Sunday 5 August 2007

เอเยนซีใหญ่ เลิกหนุน แทคอวอร์ด

เอเยนซีใหญ่ เลิกหนุน แทคอวอร์ด ยอดส่งประกวดลดฮวบ 50% [Update 28 ก.ย. 2547] งานประกวด Adman Awards & Symposium ครั้งที่ 1 ที่คลาคล่ำไปด้วยคนในอุตสาหกรรมโฆษณา แม้จะเป็นเวทีการประกวดรางวัลโฆษณา ที่ผนวกเอางานเบื้องหลังด้านกิจการการตลาด ประชาสัมพันธ์ เพื่อแจกรางวัลให้เป็นครั้งแรก อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากเวทีแอดแมน คือการรวมพลังของคนโฆษณาจากแรงกระตุ้นของสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย ผู้ริเริ่มการจัดประกวดครั้งนี้ โดยย้ำแนวคิด "รางวัลของคนโฆษณา เพื่อคนโฆษณา" ที่พยายามบอกเป็นนัยว่า รางวัลอื่นๆ ที่เหลือแม้จะมีอายุยาวนาน แต่ไม่ใช่ของคนโฆษณา พินิต ฉันทประทีป ประธานคณะกรรมการตัดสิน แอดแมน อวอร์ด และรองประธานและกรรมการบริหารฝ่ายสร้างสรรค์ เจ.วอลเตอร์ ธอมป์สัน จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเองประธาน คณะกรรมการตัดสิน แอดแมน การจะส่งผลงานของ เจ.วอลเตอร์ เข้าประกวดรางวัลแทค อวอร์ด ด้วยเป็นเรื่องที่ดูแล้วไม่เหมาะสม เพราะเป็นเหมือนผู้ก่อตั้งรางวัลแอดแมนขึ้นร่วมกับสมาคมโฆษณา ดังนั้น ปีนี้ เจ.วอลเตอร์ จะไม่ส่งงานเข้าประกวดในเวทีแทคอวอร์ด "ทางออกที่ดีของเวทีประกวดรางวัลโฆษณา ทั้งแอดแมน และแทคอวอร์ด คือทั้ง 2 เวทีจะต้องมาพูดคุยกันว่า จะหาทางออกอย่างไร เพื่อเป็นพัฒนาวงการโฆษณาไทย" วิทวัส ชัยปาณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ครีเอทีฟ จูซ\จีวัน จำกัด กล่าวว่า ปีนี้บริษัทได้ใช้งบประมาณการส่งผลงานเข้าประกวดรางวัลโฆษณา ประมาณ 1.5 ล้านบาท งบประมาณที่เหลือขณะนี้เหลืออีก 1 เวทีเท่านั้น คือ แบด อวอร์ด ช่วงปลายปีนี้ ดังนั้น ในเวทีแทค อวอร์ด ที่จัดเป็นเวทีสุดท้ายของปี บริษัทคงไม่ส่งผลงานเข้าประกวด จากการพูดคุยกับเอเยนซีใหญ่ๆ พบว่าปีนี้หลายแห่งไม่ได้ส่งงานเข้าประกวดแทค อวอร์ด เพราะต้องการให้การสนับสนุนเวทีแอดแมน ให้เป็นที่รู้จักในระดับภูมิภาคต่อไป เนื่องจากเป็นเวทีที่คนในอุตสาหกรรมโฆษณาจัดตั้งขึ้น เวทีแทค อวอร์ด 28 ปีรอปรับตัว ความสำเร็จของเวทีแอดแมนครั้งแรก ที่รวบรวมพลังของคนวงการโฆษณาไว้ได้จำนวนมาก เป็นภาพสะท้อนให้อีกเวทีประกวดรางวัลโฆษณาที่มีอายุ 28 ปี อย่าง "แทค อวอร์ด" ต้องกลับมาทบทวนบทบาทของตัวเองว่า จะดำเนินการต่อไปอย่างไร วัฒนพันธุ์ ครุฑเสนะ ประธานกรรมการดำเนินงานประกวด แทค อวอร์ด ครั้งที่ 28 จากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในสาม มหาวิทยาลัยที่หมุนเวียนการเป็นเจ้าภาพจัดประกวดแทคอวอร์ด ร่วมกับ ม.ธรรมศาสตร์ และนิด้า กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแห่งการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การปรับตัวของการประกวดแทค อวอร์ดในปีหน้า จากการเกิดของเวทีประกวดแอดแมน ที่มาของการเกิดเวทีประกวดแอดแมน เพราะผู้ริเริ่มการประกวดที่เป็นคนในวงการเห็นว่า การประกวดรางวัลโฆษณาดังกล่าวควรมีสมาคมโฆษณาเป็นเจ้าภาพ ไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่ไม่ได้มาจากสาขาวิชาการสื่อสารมวลชน และให้ความสำคัญด้านการตลาด ผลงานโฆษณาส่งประกวดลดลง 50% วัฒนพันธุ์ กล่าวว่า แทค อวอร์ด เปิดรับสมัครผลงานโฆษณามาตั้งแต่ 22 เม.ย. เดิมมีกำหนดปิดรับสมัคร 23 ก.ค. แต่ได้ยืดระยะเวลารับสมัครผลงานออกไปอีกระยะ เพื่อรอเก็บตกเอเยนซีที่ยังมีงบประมาณเหลือจากเวทีแอดแมน แต่ก็ต้องปิดรับสมัครในวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยจะตัดสินรอบแรกวันที่ 12 ต.ค. รอบ 2 วันที่ 9 พ.ย. และวันประกาศผล 17 ธ.ค. ถึงวันนี้มีเอเยนซีลงผลงานเข้าประกวดประมาณ 500 ชิ้น ลดลงกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีก่อน ผลงานด้านวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ เอาท์ดอร์ มีจำนวนใกล้เคียงกับปีก่อน และผลงานทีวีปีนี้ลดลงกว่า 50% แม้ว่าจะมีเวทีประกวดแอดแมนที่ครั้งแรกแสดงศักยภาพถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนโฆษณา แต่ในฐานะที่ศิลปากรเป็นเจ้าภาพจัดประกวดปีนี้ ยังต้องเดินหน้าต่อไป แต่การจัดประกวดปีต่อไปมหาวิทยาลัยเจ้าภาพคงต้องพูดคุยกับอุตสาหกรรมโฆษณา ว่า ต้องการเห็นอนาคตของแทค อวอร์ด ไปในทิศทางใด ยุบรวมกับแอดแมน หรือยืนยันเป็นเวทีประกวดต่อไป โดยยึดแนวทางที่คนในอุตสาหกรรมแฮปปี้ที่สุด? จุดเด่นเป็นกลางสำหรับเอเยนซีท้องถิ่น สิ่งที่ แทค อวอร์ด ยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ คือความเป็นกลาง เพราะมีมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ที่มีชื่อเสียงหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพมากที่สุดเวทีหนึ่ง แต่ที่คนโฆษณาเห็นว่าการตัดสินเวทีแทค อวอร์ด เน้นผลด้านการตลาดมากกว่าแนวคิดด้านการสร้างสรรค์ เนื่องจากเป็นจุดยืนของแทค อวอร์ด ที่จะดูทุกองค์ประกอบที่งานโฆษณานั้นๆ ทำให้สินค้าประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ตัดสินงานโฆษณาเพื่อเอามัน เพราะอาจจะมีงานประเภทที่ส่งประกวด เพื่อต้องการได้รางวัล โดยไม่มีการเผยแพร่จริง เพื่อหวังผลนำรางวัลที่ได้มาเป็นจุดขายของตัวเอง หากในที่สุด เวทีแทค อวอร์ด ยังต้องยืนหยัดอยู่ต่อไปคู่กับเวทีแอดแมน ความแตกต่างหนึ่งที่แทค อวอร์ด จะพัฒนาให้โดดเด่นและแตกต่าง คือการเป็นเวทีประกวดสำหรับเอเยนซี ท้องถิ่น ที่เป็นสัญชาติไทยแท้ รวมทั้งเอเยนซีไทยรายเล็ก ขณะที่เวทีแอดแมนประกาศตัวเองว่า เป็นเวทีประกวดของไทยที่เป็นระดับอินเตอร์เนชั่นแนล