Monday, 13 August 2007

มหกรรมโฆษณาเอเชียแปซิฟิค รวมขุนพลคนสร้างสรรค์

มหกรรมโฆษณาเอเชียแปซิฟิค รวมขุนพลคนสร้างสรรค์

งานมหกรรมโฆษณาภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค (AP AdFest) ครั้งที่ 5 จัดขึ้นที่โรงแรม รอยัล คลิฟฟ์ บีช รีสอร์ท พัทยา ถือเป็นอีกงานหนึ่งที่คนในแวดวงโฆษณาให้ความสนใจ ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย แต่รวมถึงคนโฆษณาจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค และฝั่งตะวันตกด้วย ความแตกต่างของการประกวดงาน AP AdFest ในปีนี้ ก็คือ การเชิญมืออาชีพสายการผลิต หรือ โปรดักชั่น เฮ้าส์ เข้าร่วมเป็นกรรมการตัดสิน
งานนี้นอกจากจะมีการประกวดผลงานโฆษณาจากหลากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ยังมีผลต่อเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยวเมืองพัทยา สานต่อไปสู่การผลักดัน ให้ผู้คนในวงการโฆษณาและการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ใช้ทำเลในประเทศไทย เป็นสถานที่ถ่ายทำสร้างสรรค์งานโฆษณา เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ
นอกจากนี้ AP AdFest ยังเป็นหนึ่งใน 51 งานประกวดผลงานโฆษณา ที่นายโดนัลล์ กันน์ ผู้จัดอันดับงาน กันน์ รีพอร์ท ซึ่งเป็นการ Ranking งานโฆษณาและเอเยนซี่ ที่คนในแวดวงโฆษณาทั่วโลกยอมรับและให้ความเชื่อถือ เป็นส่วนหนึ่งที่นำมาใช้สำหรับการการ ให้คะแนนด้วย
ซาทชิ ฯ ฮ่องกง มาวิน
ในปีนี้ มีจำนวนบุคคลในแวดวงงานโฆษณาเข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 15% และจำนวนผลงานเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 300 ชิ้น โดยแบ่งเป็นผลงานโฆษณาทางโทรทัศน์ประเภทเดี่ยว(TVC - Single) 141 ชุด ผลงานโฆษณาประเภทสิ่งพิมพ์(Print) 1,576 ชิ้น แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่า แม้งานโฆษณา Print Ad. จะเป็นงานที่มีจำนวนผลงานส่งเข้าร่วมประกวดมาก แต่มีงานที่มีความโดดเด่นน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่งานโฆษณาทางทีวีปีนี้ มีงานเด่นๆ หลายงาน
สำหรับเอเยนซี่ที่มีผลงานได้รับรางวัลมากที่สุด ก็คือ ซาทชิ แอนด์ ซาทชิ ฮ่องกง ที่คว้ารางวัลไปทั้งหมด 13 รางวัล ตามมาด้วยเดนท์สุ อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น 12 รางวัล บีบีดีโอ กรุงเทพฯ 9 รางวัล โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ สิงคโปร์ 6 รางวัล ซาทชิ แอนด์ซาทชิ ประเทศไทยและสิงคโปร์บริษัทละ 5 รางวัล นอกนั้นก็จะได้กันไปบริษัทละ 1-2 รางวัล
Simple Idea แนวทางงานโฆษณาเอเชีย
งานโฆษณา Print Ad. จำนวน 1,576 ชิ้น ไม่ค่อยโดนใจกรรมการตัดสิน งานที่ได้รับรางวัลโกลด์มีน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนชิ้นงานที่เข้าประกวด
นายจิมมี่ แลม ประธานคณะทำงานงานฝ่ายกรรมการ ระบุว่าอาจเป็นผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ ที่บีบไอเดียนักคิดให้ไปในทิศทางเดียว ทำให้ไม่มีงานที่ฉีกและโดดเด่น
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากงาน Print Ad. และงานโฆษณาทีวีที่ส่งเข้าประกวดในงาน AdFest ครั้งนี้ก็คือ งานหลายชิ้นสื่อความหมายไม่ชัดเจน ซึ่งกรรมการตัดสินหลายคนให้คำวิจารณ์ชัดเจนว่า ดูงานบางชิ้นแล้วไม่เข้าใจ เช่น งาน Print Ad. ของเครื่องดื่มโค้ก ที่กรรมการหลายคนดูแล้วไม่เข้าใจ
หรืองาน Print Ad. ของ Kit Kat ซึ่งนายยาซูมิชิ โอกะ ประธานและครีเอทีฟ ไดเร็คเตอร์ TUGBOAT Agency ประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินครั้งนี้ และเจ้าของรางวัลภาพยนตร์โฆษณายอดเยี่ยม “Star Channal” เมื่อปีที่แล้ว แสดงความคิดเห็นถึงโฆษณาชุดนี้ว่า เป็นงานโฆษณาที่ดี เข้าใจง่าย แต่น่าจะเป็นผลงานของครีเอทีฟน้องใหม่ มากกว่าจะเป็นงานของครีเอทีฟระดับแนวหน้าทำ
นายจิมมี่ แลม วิเคราะห์เพิ่มเติมว่าผลงานที่ส่งเข้าประกวด แสดงความคิดเห็นว่า อาจเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ที่ทำให้ผู้สร้างสรรค์งานโฆษณาต้องผลิตงานที่สามารถขายสินค้าได้ ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการของลูกค้าที่ต้องสร้างยอดจำหน่าย ทำให้งานโฆษณาที่ออกมาไม่แตกต่างกัน ไม่มีไอเดียที่ฉีก หรือโดดเด่น
ในขณะที่นายอากิระ คากามิ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายสร้างสรรค์งานโฆษณา เดนท์สุ อิงค์ โตเกียวได้ชี้ให้เห็นถึงความชัดเจนในแนวคิดและความต้องการของครีเอทีฟว่า
ถ้านักสร้างสรรค์งานโฆษณาต้องการเงิน ก็ต้องเอาใจลูกค้า ถ้าอยากได้รางวัล ก็คือการเอาใจตัวเอง แต่ถ้าจะเป็นครีเอทีฟที่ยิ่งใหญ่ต้องเอาใจคนดู
อย่างไรก็ตาม นายอากิระ ยอมรับว่า สภาวะเศรษฐกิจมีผลกระทบกับงานโฆษณาแน่นอน โดยเฉพาะอิสระในด้านความคิดงาน ที่จะฉีกออกไปมากไม่ได้ เพราะลูกค้าวางกรอบให้งานโฆษณาต้องตอบโจทย์ทางการตลาดให้มากที่สุด ถูกต้องที่สุด และเห็นผลเร็วที่สุด
นายอากิระ ได้ยกตัวอย่างของแนวงานสร้างสรรค์ที่ใช้อารมณ์มาเป็นตัวดำเนินเรื่องว่า งานที่สื่ออารมณ์ขันเป็นแนวงานหนึ่งที่ประเทศในแถบเอเชียนิยมใช้ แต่อารมณ์ขันไม่ใช่ภาษาสากล
บางประเทศบางวัฒนธรรมผู้บริโภคจะสื่ออารมณ์ขันที่ต่างกัน ดังนั้นการใช้อารมณ์เป็นตัวสื่อในงานโฆษณาต้องใช้ความพิถีพิถันพอสมควร
สำหรับจุดอ่อนของงานโฆษณาในแถบเอเชียแปซิฟิค ซึ่งมีการพูดถึงบ่อยครั้ง คือ งานมีความเข้าใจยาก ไอเดียไม่เฉียบคม และเรื่องของการลอกเลียนแบบงาน โดยเฉพาะเรื่องของการลอกเลียนแบบงานนี้ ทั้งนายอากิระ และนายคธา สุทัศน์ ณ อยุธยา ประธาน บริษัท สยามสตูดิโอ จำกัด มีความคิดเห็นที่ตรงกันว่า งานที่ลอกเลียนแบบจะไม่สามารถที่จะเป็นเหมือนต้นแบบได้
ซึ่งการลอกเลียนแบบก็คือลอกเลียนแบบให้เหมือนกันชิ้นเดิม ดังนั้นจึงไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง
นายอากิระ ได้เสนอแนวคิดว่า งานที่น่าจะโดดเด่นในช่วงนี้คือ งานที่มีไอเดียเรียบง่าย (Simple Idea) ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางของงานที่ได้รับความนิยม และสอดคล้องกับสภาพตลาดปัจจุบันมากที่สุด เพราะลูกค้าต้องการงานที่เข้าใจง่าย ขายของได้ ด้วยงบประมาณที่จำกัด สำหรับงานโฆษณาที่จะประสบความสำเร็จได้ในปัจจุบัน คืองานที่ทำมาเพื่อคนในตลาด งานที่สามารถสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคในตลาดได้ คือการเข้าไปกระตุ้น ความเข้าใจของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้านั้นๆ