Sunday 5 August 2007

5Fs เค้นไอเดียสุด "มันส์" ปั้นเอเยนซีบูติค 'ออนโกอิง'

5Fs เค้นไอเดียสุด "มันส์" ปั้นเอเยนซีบูติค 'ออนโกอิง'
นันชนก มีสุวรรณ'fast' ‘flat’ ‘flexible’ ‘focus’ และ ‘friendly’ สูตร 5F เร่งโตของ ‘ออนโกอิง’ เอเยนซีบูติคไซส์เล็ก ที่เติมความมันส์ให้ "คนขายไอเดีย" ไป "ต่อ" ไอเดีย
รางวัลโฆษณายอดเยี่ยม (Gold Award) จากการประกวดโฆษณายอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย หรือ TACT Awards ปี 2004 กับผลงานโฆษณาโทรทัศน์ยาสีฟันสมุนไพรดอกบัวคู่ ชุดอย่ามองแต่เพียงภายนอก หรือ Ballon
ได้รับคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย (Finalist) จากการประกวดโฆษณานิตยสารของ London Award ประทศอังกฤษ ปี 2005 จากโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ของยาดม Peppermint Field ชุด Mal
ได้รับรางวัลโฆษณารองยอดเยี่ยม (Silver Award) จากการประกวดโฆษณารางวัล Ad Man ในหมวดรางวัลภาพยนตร์โฆษณา (TV Commercials) ปี 2006 จากโฆษณาโทรทัศน์ ยาหม่องน้ำเซียงเพียวอิ๊ว ชุดเข้าใจผิด และ ชุดหัวหมุนl
ฯลฯ
มาตรวัดความสำเร็จส่วนหนึ่งในธุรกิจขายไอเดียของ “สันธยา โลหะพันธกิจ” และ “พิจาริณี กมลยะบุตร” ซึ่งเลือกที่จะอยู่ในวงการนี้ ด้วยไลฟ์สไตล์ “บูติค” กับบทบาทเจ้าของเอเยนซีเล็กๆ บริษัท ออนโกอิง จำกัด แทนตำแหน่งมือปืนรับจ้างในองค์กรใหญ่ข้ามชาติ
และ “โลจน์ นันทิวัชรินทร์” เบื้องหลังไอเดียมันส์ กับตำแหน่งขุนพลคู่ใจ เฟืองชิ้นสำคัญที่มีส่วนร่วมมาตั้งแต่ต้น
ทั้งคู่ถนัดกับการปั้นแบรนด์ใหม่อย่างที่สุด เพราะมันคือโจทย์ท้าทาย "กึ๋น"
“งานถนัดของเราคือ สร้างเบบี้แบรนด์ หรือ ปั้นซับแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก”
นอกจากแจ้งเกิดแบรนด์ใหม่ ผลงานที่สร้างชื่อและทำเงินในกับออนโกอิง ตามคำบอกเล่าของ สันธยา โลหะพันธกิจ กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการบริหารฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ "แบรนด์ดั้งเดิม" ให้กลับมาเป็นที่สนใจของตลาดอีกครั้ง
โดยยึดหลักการทำงาน 5Fs นั่นคือ ‘fast’ ‘flat’ ‘flexible’ ‘focus’ และ ‘friendly’
ที่ผนวกเข้ากับสไตล์การทำงานที่พร้อมเปลี่ยนแปลงตามโจทย์ของลูกค้า
“การทำงานไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับรูปแบบ การคิดนอกกรอบบ้างจะช่วยให้ค้นพบความใหม่ สดตลอดเวลา”
3 ปีเศษ กับการแจ้งเกิดในวงการเอเยนซี ด้วยพนักงาน 5 คนเมื่อเริ่มก่อตั้ง จนกระทั่งทุกวันนี้มีพนักงานในสังกัดเกือบ 30 คน
มีลูกค้าอยู่ในมือมากกว่า 10 ราย อาทิเช่น เซียงเพียวอิ๊ว, พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค, เมโทรพาร์ค คอนโดมิเนียม, แคลซีเม็กซ์ บิวตีวา, โมบายอินโนเวชั่น, ยูเอฟซี มีเม็ดเงินเข้าบริษัทปีละไม่ต่ำกว่า 385 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ10% ต่อปี
...แต่ สันธยา ก็ยังเลือกที่จะจำกัดขนาดอยู่แค่การเป็นเอเยนซีเล็ก ทำงานแบบพี่ แบบน้อง ที่พร้อมใส่ใจทุกรายละเอียด
"ขนาดที่ใหญ่ขึ้นอาจตอบโจทย์ด้านตัวเลข แต่จะขาดอรรถรสบางเรื่องไป แน่นอนหนึ่งในนั้นคือ การดูแล
ออนโกอิง เลือกที่จะโตจากเด็ก 3 ขวบ เพื่อไปเป็นเด็ก 5 ขวบ ในอนาคต แต่ไม่ใช่ข้ามจากเบบี้ ไปสู่วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่"
วันนี้ แม้ออนโกอิง จะยังคงเสน่ห์ของความเป็นเอเยนซีเล็ก ที่ต้องการรักษาสมดุลงานบริการและไอเดียมันส์ไว้อย่างเหนียวแน่น แต่จากความเปลี่ยนแปลงเชิงขยายของธุรกิจที่ต้องเข้มข้นด้านไอเดีย กระตุกให้ พิจาริณี กมลยะบุตร ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายสร้างสรรค์ ของบริษัทต้องลุกขึ้นมาแต่งบ้านใหม่
โจทย์สำคัญครั้งนี้ คือ ศักยภาพด้านไอเดีย ประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นของบุคลากรภายในองค์กรทุกคน
“คาเฟ่ เดโช” ที่ไม่ใช่เพียงแค่ร้านกาแฟ หากแต่ตามคำบอกเล่าของ พิจาริณี สถานที่แห่งนี้คือ แหล่งรวมไอเดียที่มีนัยของเหล่าครีเอทีฟ
“เรื่องราวที่เป็นไปในร้านกาแฟ ส่วนสำคัญในการรังสรรค์งานด้านครีเอทีฟ ไอเดียเจ๋งๆ หลายต่อหลายชิ้นเกิดขึ้นที่นี่”
ถัดจาก “คาเฟ่ เดโช” ที่เปรียบเหมือนระเบียงบ้านของชาวออนโกอิง จะเป็นบ้านเขียวที่ภายในบรรจุไว้ทั้ง ห้องเทรนนิ่ง (Training room) ซึ่งมีหลากหลายหลักสูตรที่ช่วยพัฒนาศักยภาพ อาทิเช่น หลักสูตรภาษาจีน เทรนที่กำลังมาแรงในขณะนี้ หลักสูตรพัฒนาบุคลิกภาพ หลักสูตรภาษากาย ที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ด้านอารมณ์ และรู้จักเก็บอารมณ์
ห้องประชุม ที่บางครั้งถูกปรับให้เป็นห้องรีเสิร์ชไปด้วยในตัว
“การเรียนรู้และศึกษาจากประสบการณ์ตรง ซึ่งการจากการถกประเด็นของลูกค้า จากกรณีตัวอย่าง บางครั้งช่วยให้การตีโจทย์ชัดเจนขึ้น”
โลจน์ นันทิวัชรินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บอกถึงวิธีการใช้งานห้องรีเสิร์ช
นอกจาก “บ้านเขียว” ในส่วนของออฟฟิศหลังเดิม ก็มีการปรับตกแต่ง และขยับขยายพื้นที่ทำงานใหม่ ที่เน้นความโปร่ง
พร้อมเพิ่มพื้นที่ในส่วนของ working zone ให้กับครีเอทีฟ และห้อง relax หวังสร้างไอเดียการทำงาน
“ถ้ารู้สึกเบื่อๆ พนักงานทุกคนยังสามารถไป หาข้อมูล หรือเติมไอเดียเจ๋งๆ ให้กับตนเองได้ที่ ศูนย์ทีซีดีซี ในฐานะสมาชิก”
แผนกระตุกต่อมคิดชาวออนโกอิง ยังถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรสันทนาการ ที่เป็นเสมือนสัญญาใจระหว่างบริษัทกับพนักงานทุกคน ที่จะได้เปิดโลกทัศน์ในต่างประเทศปีละอย่างน้อย 1 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีช่วงเวลานอก (time out) ให้พักสมองหลังทำงานมาสักระยะ ด้วยแนวคิดที่ว่า "คนเราจะรู้จักกันมากขึ้นเมื่อได้รู้จักตัวตนที่แทนจริง" และ ได้กระตุกต่อมคิดนอกกรอบ รวมถึงการเอาตัวรอดจากสถานการณ์จริงจากการเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้น
แถมด้วยปาร์ตี้วันเกิดสำหรับพนักงานทุกเดือน
ทุกกิจกรรมที่จริงจัง และมีความสำคัญถึงขั้นจัดตั้งเป็นตำแหน่งงานและมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะ
"ปีที่แล้วเราจัดทริปในลักษณะ time out 3 เดือนครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็จะมีธีมที่แตกต่างกันออกไป ทั้งหมดนี้นอกจากจะได้ผ่อนคลาย อีกสิ่งที่ได้แน่ๆ คือ ทีม"
อีกกรณีศึกษาที่ช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากรออนโกอิงซึ่งน่าสนใจ คือ ใช้ตัวหนังสือ ทั้งที่เป็นเนื้อหาสายตรงและที่เป็น “ครู”
ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับโจทย์ที่ให้ เป็นได้ทั้งการฝึกทักษะด้านภาษา ความเข้าใจ และการเอาตัวรอด จากการสรุปความตามเนื้อหาหนังสือที่ได้อ่าน
...ทุกคนที่ออนโกอิงต้องรักอ่าน...
"ให้การบ้านไปวันศุกร์ วันอังคารต้องมานั่งถกเนื้อหากันแล้ว ครั้งที่หนึ่งผ่านไป ครั้งที่สองตามมาติดๆ ในวันศุกร์ ทุกคนต่างสามารถทำสิ่งเหล่านี้บนเนื้องานที่ยุ่งอยู่แล้ว
อย่าลืมว่าในชีวิตจริงต้องมีหลายอย่างเข้ามาในชีวิตพร้อมๆ กัน ไหนจะต้องดูแลสามี ทำกับข้าวให้ลูก ดูแลตัวเอง ทุกอย่างอยู่ในเวลาที่จำกัด"
ยุทธการปั้นคนไอเดียของออนโกอิง ไม่ใช่สูตรสำเร็จ ที่ใครจะนำไปครอบ หรือใช้ได้แบบไม่ย่อย แต่คอนเซปต์การทำงานโดยยึด “ทีม” เป็นเป้าหมายที่เบ็ดเสร็จได้กับทุกองค์กร