Monday 13 August 2007

สอนลูกบู๊ภัยหวาน รู้ทันเหลี่ยมขนมเด็ก

สอนลูกบู๊ภัยหวาน รู้ทันเหลี่ยม"ขนมเด็ก"
มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ร่วมกับแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดห้องเรียนพ่อแม่เรื่อง "ขนมเด็กไม่ใช่เรื่องเด็กๆ : เมื่อทุนนิยมแปลงร่างเป็นภัยหวานจ้องเล่นงานเด็ก" เพื่อให้ความรู้ในประเด็นขนมกรุบกรอบ กับสมาชิกเครือข่ายครอบครัวและผู้สนใจ ที่โรงแรมเอเชีย ผศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สสส. และอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาขนมเด็กในภาพรวมว่า ตอนนี้ปัญหาขนมเด็กกลายเป็นปัญหาของโลกาภิวัตน์ซึ่งนับเป็นเรื่องใหญ่และคุกคามคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในชนบท ซึ่งบริษัทขนมใช้วิธีการทำซองขนมให้เล็กลงและราคาถูก แต่สังคมยังไม่เห็นปัญหานี้ มักโยนบาปไปให้พ่อแม่จัดการเองผศ.ดร.วิทยา กล่าวว่า น่าเป็นห่วงเรื่องโฆษณาขนมเด็ก ซึ่งมีหลายรูปแบบและจูงใจเด็กให้อยากกินขนมได้มาก หลายประเทศมีมาตรการป้องกันโฆษณาสินค้าสำหรับเด็กอย่างเข้มงวด เช่น รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ห้ามโฆษณาจูงใจเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เนื่องจากเด็กยังตัดสินใจเองไม่ได้ โดยมีองค์กรของรัฐเป็นผู้ตรวจสอบ ส่วนปัญหาอีกประการหนึ่งคือ ฉลากโภชนาการบนซองขนมที่เข้าใจยาก ในบางประเทศ เช่น อังกฤษ ใช้ฉลากเหมือนไฟจราจร คือ สีเขียว เหลือง แดง เป็นตัวช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ว่า ควรกินขนมนั้นหรือไม่ ต่างกับประเทศไทยซึ่งยังไม่มีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้ด้านนางฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องวัยอลวน และอดีตผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณามือรางวัล เล่าให้พ่อแม่ฟังถึงเล่ห์เหลี่ยมของโฆษณาว่า ต้องเริ่มตั้งคำถามว่าเคยเห็นโฆษณาชิ้นไหนที่บอกว่าขนมชนิดนั้นมีแป้งหรือน้ำตาลเท่าไหร่ โฆษณาเป็นเครื่องมือทางการค้าที่ใช้จิตวิทยาขั้นสูงในการสื่อสารกับผู้บริโภค โดยมีกฎว่าต้องทำให้ผู้ชมเชื่อให้ได้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องทำให้ชอบ หรืออย่างน้อยก็ต้องทำให้จำได้ ทุกวันนี้โฆษณาฉลาดขึ้นทุกวัน พ่อแม่ต้องเข้ามาช่วยลูกๆ ด้วย ต้องบอกกับลูกว่าโฆษณาไม่ใช่เรื่องจริง แค่ทำให้เราขำเท่านั้น เป็นการสอนลูกให้รู้เท่าทันโฆษณาสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Mother & Care กล่าวว่า พ่อแม่ทุกคนต้องเจอปัญหาเด็กกับขนม หากจะสอนเด็กต้องเสียสละด้วยการที่ตนเองต้องไม่กินขนมด้วย เพื่อให้เด็กเชื่อในสิ่งที่เห็นมากกว่าสอนอย่างเดียว ในฐานะคนทำสื่อ ตนมองว่าสื่อในบ้านเรายังขาดจรรยาบรรณ เนื่องจากต้องพึ่งพาผู้ประกอบการที่ต้องการกำไรสูงสุด ทุกวันนี้ในจอโทรทัศน์เต็มไปด้วยพิษภัยในแบบที่เราไม่รู้ตัว พ่อแม่ต้องตอบคำถามเวลาดูทีวีกับลูกพ.ญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต แนะนำพ่อแม่ว่า พ่อแม่ควรสอนลูกตามความจริง โดยยอมรับว่าขนมอร่อยแต่ก็มีโทษมากมาย การสอนต้องสอนสม่ำเสมอ และสอนตั้งแต่ลูกเริ่มรู้ความ เพราะการควบคุมภายในตัวเด็กยังไม่ดีพอ พ่อแม่ซึ่งเป็นการควบคุมภายนอกจึงต้องเข้มแข็ง สอนให้ลูกรู้จักแยกแยะ พยายามคุยกันให้เป็นเรื่องง่ายๆ และสนุก พร้อมกับเปิดโอกาสให้เด็กสัมผัสกับสถานการณ์เสี่ยงอย่างพองามโดยอยู่ในสายตาของพ่อแม่ กว่าเด็กจะสามารถบังคับตนเองได้ต้องใช้เวลา 7-8 ปีเวลาลูกอยากกินขนมกรุบกรอบอาจให้กินได้นานๆ ครั้ง พร้อมกับสอนอย่างมีเหตุผลด้วย โดยเฉพาะเรื่องโฆษณา พ่อแม่อาจไม่ทราบว่าโฆษณาเป็นจิตวิทยาขั้นสูงที่เปลี่ยนความคิดคนได้ พ่อแม่ควรนั่งอยู่ข้างๆ เมื่อลูกดูโทรทัศน์ เพื่อดูว่าลูกตอบสนองต่อสิ่งที่เห็นอย่างไร และสามารถเตือนถึงสิ่งที่ควรระวังได้ นอกจากนี้พ่อแม่ไม่ควรใช้ขนมล่อใจให้เด็กทำดี เพราะจะแยกขนมออกจากเด็กยากเมื่อโตขึ้น