Monday 13 August 2007

ยิ้มรับสื่อรถไฟฟ้า

วีจีไอย้ำพันธมิตรฝ่าศก.ชะลอตัว ยิ้มรับสื่อรถไฟฟ้า-ในห้างสดใส
วีจีไอ ชูกลยุทธ์บิสิเนส พาร์ทเนอร์ ทำตลาดฝ่ากระแสเศรษฐกิจชะลอตัว มั่นใจเดินมาถูกทาง คาดสิ้นปีโต 15-20% ย้ำภาพความเป็นผู้นำสื่อเคลื่อนที่ ขณะที่สื่อในห้างทิศทางแจ่มใส ผู้ประกอบการแห่ใช้กระตุ้นยอดขาย เล็งหาสื่อใหม่เข้าเสริม
นายมารุต อรรถไกวัลวที ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและขาย บริษัท วีจีไอ โกลบอลมีเดีย จำกัด ผู้บริหารสื่อโฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส และสื่อโฆษณาในห้างโมเดิร์นเทรด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงทิศทางการทำตลาดในช่วงครึ่งปีหลังว่า บริษัทยังคงใช้กลยุทธ์การเป็นพันธมิตรกับลูกค้า (Business Partner) เนื่องจากเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ทำให้ประสบผลสำเร็จ มีผลประกอบการเติบโตมาโดยตลอด
"การเข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์กับลูกค้าได้ ถือว่าสุดยอดแล้ว เพราะเราสามารถตอบโจทย์เขาได้ว่าจะใช้สื่อนอกบ้านสร้างความสำเร็จให้กับลูกค้าได้อย่างไร ซึ่งถือว่าบริษัทได้เดินมาถูกทางแล้ว และจะใช้นโยบายนี้ในการทำธุรกิจนี้ต่อไป ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกของบริษัทก็เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยภาพรวมในปีนี้บริษัทวางเป้าหมายการเติบโต 15-20%" นายมารุต กล่าวและว่า
ความสำเร็จของสื่อเคลื่อนที่บนรถไฟฟ้า นอกจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบริษัทและลูกค้าแล้ว จำนวนคนใช้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6-7 แสนคนต่อวัน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายระดับบีถึงเอ ที่มีกำลังซื้อสูง และมีช่วงอายุตั้งแต่วันรุ่นจนถึงอายุ 45 ปี ก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของธุรกิจสื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้าด้วยเช่นกัน
นายมารุต กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 60-70% ในมูลค่าตลาดรวมของสื่อโฆษณาเคลื่อนที่ ซึ่งดูทิศทางการเติบโตของสื่อดังกล่าวในปีนี้คาดว่าจะไม่มีการเติบโตมากนัก แต่หากมีการเติบโตจะเป็นการเติบโตจากในส่วนของบริษัท ส่วนการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ ในปีนี้บริษัทยังไม่มีการลงทุนเพิ่ม แต่หากพบว่ามีธุรกิจหรือสื่อโฆษณาที่มีศักยภาพบริษัทก็พร้อมจะลงทุน ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้มีการลงทุน 150 ล้านบาท ในการติดตั้งจอแอลซีดีภายในตัวรถไฟฟ้า 35 ขบวน สำหรับใช้เป็นสื่อโฆษณารูปแบบใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบคุณภาพของสื่อโฆษณา
นอกจากบริษัทบริหารสื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้ว บริษัทยังบริหารสื่อโฆษณาภายในห้างโมเดิร์นเทรด ที่ห้างเทสโก้ โลตัส และห้างบิ๊กซี ทุกสาขาทั่วประเทศด้วย ซึ่งทางบริษัทพยายามหาสื่อโฆษณารูปแบบใหม่เข้ามาให้บริการ เช่น ป้าย Zeno board แต่ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ในแต่ละห้างด้วยว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
นายมารุต กล่าวเพิ่มเติม ทิศทางการใช้สื่อโฆษณาของผู้ประกอบการเริ่มหันมาใช้สื่อภายในห้างมากขึ้น เนื่องจากสื่อโฆษณา ณ จุดขาย มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคโดยตรง ขณะเดียวกันผลจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ก็ทำให้สื่อโฆษณาหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ที่มีราคาแพง การวางแผนใช้สื่อดังกล่าวเพื่อให้ได้ผลนั้น จะต้องใช้งบประมาณสูง ผู้ประกอบการจึงต้องพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณ
"ปัจจุบัน หากผู้ประกอบการที่งบประมาณการซื้อสื่อโฆษณาไม่เยอะ ต้องใช้สื่อโฆษณาเฉพาะ เช่น สื่อโฆษณานอกบ้าน ซึ่งสามารถตอบโจทย์ได้ดี ขณะที่มีทฤษฎีที่บอกว่าสื่อ ณ จุดขายมีส่วนช่วยในการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคได้ ซึ่งบริษัทก็พยายามที่จะพัฒนาสื่อโฆษณารูปแบบใหม่เข้ามาใช้ แต่ต้องพิจารณาว่ามีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้หรือไม่ อย่างล่าสุด มีสื่อโฆษณาซีโน บอร์ด ที่คนเดินผ่านจะมีภาพเคลื่อนไหวตาม ปัจจุบันมีการติดตั้งอยู่ 4-5 จุดแล้ว" นายมารุต กล่าวในตอนท้าย