Monday 13 August 2007

สงครามโฆษณา เครื่องดื่มชูกำลัง

สงครามโฆษณา เครื่องดื่มชูกำลัง
ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังสร้างแบรนด์ใหม่ลงตลาด ก็ต้องก่อกระแสการรับรู้สู่กลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะการเจาะผ่านภาพยนตร์โฆษณาทางทีวี ที่ทุกค่ายต่างวางพล็อตเป็นเรื่องสั้น ออกมาเป็นชุด ออกแนวตื่นเต้น สนุกสนานที่ต้องการให้โดนใจ มีการพูดถึงในวงกว้าง ตั้งแต่ผู้ใหญ่ถึงเด็กเล็ก มีเอกลักษณ์ และที่สำคัญต้องรสนิยมผู้ชมคนไทย
ลูกทุ่ง Fighting Brand จากค่ายกระทิงแดง เลือกแนวความคิดหลัก เน้นเนื้อหาด้านจิตใจ “หัวใจลูกทุ่ง” มีภาพยนตร์โฆษณา 3 ชุดออกมานำเสนอ ขณะที่ค่ายคาราบาวแดงเลือกคอนเซ็ปต์เชิดชูนักสู้ไทยโดยใช้ 5 เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ชาติไทยนำเสนอ ส่วนค่ายโอสถสภา ได้นำภาพยนตร์โฆษณาล่าสุดของแบรนด์ .357 รสชาติใหม่ออกอากาศ เน้นคอนเซ็ปต์ “ชาตินี้ต้องลอง” นำเสนอเรื่องราวที่เน้นไปยังรสชาติใหม่และชื่อแบรนด์โดยตรงให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความต้องการทดลองชิม
บริษัทโอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ แอดเวอร์ไทซิ่ง ผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์โฆษณาให้กับเครื่องดื่มลูกทุ่ง โดยมีกรณ์ เทพินทรา-ภิรักษ์ เป็นผู้อำนวยการสร้างสรรค์งาน มีสุธน เพชร-สุพรรณ เป็นผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา แมทชิ่ง สตูดิโอ เป็นผู้ผลิตภาพยนตร์โฆษณา ภายใต้แนวความคิดหลัก ที่นำเสนอถึงบุคลิกลักษณะของคนลูกทุ่ง โดยเน้นเนื้อหาด้านจิตใจ “ หัวใจลูกทุ่ง “ เป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อสื่อถึงความมีน้ำใจ อดทน หนักเอาเบาสู้
เนื้อเรื่อง นำเสนอผ่านเรื่องราวที่เข้าใจง่าย โดยใช้เพลงลูกทุ่งมาสร้างสีสัน เพื่อทำให้เรื่องราวสนุกสนานยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันต้องการเน้นเรื่อง ราคาสินค้า 7 บาท แคมเปญโฆษณาดังกล่าว มีทั้งภาพยนตร์โฆษณา โทรทัศน์ และโรงภาพยนตร์ ความยาว 45 วินาที มี 3 เวอร์ชั่น
3 เวอร์ชั่นของภาพยนตร์โฆษณา ประกอบด้วย เวอร์ชั่น 1 ชุด “ ขอเป็นพระเอก “ นำเสนอเรื่องราวเกิดขึ้นที่บริเวณริมทางหลวง ที่ชายหนุ่มกำลังช่วยเหลือ หญิงสาวซึ่งรถยางแตก เวอร์ชั่น 2 ชุด “ เหนื่อยไหมคนดี “ นำเสนอเรื่องราว เกิดขึ้นที่รถประจำทาง กระเป๋าสาวให้ตั๋วแก่ผู้โดยสารคนสุดท้าย ดูเหนื่อยหน่าย อิดโรย มานั่งข้างพนักงานขับรถหนุ่มส่งสายตา ห่วงใย พร้อมเสียงเพลง “เหนื่อยไหมคนดี มีพี่เป็นแฟน…” และเวอร์ชั่น 3 ชุด “หัวใจผมว่าง” เป็นเรื่องราวเกิดขึ้นที่ปากซอยแห่งหนึ่ง มีคิวเมอร์เตอร์ไซด์รับจ้าง คิดโกลาหล แต่เหลือมอร์เตอร์ไซด์หน้าซื่อคันหนึ่ง ท่าทีกระตือรือร้น ไม่ท้อ พร้อมเสียงเพลง ร้องว่า “หัวใจผมว่าง จะมีใครบ้างจับจอง”
เป้าหมายครั้งนี้ นายสาธิต สถีระศรินทร์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด-ผลิตภัณฑ์กระทิงแดง เปิดเผยว่า ต้องการสร้างการรับรู้ Awareness ของการวางตลาดเครื่องดื่มให้พลังงานลูกทุ่ง ไปยังกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง ซึ่งเป็นผู้บริโภคทั่วประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องรสชาติแบบไทยๆ ในราคาที่เหมาะสมกับค่าครองชีพในสภาวะ-เศรษฐกิจปัจจุบัน
ทางด้าน คาราบาวแดง ได้นำเสนอ ภาพยนตร์โฆษณาชุดทางโทรทัศน์ ที่เลือกใช้คอนเซ็ปต์หลัก นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ โดยนายอดิศักดิ์ อัครจรัลญา ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท ฟาร์อีสท์ ดีดีบี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ต้องการ สร้างจุดเด่นที่แตกต่าง และเรียกความสนใจจากคนดูให้มากที่สุด นำเสนอความยาว 90 วินาที ยาวที่สุดในช่วงนี้ ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท จำลองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ชาติไทย 5 ยุค อาทิ นักสู้บางระจัน นักสู้วีรสตรีไทย นักสู้ปราบยาบ้า นักสู้ราชนาวี รวมถึง นักสู้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้แอ๊ดและสมาชิกวงคาราบาวเป็นพรีเซ็นเตอร์
เขากล่าวว่า ภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ ต้องการนำเสนอจุดขายที่โปรดักส์ชั่นแรง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแบรนด์และตำแหน่งทางการตลาดของสินค้า โดยชื่อแบรนด์บางส่วน คำว่า คาราบาวเป็นที่รู้จักและยอมรับอยู่แล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นที่ในเนื้อเรื่อง จะต้องพูดชื่อตลอด แต่ได้นำมาใส่ไว้ในตอนสุดท้าย เพื่อตอกย้ำจุดยืนของแบรนด์ โดย ระยะเวลาออกอากาศ บริษัทฯ วางแผนกำหนดไว้ 9 อาทิตย์ เป็นยาวทั้งชุด แต่หลังจากนั้นก็จะตัดเหลือ 30 วินาที เพื่อเตือนความจำเท่านั้น
“แนวคิดนี้ เป็นส่วนหนึ่ง ทำให้เราชนะค่ายอื่น เช่น ชูโอ เซ็นโกะ และดีวายอาร์ ที่มายื่นข้อเสนอ เพราะมันแตกต่าง ไม่เหมือนใคร”
สำหรับ ค่ายโอสถสภา เจ้าของแบรนด์เอ็ม 150 ได้นำภาพยนตร์โฆษณาล่าสุดของแบรนด์ .357 รสชาติใหม่ออกอากาศก่อนคาราบาวแดงไม่กี่วัน นาย วศโดม รักษมิทัต ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง ผู้ผลิตภาพยนตร์โฆษณา เน้นคอนเซ็ปต์ “ชาตินี้ ต้องลอง” นำเสนอเรื่องราวที่เน้นไปยังรสชาติใหม่และชื่อแบรนด์โดยตรง ให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความต้องการทดลองชิม
อาจารย์ประดิษฐ์ รัตนวิจารณ์ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แสดงความเห็นว่า จุดแข็งของโฆษณาแบบชุด และมีความยาว นั้น สามารถได้ผลกับแบรนด์ใหม่ เพราะก่อให้เกิดการจดจำแบรนด์และสร้างภาพลักษณ์สินค้า ควบคู่กันไป ซึ่งเป็นวิธีการที่นิยมทำมากและได้ผลสำหรับแบรนด์ใหม่ ส่วนมากใช้กับภาพยนตร์โฆษณาที่มีคอนเซ็ปต์ซับซ้อน ขณะเดียวกันก็มีจุดอ่อน คือ ต้องใช้งบประมาณมากในการซื้อเวลาออกอากาศ ไม่เหมาะที่ต้องออกอากาศเป็นเวลานาน แต่ควรใช้วิธีการตลาดอย่างอื่นๆ เข้ามาเสริม