Sunday, 5 August 2007

“อยากทำงานที่ไม่มีคนอยากทำ”

“อยากทำงานที่ไม่มีคนอยากทำ” คือทัศนคติในวัยเด็กของ วันฉัตร ผดุงรัตน์ เจ้าของเว็บบอร์ด Pantip.com เขาเผยเบื้องหลังของทัศนคติอันแปลกไม่เหมือนใครนี้ไว้ว่า เป็นเพราะเชื่อว่าหากเราทำงานที่ไม่มีใครอยากทำแล้ว เราจะเป็นคนที่มีคุณค่าในสังคม จากนั้นวันฉัตรเติบโตขึ้นพร้อมปรับตัวเองเข้าสู่โลกแห่งความจริงด้วยการเรียนด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งที่นี่เองที่เขาได้สัมผัสกับคอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรก เป็นการใช้ PC ในยุคแรกๆ คุมเครื่องจักร แต่เขาก็ให้ความสนใจกับการออกแบบวงจรต่างๆ มากกว่าและถือเป็นงานในฝันที่ถนัด แต่เมื่อจบมาแล้ววันฉัตรพบว่างานของวิศวกรในยุคนั้นไม่พ้น 3 อย่างคือ “ซ่อม” “คุม”(คนงาน) และ “ขาย” ซึ่งงานแรกของเขาที่บริษัทวิทยาคมก็คือ sale engineer ขายเครื่องมือแพทย์ซึ่งรวมถึงติดตั้งและซ่อมบำรุงด้วย ที่นี่เองที่วันฉัตรเริ่มมาหลงรักคอมพิวเตอร์อย่างจริงจังจากการที่เจ้านายซื้อเครื่อง PC มาด้วยความอยากรู้ แต่ไม่มีเวลาเล่นและตั้งเครื่องทิ้งไว้แล้วชักชวนวันฉัตรให้ “ลองเล่น” ดู ซึ่งเขาก็ “ลองเล่น” ด้วยการเขียนโปรแกรมคำนวณค่าคอมมิชชั่นของพนักงานขาย แต่โปรแกรมก็ทำงานไม่ได้อย่างที่คิด เขาไม่ท้อแท้ “ลองเล่น” ต่อด้วยการใช้โปรแกรม Visicalc บรรพบุรุษของ Excel แทน แล้ววันฉัตรก็ตกหลุมรักคอมพิวเตอร์ เพราะใช้สร้างสรรค์งานต่างๆ ออกมาได้ง่ายกว่าการสร้างวงจรอิเล็กทรอนิกส์ แรงจูงใจที่จะ “ไล่ตาม” เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จะขับเคลื่อนชีวิตการงานของวันฉัตรนับจากนี้เป็นต้นไป แล้วพนักงานเงินเดือน 4,500 บาท (ช่วงปี 2528) อย่างเขาก็ตัดสินใจควักเงินซื้อคอมพิวเตอร์เป็นของตนเองในราคา 2 หมื่นกว่าบาท เขาตัดสินใจหางานที่จะได้คลุกคลีกับซอฟต์แวร์แทนที่จะเป็นฮาร์ดแวร์เครื่องจักร จนได้งานที่การบินไทย ได้ทำงานกับระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่และซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย ที่นั่นเขาเริ่มจากการเป็น “ผู้ใช้” โปรแกรมจัดการเนื้อที่ในเครื่องบิน (space control) จนได้เลื่อนขึ้นไปเป็น “ผู้สร้าง” ซอฟต์แวร์ต่างๆ ในตำแหน่ง system programmer ถึงจุดนั้นวันฉัตรสรุปว่า เขาได้ผ่านงานแทบทุกด้านเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาแล้วทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ทั้งในฐานะผู้ใช้และผู้สร้าง เกิดความรู้สึกอิ่มตัวหมดแรงจูงใจที่จะไล่ตามเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ว วันฉัตรเริ่มเข้าสู่โลกธุรกิจโดยการออกมาร่วมหุ้นกับเพื่อนทำบริษัท Macrocare นำเข้าอุปกรณ์เสริมคอมพิวเตอร์เช่นตัวต่อพ่วงสายต่างๆ จากไต้หวันมาขายในไทย ซึ่งกิจการก็ไปได้ดี และที่นี่เองที่ไฟรักการเรียนรู้กลับมาอีกครั้ง เมื่อหุ้นส่วนของเขาบ่นเรื่องค่าใช้จ่ายในการติดต่องานกับต่างประเทศด้วยโทรศัพท์และแฟกซ์ เขาจึงมาซื้อชั่วโมงอินเทอร์เน็ตมาใช้รับส่งอีเมลและเข้าสู่โลกแห่งเว็บในยุคแรกๆ ซึ่งยังหาเว็บภาษาไทยแทบไม่ได้ วันฉัตรจึงเห็นช่องทางเปิดเว็บภาษาไทยขึ้นให้คนไทยอ่านง่ายๆ จึงตัดสินใจออกจากความเป็นหุ้นส่วน Macrocare มาเปิดเว็บนิตยสารออนไลน์ด้านไอทีใช้ชื่อ pantip.com เหมือนปัจจุบันแต่ยังไม่มีเว็บบอร์ด ซึ่งก็ล้มเหลวในการหารายได้โฆษณามาเข้า ซึ่งเขาสรุปบทเรียนได้ว่าเป็นเพราะเขาเพียงแค่ทำนิตยสารทางเว็บออกมาแข่งกับนิตยสารกระดาษโดยยังไม่ได้ใช้ศักยภาพการสื่อสารสองทางของเว็บ และตลาดยังไม่รู้จักสื่อเว็บเท่าใดนักในยุคนั้น หนทางใหม่ของวันฉัตรกลับเกิดจากเรื่องที่ดูเล็กๆ สองเรื่อง ช่วงนั้นเขาซื้อรถยนต์ส่วนตัวคันแรกในชีวิต ด้วยความ “เห่อ” เขาจึงตระเวนเข้าเว็บที่มีข้อมูลและภาพต่างๆ จนมั่นใจว่าตัวเองรู้เรื่องรถรุ่นนี้ดี ขณะเดียวกันเขาก็ส่งเมลไปหาผู้คนจำนวนมากเพื่อโปรโมตเว็บตัวเอง ซึ่งวันฉัตรยอมรับว่าก็คือการ spam เพียงแต่ยุคนั้นยังไม่ถูกสังคมต่อต้านเพราะยังมีน้อย ซึ่งก็มีนายแพทย์คนหนึ่งตอบเมลกลับมา แนะนำให้เขาใส่เสียงเพลงประกอบลงใน pantip.com พร้อมกับตอบข้อสงสัยวันฉัตรถึงวิธีการทำ สิ่งนี้สั่นสะเทือนความคิดวันฉัตรอย่างรุนแรงว่านายแพทย์คนหนึ่งกลับรู้เรื่องไอทีที่เขาไม่รู้ เขาจึงได้คิดว่าน่าจะมีเว็บไซต์สักแห่งที่ให้ผู้คนได้แลกเปลี่ยนความรู้ความเห็นกัน เป็นที่ที่เขาจะได้แบ่งความรู้เรื่องรถให้ผู้อื่น และเขาจะสามารถทิ้งคำถามหาวิธีเอาเสียงดนตรีลงเว็บได้ ซึ่งเขาเคยเห็นเว็บลักษณะนี้มาแล้วของต่างประเทศ จึงได้เริ่มค้นคว้าจนหาโค้ดโปรแกรมของต่างประเทศมาปรับแต่ง ทำไปก็ถามผู้รู้คนอื่นๆ ไปด้วยผ่านทางอินเทอร์เน็ต จนเกิดเป็น pantip.com โดยในระยะแรกยังพูดคุยกันแค่เรื่องไอทีเป็นหลักแล้วจึงขยับขยายไปยังเรื่องอื่นๆ มากมาย เงินทุนส่วนตัวที่เขากันออกมา 2 แสนเพื่อ pantip.com นั้นเกือบจะหมดลงอยู่แล้ว ซึ่งเขาตั้งใจไว้ว่าหากหมดไปเขาก็จะปิดเว็บเลิกกิจการ เพื่อไม่ให้กระทบฐานะการเงินส่วนตัวและครอบครัว แต่เมื่อเขาปรับเปลี่ยนเว็บ สถานการณ์ก็กลับดีขึ้นเรื่อยๆ ลูกค้าโฆษณารายใหญ่รายแรกเข้ามาคือ Intel ซึ่งกำหนดผ่านทางเอเยนซี่รายใหญ่ว่าต้องเป็นเว็บไซต์ด้านไอทีเท่านั้น จากนั้นในยุคดอทคอมบูม มีกลุ่มทุนมากมายทั้งไทยและเทศเข้ามาติดต่อขอซื้อขอร่วมทุน แต่วันฉัตรปฏิเสธหมดเพราะเขารู้สึกว่า pantip.com ไม่ใช่ของเขา เป็นของทุกคนที่เข้ามาร่วมกันแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร เขาเองจึงไม่น่าจะมีสิทธิขายสิ่งนี้ไปแลกกับเงิน ในที่สุดจึงได้ลงตัวกับกลุ่ม Nation โดยให้ Nation เป็นพันธมิตรช่วยขายโฆษณาให้แล้วแบ่งรายได้กันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในดีลครั้งนั้นวันฉัตรเผยว่า สุทธิชัย หยุ่น ถึงกับกำชับผ่านลูกน้องลงมาว่าอย่าไปบังคับกำหนดกรอบกับวันฉัตร ให้วันฉัตรและทีมงานได้ทำในแนวทางเดิมต่อไปอย่างอิสระเต็มที่ เมื่อมองย้อนกลับไป วันฉัตรสรุปหลักที่เขายึดมั่นในการทำ pantip.com ตลอดมาคือเขาทำในฐานะคนสวน ไม่ใช่สถาปนิก นั่นคือคนสวนจะเพียงแค่เตรียมดินให้ดี พยายามสรรหาพันธุ์ไม้ที่ดีมาลง แล้วดูแลรักษาโดยไม่สามารถจะออกแบบกำหนดได้ว่า จะให้ต้นไม้ทั้งหลายนั้นเติบโตออกมามีรูปร่างอย่างไร ต่างจากสถาปนิกสร้างอาคาร อย่างไรก็ตามเขาเชื่อว่าสวนจะมีคุณภาพได้เขาก็ต้องกำจัด “ศัตรูพืช” และ “กิ่งใบที่เป็นโรค” บ้าง นั่นคือที่มาของระบบบัตรผ่านและระบบสมาชิกที่ผู้ใช้ต้องให้รายละเอียดบัตรประชาชนก่อนที่จะลงข้อความใดๆ ได้ ส่วนหลักการส่วนตัวของเขาตั้งแต่ทำงานใหม่ๆ คือ “ทำงานให้เหมือนว่าตัวเองเป็นเจ้าของกิจการ” ซึ่งปรัชญานี้เขาได้รับจากธรรมเทศนาของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุตั้งแต่เมื่อครั้งบวชสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เขาเชื่อว่าไม่มีประโยชน์ที่จะมาคิดเปรียบเทียบกับเงินเดือนว่าเราทำงานเกินเงินเดือนหรือไม่ เพราะหากเราทำงานให้เหมือนเป็นเจ้าของกิจการ สำคัญสุดคือได้ความรู้ประสบการณ์มากกว่า และได้มุมมองของเจ้าของกิจการสำหรับใช้เปิดธุรกิจของตนเองต่อไป สำหรับวิสัยทัศน์ของวันฉัตรในปีนี้เขาคาดว่ามี 2 แนวโน้มที่ต้องจับตามองคืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (broadband) และอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งอย่างแรกนั้นเล่นกับข้อมูลขนาดใหญ่อย่างภาพยนตร์และเสียง ส่วนอย่างหลังนั้นเล่นกับข้อมูลและโปรแกรมขนาดเล็ก ซึ่งเขาให้ความสนใจกับ broadband มากกว่า และเขาเชื่อว่าเนื้อหาที่เหมาะกับ broadband คือเนื้อหาที่มีลักษณะสด 24 ชั่วโมง เพราะจะได้ใช้ประโยชน์จากทั้งความเร็วและจากการที่ผู้ใช้ไม่เสียเงินเพิ่มตามเวลาที่ดู เพราะ broadband ไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายตามเวลาการใช้ เขามองว่า broadband จะทำให้ “นักนิเทศศาสตร์” เข้ามาครองวงการไอทีแทน “นักคอมพิวเตอร์ศาสตร์” ได้ในเร็วๆ นี้ เพราะเนื้อหาภาพและเสียงจะถูกนำมายิงออกอากาศผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทันทีง่ายๆ ไม่ต้องอาศัยความรู้ทางโครงสร้างข้อมูลมากนัก Profile Name: วันฉัตร ผดุงรัตน์ Age : 41 Education : ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง Career Highlights: 2529- 2530 sales engineer บริษัทวิทยาคม 2530 - 2539 space control, system programmer บริษัทการบินไทย 2538 - 2539 หุ้นส่วนบริษัท Macrocare 2539 - ปัจจุบัน กรรมการผู้จัดการบริษัท pantip.com Family : คู่สมรส นลินี ผดุงรัตน์