Monday 13 August 2007

ฟันธงธุรกิจปีหมูยังเสี่ยง

ฟันธงธุรกิจปีหมูยังเสี่ยง +ค้าปลีก,คอนซูเมอร์ฯ,เครื่องใช้ไฟฟ้า-โฆษณาคะมำขณะที่หนังรุ่ง
ธุรกิจชี้ทิศปี50 ยังอยู่ในภาวะเสี่ยง ‘สยามพารากอน’ฟันธงค้าปลีกอัดอีเวนต์ชิงลูกค้ามันหยด ขณะที่กลุ่มคอนซูเมอรฯ ‘สหพัฒน์ฯ’เชื่อทั้งระบบโตแค่ 5 % ด้านเครื่องใช้ไฟฟ้า ‘พานาโซนิค’ เตรียมลดคอร์สสินค้าไม่ทำกำไร นายกส.โฆษณาชี้นโยบายรัฐบาลไม่ชัดส่งผลผู้ประกอบการชะลอการใช้งบบางกลุ่มสินค้าลดการใช้ถึง 30-50 % ขณะที่ ‘เมเจอร์’มั่นใจธุรกิจหนังรุ่งเนื่องจากหนังใหญ่ทำเงินเข้าเพียบ
นายเกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ผู้บริหารอาวุโสสายการตลาด บริษัท สยามพารากอน ดีเวล ลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงทิศทางการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกในปี 2550 ว่า จะยังคงทวีความรุนแรงสูงขึ้น เพราะทุกค่ายจะหันมาใช้การจัดอีเว้นท์เป็นตัวฉุดยอด แต่แนวคิดการจัดการหรือการสร้างความแตกต่างจะเป็นสิ่งที่ยากขึ้น เพราะคนคุ้นเคย จำเจ อยู่กับสินค้าที่ไม่มีความแตกต่าง อย่างไรก็ดี การทำตลาดในปีหน้า จะเน้นคอนเซ็ปท์ อินโนเวท มาร์เก็ตติ้ง ด้วยการนำแอสเซ็ทที่มีอยู่มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าและตัวห้างหรือศูนย์ควบคู่กันไป โดยการจัดกิจกรรมจะขึ้นอยู่กับ Value Bass Management ทั้งการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และการสร้างสิ่งแปลกๆใหม่ๆให้เกิดขึ้น
สำหรับกลยุทธ์ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นคือ การทำตลาดแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่ม ( Segmentation Oriented) เน้นจับกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งเป็นการทำตลาดแบบ one-to-one marketing รวมไปถึงการทำ CRM (Customer Relation Management) แต่อย่างไรก็ดี กลยุทธ์การตลาดและการสื่อสารการตลาดแบบครบวงจร หรือ IMC (Integrated Marketing Communication) ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นและต้องนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับตลาดสินค้าอุปโภค บริโภค นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด กล่าวถึงภาพรวมตลาดปี 2550 ว่า จะเติบโตที่ตัวเลขหลักเดียว ซึ่งคาดว่าจะโตประมาณ 5% จากมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งการเติบโตดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคเองไม่เพิ่มมากนัก รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตเหมือนช่วงเศรษฐกิจบูมดังที่ผ่านมา แต่อาจมีบางบริษัทที่เติบโตสูงถึง 10% ขึ้นอยู่กับการรุกตลาดมากน้อยของแต่ละค่าย โดยในส่วนของสหพัฒน์ฯ นั้น การเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คือเติบโตจากปีก่อนกว่า 10%
ด้านนายไดโซ อิโตะ ประธานกรรมการบริหารของกลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทย กล่าวถึง ภาพรวมธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในปีหน้าว่า จะมีทิศทางดีขึ้นกว่าปีนี้เพราะปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นในปีนี้ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และการเมือง ได้คลี่คลายลงไปมากแล้ว แต่ปัจจัยที่น่าห่วงน่าจะเป็นเรื่อง วัตถุดิบและค่าเงินบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนรองรับไว้บ้างแล้ว คือลดคอร์สการผลิตในไลน์สินค้าที่ไม่ทำกำไรลง และแผนรองรับอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในปีนี้ ถือว่าพานาโซนิคประสบความสำเร็จเกินเป้าที่ตั้งเอาไว้ โตขึ้นจากปีที่แล้ว 16 % ขณะที่ปีหน้าพานาโซนิค ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 21,260 ล้านบาท แยกเป็นกลุ่มเอวีและแบตเตอรี่ 13,560 ล้านบาท และกลุ่มเอชเอ 7,700 ล้านบาท พร้อมกับผลักดัน สินค้าทั้ง ทีวีทั้งระบบ เครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น ขึ้นเป็นผู้นำตลาด ตลอดจนจัดกิจกรรมทางการตลาดควบคู่กับร้านตัวแทนจำหน่ายใช้งบการตลาด ถึง 2,000 ล้านบาท
นายวิทวัส ชัยปราณี ในฐานะนายกโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจโฆษณาในปีหน้า ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนทั้งหลาย ต่างรอความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด แม้ว่าจะมีการใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบพอเพียง แต่ภาพยังไม่ชัดเจนไม่สามารถจับต้องได้ และแต่ละคนก็มีมุมมองต่อเรื่องดังกล่าวแตกต่างกันไป โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจต่างๆ เช่น อัตราดอกเบี้ย บัตรเครดิต การปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล
"ตอนนี้ประชาชนชะลอการใช้จ่ายเงิน เนื่องจากไม่แน่ใจในทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้ไม่ซื้อสินค้าซึ่งยังส่งผลถึงการไม่ซื้อสินค้าเกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วย เช่น ถ้าชะลอการซื้อบ้าน ก็ไม่มีการซื้อเฟอร์นิเจอร์ด้วย ทำให้ผู้ประกอบการที่จะดำเนินธุรกิจก็ต้องชะลอแผนการโฆษณา แผนการออกสินค้าใหม่ไว้ก่อน ทำให้วงการโฆษณาได้รับผลกระทบตามมา ซึ่งรัฐบาลต้องชี้ให้ชัดถึงนโยบายที่จะดำเนินการต่อไปให้เร็วที่สุด อย่างช้าต้นปีหน้า ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาตามมา" นายวิทวัส กล่าวและว่า
ทางสมาคมและผู้ประการโฆษณาประเมินสถานการณ์ถึงวันนี้ว่า ในปีหน้าเม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณาจะหายไป เนื่องจากการชะลอการใช้งบประมาณของภาคเอกชนเฉลี่ย 10% ซึ่งในบางกลุ่มสินค้ามีการลดงบประมาณโฆษณามากถึง 30-50% จากการประเมินเม็ดเงินโฆษณาในปีนี้ที่คาดว่าจะมีแค่ 83,000 ล้านบาท ซึ่งก็ลดลงจากปีที่ผ่านมา 4-5% ซึ่งผู้ประกอบการในธุรกิจโฆษณาเองก็ยังไม่รู้ว่าจะดำเนินธุรกิจไปในทิศทางใด เนื่องจากคงต้องรอดูความชัดเจนของภาครัฐบาลด้วยเช่นกัน
นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทิศทางธุรกิจโรงภาพยนตร์ปีหน้าค่อนข้างดี เนื่องจากหน้าหนังที่จะเข้าฉายในปีหน้า ล้วนเป็นหนังใหญ่ทำเงิน ทั้งหนังไทยและเทศ อาทิ พระนเรศวร, แฮรี่ พอตเตอร์, สไปเดอร์แมน 3, ไพเรท ออฟ เดอะคาร์ริเบี่ยน และยังมีหนังจากค่าย จีทีเอช ของนาย วิสูตร พูลวรลักษณ์ และหนังจากค่ายสหมงคลฟิล์มเข้าฉาย นอกจากนี้ ยังคาดว่าการเมืองปีหน้าจะนิ่ง จนกว่าจะมีการเลือกตั้งปลายปี ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายเกิดขึ้น ธุรกิจโรงหนังโดยรวมน่าจะเติบโตได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ภาพรวมของตลาดในปีนี้ ไม่ค่อยดีนัก แม้จะมีอัตราการเติบโต 7-8% โดยจะเห็นได้จากรายได้หนังที่เข้าฉาย ปริมาณหนังทำเงินหลัก 100 ล้านบาท มีอยู่เพียงไม่กี่เรื่อง เนื่องจากหนังหลายเรื่องที่คาดว่าจะสามารถทำได้ นอกจากนี้ ปัญหาในช่วงที่มีการชุมนุมประมาณกุมภาพันธ์ -มีนาคม 2549 ทำให้รายได้ของโรงหนังลดไปถึง 10-20%
อย่างไรก็ตาม ปีหน้าเมเจอร์จะเพิ่มโรงอีกอย่างน้อย 40 โรง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และยังปรับปรุงโรงเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้มีความทันสมัย และ 13 ธันวาคมนี้ เมเจอร์ได้เปิดโรงหนังใหม่ที่โครงการเอสพานาร์ดอีกหนึ่งที่