่ในแง่ของคนทำงาน เราเพียงแต่ Push ตัวเองทุกวัน ทุกวินาที โดยไม่ได้คิดว่าต้องไปทำงานแข่งกับใคร เพราะเรากำลังแข่งกับตัวเองอยู่ ตั้มก็ดูงานของค่ายอื่น ๆ ก็รู้สึกว่าเขาเก่งนะ เขาได้ในส่วนที่เขาเป็น เราก็ยินดีกับการที่มีคนทำงานนี้ออกมาเยอะ ๆ มันทำให้ทุกคนเกิดการแข่งขันพัฒนางาน อย่างเราซึ่งเป็นพี่เขา เราทำงานนี้มาก่อน เขามองมา เออ! พี่เขาทำดีนะ เขาก็ต้องทำงานให้ดีมากขึ้น เราก็ไม่หยุดอยู่แค่นี้ ทำให้วงการ Animation ของเมืองไทยครึกครื้นขึ้น..."
จิ๊ดริ๊ด... นกพิราบพี่เลี้ยงก้านกล้วย
ในอนาคตภาพยนตร์การ์ตูนแอนนิเมชั่นจะพัฒนาต่อไปอีกเยอะไหมคะ "...ถ้ามีคนยอมรับมากขึ้น คนไทยทั้งประเทศ 60 ล้านคน มาดูเรื่อง "ก้านกล้วย" สัก 10-20 ล้านคน ก็น่าจะพอนะคะ (หัวเราะอย่างอารมณ์ดี) พอที่จะทำให้เรามีกำลังใจ มีทุนที่จะสร้างเรื่องต่อไป นักลงทุนเขาก็อยากจะลงทุนให้เรานะคะ ตอนทำการ์ตูนซีรี่ส์ฉายใน TV เราแทบจะตายเลย การ์ตูน 26 ตอน ตอนละ 11 นาที เราใช้งบประมาณไป 26 ล้านบาท แต่เรื่อง "ก้านกล้วย" เราใช้งบประมาณ 120 ล้านบาท รวมทั้งงบโปรโมทก็อยู่ในนี้ด้วย การสร้างภาพยนตร์ต้องใช้เงินลงทุนสูง ถ้า Demand (ความต้องการของผู้บริโภค) น้อย Supplier ก็คงไม่รู้จะซัพพลายไปให้ใครดู ...เขาก็คงไม่ต่อชีวิตเรา..."
มีโครงการจะนำไปขายที่ตลาดหนังเมืองคานส์ไหมคะ "...มีค่ะ ตรงนี้ผู้บริหารจะช่วยเราดูด้วย ถ้าเราทำหนังได้ดีมีคุณภาพ ต่างประเทศก็จะหันมามองเราบ้าง ตั้งเคยไป Present ภาพยนตร์เรื่องก้านกล้วยที่ต่างประเทศ เขาก็ Happy นะ และตื่นเต้นกับเราพอสมควร ส่วนเรื่องที่เขาจะซื้อหรือไม่ซื้อ ตรงนี้คงยังพูดไม่ได้ เพราะหนังยังทำไม่เสร็จ แต่เขาก็เฝ้ามองดู เฝ้ารอเรานะว่าเมื่อไรจะทำเสร็จ ...ในฐานะที่เป็นคนทำ เราคิดว่าโอกาสที่ "ก้านกล้วย" จะขายต่างประเทศได้มีเกินกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าในตลาดหนังเมืองคานส์ คงไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองไทยอิงประวัติศาสตร์ไทยมากมายเท่าไรนัก และ "ช้าง" เป็นสัตว์ที่มีคนชอบมาก เพราะเป็นสัตว์ที่น่ารัก ยังไม่มีการ์ตูนเรื่องไหนที่ช้างเป็นพระเอก นอกจาก "ดัมโบ้" ซึ่งเป็นช้างหูใหญ่จนใช้ใบหูกระพือให้บินได้ แต่อันนั้นก็ไม่ใช่ช้างธรรมดาอย่าง "ก้านกล้วย" ที่ได้ยศศักดิ์มาเพราะความกล้าหาญ นอกจากนี้งานการ์ตูนแอนนิเมชั่นของเรายังผสมผสานกลิ่นอายความเป็นไทยลงไปด้วย ไทย โมทิฟ อาร์ต (Thai Motive Art) เป็นเส้นโค้ง เส้นขดหอยดนุ่มนวล และเอกลักษณ์ของเราเอง ส่งเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งดึงดูดให้คนต่างประเทศรอดูภาพยนตร์การ์ตูนแอนนิเมชั่นจากประเทศไทย..."
ถึงแม้ว่า "ก้านกล้วย" จะไม่ใช่ภาพยนตร์แอนนิเมชั่นเรื่องแรกของประเทศไทย เพราะคุณตั้มยกให้ "สุดสาคร" ของอาจารย์ปยุต เงากระจ่าง คือภาพยนตร์การ์ตูนแอนนิเมชั่นเรื่องแรกที่เป็น "ครู" และเป็นแรงบันดาลใจให้ Gartoonist และ Animator รุ่นใหม่แต่ "ก้านหล้วย" อาจจะเป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนนิเมชั่นเรื่องแรกของประเทศไทยที่ถูกแย่งซื้อในตลาดหนังเมืองคานส์ ณ ตอนนั้นชื่อของคุณตั้ม ...อัจฉรา กิจกัญจนาสน์ ในฐานะ Producer จะถูกพิมพ์ลงในไตเติ้ล เครดิตท้ายเรื่อง เป็นที่จดจำเล่าขานในวงการแอนนิเมชั่น