Sunday, 5 August 2007

หันจับธุรกิจ B2C ขายหนังสือแฟชั่น

แม็ทชิ่งปรับทัพธุรกิจ หลังเจ็บตัวมาตลอดปี หันจับธุรกิจ B2C ขายหนังสือแฟชั่น เปิดสตูดิโอถ่ายภาพ วางระบบเทคโนโลยีสื่อสาร พร้อมขยายธุรกิจโฆษณาก้าวสู่อินเตอร์รอรับโอลิมปิก ชื่อของแม็ทชิ่ง สตูดิโอ ไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ในประเทศไทย โปรดักชั่นเฮ้าส์ สัญชาติไทยรายนี้ได้รับการยอมรับจากวงการโฆษณาทั่วโลก และเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์ ที่ได้รับรางวัลสูงสุดอันดับ 5 ของโลก แต่เมื่อแม็ทชิ่ง แตกแขนขาออกไปทำธุรกิจอื่น กลับกลายเป็นว่า เจ็บตัวมากกว่ารับความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจผลิตภาพยนตร์ หนังไทย 2 เรื่อง "ซีอุย" และ "ก็เคยสัญญา" ประสบความล้มเหลวด้านรายได้ ส่งผลไปถึงโครงการมูฟวี่ ทาวน์ ที่ใช้เงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท มุ่งหวังในการรุกธุรกิจภาพยนตร์ไทย ก็ต้องพับเก็บเข้าลิ้นชัก เพราะมองเห็นแนวโน้มอุตสาหกรรมบันเทิงในเมืองไทยไม่สดใส การประกวดนางงามจักรวาลในปีนี้ และสวนสนุกยูเค ฟันแฟร์ ที่เมืองทองธานี ก็เป็นอีก 2 ธุรกิจที่ทำให้แม็ทชิ่ง ปิดบัญชีด้วยตัวเลขสีแดง แต่สมชาย ชีวสุทธานนท์ "ตี๋ แม็ทชิ่ง" กรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท แม็ทชิ่ง สตูดิโอ จำกัด(มหาชน) ยืนยันว่า ปีหน้าธุรกิจจะเข้าที่เข้าทาง สมชาย กล่าวว่า ในปีหน้าแม็ทชิ่งจะเน้นธุรกิจที่เป็น Cash cow ซื้อมา - ขายไป ทำกำไรงาม ๆ โดยเล็งเป้าหมายไปที่ 3 กลุ่มธุรกิจ คือ การผลิตภาพยนตร์โฆษณา , การผลิตรายการโทรทัศน์ และธุรกิจสื่อต่าง ๆ ซึ่งการรุกเข้าสู่ธุรกิจสื่อนี้เองที่เริ่มทำให้แม็ทชิ่ง ขยับบริษัทเข้าใกล้ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ผู้บริโภคสามารถซื้อหาสินค้าแบรนด์แม็ทชิ่งได้โดยตรง แม็ทชิ่ง เปิดตัวการทำธุรกิจ B2C ด้วยการออก ชีส แมกกาซีน นิตยสารว่าด้วยเรื่องแฟชั่น ทำยอดขายกว่า 80,000 ฉบับต่อเดือน สร้างเครือข่ายชาวชีส ก่อนเปิดเป็นหลักแหล่ง ใช้งบลงทุนกว่า 30 ล้านบาท เปิด ชีส สตูดิโอ ที่ ชั้น 1 และ 2 สยามเซ็นเตอร์ ตี๋ แม็ทชิ่ง มุ่งหวังให้ชีส สตูดิโอ เป็นจุดนัดพบของคนรุ่นใหม่ที่เปิดเป็นสตูดิโอถ่ายภาพแนวใหม่ รองรับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น คิดค่าบริการถ่ายภาพอัลบั้มละ 300- 500 บาท โดยนอกเหนือจากคอนเซปต์ของการถ่ายภาพที่แปลกใหม่ ที่ต่างจากการสตูดิโอถ่ายภาพทั่วไปแล้ว จุดดึงดูดลูกค้าที่สำคัญคือ รูปของทุกคนที่มาถ่าย จะถูกเก็บเป็นดาต้าเบสสู่ธุรกิจโมเดลลิ่งทั้งในส่วนของแม็ทชิ่ง ที่มีงานหลักอยู่ที่การผลิตภาพยนตร์โฆษณา และบริษัท มอร์นิ่งบูสุเมะ โมเดลลิ่ง จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อมองหานักแสดงหน้าใหม่ ๆ ชีส สตูดิโอ ยังถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่ที่สร้างรายได้จากการจัดกิจกรรมของเจ้าของสินค้า หรือบริการ ด้วยสถานที่ที่เป็นสตูดิโอขนาดย่อม โปร่งใส มองเห็นได้รอบ 360 องศา เหมาะแก่การจัดงานเปิดตัว หรือสังสรรค์ ซึ่งตี๋ ตั้งเป้าหมายว่า ชีส สตูดิโอ จะมีรายได้จากการถ่ายภาพ 40% การจัดกิจกรรมของสินค้าและบริการ 30% และอีก 30% มากจากรายได้อื่น ๆ อาทิ สปอนเซอร์ และค่าตัวของนายแบบ นางแบบ ที่จะเกิดจากสตูดิโอแห่งนี้ แต่เมื่อถามถึงธุรกิจเทปเพลง ซึ่งมีข่าวมานาน ตี๋ แม็ทชิ่งยืนยันว่า ไม่เคยมีความคิดจะทำธุรกิจนี้ เพราะไม่ถนัด อีกหนึ่งของธุรกิจมีเดีย ที่เข้าข่ายทำกำไรงามของตี๋ คือ การเป็นผู้วางระบบเทคโนโลยีสื่อสารภายในอาคาร แม็ทชิ่ง ใช้งบประมาณ 120 ล้านบาท วางระบบภายในอาคารสยามเซ็นเตอร์ โดยใช้ชื่อว่า ชีส มีเดีย ชีส มีเดีย ทำให้สยามเซ็นเตอร์ทั้งอาคารสามารถติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi ไฮสปีดอินเทอร์เน็ตไร้สายที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงครอบคลุมทั่วทั้งอาคาร สามารถต่อเน็ตจากมุมใดของอาคารก็ได้ อีกทั้งการติดต่อระหว่างร้านค้ากับลูกค้าผู้ใช้บริการจะสื่อสารด้วยระบบมัลติมีเดียผ่านไฟเบอร์ ออฟติก จอพลาสม่า 80 จอ ถูกนำมาติดตั้งเพื่อใช้สื่อสารกิจกรรมต่าง ๆ ในลักษณะอินเตอร์แอคทีฟภายในศูนย์การค้า กระจายไปทุกชั้นแทนป้ายโฆษณา ไตรแอด นับเป็นการยกระดับให้สยามเซ็นเตอร์เป็นศูนย์การค้าที่มีระบบการสื่อสารทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตี๋ แม็ทชิ่ง กล่าวว่า การเดินเข้าสู่ธุรกิจผู้วางระบบสื่อสาร บทบาทใหม่ที่เพิ่งก้าวเข้ามานี้ เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และแม็ทชิ่งคงสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจนี้เป็นกอบเป็นกำในปีหน้า ประธานกรรมการบริหาร แม็ทชิ่ง สตูดิโอ คาดการณ์แนวโน้มของเศรษฐกิจในปีหน้าว่า จะมีการใช้จ่ายงบโฆษณากันมากขึ้น เนื่องจากเป็นปีที่จะมีการแข่งขันฟุตบอลโลก และแม็ทชิ่งเองก็มีการลงทุนธุรกิจในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะผลิดอกออกผลในปีหน้า ในส่วนของธุรกิจการผลิตภาพยนตร์โฆษณา แม็ทชิ่ง จะประกาศตัวเป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์รายแรกของประเทศไทย ที่ขยายออกสู่ต่างประเทศ ตลาดประเทศจีน อุตสาหกรรมโฆษณาที่ใหญ่โตมโหฬาร สถิติการผลิตภาพยนตร์โฆษณาปีละ 4,000 เรื่อง แม็ทชิ่ง ขยายธุรกิจในรูปแบบการร่วมทุนกับพันธมิตรในจีนที่เคยทำธุรกิจร่วมกัน ตั้งเป็นบริษัทโปรดักชั่นเฮ้าส์ขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ มีเป้าหมายขอเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์โฆษณาปีละแค่ 5% ของตลาดทั้งหมด ก็พอใจแล้ว "ทุกวันนี้จีนมีขนาดของอุตสาหกรรมโฆษณาใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา อีก 3 ปี จีนจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก จะยิ่งทำให้การเติบโตมากยิ่งขึ้น แม็ทชิ่งจะเข้าไปเตรียมพร้อมไว้ก่อน" สมชาย กล่าว แม็ทชิ่งยังเล็งเป้าตลาดต่างประเทศไปที่อินโดนีเซีย ตลาดที่หลายคนอาจมองข้ามด้วยปัญหาความไม่สงบในประเทศที่มีอยู่เสมอ แต่ตี๋ มองในมุมที่ไม่ต่างจากประเทศจีน อินโดนีเซีย มีการผลิตภาพยนตร์โฆษณาปีละ 3,000 เรื่อง โนว์ฮาวในการผลิตโฆษณาของแม็ทชิ่งน่าจะสร้างสีสันต์ดึงงานจากประเทศนี้ได้มากพอสมควร โดยลักษณะการลงทุนก็ไม่ต่างไปจากประเทศจีน คือ เป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น ตั้งเป็นบริษัท ซึ่งทั้งหมดจะเริ่มดำเนินงานเต็มที่ในปีหน้า และจะขยายไปสู่เวียดนาม และไต้หวันต่อไป ส่วนสวนสนุกยูเค ฟันแฟร์ ที่เดิมมีแผนจะเปิดบริการกันอีกครั้งปลายปีนี้ ตี๋ แม็ทชิ่ง กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า ปีนี้ไม่มา มาปีหน้า โดยงบประมาณการจัดงานของปีนี้ จะถูกโยกไปรวมกับงบประมาณปีหน้า ทำให้การเปิดสวนสนุกยูเค ฟันแฟร์ในปีหน้าจะมีความยิ่งใหญ่มากกว่าปีที่ผ่านมา