Monday 13 August 2007

เส้นทางเดินของคนกลุ่มนี้มาจากพื้นฐานที่แตกต่างกัน

สาม... หลากหลายเส้นทางเดินของคนกลุ่มนี้มาจากพื้นฐานที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะมาจากคนเขียนโปสเตอร์หนัง เป็นเด็กในกองถ่าย เป็นคนวงการโฆษณา หรืออื่นๆ
สอง... หลายคนมีใจตรงกันคือ รักหนังไทย ฝันอยากเป็นผู้กำกับหนังไทย เพื่อทำหนังไทยดีๆ ให้เกิดขึ้น
หนึ่ง... วันนี้ฝันเป็นจริง ทุกคนกลายเป็นผู้กำกับชื่อดัง แต่จะดังเรื่องเดียว หรือดังได้ตลอด ยังไม่มีใครรู้
รู้แต่ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนเหล่านี้ได้สร้างสีสันใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์ไทยอย่างน่าสนใจทีเดียว แอคชั่น....
ยุ ท ธเ ลิ ศ สิ ป ป ภ า คพ.ศ.2544 120 ล้านบาท คือตัวเลข รายได้จากภาพยนตร์เรื่อง "มือปืน/โลก/พระ/จัน" จากผลงานกำกับของยุทธเลิศ ผู้กำกับหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกในชีวิต
2546 ภาพยนตร์เรื่อง "กุมภาพันธ์" ผลงานการเขียนบทและกำกับภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ของเขาก็ออกมา แม้รายได้ไม่ถล่มทลายเหมือนเรื่องแรก แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นหนังดราม่า โรแมนติก อีกเรื่องหนึ่งในยุคนี้ที่ทำเงิน
ยุทธเลิศ จบการศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบตกแต่งภายใน จากมหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากเรียนจบเปิดบริษัทตกแต่งภายในกับเพื่อนเป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่จะบินไปเรียนต่อทางด้าน Fine Art ที่นครนิวยอร์ก
เป็นคนคนหนึ่งที่ชอบดูหนัง และแอบฝันเล่นๆ ว่า อยากเป็นผู้กำกับ เขาบอกว่าความสำเร็จของเขาในวันนี้ มาจากความไม่พอใจ และความโกรธ เป็นพลังขับเคลื่อนที่ทรงพลังที่สุด หลังจากถูกปฏิเสธจากหลายๆ ค่าย ไม่ยอมรับให้เขาเข้าไปเป็นผู้กำกับภาพยนตร์
วิสูตร พูลวรลักษณ์ เจ้าของค่ายไท เอนเตอร์เทนเม้นท์คือ เจ้าของภาพยนตร์ค่ายแรกที่เขาตัดสินใจเดินเข้าไปหา และขอโอกาสในการเข้าไปเป็นผู้กำกับ
"ตอนนั้นเราไม่มีประสบการณ์ในเรื่องการทำหนังเลย แต่กล้าที่จะโทรเข้าไปหาคุณวิสูตร ค่ายที่เรามองว่า เขาเปิดโอกาสให้คนหน้าใหม่มากที่สุด บอกไปว่ามีหนังไปให้ดู หนังที่ว่าของเราก็คือ การไปถ่ายรูปบรรยากาศ รูปผู้คนในมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นสไลด์ต่างๆ เก็บเอาไว้แล้วหาเพลงที่เข้ากันมาประกอบ ซ้อมฉายสไลด์อยู่ที่บ้านหลายครั้ง วันนัดเจอคุณวิสูตรก็ยกเครื่องฉายสไลด์ไปด้วย ตอนนั้นคุณวิสูตรกับโปรดิวเซอร์ 2 คนมานั่งฟัง ก็ฉายสไลด์ แท็กๆ... แท็กๆ พร้อมๆ กับเปิดเพลง
คุณวิสูตรนั่งดู ทำหน้างงๆ สักครู่ แกก็บอกว่า เดี๋ยวๆขอคุยกันก่อน มายังไงนี่ ชื่ออะไร มายังไง ก็บอกกับเขาว่าอยากทำหนัง แล้วเชื่อว่าทำได้ เขาก็ถามอีกครั้งว่าจบมาทางด้านนี้หรือเปล่า... เปล่า เคยกำกับหนังหรือเปล่า ก็เปล่าอีก เขาก็กุมขมับ ถามยังไงๆ ก็บอกแต่ว่าเราเชื่อว่าเราทำได้ ไม่เห็นจะยากตรงไหน เขาเองก็หมดปัญญาที่จะเถียงเรา เพียงแต่ติดใจอยู่ที่ว่า เราไม่เคยทำมาก่อน ไม่มีงาน ไม่มีบท ไม่มีอะไรเลย
ทีนี้คุณวิสูตรก็ให้กลับไปเขียนพล็อตเรื่องเข้ามา ก็กลับไปนั่งเขียน เป็นการเขียนบทครั้งแรก หัดนั่งพิมพ์ดีดท็อกแท็ก...ท็อกแท็ก เสร็จแล้วก็ส่งไปให้อ่าน คือเรื่อง โอเนกะทีฟ นั่นล่ะครับ ครั้งแรกเขาก็บอกว่าเรื่องแบบนี้เอาไปให้ที่ไหนอ่าน เขาก็ไม่ทำ แทนที่เราจะท้อ เรากลับโกรธ และที่สำคัญคือ ผมไม่เชื่อว่าหนังรักจะขายไม่ได้ ไม่เชื่อว่าพล็อตเรื่องเรื่องแรกในชีวิตของเราจะขายไม่ได้ ไม่เชื่อทุกเรื่องที่คนส่วนใหญ่เชื่อ แต่เราก็ไปศึกษามาใหม่ เขียนได้ 30% ก็ส่งมาให้ใหม่ คราวนี้โอเค แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ไม่กล้าโยนเงิน 5-6 ล้าน ให้ผู้กำกับหน้าใหม่
ก็ออกมาก็เขียนบทโอเนกะทีฟต่อจนเสร็จ แล้วก็นำกลับไปเสนอคุณวิสูตรอีก เขาบอกว่าเป็นหนังที่ดีมาก แต่เขาไม่ทำเพราะไม่รู้จะทำไปทำไม ทำไปก็ไม่คุ้ม เราก็เอาบทนี้ไปเสนอคนโน้นคนนี้ จนไปถึงแกรมมี่ฟิล์ม เรื่องผ่าน แต่เขาก็ไม่ยอม ให้เป็นผู้กำกับอีก เราไม่มีบารมี ไม่มีอะไรเป็นจุดที่จะทำให้เขามั่นใจได้ว่าจะสามารถคอนโทรลคนหมู่มากได้ เขาก็ให้เราออก ก็ขอบทคืน เขาก็ไม่ให้ สุดท้ายโอเนกะทีฟก็เป็นหนังที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี พ.ศ.2540 แต่ไม่ใช่ผลงานเรา เขาเอาไปให้คนอื่นทำต่อ
กลับมามุเรื่องเขียนบทใหม่ เป็นบทตลกเรื่อง "มือปืน/โลก/พระ/จัน" แต่ปรากฏว่าไม่มีใครเอาอีก อาจเป็นเพราะว่าเราเคยมีชื่อเสียงเรื่อง หัวแข็ง เชื่อมั่นตัวเองมากไป และมีปัญหาการทำงานกับคน ก็ไปมาทุกที่ ทุกค่าย ในที่สุดได้คุยกับราเชนทร์ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่วัยใกล้เคียงกัน เขาเลยยอมเสี่ยงกับเรา เลยทำเป็นโปรเจ็กต์ออกมา
เส้นทางของผม มันอาจจะต่างกับคนอื่นๆ ที่อาจจะ กำกับหนังสั้นมาไม่รู้กี่เรื่อง ต้องเป็นผู้ช่วยผู้กำกับมาก่อน แต่...ผมมองว่าเส้นทางพวกนั้นมันน่าเบื่อหน่าย เผอิญเราไม่มีกระบวนการสร้างความคิดแบบนั้น ทำไมเราไม่ไปคุยกับนายทุนเลยล่ะ รายได้ 120 ล้านบาท ของมือปืนโลก/พระ/จัน มันได้พิสูจน์อะไรให้เห็นหลายอย่าง และมันได้สร้างกำลังใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือและอยากก้าวมาในวงการนี้ได้อย่างมาก
หลายคนพยายามบอกว่า งานผู้กำกับต้องใช้ประสบการณ์ แต่ผมคิดว่างานศิลปะคุณใช้ประสบการณ์ไม่ได้ มันต้องใช้อะไรที่มากกว่าประสบการณ์ ศิลปะต้องใช้พรสวรรค์พรสวรรค์คือไหวพริบ มันเป็นสัญชาตญาณของคนที่จะเป็นผู้กำกับ
ปัจจุบัน นอกจากเป็นผู้กำกับแล้ว ยุทธเลิศ สิปปภาค ยังเป็นผู้อำนวยการผลิตของบริษัท มหการภาพยนตร์ ที่พร้อมจะเสนอทำภาพยนตร์ให้กับค่ายต่างๆ ที่สนใจ โดยมั่นใจความสำเร็จของผลงานที่เกิดขึ้นคือ ตัวสปริงบอร์ดที่สำคัญในชีวิต "จริงๆ แล้วผมอยากเป็นผู้กำกับอย่างเดียว แต่พบว่าหากมีทีมเองที่แข็งแรง จะสามารถทำหนังได้อย่างต่อเนื่อง และตั้งใจว่า จะพยายามสร้างแบรนด์ของยุทธเลิศ ให้แข็งแรงตลอด ไม่ใช่ทางรายได้ ก็ต้องโดยคุณภาพ ทางใดทางหนึ่ง ผมว่าผู้กำกับรุ่นเก่าบางท่านเช่น เชิด ทรงศรี กำธร ทัพคัลไล เปี๊ยก โปสเตอร์ ฉลอง ภักดีวิจิตร คนดูจะจำคาแรกเตอร์ผู้กำกับได้ แต่จำบริษัทไม่ได้ ผมจะพยายามสร้างตัวเองให้เป็นเหมือนผู้กำกับในรุ่นนั้น"
ป รั ช ญ า ปิ่ น แ ก้ ว
ปรัชญา ปิ่นแก้ว กลายเป็นชื่อของผู้กำกับภาพยนตร์ 100 ล้าน เรื่องล่าสุด "องค์บาก" ชีวิตของเขาวันนี้หยุดลงชั่วคราวที่ Producer และ Director ของบริษัทบาแรมยู บริษัทที่ผูกพันกันด้วย "ใจ" โดยไม่ต้องใช้ "สัญญา" ในการผลิตภาพยนตร์ ป้อนให้กับเสี่ยเจียงแห่งค่ายสหมงคลฟิล์ม
ก่อนหน้านั้นเขาคือผู้ร่วมก่อตั้ง อาร์เอส.ฟิล์ม และเคยเป็นผู้บริหารบริษัท เมเกอร์เฮด จำกัด ที่ดูแลด้านธุรกิจภาพยนตร์ของแกรมมี่กรุ๊ป
ปรัชญาจบการศึกษาจากสถาบันราชมงคลเทคโนโลยี วิทยาเขตโคราช ทำงานในตำแหน่ง Art Director ผลิตมิวสิกวิดีโอ ก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ ที่บริษัท อาร์.เอส.โปรโมชั่น มีผลงานที่สร้างชื่อ และกวาดมาหลาย รางวัล ที่จำกันได้ดีคือ รางวัลจากมิวสิกวิดีโอชุด "เก็บตะวัน" ของ อิทธิ พลางกูร
จนกระทั่งในปี 2535 ได้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกคือ "รองต๊ะแล่บแปล๊ป" ซึ่งเป็นการทดลองทำภาพยนตร์เรื่องแรกของบริษัท อาร์.เอส.ฯ ก่อนที่จะมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอาร์.เอส. ฟิล์ม และได้กำกับภาพยนตร์เรื่อง "เกิดอีกทีต้องมีเธอ" ก่อนที่จะลาออกมา
"ตอนนั้นไฟแรงมากเมื่อเห็นคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรมเขามีแกรมมี่ฟิล์ม ก็คิดว่าศักยภาพของแกรมมี่ ก็น่าจะช่วยวงการหนังไทยได้ ตอนนั้นคิดเป็นวงการเลย แต่ตอนนั้นทิศทางหนังไทยไม่ชัดเจน เลยตั้งเป็นบริษัทเมเกอร์เฮด จำกัด เป็นบริษัทในเครือของแกรมมี่ ทำเรื่องเทป ภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์ ทำอยู่ปีกว่าก็แยกออกมาเปิดบริษัทบาแรมยูรับผลิตหนังให้กับค่ายต่างๆ ที่สนใจ
เรื่องแรกที่ทำตอนนั้นคือ ปอบหวีดผีสยอง เป็นหนังวัยรุ่นเจอผี แล้วนำไปเสนอมงคลฟิล์ม หลังจากนั้นก็ผลิตภาพยนตร์ป้อนค่ายนี้อีกหลายเรื่อง คือ มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็ม, 7 ประจัญบาน, 9999999 ต่อติดตาย, องค์บาก"
บริษัทบาแรมยูตั้งขึ้นมาทั้งหมด 3 ปี ผลิตภาพยนตร์มาอย่างต่อเนื่อง แม้เขาจะบอกว่าไม่ได้ผูกขาดว่าจะทำภาพยนตร์ให้กับค่ายไหน แต่ก็ยอมรับว่าทำกับ "เสี่ยเจียง" แล้วไม่มีปัญหา ไม่เคยมีอุปสรรค ที่สำคัญแต่ละเรื่องที่ทำเงิน สามารถลุ้นรางวัลพิเศษจากสหมงคลฟิล์มได้เรื่อยๆ
ปรัชญาเป็นคนหนึ่งที่มาจากค่ายอาร์.เอส.ฯ ประสบการณ์จากเรื่องธุรกิจเทปเพลง ได้หล่อหลอมให้เขามองธุรกิจภาพยนตร์ทะลุได้เช่นกัน ภาพยนตร์จากค่ายบาแรมยูที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จ ทำเงินได้เกือบทุกเรื่อง
"เวลาผมคิดงานจะมองมุมของการตลาดด้วย อย่างเรื่ององค์บาก ผมมองว่าหนังแอคชั่นเป็นหนัง 1 ใน 3 ประเภทที่ขายง่ายคือ หนังตลก แอคชั่น หนังผี หนังรักขายยากมาก ส่วนหนังแอคชั่นไทยที่ทันสมัยหน่อย ถูกรสนิยมของคนที่ดูหนังในยุคนี้ยังไม่ค่อยมี ก็เลยอยากทำ แล้วพอคิดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงบุคคลคนหนึ่งคือ พนา ฤทธิไกร ที่ทำได้ทั้งกำกับหนัง และแสดงหนังเอง เลยบอกว่ามาทำหนังด้วยกันเถอะ เอาประสบการณ์ของคุณกับของผมมาบวกกันให้เป็นหนังที่ดีๆ สักเรื่องหนึ่ง ตอนนั้นตั๊นไทย (stuntman) เราเป็น จีนหมด คือ การต่อสู้ติดมาจากกังฟู คือมันเป็นกระแสโลก แต่ผมก็มองว่าเราน่าจะมีอะไรที่เป็นตัวของเราเอง ก็พยายามหาเอกลักษณ์ของความเป็นไทย เลยนึกถึงมวยไทย
ตอนนั้นคุณพนา พยายามพรีเซ็นต์ตัวจากที่เป็นลูกศิษย์เขาอยู่ตลอดเวลา ว่าเก่งนะ ผมก็ไม่ทันได้ฟัง คิดอยู่ในใจว่า เก่งยังไงก็สู้เฉินหลงไม่ได้หรอก ก็ให้ลองฝึกซ้อมกัน แล้วเขาก็ถ่ายเป็นหนังมาให้ผมดู เราเห็นคนนี้ก็ทึ่งว่า เฮ้ย! มันเก่งจริงๆ แล้วมีท่ามวยไทย แม่ไม้โบราณ ผมก็มองว่ามวยไทยก็เป็นจุดขายนี่นา เป็นที่รู้จักดีกันทั่วโลกอยู่แล้ว
ผมว่าทำหนัง หน้าหนังต้องชัด คนเขาจะดูก่อนว่าหนังเป็นแบบไหน ใครแสดง และใครกำกับ แต่ละเรื่องอยู่ที่ว่าจะมองอะไรก่อน บางเรื่องนี่ตัวดาราลอยมาก่อน เราก็ดูดาราก่อน บางเรื่องไม่น่าสนใจ ดาราก็ไม่ดี แต่ตัวผู้กำกับน่าสนใจ ก็ดู เขาเรียกว่า หน้าหนังต้องชัด ว่าจะทำขายใคร หนังประเภทไหน"
จากการที่เข้าไปเป็นพันธมิตรกับค่ายผู้สร้างรายใหญ่อย่างสหมงคลฟิล์ม วันนี้บทบาทของเขาต้องเปลี่ยนไปจากผู้กำกับมาดูแลการผลิตทั้งหมดแทน โดยหวังว่าจะสร้างผู้กำกับหน้าใหม่ที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์ไทยให้ได้อย่างต่อเนื่อง
เ ป็ น เ อ ก รั ต น เ รื อ ง"ฝันบ้าคาราโอเกะ" "ตลก 69" เป็น ภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลมากมายทั้งในและนอกประเทศ แต่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในเรื่องรายได้ แต่ดูเหมือนว่าไฟว์สตาร์ยังไม่เข็ด พร้อมที่จะทุ่มทุน อีกเกือบ 100 ล้านบาท ร่วมกับอีก 5 ชาติ ให้เป็นเอก รัตนเรือง กำกับอีกครั้งในเรื่อง "เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล"
หนังของเป็นเอกแต่ละเรื่อง แปลกไปจากภาพยนตร์ไทยทั่วๆ ไป ตั้งแต่ไอเดียแรกเริ่มจนเป็นเนื้อหา เช่นเดียวกับตัวเขาที่มีแนวความคิดแปลกๆ ไม่เหมือนใคร เป็นคนที่ไม่ยอมใช้แม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือ เขาบอกว่า ความคิดเขาเหมือนไดโนเสาร์ ลองอ่านบทสัมภาษณ์นี้ แล้วช่วยตอบทีว่า ใช่หรือเปล่า
"ไม่เคยคิดที่จะเข้ามาเป็นผู้กำกับหนังไทย ไม่เคยใฝ่ฝันเลย (ลงเสียงหนัก) ผมเข้ามาได้เพราะตกกระไดพลอยโจน แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ผมรักมัน และคงทำไปจนวันตาย เพราะฉะนั้นผมไม่เคยมีความทะเยอทะยานแบบแรงกล้าว่าจะต้องเป็นผู้กำกับดาวเด่นของวงการ ดังนั้นถ้าพรุ่งนี้ไม่มีใครจ้างผมทำหนังอีกแล้ว ผมก็ไม่เดือดร้อน ผมไปทำสวน ไปเขียนหนังสือ
ผมจบมาทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ กลับมาเมืองไทย แล้วไม่รู้จะทำอะไร เพราะสิ่งที่ผมเรียนมันเอามาใช้อะไรไม่ค่อยได้ พอดี เพื่อนรุ่นพี่ คือเจ้านายผมคนปัจจุบัน คุณพงษ์ไพบูลย์ สิทธิคู ชวนผมไปทำโฆษณา เป็นเอเยนซี่ ก็รู้สึกสนุกดี ทำเล่นๆ สนุกๆ แล้วได้เงินดี ไปช่วยเขาในงานครีเอทีฟ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้เรียนมาอยู่ดี ทำไปก็รู้สึกชอบ ก็เลยสนใจที่จะเรียนรู้ ศึกษา ค้นคว้าเอง ทำบริษัทโฆษณาเองอยู่ 4 ปี รุ่นพี่ผมก็ออกมาทำบริษัทนี้ แล้วได้มาลองกำกับหนังโฆษณา ก็ลองดูคือเราชอบอะไรที่แปลกๆ อยู่แล้ว อะไรที่ไม่แน่ใจว่า จะรอดไหม มันดูท้าทาย และมีเสน่ห์เป็นพิเศษก็ทำอยู่ 5 ปี ก็เลยคิดจะทำหนังสักเรื่อง
หนังเรื่องแรกคือ ฝันบ้าคาราโอเกะ ผมเดินเอาสคริปต์ไปหาคุณเชน (เจริญ เอี่ยมพึ่งพร ค่ายไฟว์สตาร์) เขากับผมไม่รู้จักกัน ผมถือว่าคุณเชนเป็นคนที่เปิดโอกาสให้ผม และเป็นสุภาพบุรุษมาก พูดคำไหน คำนั้น ทุกเรื่องที่ผมทำไม่เคยได้เงิน ได้แต่รางวัล แต่เขาก็ยังอยากให้ผมทำ เจอหน้ากันต้องถามแล้ว ก็คงทำไปกับค่ายนี้จนกว่าเขาไม่ให้ผมทำนั่นแหละครับ ผมเป็นคนหัวโบราณ หรืออาจจะคิดแบบไดโนเสาร์ก็ได้ คือชอบในคุณค่าเก่า ผมไม่ชอบในความคิดที่ว่า อะไรก็ได้ที่ขอให้กูก้าวหน้า อะไรก็ได้ที่ขอให้กูทำเงิน คือ มันง่ายเกินไปที่เราจะเข้าไปในองค์กรใดองค์กรหนึ่งแล้ว มันไม่เวิร์ค เรื่องตัวเลข เรื่องเงิน แล้วเราสะบัดก้นเดินไป ผมว่ามันง่ายไปหน่อย มันฟาสต์ฟู้ดไปหน่อย
ผมยอมรับว่า ตอนผมเดินไปทำหนังเรื่องแรก ผมไม่เคยคิดว่าหนังจะได้ตังค์หรือไม่ได้ตังค์ ตรงนั้นไม่ใช่จุดประสงค์ของผม จุดประสงค์ก็คือ ผมอยากทำหนังเรื่องแรกคือเรื่องนี้ และอยากทำโดยวิธีนี้ ผมไม่ใช่เด็กๆ ที่เรียนภาพยนตร์มาแล้วอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนประวัติศาสตร์หนังไทยไม่ใช่ ผมทำในสิ่งที่ผมเชื่อเท่านั้นเอง
ไอเดียของผมที่ทำหนังคือเป็นเรื่องคนตัวเล็กๆ ธรรมดาในสังคม เรื่องไม่ยาก ไม่ซับซ้อน คุณค่าของหนังไม่ได้อยู่ตรงที่ว่า คุณต้องทำให้เป็นหนังให้มันยิ่งใหญ่อย่างหนังฝรั่ง ผมไม่ได้อยากทำแบบหนังฝรั่ง ผมไม่รู้ว่าจะทำหนังแข่งกับฝรั่งได้อย่างไร เงินมันก็เยอะกว่า บุคลากรก็เยอะกว่าเรา ผมจะไปทำ สตาร์วอร์ได้อย่างไร ผมจะไปทำลอร์ด ออฟเดอะริง ทำไม แล้วผมก็ไม่เคยดูหนังพวกนี้ด้วย แค่โปสเตอร์หนังผมก็ไม่อยากดูแล้ว
ผมจะทำทุกอย่างไม่ให้หนังมันห่วย จะไม่ยอมไปตามกระแสเด็ดขาด ผมยืนยันว่าผมจะทำในสิ่งที่ผมอยากทำ ทำในสิ่งที่มันท้าทายเรา หนังได้รางวัลมาหรือหนังไม่ได้รางวัลเดือนหนึ่งคนก็ลืม แต่ว่าตัวหนังมันอยู่ไปอีกนาน ผมว่าคุณค่าของหนังมันมีค่ามากกว่าที่จะใส่ใจ
ถ้าผมทำหนังด้วยการไม่คิดอย่างนี้ คิดอย่างอื่นเช่นเอาหน้าหนังมาก่อนเพื่อจะได้มั่นใจว่าจะต้องได้เงินแน่ๆ ถ้าคิดอย่างนี้ผมก็ไม่ทำ เพราะผมไม่ต้องทำหนังก็ได้ ผมไม่เคยคิดจะมาทำ ที่ผมทำตอนนี้ก็เพราะผมชอบมันมาก และมีคนให้โอกาสผมทำ อาศัยว่าผมรู้น้อย เลยทำไปได้เรื่อย ทำให้เรากล้าในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้า เพราะเราไม่รู้
หนังผมมีข้อดีอยู่อย่างคือ หนังผมไม่ต้องได้ 50 ล้าน 70 ล้าน แค่ 30 ล้านก็พอแล้ว เพราะหนังผมทุกเรื่อง ลงทุนไม่เยอะ อย่างเรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล ลงทุนเยอะจริง แต่มันก็มี 3 ชาติที่เฉลี่ยกัน หนังผมต้องเป็นวิธีนี้คือ อย่าให้นายทุนคนเดียวมาลงเพราะมันเสี่ยงเกินไป
คือถ้าผมไม่สามารถเปลี่ยนแนวคิดตัวเองได้ ผมต้องหาระบบใหม่ที่ผ่านมามีระบบเดียว หนังทุกเรื่อง วันเข้าฉายพิมพ์ 80 ก๊อบปี้ฉายทั่วกรุงเทพฯ เหมือนกันหมด สำหรับบางระจัน องค์บาก มันเวิร์คไงที่รีบฉาย รีบเก็บเงิน แต่หนังผมไม่ใช่ ฉายแค่ 2 โรงก็แทบไม่มีใครดูแล้ว สถิติหนังผม โรงที่มีคนดู แค่ดิสคัฟเวอรี่ มาบุญครอง เมเจอร์ เฉพาะโรงกลางเมืองเพราะกลุ่มที่ดูหนังผม เป็นนักศึกษา เป็นคนกรุง แล้วหนังผมจะไปทำ 80 ก๊อบปี้ทำไม เมื่อก๊อบปี้เดียวก็แพงจะตายแล้ว มันเป็นไปได้ไหมล่ะว่า หนังผมมันก๊อบปี้น้อย เข้าโรงน้อย ขออยู่นานหน่อยได้ไหม งบโปรโมตผมก็น้อย ใช้การโปรโมตแบบปากต่อปาก แต่ทีนี้พอบอกกัน จะไปดู มันเหลือรอบ 3 ทุ่ม ตอนกลางคืน หรือรอบ 9 โมงเช้าไปแล้ว ใครจะไปดูล่ะ
ผมจึงอยากให้มันเกิดระบบใหม่ขึ้น หนังประเภทนี้ ผู้กำกับคนนี้ต้องมีวิธีการเข้าโรงภาพยนตร์แบบหนึ่ง เพื่อไม่ให้คนทำหนังแบบผมมันตายไป ตราบใดที่อุตสาหกรรมหนังมีหนังให้เลือกมาก มันถึงจะเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแรง"
วันนี้ เป็นเอก รัตนเรือง เป็นผู้กำกับให้กับทางค่ายซีเนมาเซีย (ประเทศไทย) ของนนทรีย์ นิมิบุตร ภาพยนตร์ของเขาทุกเรื่องมีไฟว์สตาร์เป็นเจ้าของเงิน และล่าสุด เขาได้กำกับภาพยนตร์ ร่วมกับผู้กำกับภาพชื่อดังอย่าง คริสโตเฟอร์ ดอยล์ (Christopher Doyle) ในเรื่อง "เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล"
ร า เ ช น ท ร์ ลิ้ ม ต ร ะ กู ล
การเป็นลูกหม้อเก่าแก่จากค่ายอาร์.เอส.โปรโมชั่น นานถึง 14 ปี ในตำแหน่งผู้กำกับมิวสิกวิดีโอที่ต้องวางแผนการตลาดไปด้วยเป็นส่วนหนึ่งที่ได้หล่อหลอม ราเชนทร์ ลิ้มตระกูล ให้สามารถผสมผสานความเป็นศิลปินกับธุรกิจให้ไปด้วยกัน เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ผู้กำกับหลายคนไม่มี และอาจจะมองไม่เห็นความจำเป็น
เขาจึงมีความคิดชัดเจนว่าการทำหนังต้องได้ทั้งเงิน และกล่อง เพราะเงินสำคัญอย่างมากที่จะเป็นตัวผลักดันกงล้อของอุตสาหกรรมหนังไทยให้เติบโตได้อย่างแท้จริงทั้งระบบ
ราเชนทร์ เป็นคนหนึ่งที่ได้เรียนมาทางสาขาภาพยนตร์ จากคณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มงานทางด้านกำกับ มิวสิกวิดีโอ รวมทั้งดู แนวทางด้านการตลาด ในบริษัทอาร์.เอส.โปรโมชั่น โดยมีปรัชญา ปิ่นแก้ว เป็นหัวหน้า หลังจากนั้นถูกผู้บริหารเลือกให้เข้ามาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งฝ่ายอาร์เอส.ฟิล์ม มีโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกคือ "โลกทั้งใบให้นายคนเดียว" ปัจจุบันเขาเป็นผู้บริหารและผู้กำกับของค่าย "อาวอง" ผลิตภาพยนตร์เพื่อป้อนให้กับ อาร์.เอส.โปรโมชั่น
"ทุกเรื่องที่ผมเลือกมาทำอย่างแรกเลยคือ ผมต้องรู้สึกสนุกกับมัน ไม่จำเป็นว่าทุกชิ้นจะต้องเป็นศิลปะล้วนๆ เพราะเป้าหมายในการทำหนังของผมต้องเป็นพาณิชย์ศิลป์อยู่แล้ว ทุกเรื่องควรจะต้องได้สตางค์ คนทำหนังต้องเลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงครอบครัวได้ แต่ในขณะเดียวกันคนที่เสียเงินไปดูหนังของผมจะต้องไม่ถึงกับร้องยี้ เสียดายเงิน อย่างนั้นก็ไม่เอาเหมือนกัน ผมจะให้ความสำคัญในการเลือกเรื่องก่อน ถ้าผมมองเรื่องทะลุ มองว่าสนุก ก็ทำ
อย่างตอนที่ผมเลือกเรื่องมือปืน/โลก/พระ/จัน ของ ต้อม ยุทธเลิศ มาทำ เพราะผมคิดว่าอยากทำหนังที่มันกวนๆ แต่ยังหาไม่ได้ ก็เลยถามต้อมว่า ทำหนังไหม ผมชอบบุคลิก ชอบความตรงไปตรงมาของเขา ผมว่าเขาเป็นคนจริงใจมากก็อยากได้หนังแบบบุคลิกของคนคนนี้ แล้วมันแปลกตรงที่ว่า ต้อมไม่ได้งัดโปรเจ็กต์มาขายผมก่อน ทั้งๆ ที่ตัวเองเสนอหลายที่แล้ว เพราะเขาไม่อยากเอาความเป็นเพื่อนมาเพื่อจะขายงาน
แล้วทำไมผมถึงกล้าให้กำกับ เพราะผมมองว่ามันทำได้จำเป็นต้องมีประสบการณ์ไหม แน่นอนต้องมี แต่คำว่า ประสบ การณ์ ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเป็นผู้กำกับหนัง หรือกำกับโฆษณามาก่อน ไม่ต้อง แต่มันอาจจะหมายความว่า คุณมีมุมมองผ่านประสบการณ์ชีวิตของคุณมาเข้มข้น และชัดเจน ผมชอบมุมมองนั้นของคุณ และเชื่อว่าคุณสามารถถ่ายทอดออกมาได้ ไม่รู้สิ ผมเชื่อเพื่อนคนนี้ทั้งๆ ที่ไม่ได้คบกันมานาน ผมเลยอยากให้มาทำงานด้วยกัน ผมใช้คำว่ามาทำงานด้วยกัน ไม่ใช่ผมโยนเงินไปให้ แล้วมึงอยากทำอะไรก็ทำ การทำงานกับผู้กำกับ คนอื่นๆ ก็เป็นแบบนี้ ผมอาจไม่ไปยุ่งกับเขาที่หน้าจอมอนิเตอร์ ปล่อยให้ทำเต็มที่ แต่ผมจะมีกติกา คอยดูแลอยู่ห่างๆ เหมือนกัน"
พันธุ์ร็อคหน้าย่น ผลงานของอาวองเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ประสบความสำเร็จฉลองรายได้ครบ 60 ล้านบาทไปตั้งแต่ต้นปี โดยมี "สังหรณ์" เป็นภาพยนตร์เรื่องที่จ่อคิวฉายในเดือนเมษายน ความหลากหลายของเนื้อหาเป็นสิ่งหนึ่งที่ราเชนทร์ให้ความสำคัญ
"อย่างตอนนี้ผมชะลอเรื่องชาละวันไว้ก่อน เพราะผมรู้ว่ามีเรื่องไกรทอง แล้วไกรทองที่ปิดกล้องไปแล้ว หนังสองเรื่องนี้เอามาจากนิทานพื้นบ้านเรื่องเดียวกัน ผมมีความคิดว่า ตอนนี้หนังไทยอยู่ในระหว่างการสร้างศรัทธาให้คนดู ถ้าวันหนึ่งเขาดูหนังเรื่องไกรทองแล้ว อีกครึ่งปีต่อมาเขาดูชาละวัน ผมรู้สึกว่าต่อให้หนังมันแตกต่างกัน แต่มันก็เหมือนกับว่า อะไรวะ คนทำหนังไทยไม่ได้คิดอะไรเลยเหรอ ซึ่งผมว่าถ้าอย่างนั้น มันเสียกับระบบอุตสาหกรรมโดยรวมอย่างแน่นอน ผมเลยหลีกไปก่อน
อุตสาหกรรมหนังไทย มันไม่ได้เกิดขึ้นมาเพราะความ ฟลุค แต่มันเกิดขึ้นได้เพราะว่า การที่หนังไทยมีรสชาติหลากหลายขึ้น ซึ่งหากมันเป็นอย่างนี้ได้เรื่อยๆ หนังไทยก็จะได้ใจของคนดูหนังเป็นช่วงเวลาที่นาน มันจะต้องมีความหลากหลายรองรับคนหลากหลายกลุ่ม พร้อมๆ กับการทำหนังต้องพัฒนาขึ้น เมื่อมันแข็งแกร่งมันก็จะไม่สวิงกลับไปเร็วแน่นอน
ผมว่าหน้าที่ของคนทำหนัง เราสร้างรสนิยมคนใหม่เลยคงไม่ได้ คงได้แค่แนะนำ มีทางเลือกให้คุณ หากรสนิยมทางหนังตลก เราก็แนะหนังตลกที่มีมุมมองใหม่ๆ ไป ที่ทำให้เขารู้สึกว่าเมื่อดูแล้วเขาได้คุณค่าในเรื่องต่างๆ ด้วย หนังทุกแนวเราสามารถสอดแทรกวิธีคิดไปได้ทุกเรื่อง
ดังนั้น เมื่อไรที่ผมบอกตัวเองว่า ควรจะทำหนังแนวไหน ถึงจะประสบความสำเร็จ วันนั้นชีวิตผมในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์พัง เหมือนกับว่าตอนนี้ผมอายุ 34 แล้วผมบอกว่าผมเข้าใจชีวิต ชีวิตผมพังเลย ผมจะมาเข้าใจทั้งหมดได้ตั้งแต่อายุ 34 เหรอ มันไม่ใช่ การทำหนังก็คือการใช้ชีวิตไปในแบบที่เราคิด ว่า ใช้ชีวิตไปแบบนี้แล้วมันคุ้มค่า และมีความสุข ถ้าเราได้เห็นรอยยิ้มของคนที่เดินออกมาจากโรงหนังของเรา ยิ้มมีความสุข"
มือปืน/โลก/พระ/จัน ผีสามบาท พันธุ์ร็อคหน้าย่น คือภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากจากค่ายอาวอง ภายใต้การดูแลของราเชนทร์ ลิ้มตระกูล
ค ม สั น ต รี พ ง ษ์
จากเด็กที่ทำหน้าที่จดบันทึกการถ่ายทำ ตั้งแต่ปี 2521 เร่ร่อนเรียนรู้งานทุกอย่างในกองถ่าย ผ่านไปถึง 14 ปีจึงได้มีโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่อง "หอ..หึ..หึ" เต็มตัวเป็นเรื่องแรก เมื่อปี 2535 และวันนี้ชื่อของเขาได้รับการพูดถึงอีกครั้งเมื่อ "ผีหัวขาด" สามารถทำรายได้สูงกว่าหนังไทยทุกเรื่องในปี 2545 ที่ผ่านมา
"หลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นหนังเชย ภาพก็ไม่สวย มุมกล้องไม่ดี แต่มันเป็นหนังที่ดูสบายๆ ดูง่ายๆ เดี๋ยวฮา เดี๋ยวฮา ดูแล้วมีความสุข ผมเองก็ทำแบบสบายๆ ทำงานแล้ว ก็ได้เงิน ไม่รู้ล่ะ ผมว่ามันต้องเอาเงินไว้ก่อน นายทุนไม่บาดเจ็บก็ชื่นใจแล้ว สารพัดที่จะวิจารณ์กันไป แต่ผมทำหนังคนดูแล้วก็แล้วกัน"
คำพูดและการกระทำของคมสัน ผ่านบทสัมภาษณ์ ข้างล่างนี้ได้สะท้อนความคิดและตัวตนของเขาในวงการภาพยนตร์ไทยไว้ได้อย่างชัดเจนที่สุด
เพราะใจที่รักหนังไทย ทำให้คมสัน ตามชุมพร เทพพิทักษ์ คนปักษ์ใต้เหมือนกันเข้ามาในกรุงเทพฯ
"ตอนนั้นคุณชุมพรกำลังกำกับภาพยนตร์เรื่อง "แหกค่ายนรกเดียนเบียนฟู" ก็ตามเขาเข้าไปในกองถ่ายเข้าไปก็ช่วยทำงานทุกอย่างตั้งแต่ ปูเสื่อให้นั่ง ยกน้ำ ส่งผ้าเย็น สารพัดที่เขาจะใช้ จนในที่สุดก็ได้ทำงานในตำแหน่งแรกคือ "ผู้จดบันทึกการถ่ายทำ" เป็นคนคอยจดคิวว่า ตอนนี้ดาราแต่งตัว อย่างไร ฉากต่อไปคิวนี้ต้องแสดงอย่างไร อย่างฉากนี้จบลงที่สรพงษ์ใส่ชุดอะไร สีอะไร เราก็คอยเช็กเอาไปให้นักแสดงๆ เขาก็เตรียมมาให้ตรงกัน เมื่อก่อนนักแสดงต้องหาเสื้อผ้าเองเตรียมเองนะ ไม่เหมือนสมัยนี้ ต่อมาได้ช่วยบอกบท บอกครั้งแรกๆ ปากคอสั่น ก็เป็นผู้กำกับบทอยู่กว่า 10 ปี ให้กับค่ายไฟว์สตาร์
ปี 2535 คุณบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ผลักดันให้เป็นผู้กำกับครั้งแรก ในเรื่อง "หอ..หึ..หึ" ซึ่งเป็นหนังที่ทำรายได้เรื่องหนึ่งในปีนั้น แต่หลังจากปี 2535 ภาพยนตร์ไทยถึงยุคชะลอตัวโอกาสเป็นผู้กำกับเลยไม่มี เป็นแค่ผู้ช่วยผู้กำกับอีกหลายเรื่องหลังๆ งานผู้ช่วยไม่มีอีก ก็ไปเป็นนักแสดงตัวประกอบอีกหลายเรื่อง
ผมมีโอกาสได้กลับเข้ามาเป็นผู้กำกับอีกครั้งหนึ่ง เมื่อคุณธนพล และคุณวิชัย ธนารุ่งโรจน์ เจ้าของสายหนังทางภาคเหนือ มีความคิดที่จะตั้งพระนครฟิล์ม ผลิตภาพยนตร์เรื่องผีหัวขาด" ซึ่งเขามีบทอยู่แล้วในมือ ตอนมานั่งรอ วันที่ถูกเรียกมาคุย อธิษฐานในใจใหญ่เลยว่า ขอให้เขาเอาเราเถิด เพราะอยากกำกับมาก หลังจาก "หอ หึ หึ" เป็นสิบปีแล้วไม่ได้กำกับหนังเรื่องไหนอีกเลย
หนังเรื่องนี้ใช้เวลาเตรียมงานเป็นปี แต่ใช้เวลาทำเพียง 2 เดือนครึ่ง ลงทุนไปเกือบ 28 ล้าน แต่รายได้เข้ามา 85 ล้านบาท ผมนี่เรียกได้ว่าเกิดใหม่ได้เลย ค่าตัวผม สองแสนบาท พอหนังทำเงินก็ได้พิเศษเข้ามาอีก เราเองก็ไม่ได้เรียกร้องอะไร กินดีอยู่ดี ให้มาใช้บ้างอะไรบ้าง หนี้สินก็ยกให้ ทีนี้เราจะไปค่ายอื่นก็เกรงใจ ต้องขออนุญาตแล้ว
มีค่ายอื่นๆ ที่เขาเข้ามาถาม จะให้เราไปกำกับ แต่ก็ปฏิเสธไป อยากไป แต่เรามีใจกับทางนี้ ผลงานต่อไปที่จะกำกับคือภาค 2 ของผีหัวขาด ก็คงไม่น่ามีอะไรยาก หนังผี มีน้ำ มีคลอง มีป่า มีเฮฮา มีน่ากลัว บรรยากาศ ก็โอเค คงเตรียมไม่ยาก และที่สำคัญบริษัทยังเตรียมงานหนังอยู่อีก 5 เรื่อง ให้ผมเป็นโปรดิวเซอร์ และมีผู้กำกับเข้ามา เช่น โน้ต เชิญยิ้ม, เทพ โพธิ์งาม"
กว่า 20 ปี ที่คมสันคลุกคลีอยู่ในวงการภาพยนตร์ไทย ได้ร่วมงานกับผู้กำกับหลายๆ ท่านเช่น ชุมพร เทพพิทักษ์ บัณฑิต ฤทธิ์กล คมสัน พงษ์ธรรม ทองก้อน ศรีทับทิม ธนิต จิตต์นุกุล ทำให้เขาสามารถเรียนรู้ประสบการณ์ และ การทำงานต่างๆ จากบุคคลชั้นครูในวงการ ในลักษณะของ "ครูพักลักจำ" ทำให้เขามั่นใจพอที่จะกล่าวว่า
"พรสวรรค์อย่างเดียวไม่พอ แต่วิธีการทำงานร่วมกับคนอื่นต้องมี ต้องใจเย็น จิตวิทยาต้องสูง ที่สำคัญต้องรู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และต้องรู้จักเซฟต้นทุน หนังเรื่องนี้ลงทุนน้อย เพราะประสบการณ์ของคนเก่าๆ จะช่วยไว้ได้อย่างมาก สามารถเซฟค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งบางครั้งคนรุ่นใหม่อาจจะละเลยไป"
จิ ร ะ ม ะ ลิ กุ ล
จิระ มะลิกุล เป็นผู้กำกับคนหนึ่งที่เรียนมาทางด้านภาพยนตร์ แต่กวาดรางวัลด้านมิวสิกวิดีโอและภาพยนตร์โฆษณานานกว่า 10 ปี และวันนี้กำลังสร้างชื่อเสียงให้ตนเอง อีกครั้งในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ไทยในเรื่อง "15 ค่ำเดือน 11"
เขาจบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มงานทางด้านทำมิวสิกวิดีโอ ให้กับนักดนตรีหลายคนเช่น "วงเฉลียง" "ปั่น" ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว "อุ้ย" ระวิวรรณ จินดา จนกระทั่งเริ่มเข้าสู่วงการโฆษณา ผลงานชิ้น "คุณแม่ขา ปูน้อยหนีบมือ" รวมทั้งรางวัลต่างๆ ที่ได้รับ ทำให้เขาตัดสินใจตั้งบริษัท "หับ โห้ หิ้น บางกอก" ร่วมกับยงยุทธ ทองกองทุน
ตลอดเวลาเหล่านั้น เขามีความฝันอยู่ลึกๆ ว่า อยาก เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยอย่าง เพิ่มพล เชยอรุณ ที่สร้างหนังออกมาแล้วประทับใจเขามากๆ
"ผมชอบดูหนัง โดยเฉพาะหนังไทย พอดูจบเวลาเดินออกจากโรง ก็จะถามตัวเองตลอดเวลาว่า ถ้าเป็นเราทำ เราจะให้จบแบบไหน เพราะไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราดูแล้วชอบ ก็คิดอยู่เสมอว่าอยากทำหนังไทย และก็จะเขียนบท วางพล็อตหนังไว้เยอะมาก แต่ว่าการที่ใครสักคนจะทำหนัง ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มันต้องมีคนรู้จัก มีเส้นสาย มีเพื่อนฝูง มีญาติโยม ในวงการ และสมัยก่อนเราทำงานทางด้านโฆษณา ซึ่งใช้เครื่องมือหรือมีการทำงานที่ใกล้กัน แต่มันก็ไกลจากวงการ ไกลจากการทำหนังมาก คนละเรื่องเลย
ตอนที่ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยเป็นผู้กำกับภาพเรื่อง สตรีเหล็ก 1 ผมเคยสงสัยว่าเขาทำหนังกันอย่างไร วันละ 30 คัต หนังโฆษณาออกมา 30 วินาที เราก็ใช้เงินเป็นล้านบาทแล้ว ถ่ายวันละ 3-4 คัตเอง มันแตกต่างกันมาก นี่หนังทั้งเรื่องใช้เงิน เพียง 8-9 ล้านบาท ทำได้อย่างไร แล้วจะเหลือเงินให้ทีมงาน สักเท่าไร ลำพังค่าจ้างผมๆ ไม่มีปัญหาอยู่แล้วเพราะตอนนั้นเราก็ได้เงินเดือนจากหับ โห้ หิ้น ฟิล์มอยู่แล้วแต่สิ่งที่ติดอยู่ในใจตอนนั้นก็คือคำถามที่ว่า อาชีพหนังไทย สามารถยึดมันเป็นอาชีพได้หรือเปล่า ถ้าเราไม่มีเงินเดือนที่อื่นรองรับจะอยู่ได้ไหม
ตอนนั้นเป็นคำถามของผมกับทีมงาน เพราะเราดึงทีมงานหนังไทยบางคนมาช่วยอย่างผู้ช่วยผู้กำกับ ซึ่งผมว่าเขาเก่งมาก แต่เขาไม่มีสังกัด และรายได้จะไม่มั่นคงเลย เรื่องหนึ่งๆเขารับเงิน 3 งวดๆ แรกก็คือ ตอนเปิดกล้องงวดที่ 2 หนังถ่ายไปได้แล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ และงวดสุดท้ายช่วงหนังตัดต่อเสร็จ ผมพบว่าบางวันเราถ่ายกันที่ดอนเมืองแล้วเขาต้องรีบเข้ามาขึ้นรถกับกองถ่ายให้ทัน ไม่อย่างนั้นเขาต้องขึ้นแท็กซี่ มันไม่คุ้ม เออ! ถ้าอย่างนี้ที่บอกว่าหนังเฟื่องฟู ก็ไม่จริงสิ เพราะถ้าจริง ผลตอบแทนบุคลากรต้องไปด้วยกัน"
หับ โห้ หิ้น ฟิล์ม จึงเกิดขึ้นมา โดยบริษัท GMM Pictures เข้ามาร่วมทุนด้วยฝ่ายละ 50 เปอร์เซ็นต์ จิระบอกว่า เขามีเวลาพิสูจน์คำถามนี้ 3 ปี คือถ้าทำหนังแล้วได้กำไร ก็จะทำต่อไป แต่ถ้าไม่ได้กำไรก็จะหยุด และเพื่อจะให้ได้คำตอบที่ถูกต้องที่สุด จิระเลยเลิกงาน หยุดรับงานทั้งหมดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา
"15 ค่ำเดือน 11" ภาพยนตร์เรื่องแรกทำรายได้มา 52 ล้านบาท เรียกว่าได้ทั้งเงินได้ทั้งกล่อง ก่อนหนังเข้าฉายหลายคนอาจจะมองเรื่องนี้อาจจะได้แค่กล่อง แต่แผนการตลาดขั้นสุดยอดที่ถูกวางแผนไว้คือ ปลุกกระแสความอยากรับรู้ของสังคมจนสุกงอม ประจวบกับการฉายก่อนมีเทศกาลเพียงไม่กี่วันทำให้เกิดการผนวกกับการที่ทาง ท.ท.ท. จัดโปรโมต งานบั้งไฟพญานาคอย่างเป็นทางการ จริงหรือไม่จริง เป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสความสนใจพอดี
"เรื่องแรกแม้ยังตอบคำถามได้ไม่ชัดเจนว่าเราสามารถอยู่ได้หรือเปล่า แต่ผมได้ทำในสิ่งที่คิดว่าเหมาะสม เช่นว่าในส่วนของค่าแรงทีมงาน หนังเรื่องนี้ทีมงานจะได้เงินสูงมากขึ้น มันถึงทำให้งบประมาณสร้างสูงมาก สตรีเหล็กใช้ไป 8 ล้าน เรื่องนี้ใช้ไปถึง 19 ล้าน คือถ้าเรื่องนี้มันเจ๊ง ผมคงตอบคำถามได้เร็วขึ้นว่า เฮ้ย! สงสัยคงไม่ได้ว่ะ คนดูหนังไทยมีไม่พอที่จะมีรายได้มาซัปพอร์ตบุคลากร แล้วทำเรื่องต่อไปได้
ทิศทางต่อไปที่ผมคิดไว้ก็คือเราต้องทำหนังดีที่มีคนดู ทำหนังดีที่ไม่มีคนดูอย่างเดียวไม่ได้ เพราะต่อไปเราขายตัวเองไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเราตั้งใจทำสินค้าเราให้ดีมันก็จะกินไปในระยะยาวด้วย คือมันจะต้องสร้างแบรนด์ให้เราด้วย"
นอกจากเป็นผู้กำกับแล้ว ทุกวันนี้ จิระยังเป็นผู้บริหาร หับ โห้ หิ้น ฟิล์ม รับผลิตหนังให้กับค่ายต่างๆ ที่สนใจ ล่าสุดเรื่อง "แฟนฉัน" เป็นโครงการที่เขากำลังดูแล และเป็นเรื่องที่ลงทุนร่วมกันระหว่าง หับ โห้ หิ้น ฟิล์ม GMM Pictures และไท เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ โดยเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่กลุ่ม "365 ฟิล์ม" เป็นผู้กำกับ
ก ลุ่ ม 3 6 5 ฟิ ล์ มคงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆ นักหรอก กับการที่บริษัทสร้างภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยจะใจดีเอาเงินให้คุณไปสร้างหนังง่ายๆ ถึง 12 ล้านบาท แต่เมื่อมันเกิดขึ้นได้ก็ต้องยอมรับว่า พวกเขาทั้งหมดโชคดี ที่ได้โอกาสนี้มา
ประสบการณ์จากโอกาสที่เขากำลังเก็บเกี่ยวในวันนี้อาจจะ หล่อหลอมให้พวกเขาเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สร้างสีสันให้กับวงการภาพยนตร์ไทย
"365 ฟิล์ม" คือเด็กหนุ่มกลุ่มหนึ่งจากคณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "36" คือชื่อรุ่น ที่เข้าไปศึกษาในปี 2536 "5" คือหมายเลขชื่อคณะ พวกเขาเคยเป็นลูกศิษย์ของจิระ มะลิกุล เมื่อครั้งเข้าไปเป็นอาจารย์พิเศษที่สถาบันแห่งนั้น
"ผมสอนมา 4 รุ่น ไอ้รุ่น 365 นี่ เป็นรุ่นที่ทำหนังมัน มาก เพราะเริ่มหลุดพ้นจากการทำหนังเอาใจอาจารย์ รุ่นแรกอย่างรุ่นผมเราดูว่าอาจารย์เป็นคนยังไงชอบดูหนังแนวไหน เราก็จะทำหนังแบบนั้นกัน แต่พอผมมาสอน ผมบอกเลยว่าทำอย่างที่อยากทำ อย่ามาเอาใจผม
ก่อนที่จะจบ พวกเขาจะต้องทำหนังกันคนละ 1 เรื่อง ก็เลยเปิดให้ฉายที่คณะ จัดเป็นงาน "กางจอ" คือกางจอฉายกัน วันนั้นเด็กพวกนี้เป็นเจ้าของงาน แล้วก็ให้คนในวงการไปดู มีคุณวิสูตร มีอังเคิ่ล คุณปื๊ดไปดู ผมประทับใจมาก งานเล็กๆเราไม่คิดว่าผู้อำนวยการสร้างแบบนี้จะมาดู" จิระ มะลิกุล เริ่มเกริ่นนำถึงลูกศิษย์กลุ่มที่เขาภาคภูมิใจนำเสนอ
วันหนึ่ง จิระได้ไปเจอเรื่องสั้นของ วิทยา ทองอยู่ยง ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนี้ ชื่อเรื่อง "อยากบอกเธอรักครั้งแรก" ก็เลยสนับสนุนให้ทำเป็นภาพยนตร์ โดยเขาไปเสนอเรื่องกับไพบูลย์ดำรงชัยธรรม ค่ายแกรมมี่ และวิสูตร พูลวรลักษณ์ ค่ายไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ซึ่งทั้งสองคนอ่านแล้วชอบมาก และตกลงใจร่วมทุนกันทำโดยเปิดโอกาสให้ทั้ง 6 คนมาช่วยกันทำ แบ่งงานกันตามที่พวกเขาถนัด
ก่อนที่จะมาร่วมกันทำภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ตามความฝัน หลังจากจบการศึกษาทั้ง 6 คน ต่างก็มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน แต่ยังมีโอกาสมาพบปะกันเสมอๆ ตามงานต่างๆ เกี่ยวกับภาพยนตร์ และที่สำคัญนัดเจอกันเพื่อดูหนังเรื่องต่างๆด้วยกัน
คนแรกวิทยา ทองอยู่ยง "บอล" ได้มีโอกาสไปอยู่กองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง 303 ทำหน้าที่ควบคุมความต่อเนื่อง บางครั้งก็รับถ่ายวิดีโองานรับปริญญา หลังจากนั้นก็ไปสมัครงาน กับ "อังเคิ่ล" ที่ฟิล์มบางกอก ทำหน้าที่ช่วยอ่านบทภาพยนตร์
"ต้น" นิธิวัฒน์ ธรา เคยไปทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง "เสือ โจรพันธุ์เสือ" ของ "ปื๊ด" ธนิตต์ จิตต์นุกูล ทำได้ไม่นาน ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษทางด้านภาษากลับมาไปทำงานที่บริษัทผลิตภาพยนตร์ "ฟิล์มเซิร์ฟ" ของค่ายอาร์.เอส.โปรโมชั่น ช่วยตั้งแต่อ่านบท ทำโปรเจ็กต์หนัง อยู่ที่นั่นประมาณปีกว่า ก็ออกมาทำทางด้านมิวสิกวิดีโอ
"ย้ง" ทรงยศ สุขมากอนันต์ ไปทำรายการทีวี "กระจก 6 ด้าน" ประมาณ 3 เดือนก็ลาออกไปเป็นเด็กเสิร์ฟ ที่อเมริกา หวังจะเก็บเงินเรียนต่อปริญญาโท หรือหาฟิล์มสคูลดีๆ เรียนที่นั่น บังเอิญเข้าไปอ่านในเว็บๆ หนึ่ง มีคนที่เขาเรียนทางด้านฟิล์มมาให้ความเห็นว่าเอาเงินที่มีไปทำหนังสั้น เพื่อหาประสบการณ์เองดีกว่ามาเสียเงินเรียน เขาก็ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด แต่เสียดายเงินไม่อยากใช้เป็นเรื่องใหญ่กว่า หลังจากกลับเมืองไทย เมื่อปลายปี 2542 ก็ไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับของบริษัทโปรดักชั่นเฮ้าส์ อยู่ 2 ปี
"เอส" คมกฤษ ตรีวิมล หลังเรียนจบอาศัยความใจกล้าเดินเข้าไปของาน "อุ๋ย" นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนางนาก ก็เลยได้เข้าไปทำสารคดีชื่อ "ฉงน" หลังจากนั้นไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับเรื่อง "นางนาก" และช่วย วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ในเรื่อง "ฟ้าทะลายโจร" พอรู้ตัวว่าไม่เหมาะกับการเป็นผู้ช่วย ที่หนักไปในทางการประสานเรื่องคน เรื่องการจัดการทุกเรื่องในกองถ่ายก็เลยออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ถ่ายมิวสิกวิดีโอ และได้มีโอกาสกำกับละครทีวี เรื่อง "คู่กัด หัวใจฟัดเหวี่ยง" ของช่อง 7
"ปิ๊ง" อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม คนนี้จบแล้วกลับบ้านไปช่วยแม่ทำบัญชี ขายมอเตอร์ไซค์ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี กลับมากรุงเทพฯ อีกที "อังเคิ่ล" ก็เรียกไปเป็นโปรดักชั่นแมเนเจอร์เรื่อง "องคุลีมาล" ไม่ได้เงินมากมายก็จริงแต่ก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง แต่สรุปได้ว่า ไม่ชอบอย่างมากกับหน้าที่นี้ ซึ่งหลักๆ จะดูเรื่องเงิน ดูเรื่องสถานที่ถ่ายทำ ก็เลยออกมารับถ่ายวิดีโอต่างๆ
"เดียว" วิชชา โกจิ๋ว คนนี้สำคัญมากเพราะทำให้เพื่อนๆ กลุ่มนี้มีโอกาสเข้าไปดูหนังฟรีอยู่บ่อยครั้ง เพราะความชอบดูหนังนี่เอง เลยไปสมัครงานที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ในตำแหน่งหัวหน้าห้องฉาย คอยดูแลเรื่องการฉายหนัง คอยรับฟิล์ม ดูแลหมดไปจนถึงเรื่องปิด-เปิดเครื่องปรับอากาศ ทำอยู่ปีกว่า ก็ไปอเมริกา ไปเป็นเด็กเสิร์ฟอยู่นานถึง 3 ปี
ทั้ง 6 คน ลาออกจากงานทันทีที่ทราบข่าวว่า จิระ มะลิกุล หาเงินให้ทำภาพยนตร์ได้แล้ว ในเรื่อง "แฟนฉัน" นอกจากบทภาพยนตร์ที่ต้องช่วยกันเขียนทั้ง 6 คนแล้ว งานส่วนอื่นจะแบ่งบทบาทกันไปตามที่ตนเองถนัด โดย เดียว จะรับผิดชอบเรื่องการคัดเลือกตัวนักแสดง ปิ๊งกับบอล จะช่วยกันกำกับ เอสเป็นคนคอยสอนการแสดง ย้งเป็นตากล้องคอยกำกับภาพในหนัง ต้นดูเรื่องการตัดต่อรับผิดชอบขั้นตอนหลังการถ่ายทำ
วันนี้ โอกาสได้เข้ามาหาเขาแล้ว ภาระที่เขาต้องทำก็คือต้องเต็มที่กับงานอย่างเดียวเท่านั้นรวมทั้งต้องประสานความคิดของคนทั้งหก เพื่อการปฏิบัติที่เป็นหนึ่งเดียว