Sunday 5 August 2007

ขบถวิถีคิด MBA ซีอีโอ "พันธุ์หลุดโลก"

ขบถวิถีคิด MBA ซีอีโอ "พันธุ์หลุดโลก" อาจเห็นได้มากมายในต่างประเทศ แต่สำหรับในเมืองไทยยังถือเป็นยุคแรกเริ่มของแนวคิดรบริหารจัดการโฉมที่ใช้ "ความนอกคอก" สร้างสูตรผสมเป็นไอเดียที่สร้างความโดดเด่น และแตกต่างให้ธุรกิจ เมื่อความกล้าบ้าบิ่นกลายเป็นจุดขายที่เห็นผล และยังประโยชน์ให้ธุรกิจ สามารถสร้างสีสันเพิ่มความแตกต่าง จัดว่าเป็นการเรียกความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายใหักับแบรนด์ หรือ องค์กรได้ด้วยการ "เรียนลัด" แนวคิดนี้จึงเป็นอีกแง่มุมทางการตลาดที่ซีอีโอเลือดใหม่เลือกใช้ ถึงจะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศก็พอจะเป็น "ต้นแบบ" ที่เพิ่มเสน่ห์ให้กับซีอีโอนอกคอกพันธุ์ไทย "ริชาร์ด แบรนสัน" เศรษฐีพันล้านชาวอังกฤษ เจ้าของเครือข่ายธุรกิจเวอร์จิน วัย 54 ปี บุคคลนี้ยากจะนิยาม เขาเป็นเหมือน "นักผจญภัย" ในคราบผู้บริหาร ที่บริหารความกล้า และ บ้าบิ่น ของตัวเองให้เกิดเป็นกลุ่มธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ของเวอร์จินกรุ๊ปในปัจจุบัน ริชาร์ด แบรนสัน ถือว่าเป็นกรณีศึกษาซีอีโอพันธุ์หลุดโลกที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างประสบการณ์ร่วมแนวใหม่ ความยิ่งใหญ่ของเวอร์จินกรุ๊ป วัดได้จากการแผ่ขยายอาณาจักรเข้าไปแทรกซึมอยู่ในทุกแขนงธุรกิจ ทั้งเครื่องบิน รถยนต์ รถไฟ การเงิน เครื่องดื่ม เพลง เครื่องสำอาง โทรศัพท์มือถือ ท่องเที่ยว และล่าสุดเมื่อปี 2547 ไอเดียบันลือโลกของเวอร์จินก็ได้แผ่ขยายออกสู่นอกโลก ด้วยอภิมหาโปรเจค "Virgin Galactic" บริการเที่ยวบินส่วนบุคคลเพื่อท่องอวกาศรายแรกของโลก ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2550การนำเสนอธุรกิจอย่างผาดโผน ไม่เหมือนใครของ แบรนสัน ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัท เวอร์จิน กรุ๊ป และมักเป็นที่จดจำจากการโปรโมทธุรกิจของเขาเอง ด้วยวิธีผาดโผน ไม่ธรรมดา เพื่อสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชม ตัวอย่างการนำเสนอที่ฮือฮาที่สุด น่าจะเป็นช่วงที่แบรนสันลงทุนโกนหนวดโกนเคราที่เป็นสัญลักษณ์ประจำตัวมานาน พร้อมสวมชุดแต่งงาน และแต่งหน้าแต่งตาครบเครื่อง เพื่อประกาศเปิดตัวบริษัทรับจัดงานแต่งงานชื่อ “เวอร์จิน ไบรด์” ความสามารถในการนำเสนอธุรกิจอย่างไม่เหมือนใครของแบรนสัน ได้รับการยอมรับว่าช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัท เวอร์จิน กรุ๊ป โดยเฉพาะในเกาะอังกฤษเขาเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ และได้รับการซูฮกจากสาธารณชนการผจญภัยในโลกธุรกิจของแบรนสันเริ่มขึ้นในระหว่างศึกษาอยู่ในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง โดยการเปิดตัวนิตยสารที่มุ่งเจาะกลุ่มผู้อ่านที่เป็นนักเรียนโดยเฉพาะ จากนั้นเขาก็กระโดดเข้ามาในธุรกิจเพลงด้วยการตั้งบริษัท เวอร์จิน เรคคอร์ดส์ ขึ้น ขณะมีอายุเพียง 20 ปี จากธุรกิจเพลงนี่เองที่สร้างเม็ดเงินให้กับแบรนสัน "รวย" ขึ้นผิดหูผิดตาแม้ในปี 2535 แบรนสันจำเป็นต้องขายกิจการบริษัทบันทึกเสียงดังกล่าวไป แต่เขาก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากในช่วงนั้นเขาได้สยายปีกเข้าสู่ธุรกิจการบินเรียบร้อยแล้ว โดยการก่อตั้งสายการบินเวอร์จิน แอตแลนติก และสามารถพัฒนาจนก้าวขึ้นเป็นสายการบินใหญ่อันดับ 2 ของอังกฤษ และยังเป็นเจ้าของสายการบินต้นทุนต่ำ เวอร์จิน บลู ในออสเตรเลีย โมเดลความบ้าของแบรนสัน เริ่มเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นว่าแม้จะ "นอกคอก" แต่ก็สร้างความสำเร็จให้ธุรกิจได้สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งแอปเปิล เป็นอีกคนหนึ่งที่สะท้อนความนอกคอกออกมาเป็นธุรกิจได้อย่างดี แม้ว่ากลุ่มลูกค้าของแอปเปิล คอมพิวเตอร์ จะเข้าข่าย Niche อยู่มาก เพราะจำกัดวงอยู่ที่นักออกแบบ ศิลปิน นักแต่งเพลง และคนรุ่นใหม่ที่เชื่อมั่นในสไตล์อันโดดเด่น ด้วยความมุ่งมั่นตอบสนองความพอใจของลูกค้าโดยใส่ใจในรายละเอียดของตัวเครื่องมากกว่าพีซีทั่วไป ทำให้แอปเปิลเลือกตั้งราคาให้สูง เพื่อให้ได้กำไรต่อหน่วยสูงแตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่น แม้วอลุ่มจะน้อยแต่แอปเปิลก็มีส่วนต่างของกำไรสูง แอปเปิลจึงอยู่ได้ด้วยดี แต่การขยายตลาดออกให้กว้างขึ้นก็ยังเป็นสิ่งที่จ๊อบส์ต้องการไป นอกจากนั้นเขายังมีปัญหาทางสุขภาพ ที่มีผลให้หุ้นของแอปเปิลดิ่งลงอย่างน่าใจหาย ไม้ตายที่ส่งให้แอปเปิลเหมือนกับ "เกิดใหม่" อีกครั้งโดยฝีมือของ สตีฟ จ๊อบส์ จึงปรากฏขึ้นในรูปแบบของ “ไอพ็อด” เครื่องเล่นเอ็มพีสามสำหรับตลาดวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ที่หลงใหลในความเทรนดี้ ไอพ็อด นอกจากจะช่วยกู้แบรนด์แอปเปิลให้ฟื้นคืนมาได้แล้ว ยังเป็นการส่งให้แบรนด์แอปเปิลค่อยๆ แทรกตัวเข้าสู่ตลาดแมสอย่างค่อยเป็นค่อยไปอีกด้วยแม้สตีฟ จ๊อบส์ จะอยู่ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งแอปเปิล เคียงคู่กับ Steve Wozniak แต่ในสายตาของชาวโลก จ๊อบส์กลายเป็นบุคคลซึ่งแทนภาพของแอปเปิลได้อย่างชัดเจน และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างเขาและแบรนด์ กลับมาที่เมืองไทยเทรนด์การใช้ "ลูกบ้า" ทำธุรกิจให้โด่งดังนั้นเริ่มจะมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ เหตุเพราะผู้บริโภคในวันนี้เลือกที่เชื่อในการ "บอกต่อ" มากกว่าโฆษณา จึงทำให้ความนิยมของการทำการตลาดแบบ Word of Mouth แรงขึ้น และการแหวกกระแสของสินค้าและบริการต่างๆ กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ผล ใครแปลก ใครแตกต่าง ถึงขั้น "บ้าแหกคอก" จะได้รับการพูดถึงและบอกต่อจนเป็น "กระแสสังคม" สมชาย ชีวสุทธานนท์ หรือ “ตี๋” จากแม็ทชิ่ง สตูดิโอ น่าจะเป็นตัวอย่างแรกๆ ของซีอีโอนอกคอกยุคนี้ ด้วยบุคลิกที่โดดเด่นและประวัติอันโชกโชน จากการเริ่มชีวิตธุรกิจบนฐานการเงินที่ "ติดลบ" วันนี้แม็ทชิ่งเป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์อันดับหนึ่งของเมืองไทยถ้าจำกันได้ในงาน Presentation to Investors ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมชายถึงกับเสี่ยงตายโรยตัวลงมาจากชั้น 3 อาคารตลาดหลักทรัพย์ เพื่อโชว์ศักยภาพการเป็นมือหนึ่งด้านโปรดักชั่นเฮ้าส์ โดยใช้เทคนิคการตัดต่อภาพให้กลายเป็นว่าเจ้าตัวโรยตัวลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ ก่อนจะวิ่งเข้าสู่ห้องประชุม สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักลงทุนที่มาร่วมงานแม้ภาพลักษณ์ภายนอก การพูดจา จะมีอารมณ์บ้าเจืออยู่ไม่น้อย แต่เมื่อถึงคราวต้องพูดภาษาธุรกิจ สมชายก็ทำได้อย่างไม่ขัดแย้ง ทั้งยังนำเอาความแหกคอกนั้นมาเป็นเครื่องมือในการปั้นแบรนด์แม็ทชิ่งวงค์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ เป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจน แม้ว่าวันนี้อะเดย์จะถูกกลืนโดยกลุ่มนายทุน ทำให้กระแสความแรงแผ่วลงไปบ้าง แต่ในวันที่วงค์ทนงเริ่มต้นธุรกิจตัวหนังสือ ถือว่าไม่ธรรมดาเพราะวิธีระดมทุนของเขาคือเรี่ยไรเงินจากคนรอบข้างไปจนถึงคนไม่รู้จักการเกิดของอะเดย์ ครั้งนั้นก่อให้เกิด 2 ปรากฏการณ์ขึ้นในสังคมไทยเรื่องแรกคือรูปแบบการระดมทุนจากนายทุนรายเล็กถึงเล็กมาก เพราะบางคนซื้อหุ้นด้วยเงินเพียงไม่กี่ร้อยบาท ซึ่งไม่เคยปรากฏในวงการนิตยสารเมืองไทยมาก่อนส่วนเรื่องที่สอง แม้จะยืนยันไม่ได้ชัดเจนว่า "วัฒนธรรมเด็กแนว" ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับนิตยสารเล่มนี้ แต่ที่แน่ๆ เด็กแนวเหล่านี้ยึดเอาอะเดย์เป็นสถาบันเพื่อประกาศสถานะของตัวเองอย่างรู้กัน ไม่ว่าอะเดย์จะรับรู้ด้วยหรือไม่ก็ตามคนต่อมาที่ต้องจัดเข้าทำเนียบหนึ่งในซีอีโอนอกคอก คือ พาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกายเอเชีย จำกัด ผู้บริหารสายการบินนกแอร์ สายการบินต้นทุนต่ำรายที่สามของเมืองไทยนกแอร์ถูกส่งเข้าสู่ตลาดด้วยเป้าหมายให้เป็นทางเลือกของการเดินทางรูปแบบใหม่ของคนไทย โดยคาแรคเตอร์ของแบรนด์ คือ ง่าย และ กันเอง เข้ากันกับวัฒนธรรมไทยนอกจากรูปแบบการใช้บริการที่ง่าย สีสันสดใสของตัวเครื่อง และลูกเรือที่ดูเป็นกันเองกับผู้โดยสารแล้ว ความง่ายและกันเองของนกแอร์ ยังถูกถ่ายทอดผ่านทางคาแรคเตอร์ที่โดดเด่นของซีอีโอผู้นี้ด้วย แม้ว่าพาทีจะไม่ใช่คนที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรหลุดโลกเพื่อโปรโมทแบรนด์เช่นคนอื่น แต่วิธีคิดที่แหวกกระแสของเขาก็ปรากฏออกมาผ่านทางความมีตัวตนที่ชัดเจนมากของนกแอร์ ซึ่งมีทางเดินของการโปรโมทสายการบินค่อนข้าง "ฉีก" จากคู่แข่ง ทุกกิจกรรมที่นกแอร์ทำ หรือเข้าไปข้องเกี่ยว ล้วนแต่เป็นรูปแบบที่ยังไม่เคยมีใครทำขึ้นมาก่อน อาทิเปิดให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนคัดเลือกพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินชุดแรกจากการแข่งขัน “นกฮันท์” ที่ออกอากาศทางยูบีซีช่อง 35 หรือการออกมากล่าวคำขอโทษของซีอีโออย่างพาที ถึงงานบริการของนกแอร์ขณะที่ธุรกิจสายการบินอย่างนกแอร์วางแผนโปรโมทแบรนด์ผ่านซีอีโอเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ ยังมีอีกธุรกิจหนึ่งคือ กลุ่มฟาร์มโชคชัย ที่ใช้แนวทางเดียวกัน เพียงแต่ต่างกันตรงที่ซีอีโอของที่นี่เป็นเลือดเดียวกับองค์กร ด้วย โชค บูลกุล ทายาทเจเนอเรชั่นที่สองของกลุ่มฟาร์มโชคชัย และยังเป็นผู้พลิกวิกฤติของบริษัทที่ขาดทุนหลายร้อยล้านบาท ให้กลับมามีกำไรได้ในวันนี้สิ่งที่น่าสนใจในตัวโชคในบทบาทของ "ซีอีโอนอกคอก" อยู่ที่ผลงานการพลิกภาพของธุรกิจปศุสัตว์และเกษตรกรไทยให้กลับดูดีมีเทรนด์ได้ในสายตาของคนไทยเหตุที่ "ธุรกิจวัว" กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจอินเทรนด์ของเมืองไทย ต้องยกประโยชย์ให้กับโชค เขาเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสร้างรายได้ให้กับฟาร์มโชคชัย และนำธุรกิจต้นน้ำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด รวมไปถึงการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ออกขายเพื่อโปรโมทแบรนด์โชคชัยไปด้วยในตัวด้วยแนวคิดการทำงานที่โชคบอกว่าเป็นสูตรเฉพาะตัว “คิดแบบเด็ก และทำแบบผู้ใหญ่” ซึ่งเป็นการพัฒนาความคิดฝันที่จะทำอะไรที่สนุกสนานแบบเด็กๆ ให้เป็นจริงได้ทางธุรกิจด้วยวิธีการทำงานแบบผู้ใหญ่วิธีคิดเช่นนี้ทำให้โชคกลายเป็นอีกบุคคลหนึ่งสามารถบริหารความฝันแบบเด็กๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ในทางธุรกิจขณะเดียวกัน ปัญญา นิรันดร์กุล ซีอีโอแห่งบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่สามารถบริหารความคิดหลุดโลกให้เป็นงานบันเทิงในแบบที่เรียกว่าพาณิชย์ศิลป์ ความโดดเด่นของปัญญาเริ่มต้นตั้งแต่การวางโจทย์ในการสร้างรายการใหม่ขึ้นมาว่าจะต้องไม่ซ้ำใคร ที่สร้างความท้าทายให้กับทีมงานให้เกิดเป็นควาพยายามที่จะเค้นความคิดที่ดีที่สุดออกมาให้ได้กล้าที่จะนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ พร้อมทั้งความสามารถในการบริหารความสมดุลระหว่างแนวคิดแบบศิลปินกับธุรกิจได้อย่างลงตัว รายการของเวิร์คพอยท์ในวันนี้มีทั้ง รายการสร้างเงิน และ สร้างกล่อง และหากโชคดีรายการสร้างกล่องก็ยังสร้างเงินได้อีก อย่างรายการคุณพระช่วย เป็นต้นปัญญาตั้งใจจะสร้างให้เวิร์คพอยท์กลายเป็นอาณาจักรที่รวบรวม "นักคิดสมัยใหม่" ที่จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต ด้วยวิธีการให้โอกาสแก่คนเหล่าพิสูจน์ตัวเอง ซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงแค่การผลิตรายการโทรทัศน์เท่านั้น นโยบายของปัญญา คือเปิดกว้างรับงานครีเอททุกแขนง ถ้ามีความสามารถและไอเดียสดใหม่จริง เวิร์คพอยท์ก็พร้อมจะเปิดประตูรับคนเหล่านี้เข้ามาเพื่อให้ได้ทำสิ่งที่ฝันหรือเรียกได้อีกอย่างว่าปัญญาเป็นคนที่พร้อมจะรับความฝันของคนอื่นมาพิจารณาเพื่อมองหาช่องทางการทำเงินได้อย่างลงตัวมาดูผู้หญิงกันบ้าง ศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการหญิงคนแรกของไอบีเอ็ม ประเทศไทย ที่ขึ้นรับตำแหน่งพร้อมกับโจทย์อันยิ่งใหญ่คือการพลิกภาพลักษณ์ขององค์กรจากโบราณคร่ำครึ รอวันตาย ให้กลายเป็นองค์กรของคนสมัยใหม่ ที่เปี่ยมด้วยอนาคตภารกิจแรกที่ศุภจีทำสำเร็จไปแล้วคือจัดโครงสร้างองค์กรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับรูปแบบการทำธุรกิจแบบใหม่ของบริษัทตามนโยบายของบริษัทแม่ ทั้งยังสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ๆ ลึกลงไปจนถึงทัศนคติในการทำงานของคนในองค์กรเองมาถึงวันนี้ศุภจีมีเป้าหมายที่จะทำให้ไอบีเอ็มเข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุนหรือผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของโลกในหลายๆ อย่าง เพื่อเป็นการฝังแบรนด์ทางอ้อมจากการเป็นบรรษัทที่ดีของสังคมด้วยอีกทางด้านมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ นักการตลาดมือฉมังอีกคนหนึ่งของเมืองไทย ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท) ถือเป็นผู้บริหารอีกคนหนึ่งที่แสดงผลงานอันนอกคอกออกมาให้เห็นกันอยู่เสมอสิ่งที่มิ่งขวัญทำแม้จะดูเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับบางองค์กรที่มีความไดนามิคสูง แต่กับองค์กรที่ยังมีเชื้อของความเป็นภาครัฐอย่าง อสมท นี้กลับถือว่าเป็นแนวคิดที่นอกคอกแห่งแวดวงบันเทิง หลังจากเข้ารับตำแหน่ง มิ่งขวัญก็เข้าสู่ขบวนการปรับโครงสร้างภายในองค์กรเสียใหม่ รวมถึงล้างความคิดระบบเก่าออกเสียสิ้น ด้วยความต้องการที่จะลบภาพแดนสนธยาของ อสมท ออกให้หมดสิ้นหลังจากนั้นก็รุกเข้าสู่การจัดโปรดักท์ที่อยู่ในมือ เริ่มจากสถานีวิทยุ 97 แห่งทั่วประเทศ จากที่เคยเป็นแหล่งกอบโกยผลประโยชน์จากภาคเอกชน มิ่งขวัญก็จัดการปรับภาพลักษณ์ให้มีความทันสมัย ตามคอนเซปต์ โมเดิร์น เรดิโอ จนสามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับ อสมท อย่างวันนี้ส่วนช่อง 9 ก็เป็นรายต่อมาที่ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งความทันสมัย โมเดิร์น ไนน์ ทีวี ด้วยความตั้งใจของมิ่งขวัญที่ต้องการให้ ช่อง 9 กลับมาผงาดในวงการโทรทัศน์เมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง และต้องยอมรับว่าการปรับตัวของช่อง9 มาเป็นโมเดิร์นไนน์ครั้งนั้นก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการโทรทัศน์อย่างสูง เพราะเป็นแรงกระตุ้นให้สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ปรับตัวตามเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม "เจ้าพ่ออินดี้" อีกคนของวงการเพลงเมืองไทยที่ต้องจับตา จากชื่อเสียงที่โด่งดังสุดขีดเมื่อสมัยเป็นดีเจจัดรายการให้กับคลื่นฮอตเวฟของเอไทม์ มีเดีย จนฮอตเวฟติดอันดับคลื่นฮิตตลอดกาล และกลายเป็นที่ยึดเหนี่ยวของศิลปินหน้าใหม่ที่อยากแจ้งเกิดในวงการ โดยมี "ฮอตเวฟ มิวสิค อวอร์ด" เวทีประกวดวงดนตรีสำหรับระดับมัธยมศึกษาที่มีรางวัลคือโอกาสเข้าวงการ และเป็นนักดนตรีมืออาชีพในเครือแกรมมี่เป็นสิ่งล่อใจหลังจากอิ่มตัวจากการเป็นดีเจให้กับฮอตเวฟแล้ว เต็ดก็ตัดสินใจออกมาสร้างคลื่นใหม่ แฟ็ท เรดิโอ เอฟเอ็ม104.5 ให้กับค่ายคลิกเรดิโอ และก่อให้เกิดเป็นกระแสใหม่ในวงการเพลง กลายเป็นกลุ่มสังคมแนวอินดี้ ที่ชื่นชอบศิลปะนอกกระแส อย่างหนัง และเพลง ทั้งที่ในเวลานั้นศิลปะนอกกระแสยังไม่มีที่ยืนอยู่บน "สื่อหลัก" ของบ้านเราแฟทเรดิโอ จึงกลายที่ยึดเหนี่ยวของคอเพลงอินดี้ไปโดยปริยาย ศิลปินใต้ดินทั้งหลายต่างพุ่งเข้าหาแฟทเพื่อหวังใช้เป็นช่องทางแนะนำผลงานเพลงไปสู่กลุ่มคนฟังด้วยเช่นกันแม้ยุทธนาจะหลุดออกจากวงโคจรแฟทเรดิโอไปเมื่อปีกลาย จากความต้องการที่จะทำหนังสือ โดยหันไปซบอกค่ายยักษ์ใหญ่อย่างโพลีพลัส แต่แล้วกลับต้องอพยพออกจากบ้านใหม่ทั้งที่นิตยสารที่จะไปทำยังไม่ทันวางแผงเลยด้วยซ้ำ ครั้งนั้นยุทธนาให้เหตุผลว่าเมื่อไปลองดูจริงๆ ถึงรู้ว่า "ไม่เข้าทาง" กับตัวตนของเขา แต่ในที่สุดยุทธนาก็หวนกลับมา "คลิก" อีกครั้ง ในยามที่ธุรกิจวิทยุเมืองไทยเกิดความปั่นป่วนอย่างมากสืบเนื่องจากการแข่งขันสูง คราวนี้ยุทธนากลับมาพร้อมกับความคิดที่จะทำคลื่นวิทยุที่เปิดเพลงฮิตตั้งแต่ยุค 80 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งยุทธนาเชื่อว่าจะเป็นคลื่นที่มีกำลัง สูง เนื่องจากฐานคนฟังกว้างมาก และมาลงตัวที่คลื่นบิ๊ก เอฟเอ็ม 103.5 อย่างที่เห็นในปัจจุบันฝั่งเจ้าสัวน้อย ศุภชัย เจียรวนนท์ ก็เป็นคนสำคัญอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้วยแนวคิดของคนยุคใหม่ ให้กับทรู คอร์ปอเรชั่น ที่เพิ่งจะเปลี่ยนมาเป็นชื่อนี้ได้ปีเศษหลังการเปลี่ยนแปลงทั้งวิสัยทัศน์ ภาพลักษณ์ของบริษัทใหม่ และยุบรวมทุกผลิตภัณฑ์มาอยู่ภายใต้แบรนด์ TRUE เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ส่งผลให้ทีเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ ทรู ที่เคยขาดทุนต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปีเต็ม มาถึงปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ผลประกอบการของบริษัทกลับมามีกำไรอย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าคนทั่วไปจะรับรู้ถึงภาพลักษณ์ที่ทรูพยายามจะเป็น แต่การที่ทรูเป็นบริษัทในกลุ่มของเจริญโภคภัณฑ์ จึงทำให้สภาพแวดล้อมขององค์กรในวันนี้ประกอบไปด้วยคนหลายเจเนอเรชั่น โดยเฉพาะคนยุคเก่าที่ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยน ซึ่งกลายมาเป็นอุปสรรคที่ศุภชัยจะต้องฟันฝ่าไป เพื่อการรีแบรนด์อย่างแท้จริงจากภายในองค์กรเองแม้จะยังไม่มีสูตรสำเร็จของไอเดียนอกคอก แต่วันนี้กลุ่มซีอีโอเลือดใหม่ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วถึงก้าวที่มาไกลกว่า ทั้งภาพขององค์กรที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก และแนวรบใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นภายในองค์กร