Monday, 13 August 2007

One Man Show

ทรงยศ สุขมากอนันต์ เดอะย้ง ถึงเวลา "วันแมนโชว์"
สุกรี แมนชัยนิมิต Positioning magazine กุมภาพันธ์ 2549“ดังแล้วแยกวงหรือไม่?” หากเป็นคนอื่นเจอคำถามแบบนี้ก็คงถึงกับอื้ง หรืออาจตอบคำถามแบบพระเอ๊ก พระเอก ว่า “ไม่นะครับ” แต่สำหรับ ทรงยศ สุขมากอนันต์ หรือ "ย้ง" ไม่ใช่พระเอก แต่เพราะเขาเป็นผู้กำกับหนังล่าสุด “เด็กหอ” หลังจากที่มีผลงานร่วมกับเพื่อนๆ ในเรื่อง "แฟนฉัน" เมื่อปี 2546 ในเครือของแกรมมี่ ในนามบริษัทจีเอ็มเอ็มไทหับ จำกัด หรือจีทีเอช คำตอบจึงทำให้น่าสนทนาต่ออย่างไม่ลังเล “จะมองในแง่นั้นก็ได้ ตอนแรกที่มารวมตัวกัน มาทำ “แฟนฉัน” ก็ไม่ได้คิดว่าจะดัง ประเด็นเริ่มจากพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) ให้พวกผมเข้ามาทำ ตอนนั้นก็แค่คิดว่าทำ “แฟนฉัน” ดังแล้วก็จบ ก็พอใจแล้ว แต่บังเอิญประสบความสำเร็จ เราก็เลยได้ทำต่อ” ประสบการณ์จากเรื่อง “แฟนฉัน” ต่อยอดมายังเรื่อง “เด็กหอ” เพราะตอนทำ “แฟนฉัน” นั้น “ย้ง” ร่วมเขียนบท ร่วมกันกำกับ เป็นการกำกับตั้งแต่อยู่บนโต๊ะ ตอนเขียนบท ตอนอยู่ในกองจริงๆ ทุกคนก็มีหน้าที่เป็นผู้กำกับ และทั้ง 6 คนจะมีหน้าที่เพิ่ม อย่างผมเป็นตากล้องด้วย คือทุกคนมีสิทธิที่จะบอกว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ถือว่าทุกคนกำกับด้วยกัน” เรียกได้ว่าทุกคนเป็นผู้กำกับตั้งแต่อยู่ในพิมพ์เขียว “ใช่ครับ” ความแตกต่างระหว่างการทำงานเป็นทีมกับกำกับคนเดียวแบบวันแมนโชว์นั้น “ย้ง” บอกว่า “ความยากคือต้องปรับตัว เพราะไม่เคยกำกับหนังใหญ่คนเดียวมากก่อน ถามว่าเป็นสิ่งที่เราต้องเจอหรือไม่ จริงๆ ผู้กำกับทั่วโลกเขาก็ทำงานคนเดียวทั้งนั้น ผมรู้สึกว่าต้องรู้ปัญหาทุกอย่าง และต้องเป็นคนตัดสินใจ เป็นสิ่งที่เพิ่งเจอ และเรียนรู้ เป็นครั้งแรกที่ต้องปรับตัว” บทพิสูจน์ฝีมือจากแฟนฉันหากวัดเป็นตัวเงินในเวลานั้น คือทำรายได้ถึง 137 ล้านบาท มากสุดในรอบหลายปี และมีคนพูดถึงมากที่สุดในช่วงนั้น แต่ที่วัดไม่ได้คือการทำให้ “ย้ง” ได้โอกาสในการกำกับ “เด็กหอ” เป็นเรื่องต่อมา ไม่เพียงกำกับเท่านั้น แต่โครงเรื่อง “เด็กหอ” ยังมาจากตัวตนของเขา เมื่อครั้งถูกส่งไปอยู่โรงเรียนประจำที่อัสสัมชัญศรีราชา ซึ่งก่อนไปรู้สึกว่าไม่ต้องการไปอยู่ แต่เมื่ออยู่ 3 ปี จนถึงม.3 ต้องกลับกรุงเทพฯ กลับรู้สึกว่าไม่อยากกลับ “ผมรู้สึกว่ามันเป็น conflict ผมก็เลยคิดว่ามันต้องมีอะไรน่าสนใจ จากที่ไม่เคยอยากอยู่ กลายเป็นว่าผมรักโรงเรียนนี้ แสดงว่ามีอะไรน่าสนใจที่จะเล่าให้คนอื่นฟัง คราวนี้ถ้าจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนประจำล้วน ก็คงเป็นหนังดราม่าที่ไม่มีจุดขายทางการตลาด ก็เลยต้องเพิ่มเรื่องราวลึกลับเข้าไปในหนัง จากที่ชอบหนังแนวนี้อยู่แล้ว ก็เลยเอาโรงเรียนประจำเป็น background เอาเรื่องลึกลับเป็น plot ของหนังแทน” นั่นคือจังหวะหนึ่งของการเป็นผู้กำกับที่เดินตามวาทะของพี่เก้ง บุคคลที่ “ย้ง” ยึดเป็นต้นแบบที่ว่า "ถ้าคุณอยากเป็นผู้กำกับหนัง คุณต้องออกไปใช้ชีวิตซะก่อน” ประสบการณ์ชีวิตตอนหนึ่งของ “ย้ง” จึงถ่ายทอดผ่าน“เด็กหอ” ที่เขาบอกว่า เป็นหนัง Drama Coming of Age แต่ก็เป็นรื่องที่พูดยาก คือว่าเด็กหอเป็นหนังผี คือมีผีอยู่ในเรื่อง แต่ไม่ใช่สยองขวัญ ไม่ใช่หนัง horror เป็นหนัง suspense ตอนนี้กลัวว่าคนดูคาดหวังว่าจะมีผีน่ากลัว เข้าไปดูและมีสิ่งน่ากลัวเรื่อยๆ แต่เด็กหอไม่ใช่อย่างนั้น เด็กหอ ถ้าน่ากลัวจะเป็นน่ากลัวจากบรรยากาศ และเรื่องราวมากกว่า จะมีผีหน้าขาวให้สะดุ้งตกใจ ความคาดหวังของ “เด็กหอ” จากที่มีหน้าหนังเป็นแบบ thriller suspense “ย้ง” บอกว่า ขายต่างประเทศไม่ยาก แต่รู้สึกว่า “เด็กหอ” กับคนไทยอาจมีความเป็นหนังผีก็จริง แต่มีวิธีการเล่าใหม่ๆ ไม่คุ้นกับคนไทย แต่ไม่ได้ใหม่ของโลก ตลาดเมืองไทยจึงอาจทำมาร์เก็ตติ้งยากกว่า แน่นอนว่า "เด็กหอ” เป็นสิ่งท้าทายใหม่สำหรับเขา และยังต้องใช้เวลาพิสูจน์ แต่ก็ด้วยความเป็นผู้กำกับรุ่นใหม่ไฟแรง จึงมีคำแนะนำสำหรับคนที่ใฝ่ฝันอยากเดินบนเส้นทางนี้ว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าไม่ใช่ทุกคนที่เป็นผู้กำกับได้ ทุกวิถีทางแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าโอกาสมาหาเราแล้ว ต้องคว้าไว้ แต่ถ้าไม่พร้อมก็ล้มเหลว สำหรับ “ย้ง” ในวันนี้กับความเต็มที่ในการปั้น “เด็กหอ” อาจเป็นเพียงการเริ่มต้นในวิถีการเป็นผู้กำกับ แต่สิ่งที่เขาใฝ่ฝันคือ อยากทำหนังไปเรื่อยๆ ด้วยความรู้สึกที่ว่า “ตอนนี้มีอาชีพในสิ่งที่ตัวเองรัก ถ้าได้ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผมก็มีความสุขกับมัน ดังนั้น ขั้นตอนการทำงานเราก็เต็มที่กับมัน คนดูก็รู้แล้วว่าเรารักที่จะทำสิ่งนี้” เพราะความเต็มที่กับงานนี้ในวันนี้ จึงทำให้ “ย้ง” บอกอีกว่า จะไม่รู้สึกเสียใจหากในอนาคตมองย้อนกลับมาดูผลงานของตัวเอง ไม่ว่างานนั้นจะออกมาดีหรือไม่ เพราะเขาได้ทำเต็มที่และทุ่มเทอย่างที่สุดแล้ว “ศัตรูสำคัญคือตัวเอง บางจังหวะทำหนังอยู่ แล้วเหนื่อยท้อ ก็ต้องบอกว่าท้อไม่ได้ เพราะเรากำลังทำสิ่งที่เรารัก ถ้าเราท้อวันนี้ ยอมแพ้วันนี้ หนังที่อออกมาจะไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นเรา ถ้าเราท้อวันนี้ ยอมแพ้ หนังจะไม่ออกมาเป็นสิ่งที่เป็นเรา และหนังจะอยู่ไปอีก 10 ปี 100 ปี แล้วเรากลับมาดู อายุ 90 มาดู เราดูแล้วมีจุดหนึ่งที่เรายอมแพ้แล้วเราท้อ แต่ถ้าเราพยายามอีกนิดนึง แล้วดีกว่านี้ ผมไม่อยากรู้สึกอย่างนั้น ถ้าเราทำเต็มที่กับมันแล้วยังไม่สามารถสู้คนอื่นได้ ผมก็ไม่สนใจอะไรแล้ว เพราะเราทำได้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นเรา” Profile Name : ทรงยศ สุขมากอนันต์ (ย้ง) Age : 33 ปี Education : ปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2536-2539 Career Highlights : 2540 หนังสั้น เรื่อง “วันพักที่รักวุ่น” 2541 เขียนสคริปต์ รายการสารคดี “กระจกหกด้าน” 2542 เดินทางไปอเมริกาพร้อม วิชชา (เดียว) หนึ่งในผู้กำกับ “แฟนฉัน” เรียนภาษาก่อนเป็นเด็กเสิร์ฟ 2543 ผู้ช่วยผู้กำกับหนังโฆษณา บริษัท ฟีโนมีนา (โปรดักชั่นฮาส์) 2545 หนังสั้น ด.เด็ก ช.ช้าง (รางวัลชนะเลิศ รัตน์ เปสตันยี) และร่วมกับเพื่อนกำกับหนังเรื่อง “แฟนฉัน”

Link: http://www.positioningmag.com/magazine/Details.aspx?id=45611