Monday 13 August 2007

ปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทตัวแทนโฆษณา

ภาควิชาการประชาสัมพันธ์
สาขาวิชาการโฆษณา

กิ่งแก้ว กังสดาลพิภพ : ปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทตัวแทนโฆษณาและบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์โฆษณา ในการผลิตภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ที่ได้รับรางวัลแทคอวอร์ด(FACTORS AFFECTING CO-OPERATION BETWEEN ADVERTISING AGENCIES ANDPRODUCTION HOUSES IN PRODUCING TACT AWARDED TELEVISION COMMERCIALS)อ.ที่ปรึกษา : ดร.ม.ล.วิฏราธร จิรประวัติ. 118 หน้า ISBN 974-334-664-3
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์คือ (1) เพื่อศึกษากระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทตัวแทนโฆษณาและบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์โฆษณา ในการผลิตภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ที่ได้รับรางวัลแทคอวอร์ด (2) ศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรค รวมถึงวิธีแก้ปัญหาในการทำงานร่วมกัน โดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ 5 ท่าน ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา 5 ท่าน ผู้ดูแลการผลิตจากบริษัทตัวแทนโฆษณา 4 ท่าน ผู้ดูแลการผลิตจากบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์โฆษณา 5 ท่าน
ผลการวิจัยพบว่า กระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทตัวแทนโฆษณาและบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์โฆษณา ในการผลิตภาพยนตร์โฆษณาที่ได้รับรางวัลแทคอวอร์ดนั้น ไม่มีความแตกต่างจากการทำงานร่วมกับบริษัทอื่นๆ ที่เคยทำงานร่วมกันมา ทั้งนี้ ในการทำงานร่วมกันจะเกิดปัญหาและความขัดแย้งน้อยมากและเป็นความขัดแย้งที่ไม่รุนแรง เนื่องจากมีการพูดคุยกันด้วยเหตุผล ซึ่งในการทำงานร่วมงานกันนั้นจะเริ่มต้นที่การมีแนวของต้นร่างภาพยนตร์โฆษณาที่สอดคล้องกับแนวการกำกับภาพยนตร์โฆษณาของผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา นอกจากนั้นแต่ละคู่ได้เคยทำงานร่วมกันมาเป็นระยะเวลานานแล้ว จึงทำให้รู้แนวทางการทำงานกันเป็นอย่างดีและพูดคุยกันรู้เรื่อง อีกทั้งทำงานร่วมกันเสมือนเป็นเพื่อนร่วมงาน มิได้เป็นการทำงานแบบผู้ว่าจ้างและผู้ถูกจ้างแต่อย่างใด
ประเด็นสำคัญที่ทำให้แต่ละคู่งำานด้วยกันอย่างราบรื่น จนภาพยนตร์โฆษณาได้รับรางวัลแทคอวอร์ดนั้น คือการมีอิสระในการทำงาน การพูดคุย การแสดงความคิดเห็นและการได้รับอิสระในการทำงานจากบริษัทเจ้าของสินค้า นอกจากนั้น ปัจจัยภายในองค์กรก็มีส่วนผลักดันในการทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นเช่นกัน

กิ่งรัก อิงคะวัต : รูปแบบการดำเนินชีวิต พฤติกรรมการบริโภค และพฤติกรรมการเปิดรับสื่อของกลุ่มชายรักชาย (เกย์) ในเขตกรุงเทพมหานคร (LIFESTYLE, PURCHASING BEHAVIORAND MEDIA EXPOSURE OF MALE HOMOSEXUAL (GAY) IN BANGKOK METROPOLIS)อ.ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ, 124 หน้า ISBN 974-333-070-4
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา และหาความสัมพันธ์ของรูปแบบการดำเนินชีวิตพฤติกรรมการบริโภค และพฤติกรรมการเปิดรับสื่อของกลุ่มชายรักชาย (เกย์) ในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อยกลุ่มหนึ่งในสังคม และมีขนาดเพียงพอที่เกิดเป็นตลาดทางธุรกิจได้โดยทำการวิจัย จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นบุคคลชายรักชาย (เกย์) 300 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ แบบสอบถามการวิเคราะห์ข้อมูลใช้การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย การวิเคราะห์ปัจจัย และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปSPSS WINDOW ในการประมวลผล
ผลการวิจัยพบว่า
1. กลุ่มตัวอย่างชายรักชาย (เกย์) มีรูปแบบการดำเนินชีวิต 6 รูปแบบคือ
รูปแบบ MOMEY GAY LIFESTYLE
รูปแบบ OBVIOUSLY GAY LIFESTYLE
รูปแบบ CONSERVATIVE GAY LIFESTYLE
รูปแบบ NIGHT GOING GAY LIFESTYLE
รูปแบบ TRENDY GAY LIFESTYLE และ
รูปแบบ HEALTHY GAY LIFESTYLE
2. กลุ่มตัวอย่างชายรักชาย (เกย์) มีการใช้จ่ายเงิน และมีพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการในหมวดแฟชั่น และบันเทิงท่องเที่ยวสูง
3. กลุ่มตัวอย่างชายรักชาย (เกย์) มีพฤติกรรมการเปิดรับสื่อโทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ในระดับสูง ชื่นชอบรายการทางโทรทัศน์ คอลัมน์หนังสือพิมพ์ และนิตยสารประเภทบันเทิงในระดับสูงมีการเปิดรับข้อมูลด้านกิจกรรมเกย์ หรือสถานบันเทิงเกย์ จากสื่อประเภทบุคคล
4. กลุ่มตัวอย่างชายรักชาย (เกย์) มีความตระหนักมาก และระมัดระวังต่อประเด็นเอดส์สูง



จันทร์เพ็ญ ปริญญาวิวัฒน์กุล : การเปิดรับสาร การจดจำ และทัศนคติเกี่ยวกับการโฆษณาสินค้าในกิจกรรมเกมทางรายการวิทยุของกลุ่มวัยรุ่นในกรุงเทพมหานคร (MEDIA EXPOSURE, PRODUCTRECALL AND ATTITUDE TOWARDS ADVERTISEMENTS IN RADIO GAME ACTIVITIES AMONGBANGKOK TEENAGERS) อ.ที่ปรึกษา : ดร.ม.ล.วิฏราธร จิรประวัติ, 126 หน้า
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปแบบการโฆษณาสินค้าในกิจกรรมเกมทางรายการวิทยุ ความ
สัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับสารการโฆษณาสินค้าในกิจกรรมเกมกับการจดจำเกี่ยวกับสินค้าที่โฆษณาในกิจกรรมเกม การเปิดรับสารการโฆษณาสินค้าในกิจกรรมเกมกับทัศนคติต่อสินค้าที่โฆษณาในกิจกรรมเกม การจดจำเกี่ยวกับสินค้ากับทัศนคติต่อสินค้าที่โฆษณาในกิจกรรมเกม และการเปิดรับสารการโฆษณาสินค้าในกิจกรรมเกมและการจดจำเกี่ยวกับสินค้ากับทัศนคติต่อสินค้าที่โฆษณาในกิจกรรมเกม โดยมีขอบเขตการวิจัยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นอายุ 12-25 ปี ที่อาศัยในกรุงเทพมหานคร จำนวน 400 คน
โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แนวคำถามการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกผู้ผลิตรายการเพลงและแบบสอบถาม ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย สำหรับสถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ ค่าt-test และ One-way ANOVA ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบพหุ ซึ่งประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS
ผลการวิจัยจากการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกพบว่า การโฆษณาสินค้าในกิจกรรมเกมมีจุดประสงค์เพื่อขายสินค้า และสร้างความสนุกสนานแก่ทั้งผู้เล่น และผู้ฟังเป็นหลัก โดยผู้ผลิตรายการจะไม่พยายามยัดเยียดรายละเอียด หรือการขายสินค้าที่มากเกินไปในกิจกรรมเกม เพื่อไม่ให้ผู้ฟังเกิดความเบื่อหน่าย ซึ่งผู้ผลิตรายการมีความคิดเห็นตรงกันว่า รูปแบบของกิจกรรมเกมต้องมีความสัมพันธ์กับภาพลักษณ์ของสินค้าและมีการลงโฆษณาอย่างต่อเนื่องเพื่อประสิทธิผลในการจดจำแก่ผู้ฟังรายการวิทยุ
ผลการวิจัยเชิงสำรวจจากแบบสอบถามพบว่า
1. กลุ่มวัยรุ่นที่มีเพศต่างกัน มีการเปิดรับสารจากสื่อวิทยุต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุ และการศึกษาต่างกัน มีการเปิดรับสารจากกิจกรรมเกมทางรายการวิทยุต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
2. การเปิดรับสารจากสื่อวิทยุและกิจกรรมเกม มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการจดจำชื่อกิจกรรมเกม ชื่อสินค้าและสโลแกนของสินค้าที่โฆษณาในกิจกรรมเกมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
3. การเปิดรับสารจากสื่อวิทยุ ไม่มีความสัมพันธ์กับทัศนคติต่อสินค้าที่โฆษณาในกิจกรรมเกมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่การเปิดรับสารจากกิจกรรมเกมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับทัศนคติต่อสินค้าที่โฆษณาในกิจกรรมเกม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
4. การจดจำชื่อกิจกรรมเกม มีความสัมพันธ์ทางบวกกับทัศนคติต่อสินค้าที่โฆษณาในกิจกรรมเกมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แต่การจดจำชื่อสินค้าและสโลแกนของสินค้า ไม่มีความสัมพันธ์กับทัศนคติต่อสินค้าที่โฆษณาในกิจกรรมเกมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
5. การเปิดรับสารจากสื่อวิทยุและการจดจำชื่อกิจกรรมเกม ชื่อสินค้า และสโลแกนของสินค้าไม่สามารถอธิบายทัศนคติต่อสินค้าที่โฆษณาในกิจกรรมเกมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่การเปิดรับสารจากกิจกรรมเกมสามารถอธิบายทัศนคติต่อสินค้าที่โฆษณาในกิจกรรมเกม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

จิตเลขา สุขเสริมส่งชัย : การรับรู้และทัศนคติของผู้บริโภคสตรีที่มีต่อการแฝงสินค้าในนิตยสารสตรี(FEMALE CONSUMERS’ PERCEPTION AND ATTITUDE TOWARDS PRODUCT PLACEMENT INWOMEN MAGAZINE) อ.ที่ปรึกษา : อ.รัตยา โตควณิชย์, อ.ที่ปรึกษาร่วม : อ.วรวัฒน์ จินตกานนท์ ;215 หน้า ISBN 974-334-929-4
การวิจัยในครั้งนี้ แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ การวิเคราะห์รูปแบบการแฝงสินค้าในนิตยสารสตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบของการแฝงสินค้าในนิตยสารสตรี โดยการวิเคราะห์ชิ้นงานการแฝงสินค้าอุปโภคบริโภคในนิตยสารปี 2542 ร่วมกับ การเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และส่วนที่ 2 คือ การวิจัยเชิงทดลอง เพื่อศึกษาการรับรู้และทัศนคติของผู้บริโภคสตรีที่มีต่อการแฝงสินค้าในนิตยสารสตรี กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาได้แก่ ผู้หญิงอายุระหว่าง 18-25 ปี ซึ่งเป็นนักศึกษา และคนในวัยทำงานตอนต้น จำนวน 60 คน โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน แล้วใช้แบบสอบถามถามกลุ่มตัวอย่างหลังจากที่ได้อ่านนิตยสารข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐาน คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ความถี่ และ One-Way ANOVA เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างของการรับรู้ และทัศนคติที่มีต่อการแฝงสินค้าแต่ละรูปแบบ
ผลการวิจัยพบว่า
1. การแฝงสินค้าอุปโภคบริโภคในนิตยสารสตรี ในช่วงปี 2542 มีจำนวนทั้งสิ้น 37 ชิ้นงานโดยแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ จากองค์ประกอบในการแฝงสินค้า คือ รูปแบบที่ 1 : การแฝงสินค้าที่มีเฉพาะภาพสินค้า จำนวน 7 ชิ้นงาน รูปแบบที่ 2 การแฝงสินค้า ที่มีภาพกับชื่อสินค้า และ/หรือโลโก้สินค้า ปรากฎอยู่ด้วย จำนวน 14 ชิ้นงาน รูปแบบที่ 3 : การแฝงสินค้าที่มีภาพ กับชื่อสินค้า และ/หรือโลโก้สินค้า และข้อความโฆษณา ปรากฎอยู่ด้วยจำนวนทั้งสิ้น 16 ชิ้นงาน ทั้ง 37 ชิ้นงานนี้ส่วนใหญ่ใช้การจัดหน้าแบบ ภาพเต็มหน้า นางแบบ/นายแบบถ่ายร่วมกับสินค้า และชิ้นงานส่วนใหญ่มักใช้นางแบบ/นายแบบเป็นผู้นำเสนอสินค้า
2. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เกิดการรับรู้ในตราสินค้าที่ทำการแฝงสินค้าในนิตยสาร โดยมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่เกิดการรับรู้ในการแฝงสินค้ารูปแบบที่ 2 และ 3 มากกว่ารูปแบบที่ 1 เพียงเล็กน้อยซึ่งไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
3. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เข้าใจว่าการแฝงสินค้านี้คือ การโฆษณารูปแบบหนึ่งโดยเสนอขายสินค้าควบคู่ไปกับการถ่ายแฟชั่น
4. กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติในเชิงบวกต่อการแฝงสินค้ารูปแบบที่ 1 และ 3 มีทัศนคติที่เป็นกลางต่อการแฝงสินค้าในรูปแบบที่ 2 และค่าทัศนคติที่กลุ่มตัวอย่างมีต่อการแฝงสินค้าในรูปแบบที่ 2และ 3 นั้น แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
5. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการแฝงสินค้าเป็นรูปแบบการโฆษณาที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดี และนางแบบที่ใช้สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตราสินค้าได้ นอกจากนี้ การจัดหน้า การวางองค์ประกอบภาพ ตลอดจนการแฝงสินค้าให้กลมกลืนกับแนวความคิดในการถ่ายแฟชั่น เป็นสิ่งที่มีผลต่อทัศนคติด้วยเช่นกัน

ชนชญาน์ จันทร์ธิวัตรกุล : รูปแบบการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร (LIFESTYLES AND HEALTH PRODUCT CONSUMPTIONOF BANGKOK CONSUMERS) อ.ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ, 143 หน้าISBN 974-333-943-4
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบถึงรูปแบบการดำเนินชีวิต พฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร และศึกษาถึงความสัมพันธ์ของรูปแบบการดำเนินชีวิตกับพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและทัศนคติที่มีต่อผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพโดยทำการวิจัยเชิงสำรวจ ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัยกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คนทำการประมวลผลโดยโปรแกรม SPSS WINDOW ใช้สถิติการวิเคราะห์เชิงพรรณนา การวิเคราะห์เปรียบเทียบค่าเฉลี่ย t-test และ ANOVA การวิเคราะห์ปัจจัย และการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน
ผลการวิจัยมีดังนี้
1. รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร สามารถจัดแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มคือ กลุ่มปฏิบัติตัวเพื่อสุขภาพ กลุ่มคำนึงถึงสุขภาพ กลุ่มรักสวยรักงาม กลุ่มไม่ใส่ใจสุขภาพ และกลุ่มบั่นทอนสุขภาพ
2. พฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร อยู่ในระดับต่ำและพบว่าแตกต่างกันตามลักษณะทางประชากร ในด้าน เพศ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา และระดับการดูแลสุขภาพ แต่ไม่แตกต่างกันตามอายุ อาชีพ รายได้และสถานะสุขภาพ
3. รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครที่ได้จากการวิจัยนี้ มีเพียง2 กลุ่ม ที่มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ได้แก่ กลุ่มปฏิบัติตัวเพื่อสุขภาพ (.131) มีความสัมพันธ์กับการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพประเภทอุปกรณ์เพื่อสุขภาพและกลุ่มละเลยสุขภาพ (.099) มีความสัมพันธ์กับการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพประเภทอาหารเสริม เนื่องจากต้องการที่จะชดเชย ในส่วนของการกระทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่ขาดหายไปเช่น การออกกำลังกาย การพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นต้น ส่วนรูปแบบการดำเนินชีวิตกับทัศนคติที่มีต่อผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ไม่พบความสัมพันธ์แต่อย่างใด

ชุรีพันธ์ สะวานนท์ : การใช้การจูงใจด้านความรู้สึกผิดในโฆษณาส่งเสริมสังคมทางโทรทัศน์ (THE USE OF GUILT APPEAL IN TELEVISION PUBLIC SERVICE ADVERSISING)อ.ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ, 188 หน้า ISBN 974-333-262-6
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงวิธีการใช้ การประเมินประสิทธิผล และการวิเคราะห์ข้อได้เปรียบและข้อจำกัดของการใช้การจูงใจด้านความรู้สึกผิดในโฆษณาส่งเสริมสังคมทางโทรทัศน์ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2539 - มิถุนายน 2542 โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยในเชิงคุณภาพซึ่งเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการวิเคราะห์เนื้อหาและการสนทนากลุ่ม
ผลการศึกษาวิจัย พบว่า การใช้การจูงใจด้านความรู้สึกผิดในโฆษณาส่งเสริมสังคมทางโทรทัศน์นี้ มีความสอดคล้องเป็นไปตามแนวคิดของการใช้การจูงใจด้านความรู้สึกผิดในมุมมอง3 มิติ ซึ่งประกอบด้วย มิติที่ 1 มิติด้านการนำเสนอเนื้อหาเพื่อให้เกิดความรู้สึกผิด มิติที่ 2มิติด้านประเภทของความรู้สึกผิด และมิติที่ 3 มิติด้านระดับความรุนแรงของความรู้สึกผิด โดยที่ลักษณะของการใช้การจูงใจด้านความรู้สึกผิดที่พบมากที่สุดในภาพยนตร์โฆษณาส่งเสริมสังคม คือมิติที่ 1 เป็นการนำเสนอเนื้อหาโดยการแสดงตัวอย่าง มิติที่ 2 เป็นประเภทที่ผู้รับสารเกิดความละอายใจและต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานั้นๆ แต่ยังไม่กระทำในทันที และมิติที่ 3เป็นระดับความรุนแรงของความรู้สึกผิดในระดับปานกลางและระดับต่ำ
การใช้การจูงใจด้านความรู้สึกผิดนี้ ยังเป็นวิธีการหรือกลยุทธ์การโฆษณารูปแบบหนึ่งที่ช่วยสร้างความสนใจให้กับผู้รับสารกลุ่มเป้าหมายได้ดี โดยสามารถกระตุ้นให้ผู้รับสารเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมได้ อีกทั้งยังสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในสายตาของผู้รับสารได้อีกด้วย ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของการใช้การจูงใจด้านความรู้สึกผิดโดยมีข้อจำกัด คือ ความแตกต่างและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ซึ่งจะมีผลต่อประสิทธิผลในการสื่อสารกับผู้รับสารในแต่ละบุคคลได้ไม่เท่ากัน
นอกจากนี้ ยังได้พบว่า การใช้การจูงใจด้านความรู้สึกผิดในภาพยนตร์โฆษณาส่งเสริมสังคมที่เป็นการนำเสนอเนื้อหาเพื่อให้เกิดความรู้สึกผิดโดยการแสดงตัวอย่าง และมีระดับความรุนแรงของความรู้สึกผิดในระดับสูงนั้น จะทำให้ผู้รับสารเกิดการรับรู้และมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทันทีเมื่อได้รับสาร

ณัฏฐิกา ณวรรณโณ : ความเกี่ยวพันของผู้บริโภค การตอบสนองต่อโฆษณา และความตั้งใจซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาร่างกายของผู้บริโภคชาย (CONSUMER INVOLVEMENT, ADVERTISINGRESPONSES AND PURCHASE INTENTION FOR MALE PERSONAL CARE PRODUCTS)อ.ที่ปรึกษา : อาจารย์ ดร.สราวุธ อนันตชาติ, 113 หน้า ISBN 974-334-777-1
การวิจัยเรื่อง ความเกี่ยวพันของผู้บริโภค การตอบสนองต่อโฆษณา และความตั้งใจซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาร่างกายของผู้บริโภคชาย มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษา (1) ระดับความเกี่ยวพันของผู้บริโภคชายต่อผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาร่างกาย (2) ความสัมพันธ์ระหว่างความเกี่ยวพันของผู้บริโภคชายต่อผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาร่างกาย และการตอบสนองต่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และ (3) ความสัมพันธ์ระหว่างความเกี่ยวพันของผู้บริโภคชายต่อผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาร่างกาย และความตั้งใจซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน(Multi-Stage Sampling) ซึ่งใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) สุ่มพื้นที่ที่ทำการสุ่มตัวอย่าง จากนั้นใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบตามสะดวก (Convenience Sampling)เพื่อให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้บริโภคชาย จำนวน 425 คน ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ในการวิจัยมีทั้งสิ้น2 ชนิด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า และผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย
ผลการวิจัยพบว่า ระดับความเกี่ยวพันของผู้บริโภคชายต่อผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาร่างกายมีความแตกต่างกันในหลายระดับ และระดับความเกี่ยวพันของผู้บริโภคชายต่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว กับการตอบสนองต่อโฆษณามีความสัมพันธ์กันในทางบวก นอกจากนั้นระดับความเกี่ยวพันของผู้บริโภคชายต่อผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาร่างกาย และความตั้งใจซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความสัมพันธ์กันในทางบวกบางส่วน

ณิชกานต์ พรเลิศนครินทร์ : ปัจจัยด้านการสื่อสารการตลาดระหว่างองค์กรและพฤติกรรมการซื้อสินค้าทำความสะอาดของโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับมาตรฐาน (Business to Business Marketing Communication Factors and Cleaning Products Purchase of Standardized Food & Beverage Factories)อ.ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ, 224หน้า ISBN 974-334-405-5
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) รูปแบบ หรือกิจกรรมทางการตลาดของสินค้าประเภทความสะอาดจากฝ่ายบริษัทผู้จำหน่ายสินค้าที่จำหน่ายสินค้าให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับมาตรฐานในปัจจุบัน (2) พฤติกรรมการซื้อสินค้าสำหรับทำความสะอาดของโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับมาตรฐาน (3) โรงงานอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับมาตรฐานตัดสินใจซื้อสินค้าทำความสะอาดโดยใช้ข้อมูลจากรูปแบบ หรือกิจกรรมทางการตลาดของบริษัทที่จำหน่ายสินค้าสำหรับทำความสะอาด ในลักษณะใด โดยมีวิธีการวิจัยในการศึกษาครั้งนี้ คือ การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (Indepth Interview) สองฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายผู้ส่งสารซึ่งเป็นบริษัทผู้จำหน่ายสินค้าทำความสะอาด จำนวน 10 ราย และฝ่ายผู้รับสารซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับมาตรฐาน จำนวน 32 ราย รวมผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งสิ้น 42 ราย
ผลการวิจัย พบว่า
1. รูปแบบและกิจกรรมการตลาดที่บริษัทผู้จำหน่ายสินค้าทำความสะอาดใช้ทำการสื่อสารไปยังผู้รับสารที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในปัจจุบันนั้น ได้แก่ การเน้นการขายโดยบุคคล, การตลาดทางตรง, การโฆษณา, การส่งเสริมการขาย และการประชาสัมพันธ์ ตามลำดับ
2. พฤติกรรมการซื้อสินค้าสำหรับทำความสะอาดของโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มที่ได้รับมาตร-ฐานนั้น มีผู้ร่วมในการตัดสินใจด้วยกันหลายฝ่าย ได้แก่ ผู้ใช้ ผู้จัดการฝ่ายผลิตเจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมคุณภาพ (QC) วิศวกร ผู้บริหารระดับสูง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อ ซึ่งขึ้นกับลักษณะการใช้งานและความซับซ้อนของหมวดผลิตภัณฑ์ ส่วนขั้นตอนของการซื้อสินค้าทำความสะอาดจะเริ่มจากการรับรู้ปัญหา การกำหนดรายละเอียดผลิตภัณฑ์ หาบริษัทผู้จำหน่าย พิจารณาบริษัทผู้จำหน่ายโดยการทดสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์และเปรียบเทียบราคาเลือกบริษัทผู้จำหน่าย และทำการสั่งซื้อ
3.ปัจจัยด้านรูปแบบและกิจกรรมการตลาดของผู้บริษัทผู้จำหน่ายสินค้าทำความสะอาดมีอิทธิพลต่อการพิจารณาสั่งซื้อสินค้าทำความสะอาดของโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับมาตรฐานทั้งในเชิงบวกและในเชิงลบ ซึ่งในเชิงบวก ทางโรงงานจะพิจารณาจากความเป็นมืออาชีพของพนักงานขายที่มีประสิทธิภาพ มีความรู้ความชำนาญ เข้าใจขั้นตอนการติดต่อสื่อสารกับทางโรงงานการให้การบริการที่ดี และการให้ข้อมูลรายละเอียดของสินค้าอย่างครบถ้วน ส่วนรูปแบบการติดต่อที่มีอิทธิพลต่อการพิจารณาซื้อสินค้าทำความสะอาดในเชิงลบ ได้แก่ การเข้ามาพบโดยไม่ทำการนัดหมาย การเสนอขายสินค้าโดยไม่เสนอผ่านตามกระบวนการจัดซื้อของโรงงาน ความบกพร่องเกี่ยวกับข้อมูลของผลิตภัณฑ์ที่จะมานำเสนอ

ธีรดา ตันธรรศกุล : ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการซื้อสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ของกลุ่มผู้หญิงในเขตกรุงเทพมหานคร (KNOWLEDGE, ATTITUDE AND PURCHASING BEHAVIOR OFHOUSEBRAND PRODUCTS AMONG BANGKOK WOMEN) อ.ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวัฒนา วงษ์กะพันธ์ ; 99 หน้า ISBN 974-334-774-7
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการซื้อสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ของกลุ่มผู้หญิงเขตกรุงเทพฯ ซึ่งข้อมูลจากการวิจัยครั้งนี้ได้มาจากแบบสอบถามจำนวน 385 ชุดจากกลุ่มตัวอย่างที่ไปจับจ่ายสินค้าในร้านค้าปลีก ค้าส่งที่มีสินค้าเฮ้าส์แบรนด์วางจำหน่าย และทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (The One-Factor Analysis of Variance หรือ One-wayANOVA) และสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson’s Correlation) โดยมีค่านัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
ผลการวิจัยพบว่า
1. กลุ่มผู้หญิงที่มีลักษณะทางประชากรอันได้แก่ อายุ การศึกษา รายได้ แตกต่างกันมีทัศนคติต่อสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ไม่แตกต่างกัน
2. พฤติกรรมการเปิดรับสารจากการไปร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง ไม่มีความสัมพันธ์กับความรู้ที่มีต่อสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
3. ความรู้ที่มีต่อสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ ไม่มีความสัมพันธ์กับทัศนคติต่อสินค้าเฮ้าส์แบรนด์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
4. ทัศนคติที่มีต่อสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05