Tuesday 14 August 2007

Block www.youtube.com

ภายหลังจากปลายนิ้วมือกลมๆ ของเพื่อนตัวแสบทำการสัมผัสบนแป้นคีย์บอร์ด
เพื่อแปลงออกมาเป็นตัวอักษรบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ http://www.youtube.com

กรอภาพย้อนกลับไป ถ้าพูดถึงเว็บไซต์ที่ฮิตที่สุดในตอนนี้คงหนีไม่พ้นยูทิวบ์ (YouTube) ซึ่งเราสามารถรับชมภาพยนตร์ชื่อดัง รายการโชว์ รวมไปถึงคลิปต่างๆ มากมาย ได้อย่างสนุกสนาน แต่ต้องบอกก่อนว่า ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้วจากเมื่อวาน...

Youtube = Google
ยูทิวบ์ (YouTube) เป็นดั่งเว็บไซต์ศูนย์รวมรายการโทรทัศน์ และภาพยนตร์ฉบับเต็มเป็นจำนวนหลายพันชั่วโมง รวมไปถึงคลิปวิดีโอต่างๆ อีกมากมาย ที่เปิดให้ผู้ที่เข้าไปใช้งานสามารถอัปโหลดและแลกเปลี่ยนคลิปนานาชนิดผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต โดยการทำงานของเว็บไซต์ยูทิวบ์นั้นจะเน้นการแสดงผลวิดีโอผ่านช่องทางในลักษณะ อะโดบีแฟลช ซึ่งเนื้อหาของคลิปวิดีโอก็มีด้วยกันหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ มิวสิกวิดีโอ คลิปวิดีโอจากทางบ้าน งานโฆษณาทางโทรทัศน์ และบางส่วนจากภาพยนตร์ โดยผู้ใช้บริการสามารถนำวิดีโอไปใส่ไว้ในบล็อกหรือเว็บไซต์ส่วนตัวของตนเองได้ ผ่านทางคำสั่งที่กำหนดให้ของยูทิวบ์

ยูทิวบ์ถือว่าเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ชั้นนำของอันดับต้นๆ ของโลก ก่อตั้งเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2548 โดย แชด เฮอร์ลีย์, สตีฟ เชง และยาวีด คาริม มีสำนักงานอยู่ที่ซานบรูโน ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ต่อมาในวันที่ 9 ตุลาคม 2549 กูเกิล (Google) ได้ประกาศซื้อบริษัทยูทิวบ์เป็นจำนวนเงินทั้งหมด 1.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ยูทิวบ์ได้รับใบอนุญาตทางธุรกิจกับ CBS Corp และอีก 3 ค่ายเพลงยักษ์ คือ Warner Music Group Corp., Vivendi SA's Universal Music Group และ Sony BMG Music Entertainment

เว็บไซต์ยูทิวบ์มีนโยบายสำหรับการเผยแพร่ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และคลิปวิดีโอต่างๆ ด้วยว่า ต้องไม่อัปโหลดภาพที่โป๊เปลือยและคลิปที่มีลิขสิทธิ์ นอกเสียจากเจ้าของลิขสิทธิ์ได้อัปโหลดเอง ซึ่งผู้ใช้สามารถทำการแจ้งลบได้หากเห็นว่าไม่สมควรประการใด และตั้งแต่ยูทิวบ์เริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ก็มีการโชว์คลิปวิดีโอไปแล้วกว่า 100 ล้านคลิปต่อวันเลยที่เดียว จากยอดความนิยมดังกล่าวทำให้ปัจจุบันมีผู้เช้าชมเว็บไซต์ยูทิวบ์กว่า 72.1 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้น 2.8 ล้านคนจากปีก่อน

ตามรอยวิดีโอคลิปอื้อฉาวหายไป!? หลังจากเสียงลือ เสียงเล่าที่ว่ากันว่า กระทรวงไอซีทีเริ่มมาตรการบล็อกเว็บไซต์อันดับ 8 ของเมืองไทยอย่างยูทิวบ์ลงอย่างเป็นทางการ ด้วยการ Redirect เว็บไซต์เข้าสู่เว็บไซต์กระทรวงไอซีทีโดยตรง ซึ่งมีความชัดเจนถึงสาเหตุที่บล็อกว่าเผยแพร่ภาพ และคลิปวิดีโอหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างรุนแรง

การบล็อกครั้งนี้นับเป็นการบล็อกเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมสูงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง หลังจากสองเดือนก่อนหน้านี้ได้มีการบล็อกเว็บ CNN.COM ไปในคืนที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์กับทาง CNN

สิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้พยายามขอความร่วมมือหลายครั้ง ให้กูเกิลนำคลิปวิดีโอตัดต่อพระบรมฉายาลักษณ์ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพออกจากเว็บไซต์ แต่กลับถูกปฏิเสธ และยืนกรานไม่ยอมถอดคลิปดังกล่าว โดยได้ให้เหตุผลว่าคลิปวิดีโออื่นที่โจมตีประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ยังรุนแรงมากกว่านี้ “คลิปวิดีโอดังกล่าว ถูกอัปโหลดโดยผู้ใช้ชื่อ paddidda เมื่อวันที่ 29 มีนาคม มีผู้เข้าชมไปแล้วมากกว่า 16,000 ครั้ง และมีมากกว่า 500 ความคิดเห็นด้วยกัน หลังจากที่ได้มีการออกข่าวไป จำนวนผู้ชมก็หลั่งไหลมากขึ้นถึงกว่า 66,553 ครั้ง ก่อนที่คลิปวิดีโอดังกล่าวจะถูกย้ายออกจากระบบ” สิทธิชัย เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของคลิปวิดีโอเจ้าปัญหา

ผู้ใช้บริการเว็บไซต์ยูทิวบ์ในประเทศไทยจึงถูกปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ ตั้งแต่คืนวันที่ 3 เมษายน เรื่อยมา และต่อมามีข่าวว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เว็บไซต์เจ้าปัญหายูทิวบ์ก็ได้ทำการลบคลิปที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ออกแล้วภายหลังจากที่ได้รับการจดหมายร้องเรียนเป็นจำนวนมาก

แต่ล่าสุดถึงแม้ว่าคลิปวิดีโอได้ถูกเอาออกไปแล้ว แต่เว็บไซต์ยังคงถูกบล็อกต่อไป ที่เป็นเช่นนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีให้เหตุผลว่า
“ภายในเว็บไซต์ยังมีภาพตัดต่อพระบรมฉายาลักษณ์คงเหลืออยู่ และเราต้องการให้เอาออกทั้งหมด กรณีการบล็อกเว็บไซต์ยูทิวบ์ซึ่งกระทรวงไอซีทีขอความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตยังคงเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะตอนนี้ก็ยังเข้าไม่ได้ และน่าจะยังคงสภาพนี้ไว้อีกระยะแม้ว่าจะมีความคืบหน้าบ้าง เรื่องที่หลายคนสนใจคือ คลิปเจ้าปัญหาที่ถูกค้นพบโดยแฟนพันธุ์แท้นั้นไม่มีความเหมาะสมในประเทศไทย ซึ่งใครๆ ก็เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องทำการบล็อก“

กระอักกระอ่วนบนหน้าจอคอมพิวเตอร์
ยังมีคำถามตามมาว่า กฎของเว็บไซต์นี้จะไม่มีการตรวจสอบคลิปวิดีโอจนกว่าจะมีการร้องเรียนจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งทำให้หลายๆ คนอาจรู้สึกว่าเว็บไซต์นี้มีกฎที่ไม่เข้มในการตรวจสอบคลิปต่างๆ ที่ให้ดาวน์โหลดในเว็บไซต์

เจมส์ หนุ่มวัย 30 ต้นๆ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านคอมพิวเตอร์ และการใช้งานในระบบอินเทอร์เน็ต ได้เปิดเผยให้ฟังว่า การบล็อกเว็บไซต์ยูทิวบ์ด้วย URL เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อย่างไรก็ตามต้องมีคนตามล้างตามเช็ดกันเกือบตลอดเวลา วิธีแก้ที่ใช้ตอนนี้ก็คือบล็อกทั้งเว็บไซต์ แต่การทำเช่นนี้บางคนไม่เห็นด้วย เพราะกระทบต่อการใช้ชีวิตปกติสุขของประชาชนที่ไม่ได้คิดจะดูเข้าไปดูคลิปเจ้าปัญหา

“หลังจากที่หลายคนที่เห็นด้วยกับการบล็อกทั้งเว็บไซต์ออกมาบอกว่าให้แนะนำวิธีที่ดีกว่า ในที่สุดทีม SRAN ซึ่งเคยเสนอทางแก้สำหรับกรณี แคมฟรอก (Camfrog) มาแล้วก็เสนอวิธีใหม่สำหรับกรณียูทิวบ์ ซึ่งน่าจะดีสำหรับทุกฝ่าย คือแทนที่จะบล็อกก็เปลี่ยนมาเป็นตรวจจับแทน นั่นหมายความว่า จะมีเครื่องแรงๆ ไปวางไว้ตามเครือข่ายของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่มีลิงก์ออกนอกประเทศ เครื่องที่ว่าจะตรวจจับและบันทึกเหตุการณ์สำหรับ 3 เหตุการณ์ ได้แก่ หน้าอัปโหลด หน้าค้นหา และหน้าดูวิดีโอ ทุกครั้งที่มีการเข้าถึงหน้าพวกนี้ ผู้ใช้งานจะถูกบันทึกไอพีเอาไว้ วิธีนี้จะทำให้เรามีชีวิตตามปกติ อยากทำอะไรก็ทำ แต่ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ทำเท่านั้นเอง” เจมส์เล่าให้ฟัง

เจมส์ยังบอกต่อไปอีกด้วยว่า อย่างไรก็ตามผู้ใช้ยูทิวบ์ยังคงสามารถเข้าใช้งานได้ผ่านทางการเรียกไอพีโดยตรง เช่น 208.65.153.251 ซึ่งแตกต่างจากครั้งการบล็อก CNN.com ที่เป็นการบล็อกไอพีโดยตรงทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ โกรธได้ แต่ต้องควบคุมได้ เชื่อว่าถ้าคนไทยได้ดูคลิปหมิ่นนั่น ทุกคนจะพูดคำเดียวว่า ‘ปิดมัน’

ปุ๊กปิ๊ก สาววัยอุดมศึกษา ที่ใช้เวลาว่างในการท่องโลกอินเทอร์เน็ต เป็นอีกหนึ่งชีวิตในนามรายชื่อสมาชิกของเว็บไซต์ยูทิวบ์ ให้ความเห็นว่า “การปิดยูทิวบ์เป็นเรื่องดี เพราะคนเราก็รักชาติ รักในหลวง พระองค์ก็ทรงเหมือนกับพ่อแท้ ๆ ของพวกเรา ใครมาว่าเราก็ต้องโกรธเป็นเรื่องธรรมดา แต่เว็บไซต์นี้ก็มีคลิปมากมายหลายคลิปที่เป็นประโยชน์สำหรับเรา แต่สิ่งที่มีประโยชน์ก็ต้องมีโทษ เหมือนกับร่างกายของคนเรา ที่มีส่วนใดเสียเราก็ต้องตัดมันทิ้ง ใช่ว่าจะตายไปได้ทั้งหมด ดังนั้นควรจะปิดหรือแบนเฉพาะคลิป มิใช่ปิดทั้งเว็บไซต์

“ถึงปิดทั้งเว็บไป ก็ได้แค่เฉพาะในไทยเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเรา ควรจะคิดหลายๆ แง่ อย่าให้พวกฝรั่งนั่นมาดูหมิ่นเราได้ ควรคำนึงถึงเหตุผลต่างๆ ด้วย ไม่ใช่คำนึงถึงด้านอารมณ์อย่างเดียว” ปุ๊กปิ๊กบอกถึงข้อดี ข้อเสียจากการปิดเว็บไซต์ที่เธอได้สัมผัส

3 สถาบันที่บ่งบอกความเป็นไทย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมกันเป็นไตรรงค์บนผืนธงไทย พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นธรรมราชา พสกนิกรไทยและนานาอารยประเทศเทิดทูน ยกย่องพระเกียรติคุณ นี่คือความศรัทธาที่ทุกชาติล้วนมีความเป็นมาที่แตกต่างกันไป

“อย่างที่พระองค์ตรัสไว้ว่า "การมีเสรีภาพนั้นเป็นของที่ดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้ จำเป็นจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและความรับผิดชอบ มิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพ และความเป็นปกติสุขของส่วนรวมด้วย" พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ 9 กรกฎาคม 2514)” ปุ๊กปิ๊กกล่าวทิ้งท้าย ทางด้าน อู๊ด หนุ่มวัย 22 ปี นักศึกษาที่เล่าเรียนทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้แวะเวียนเข้าไปใช้บริการเว็บไซต์ยูทิวบ์อยู่เนืองๆ เพื่อดูคลิปวิดีโอกีฬา บอกว่าเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการปิดทั้งเว็บไซต์ของยูทิวบ์

“เพราะถึงแม้จะปิดเฉพาะหน้าที่มีคลิปวิดีโอแต่มันก็ยังมีภาพที่ถูกแลนดอมให้พรีวิวออกมาโชว์ เพื่อเข้าชมคลิป และยังจะมีอีกหลายๆ ทางที่สามารถเข้าสู่หน้านั้นได้ ซึ่งผมเห็นว่ากระทรวงไอซีทีทำได้ถูกต้องแล้ว ส่วนเทคโนโลยีผมว่าประเทศไทยเราไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าประเทศเทศอื่นเลย ที่เห็นได้ชัดก็คือ ซอฟต์แวร์และโปรแกรมต่างๆ ไทยเราก็ทำออกมามากมายแทบล้นตลาดด้วยซ้ำ แต่คนไทยยังขาดความรู้ในเรื่องของลิขสิทธิ์ ไม่สนใจในตรงนั้นจึงทำให้ซอฟต์แวร์ไทยไม่เป็นที่รู้จัก

“ยังไงประเทศก็ต้องมาก่อน ยูทิวบ์มันแค่เว็บไซต์ มันไม่ใช่ชาติ ไม่มีเว็บไซต์ก็ไม่ตาย แต่ถ้าไม่มีแผ่นดินไทยอยู่เรื่องใหญ่กว่า” อู๊ดแสดงความคิดเห็น สงวนนาม หนุ่มวัย 34 ปี หนึ่งในมือแฮ็กเกอร์สมัครเล่น แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นดังกล่าวไว้อย่างได้อารมณ์ว่า

“ในสายตาของฝรั่ง คงเห็นเมืองไทยกระจอกเต็มทน ด้อยพัฒนา โลว์เทคโนโลยี โง่งมงาย ทำให้กูเกิลตั้งใจอยากจะปล่อยปละละเลยให้คลิปหมิ่นเบื้องสูงโชว์หราอยู่บนยูทิวบ์ก็ปล่อยไปตามสบาย ช่างหัวชาติไทยอย่างนั้นเหรอ เป็นใครจะยอมให้มานั่งด่าพ่อกันอยู่ได้ เรื่องนี้มันไม่ต่างจากการเหยียดผิว หรือการหมิ่นพระศาสดา

“ ถ้าหากคนไทยที่เป็นสาวกของกูเกิลไม่เห็นว่ามันจะเสียหาย คงประณามได้ว่าคุณไม่จงรักภักดี เนรคุณแผ่นดินเกิด ปิดกั้นมันยังน้อยไป พี่น้องแฮ็กเกอร์ทั่วฟ้าเมืองไทยหากเขาว่าเราโลว์เทค เราควรสั่งสอนกูเกิลกันหน่อยจะเป็นไรไป”

Google พ่ายแผ่นดินใหญ่อย่างราบคาบ
ปัจจุบันจีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 137 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้น 26 ล้านคนในปีที่แล้ว ทำให้แผ่นดินใหญ่อย่างจีนได้กลายเป็นประเทศที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นอันดับสองของโลกไปแล้ว โดยตามหลังก็แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

จีนประกาศนโยบายอินเทอร์เน็ตสะอาดโดยประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ออกมาแถลงนโยบายใหม่ของคณะกรรมการโปลิตบูโร โดยจะขจัดเรื่องร้ายๆ ออกไปจากอินเทอร์เน็ต และส่งเสริมเยาวชนรุ่นใหม่ให้รู้จักกับลัทธิมาร์กซิสต์ผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้นคำแถลงแบบเป็นทางการในโทรทัศน์บอกแบบอ้อมๆ ว่า
"Internet cultural units must conscientiously take on the responsibility of encouraging development of a system of core socialist values."

นโยบายนี้บอกชัดเจนว่าจีนต้องการควบคุมอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น โดยจะจำกัดทั้งเรื่องภาพโป๊ และข่าวลือทางการเมืองต่างๆ อำนาจรัฐบาลจีนในการกลั่นกรองเนื้อหาที่ประชาชนจะเข้าถึงบนอินเทอร์เน็ต เป็นสิ่งที่มีแรงผลักดันแข็งกล้าซับซ้อนมากเท่าที่มันจะมีขึ้นได้ในโลก ดูได้จากการเปรียบเทียบกับแรงผลักดันเพื่อการเดียวกันนี้ในประเทศอื่นๆ

การกลั่นกรองของรัฐจีนเป็นสิ่งที่แผ่ครอบคลุม ซับซ้อน และมีประสิทธิภาพ เพราะว่าประกอบไปด้วยอำนาจตามกฎหมายหลากหลายระดับ และหลากหลายเทคนิคในการควบคุม ที่ทำให้กูเกิลยอมแพ้ และพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งอย่างไม่อิดออด

หากใครศรัทธากูเกิลจะทราบดีว่า เขาไม่เคยยอมให้ใครเซ็นเซอร์ หรือจำกัดการถอดถอนข้อความ และภาพได้ง่ายๆ แต่เมื่อบริษัทเอกชนเห็นผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง นโยบายของกูเกิลจึงกลายเป็นว่า รัฐบาลจีนจะเซ็นเซอร์อะไร กูเกิลจึงยอมทุกอย่าง เรียกง่ายๆ ว่า แพ้แบบราบคาบ แต่สำหรับประเทศไทยไม่เป็นเช่นนั้น อาจเป็นเพราะเมืองไทยไม่ใช่เป้าหมาย ไม่ใช่ประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ จึงไม่มีกำลังพอที่จะให้ผลประโยชน์ และผลกำไรอย่างที่กูเกิลต้องการ ดังนั้นทำให้อินเทอร์เน็ตของไทยยังไม่สะอาดเท่าที่ควรจะเป็น

ความรู้สึกอู๊ด ซึ่งตอนนี้รู้สึกแอนติกูเกิ้ลจนไม่อยากให้ใช้ Google search อีกต่อไปแล้ว บอกกล่าวความในใจออกมาว่า

“เราจะมีวิธีไหนจะแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายของกูเกิลได้บ้าง การร้องขอของประเทศไทยที่ให้ทำการถอดคลิปวิดีโอที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันเขากลับทำเป็นไม่ได้ยิน เมื่อพูดเรื่องยูทิวบ์รู้สึกเลือดขึ้นหน้าพอสมควร หากเปรียบเทียบกับประเทศจีน ที่กูเกิลยอมให้เซ็นเซอร์ได้บางหัวข้อที่เขาคิดว่าดูไม่เหมาะสม แต่กับเมืองไทยซึ่งร้ายแรงกว่ามาก แต่ไม่มีการให้เซ็นเซอร์ ถึงแม้จะมีการข้อร้องแทบตายก็ยังไม่ดำเนินการให้ คงเป็นเพราะเราไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ”

เห็นหรือยังว่า ปัจจุบันนี้ ความจริง-ความเท็จในโลกออนไลน์นี้ เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขของที่มาที่ไปของมันแล้ว มันไม่ใช่เรื่องความรู้ที่เข้าใจกันได้ง่ายๆ อย่างแต่ก่อนอีกต่อไปแล้ว