Monday 13 August 2007

ที่สุดแห่งความอลังการของภาพยนตร์ไทยปี 2551

ที่สุดแห่งความอลังการของภาพยนตร์ไทยปี 2551
ที่จะมาสร้างปรากฏการณ์เหนือจินตนาการในทุกความทรงจำ ปืนใหญ่จอมสลัด
กำหนดฉาย
ตรุษจีน 2551
แนวภาพยนตร์
แอ็คชั่น-แฟนตาซี
บริษัทผู้สร้างและจัดจำหน่าย
สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
บริษัทดำเนินงานสร้าง
ภาพยนตร์หรรษา
อำนวยการสร้าง
สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ, Mr. Ron Paul Fineman
ควบคุมการผลิต;
นนทรีย์ นิมิบุตร
กำกับภาพยนตร์
นนทรีย์ นิมิบุตร
ดูแลการผลิต
เชิดพงษ์ เหล่ายนตร์
บทภาพยนตร์
วินทร์ เลียววาริณ
ออกแบบงานสร้าง
เอก เอี่ยมชื่น
กำกับศิลป์
รัชชานนท์ ขยันงาน, บรรพต งามขำ, สุประสิทธิ์ ภูตะคาม
ที่ปรึกษาด้านภาพ
ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์
กำกับภาพ
ณัฐกิตติ์ ปรีชาเจริญวัฒน์
ลำดับภาพ
นนทรีย์ นิมิบุตร
ออกแบบเครื่องแต่งกาย
น้ำผึ้ง โมจนกุล, ชาติชาย ไชยยนต์
แต่งหน้า
ภูษณิศา กิติเกรียงไกร
ทำผม
ธนกร ยิ้มงาม
แต่งเอฟเฟ็คต์
วิทยา ดีรัตน์ตระกูล
ดนตรีประกอบ
ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์
เทคนิคพิเศษด้านภาพ
บริษัท BLUE FAIRY
นำแสดงโดย
สรพงษ์ ชาตรี, จารุณี สุขสวัสดิ์, อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม, ชูพงษ์ ช่างปรุง, เจษฎาภรณ์ ผลดี, ณัฐรดา (แจ๊คกี้) อภิธนานนท์, แอนนา แฮมบาวริส, เอก โอรี, วินัย ไกรบุตร, จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม, อรรถพร ธีมากร, ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ, ชาติชาย งามสรรพ์, สุวินิต ปัญจมะวัต, พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์, มนัสนันท์ พัชรโสภาชัย, เมสิณี แก้วราตรี, อริสา สนธิรอด ฯลฯ
จาก “ตำนานความเสียสละเพื่อแผ่นดิน” ที่ถูกลืมตามกาลเวลา สู่ “ภาพยนตร์แอ็คชั่นแฟนตาซีสุดอลังการ” ที่ต้องจดจำไปอีกนาน ครั้งแรกบนแผ่นฟิล์มจากปลายปากกาของนักเขียนซีไรต์ “วินทร์ เลียววาริณ” ครั้งสำคัญกับความพิถีพิถันในการปั้นฝันให้เป็นจริงของ “เอก เอี่ยมชื่น” สู่ที่สุดแห่งความยิ่งใหญ่ในโลกภาพยนตร์ของผู้กำกับมือดี “นนทรีย์ นิมิบุตร” ครั้งแรกและครั้งเดียว กับการปะทะฝีมือของนักแสดงคุณภาพชั้นครู และรุ่นใหม่ไฟแรงทั่วฟ้าเมืองไทย
เปิดตำนาน
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
400 ปีที่แล้ว ลังกาสุกะ รัฐอิสระต้องสูญเสีย รายาบาฮาดูร์ ชาห์ จากการถูกลอบปลงพระชนม์ ราชวงศ์ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการสถาปนา องค์หญิงฮีเจา ( จารุณี สุขสวัสดิ์ ) ธิดาคนโตขึ้นเป็นรายาสตรีองค์แรกแห่งลังกาสุกะ แม้รายาฮีเจาจะปกป้องบ้านเมืองอย่างเข้มแข็ง แต่เหล่าแคว้นรอบด้าน รวมทั้งกลุ่มกบฏและโจรสลัดต่าง ๆ ล้วนหมายจะยึดครองดินแดนอันมั่งคั่งแห่งนี้ จนกระทั่ง ยานิส บรี ปราชญ์แห่งอาวุธชาวดัชท์ เดินทางมาพร้อมกับศิษย์เอกนักประดิษฐ์ชาวจีนนาม ลิ่มเคี่ยม ( จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม ) เพื่อนำมหาปืนใหญ่ อาวุธที่ดีที่สุดไปถวายรายาฮีเจาใช้ป้องกันบ้านเมือง แต่กลับถูกกลุ่มโจรสลัดที่นำโดย เจ้าชายราไว ( เอก โอรี ) และ อีกาดำ ( วินัย ไกรบุตร ) จอมสลัดผู้มีวิชาดูหลำอันแก่กล้า ซุ่มโจมตีเพื่อชิงมหาปืนใหญ่ จนทำให้เรือฮอลันดาระเบิด ยานิส บรีถึงแก่ความตาย กระบอกปืนใหญ่จมลงสู่ก้นทะเล เหลือเพียงแต่ลิ่มเคี่ยมเท่านั้นที่ยังรอดชีวิตอยู่ เหตุการณ์ครั้งนี้ยังเป็นเวลากำเนิดของ ปารี ( อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม ) เด็กชายชาวเลผู้มีคุณสมบัติพิเศษในตัวที่จะสามารถฝึกวิชาดูหลำขั้นสูงได้ ปารีเติบโตเป็นหนุ่ม พร้อมกับสั่งสมทั้งความสามารถและความแค้นในการสะสางอีกาดำที่ทำให้พ่อและแม่ของตนต้องตาย ลิ่มเคี่ยมซึ่งช่วยชีวิตปารีในครั้งนั้นไว้ได้ หลบมาใช้ชีวิตอยู่กับหมู่บ้านชาวเล พร้อมประดิษฐ์อาวุธพิสดารมากมาย และตั้งกลุ่มก่อกวนตัดกำลังโจรสลัดขึ้น แม้ลังกาสุกะจะมีทหารเอกฝีมือเยี่ยมอย่าง ยะรัง ( ชูพงษ์ ช่างปรุง ) แต่ฮีเจาก็ยังจำเป็นต้องให้ อูงู ( แอนนา แฮมบาวริส ) น้องสาวคนเล็กของตนอภิเษกกับ เจ้าชายปาหัง ( เจษฎาภรณ์ ผลดี ) เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้ลังกาสุกะ แม้อูงูจะไม่เต็มใจก็ตาม ขณะที่ยะรังนั้นกลับตกหลุมรัก บิรู ( ณัฐรดา อภิธนานนท์ ) องค์หญิงคนรอง แต่กลับไม่สามารถเปิดเผยความรู้สึกนั้นได้ การต่อสู้ของหลายฝ่ายเริ่มขึ้น จนทำให้ปารีได้มาพบกับอูงู ทั้งคู่หลงไปติดเกาะร้างแห่งหนึ่ง เพื่อรักษาตัวจากบาดแผล ที่นั่น…ปารีได้ฝึกวิชาดูหลำชั้นสูงจาก อาจารย์กระเบนขา ว ( สรพงษ์ ชาตรี ) ปรมาจารย์ทางดูหลำ และค้นพบว่า ดูหลำคือวิชาที่มีทั้งด้านสว่างที่ทรงพลังและด้านมืดที่น่ากลัว ยากจะควบคุมจิตใจเอาไว้ได้ พร้อมกับที่ความรักของทั้งปารีและอูงูได้งอกงามขึ้น ขณะเดียวกัน ลิ่มเคี่ยมกุญแจสำคัญในการสร้างปืนใหญ่ กลับถูกกลุ่มสลัดจับตัวเป็นเชลยไว้ได้ และถูกบังคับให้ต้องสร้างปืนใหญ่ที่จะนำมาใช้ทำลายล้างรัฐลังกาสุกะ สงครามครั้งใหญ่กำลังจะเริ่มขึ้น โดยลังกาสุกะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะกองทัพโจรสลัดกลับสามารถกู้มหาปืนใหญ่ในตำนานนั้นจากก้นทะเลไว้ได้ ลังกาสุกะเป็นเป้าหมายของการทำลายล้าง มีเพียง ยะรังนักรบผู้กล้า ปัญญาของลิ่มเคี่ยม อูงูผู้พร้อมสละทั้งชีวิตและความรักเพื่อแผ่นดิน และพลังดูหลำอันลึกลับของปารีเท่านั้น ที่จะต่อกรกับแสนยานุภาพจากกองทัพโจรสลัดเอาไว้ได้
ปรากฏการณ์เหนือจินตนาการ

- ” ปืนใหญ่จอมสลัด ” เป็นภาพยนตร์แอ็คชั่นที่มีเรื่องราวอยู่บนพื้นฐานของความจริง โดยผสมผสานกลิ่นอายของแฟนตาซี เพื่อเพิ่มอรรถรสความสนุกสนานในแนวทางของภาพยนตร์ โดยเดินเรื่องด้วยตำนานความเสียสละเพื่อแผ่นดินของราชินี 3 พระองค์แห่งลังกาสุกะ พร้อมสอดแทรกชีวิตที่น่าสนใจของชนเผ่าชาวเล และโจรสลัดที่ต่างก็มีจุดประสงค์ในการดำเนินชีวิตเพื่อแผ่นดินเกิดที่ต่างกันไป - เป็นอภิมหาโปรเจ็คต์ภาพยนตร์ไทยฟอร์มยักษ์แห่งปีที่ทุ่มทุนสร้างด้วย งบประมาณ 300 ล้านบาท ภายใต้การกำกับภาพยนตร์ครั้งยิ่งใหญ่ในรอบสิบปีของผู้กำกับคุณภาพ นนทรีย์ นิมิบุตร โดยเสริมรากฐานความแข็งแกร่งของโปรเจ็คต์ด้วยนักเขียนรางวัลซีไรต์ วินทร์ เรียววาริณ กับครั้งแรกในการเขียนบทภาพยนตร์, ผู้ออกแบบงานสร้าง เอก เอี่ยมชื่น กับครั้งสำคัญที่จะเสกสรรค์ปั้นจินตนาการให้ออกมาสมจริงที่สุดอีกครั้งหนึ่ง, ดูแลการผลิตโดย เชิดพงษ์ เหล่ายนตร์ และที่ปรึกษาดูแลงานทางด้านภาพโดย ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ - กว่า 5 ปี ในการเตรียมงานสร้างและถ่ายทำ ด้วยทีมงานกว่า 1,000 ชีวิต ที่ทุ่มเททุกศาสตร์แห่งศิลป์หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวสู่อลังการงานสร้างของโปรเจ็คต์ ถ่ายทอดแต่ละฉากแห่งจินตนาการให้ปรากฏขึ้นจริงบนแผ่นฟิล์ม โดยทีมงานได้เลือกใช้โลเกชั่นทางทะเลหลากหลายแห่งในเมืองไทย ตั้งแต่การเนรมิตฉากหมู่บ้านชาวเลที่ เกาะสีชัง จ. ชลบุรี , เลือกโลเกชั่นใน อ.สัตหีบ เพื่อถ่ายทำเรื่องราวใน ส่วนกลางทะเลและกำแพงวัง รวมถึงเลือก จังหวัดกระบี่และพังงา เพื่อถ่ายทำ ฉากถ้ำบนเกาะ นอกจากนี้ยังมีการสร้างฉากใหญ่ที่มีส่วนสำคัญในภาพยนตร์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความพิถีพิถันทุกตารางนิ้วของ ฉากภายในพระราชวังลังกาสุกะ ไปจนถึง การสู้รบบนเรือโจรสลัด ด้วยการสร้างเรือหลายรูปแบบที่สามารถใช้ได้จริง รวมถึง เทคนิคพิเศษด้านภาพกว่า 2,000 ช็อต ที่จะถูกเนรมิตออกมาอย่างสมจริงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในภาพยนตร์ไทยโดยทีมผู้เชี่ยวชาญอย่าง BLUE FAIRY - ระดมนักแสดงคุณภาพระดับแถวหน้าของเมืองไทย และรุ่นใหม่ไฟแรงมาปะทะฝีมือกันอย่างคับคั่ง ตั้งแต่การได้นางเอกตลอดกาลอย่าง “ จารุณี สุขสวัสดิ์ ” หวนคืนแผ่นฟิล์มครั้งแรกในรอบหลายปี พร้อมด้วยรุ่นใหญ่ฝีมือเอกอุอย่าง “ สรพงษ์ ชาตรี ”, ประชันบทบาทครั้งสำคัญในชีวิตของ “ อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม ” พระเอกเจ้าเสน่ห์ผู้พลิกคาแร็คเตอร์อย่างหาตัวจับยาก และ “ เดี่ยว ชูพงษ์ ช่างปรุง ” พระเอกความสามารถสูงในด้านแอ็คชั่นเสี่ยงตาย รวมถึงนักแสดงหน้าใหม่อีกมากมาย - และที่ได้รับการกล่าวขานถึงเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือการกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งของผู้กำกับ นนทรีย์ นิมิบุตร กับเหล่านักแสดงระดับแม่เหล็กของเมืองไทยอย่าง “ ติ๊ก เจษฏาภรณ์ ผลดี ”, “ ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ ”, “ อรรถพร ธีมากร ” และ ชาติชาย งามสรรพ์ ( 2499 อันธพาลครองเมือง ), “ วินัย ไกรบุตร ” ( นางนาก ) และ “ สุวินิต ปัญจมะวัต ” ( จันดารา และ อารมณ์ อาถรรพณ์ อาฆาต ตอน The Wheel)
หนึ่งทศวรรษบนแผ่นฟิล์มของ นนทรีย์ นิมิบุตร สู่ความยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตกับ ปืนใหญ่จอมสลัด
“ ปืนใหญ่จอมสลัด เป็นภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตที่ผมเคยทำมา ซึ่งผมว่ามันก็ถึงเวลาของมันแล้ว โปรเจ็คต์ใหญ่ ๆ แบบนี้ ต้องใช้ทั้งพลังและเวลาอย่างมาก ซึ่งเราก็ต้องทำในช่วงเวลาที่เรายังทำไหวอยู่ ยังสามารถเอามันได้อยู่ ถ้าผมจะคาดหวังอะไรจากมัน ผมจะหวังให้บอกตัวเองอยู่เสมอว่า จะทำหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้าย เพื่อที่ผมจะได้เต็มที่กับมันทุกครั้ง” โลดแล่นอยู่บนเส้นทางบันเทิงในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์มาครบ 1 ทศวรรษ (2540-2550) กับผลงานคุณภาพมากมาย “ นนทรีย์ นิมิบุตร ” ถือเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่สามารถถูกกล่าวได้เต็มปากว่า เป็นผู้ที่เข้ามาพลิกโฉมหน้าภาพยนตร์ไทยให้ก้าวสู่ระดับสากลอย่างเต็มภาคภูมิ เมษายน 2540 พลิกประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ไทย ด้วยการกวาดรายได้และกุมหัวใจคนดูทั้งประเทศ จากภาพยนตร์เรื่องแรก “ 2499 อันธพาลครองเมือง ” กรกฎาคม 2542 ตอกย้ำความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่ยากหาใครเทียบเคียง ด้วยรายได้กว่า 150 ล้านบาท จาก “นางนาก” กันยายน 2544 / กรกฎาคม 2545 เปิดศักราชความแปลกใหม่ของภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดเอเชียกับ “ จัน ดารา ” และ “ อารมณ์ อาถรรพณ์ อาฆาต ” ธันวาคม 2546 นำความอบอุ่นเรียบง่ายสู่ทุกหัวใจคนไทยใน “ โอเคเบตง ” ตรุษจีน 2551 เตรียมประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดภาพยนตร์โลกอย่างสมภาคภูมิอีกครั้งด้วยภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่สุดในชีวิตกับ “ ปืนใหญ่จอมสลัด ”
ชีวิตและผลงานของ นนทรีย์ นิมิบุตร
การศึกษา - สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากคณะมัณฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2530 ประสบการณ์การทำงาน - เริ่มทำงานในวงการบันเทิงโดยการเป็นผู้กำกับมิวสิควิดีโอให้กับบริษัทผู้ผลิตเทปชั้นนำของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2517 - ผลิตงานสารคดีและละคร - กำกับงานโฆษณาได้รับรางวัล แทคท์ อวอร์ด (TACT Award) ถึงสองครั้งจากโฆษณาโทรทัศน์ชุด "Max Liner" และ "Central Department Store" - กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก “2499 อันธพาลครองเมือง” ในปี 2540 และเรื่องที่สองคือ เรื่อง “นางนาก” ในปี 2542 ทั้งสองเรื่องได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างมาก และได้รับรางวัลจากทั้งสองเรื่องหลายรางวัลด้วยกัน - ก่อตั้ง บริษัท ซีเนมาเซีย จำกัด ร่วมกับ ดวงกมล ลิ่มเจริญ ในปี 2543 เพื่อร่วมกันสานฝันที่จะพัฒนาวงการภาพยนตร์ไทย - เป็นคณาจารย์ในหลักสูตร Asian Film Academy หรือ AFA เป็นหลักสูตรที่ก่อตั้งขึ้นร่วมกับ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลี, คณะกรรมการภาพยนตร์เกาหลี, สถาบันศิลปะการทำภาพยนตร์ เกาหลี และมหาวิทยาลัย Dongseo มีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาวงการภาพยนตร์อาเซียนให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้กับคนทำหนังรุ่นใหม่ได้ Workshop ร่วมกับผู้กำกับมืออาชีพทั้งหลายของเอเชีย ผลงานและรางวัลแห่งความสำเร็จด้านภาพยนตร์ 2499 อันธพาลครองเมือง - พ.ศ. 2540 กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก "2499 อันธพาลครองเมือง" ภาพยนตร์ไทยที่กวาดรางวัลและทำรายได้ไปถึง 75 ล้านบาท (เฉพาะในกทม.) เป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดในประวัติการณ์ภาพยนตร์ไทยในปีนั้น - Grand Prize (Best International Film Award) จากเทศกาลภาพยนตร์ Festival International du Film Independent ครั้งที่ 19 ที่กรุงบรัชเซล ประเทศเบลเยี่ยม เมื่อ พ.ศ. 2536 - รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2541 - รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากชมรมวิจารณ์บันเทิง เมื่อ พ.ศ. 2541 - รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากนิตยสารซีนีแม็ก เมื่อ พ.ศ. 2541 นางนาก - พ.ศ. 2542 กำกับภาพยนตร์เรื่องที่สอง "นางนาก" ภาพยนตร์ที่ทำลายสถิติและทำรายได้ถึง 150 ล้านบาท (เฉพาะในกทม.) สูงกว่าภาพยนตร์ต่างประเทศทั้งหมด และกลายเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย - รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์เอเชียแปซิฟิคครั้งที่ 44 เมื่อ พ.ศ. 2542 - รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์แห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2542 - รางวัลพระสุรัสวดี สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เมื่อ พ.ศ. 2542 - รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากชมรมวิจารณ์บันเทิง เมื่อ พ.ศ. 2542 - รางวัล The Most Promising Asian Director จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ประเทศอินเดีย พ.ศ. 2543 ครั้งที่ 31 - รางวัล The Best Asian Film, NETPAC Award จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ กรุงร็อตเตอร์ดัม ครั้งที่ 29 จัน ดารา - รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม สุนิตย์ อัศวินิกุล, ธานินทร์ เทียนแก้ว จาก Star Entertainment Awards 2002 - รางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม ณัฐวุฒิ กิตติคุณ จาก รางวัลสุพรรณหงส์ ประจำปี 2544 - รางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม เอก เอี่ยมชื่น จาก รางวัลสุพรรณหงส์ ประจำปี 2544 - รางวัลผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม วิภาวี เจริญปุระ จาก รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ปี 2544 - รางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม จาก รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ปี 2544 ในตำแหน่ง Producer - ภาพยนตร์ "ฟ้าทะลายโจร" ซึ่งได้รับรางวัล Dragon and Tiger Award จาก Vancouver Film Festival 2000 - ภาพยนตร์ “เพชฌฆาตเงียบอันตราย” (BANGKOK DANGEROUS) ซึ่งได้รับรางวัล FIPRESCI Award form Toronto Film Festival 2000 - ภาพยนตร์ “มนต์รักทรานซิสเตอร์” (2544) - ภาพยนตร์ “เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล” (LAST LIFE IN THE UNIVERSE) (2546), “เดอะ เลตเตอร์ จดหมายรัก”, “โหมโรง”, “คนเห็นผี 2” (2547) - ภาพยนตร์ “หนูหิ่น เดอะมูฟวี่” (2549) - ภาพยนตร์ “SIDELINE” เกียรติคุณที่ได้รับ - รับรางวัลบุคคลตัวอย่างแห่งปี สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ มีนาคม 2545 - รับรางวัลนักศึกษาเก่าดีเด่นแห่งปี 2543 จากวิทยาลัยช่างศิลป กรมศิลปากร - รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ จากภาพยนตร์เรื่อง "นางนาก" โดยสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ปี 2543 - สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากรมอบรางวัลนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ดีเด่น แห่งปี 2541 ในฐานะผู้ประสบความสำเร็จ ในด้านประกอบอาชีพ เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2541 - ได้รับประกาศเกียรติคุณ ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ดีเด่นแห่งเอเชีย จากประธานาธิบดีอาโร่โย่ แห่งประเทศฟิลิปปินส์ ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซีเนมะนิลา ครั้งที่ 3 สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ
ครั้งแรกกับการเขียนบทภาพยนตร์ของ วินทร์ เลียววาริณ
“ผมใช้เวลาพูดคุยกับพี่วินทร์นานเป็นปี หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า เขาเคยเรียนทางด้านภาพยนตร์คอร์สสั้น ๆ มาก่อนที่อเมริกา ดังนั้นความรู้ด้านภาพยนตร์ของเขาจึงมีเยอะอยู่แล้ว เราก็เพียงแค่นำมาประกอบกัน เขาเป็นคนที่ทำงานเร็วมาก แล้วก็มีระเบียบวินัยมากด้วย น่าศรัทธาในการทำงานมาก ๆ เป็นโชคดีของผม ที่พี่วินทร์มาเขียนบทให้ทั้งเรื่อง” นนทรีย์ นิมิบุตร พูดถึงการร่วมงานกันครั้งแรกของเขากับ วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์ จากนวนิยาย “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” ปี 2540 และ รวมเรื่องสั้น “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน” ปี 2542 วินทร์ เลียววาริณ สนใจงานศิลปะตั้งแต่เล็กจึงเลือกเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ จบปริญญาตรี สถ.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเดินทางไปทำงานที่สิงคโปร์ทันที ทำงานเป็นสถาปนิกที่สิงคโปร์ร่วม 4 ปี ก็เดินทางไปทำงานและเรียนต่อที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เรียนหลายมหาวิทยาลัยโดยไม่เอาปริญญา จบแล้วกลับเมืองไทย เข้าทำงานในวงการโฆษณา และเรียนต่อจนได้รับปริญญาโทด้านการตลาด จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มชีวิตคนโฆษณาด้วยตำแหน่งผู้กำกับศิลป์และเปิดฉากการเขียนหนังสือควบคู่ไปด้วย โดยเรื่องสั้นเรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์คือ ไฟ ผ่านสนามวรรณกรรมมาจนได้รับหลายรางวัล เช่น โลกีย-นิพพาน (2535), การหนีของราษโลกสามใบของราษฎร์เอกเทศ (2538) และ ตุ๊กตา (2541) ได้รับรางวัลช่อการะเกดยอดนิยม ประจำปี 2535, 2538 และ 2541 ตามลำดับ เช็งเม้ง (2541) ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นจากสมาคมภาษาและหนังสือ ปี 2541
ผลงานของ วินทร์ เลียววาริณ
- อาเพศกำสรวล (รวมเรื่องสั้นแนวทดลอง 2537) รางวัลดีเด่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ปี 2538 - สมุดปกดำกับใบไม้สีแดง (รวมเรื่องสั้นแนวหักมุม 2537) รางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ปี 2538 - ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน (นวนิยาย 2537) รางวัลดีเด่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ปี 2538, รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ปี 2540, หนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน (อายุ 16-18 ปี) พ.ศ. 2541-2542 - เดือนช่วงดวงเด่นฟ้าดาดาว (รวมเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ 2538) หนึ่งใน 88 เล่มหนังสือดีวิทยาศาสตร์ของ สกว. ปี 2544 - สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน (รวมเรื่องสั้น 2542) รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ปี 2542, หนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่เด็กและเยาวชนควรอ่าน จาก สกว. - หนึ่งวันเดียวกัน (รวมเรื่องสั้นประกอบภาพ 2544) - หลังอานบุรี (รวมเรื่องสั้นหัสคดี 2544) - ปีกแดง (นวนิยาย 2545) รางวัลดีเด่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ปี 2546 - ปั้นน้ำเป็นตัว (รวมเรื่องสั้น-วิธีเขียน 2546) - (หรรษารคดีโกหกผสมจริง 2546) - วันแรกของวันที่เหลือ (รวมเรื่องสั้นประกอบภาพ 2547) - ฆาตกรรมกลางทะเล (รวมเรื่องสั้นรหัสคดีชุด เสี่ยวนักสืบ 1 2547) - คดีผีนางตะเคียน (รวมเรื่องสั้นรหัสคดีชุด เสี่ยวนักสืบ 2 2547) - ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล (บทความวิทยาศาสตร์ 2548) - นิยายข้างจอ (เรื่องเล่าเกี่ยวกับหนังและหนังสือ 2548) - จรูญจรัสรัศมีพราว พร่างพร้อย (รวมเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ 2548) - รอยเท้าเล็ก ๆ ของเราเอง (บทความเสริมกำลังใจ 2548) - ผู้ชายคนที่ตามรักเธอทุกชาติ พิมพ์ครั้งที่ 85 (นวนิยาย 2549) - โลกด้านที่หันหลังให้ดวงอาทิตย์ (รวมเรื่องสั้นประกอบภาพ 2549) - ฝนตกขึ้นฟ้า (นวนิยายฟิล์มนัวร์ 2550) - ยาแก้สมองผูก ตราควายบิน (หนังสือคู่มือการสร้างพล็อตและการใช้ความคิดสร้างสรรค์ 2550) เขียนร่วมกับ ปราบดา หยุ่น - ความน่าจะเป็นบนเส้นขนาน 1 (จดหมาย 2545) - ความน่าจะเป็นบนเส้นขนาน 2 (จดหมาย 2547) - ความน่าจะเป็นบนเส้นขนาน 3 (จดหมาย 2548) - ความน่าจะเป็นบนเส้นขนาน 4 (จดหมาย 2549)
การออกแบบงานสร้างครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของ เอก เอี่ยมชื่น

“กองถ่ายของเราเหมือนมีชีวิตอยู่ในสงคราม เราชอบมีชีวิตอยู่แบบนี้ เรารักกัน แล้วเราก็ยกพวกไปตีคนอื่น เอาชนะได้สำเร็จเป็นหนังฉาย เราและทุกคนที่มากับเราก็จะอยู่ในประวัติศาสตร์หนังไทย ถ้าเราทำดีพอ” เอก เอี่ยมชื่น ผู้ออกแบบงานสร้างมือหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทย อยู่เบื้องหลังความสำเร็จแบบเคียงบ่าเคียงไหล่มาในทุก ๆ ผลงานของนนทรีย์ นิมิบุตร เรียกได้ว่า “มีอุ๋ยที่ไหน มีเอกที่นั่น” ด้วยความเป็นเพื่อนสนิทกันมานานและทำงานเข้าขากันได้เป็นอย่างดี กับผลงานเรื่องยิ่งใหญ่ในชีวิตของทั้งคู่อย่าง “ปืนใหญ่จอมสลัด” นี้ เอกและนนทรีย์จึงผนึกกำลังกันอีกครั้งในการสร้างฝันผ่านจินตนาการแบบแอ็คชั่นแฟนตาซีให้ออกมาอย่างสมจริงที่สุด งานสร้างฉาก, สรรพาวุธ, ชุดแต่งกาย และอุปกรณ์ประกอบฉากทุกอย่างล้วนผ่านการค้นคว้าข้อมูลกันอย่างเจาะลึกและใช้เวลานานนับปีในการออกแบบและสร้างสรรค์อย่างพิถีพิถันในทุกขั้นทุกตอนบนพื้นฐานของความสมจริง ไม่ว่าจะเป็น หมู่บ้านชาวเล, ฉากพระราชวังลังกาสุกะทั้งในและนอก, ฉากกำแพงวัง, ฉากคุกที่คุมขัง รวมถึงฉากสู้รบบนเรือโจรสลัด ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นผลงานที่เกิดจากความทุ่มเทของเอกและทีมงานอย่างเต็มพิกัด เพื่อทำให้องค์ประกอบในทุก ๆ ฉากที่ล้วนมีความสำคัญเป็นอย่างมากในภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาอย่างน่าเชื่อถือและมีคุณภาพมากที่สุดสมกับเป็นผู้ออกแบบงานสร้างที่กวาดรางวัลมาแล้วแทบทุกสถาบัน
ผลงานการออกแบบงานสร้างของ เอก เอี่ยมชื่น
2499 อันธพาลครองเมือง (2540), นางนาก (2542), ฟ้าทะลายโจร (2543), จัน ดารา (2544), 15 ค่ำ เดือน 11 (2545), โอเคเบตง (2546), เดอะ เลตเตอร์ จดหมายรัก (2547), มหา'ลัย เหมืองแร่ (2548), ปืนใหญ่จอมสลัด (2551), องค์บาก 2 (2551)
หลากชีวิตหลายสีสันใน “ปืนใหญ่จอมสลัด”
ฝ่ายลังกาสุกะ - ราชินีบนบัลลังก์เลือด
“รัฐของเราเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ในแถบนี้ย่อมเป็นที่หมายปองของผู้ละโมบโลภมากเสมอ ความไม่สงบบังเกิดขึ้นทั้งจากภายในและภายนอก แต่ขอพวกท่านจง วางใจ เราไม่นิ่งเฉยต่อเรื่องนี้แน่” ราชินีฮีเจา ( จารุณี สุขสวัสดิ์ ) – เป็นกษัตริย์ที่เป็นสตรีพระองค์แรกแห่งรัฐลังกาสุกะ มีบุคลิกอ่อนนอก แข็งใน กล้าหาญ อดทน ไม่ยอมแพ้ในเรื่องใด ๆ เป็นนักการเมืองที่ทันเกมคน ปกครองบ้านเมืองด้วยความเข้มแข็งไม่แพ้เพศชาย แต่ก็แฝงไว้ด้วยเมตตาธรรม
“สงครามให้กำเนิดความสูญเสียไม่จบสิ้น” เจ้าหญิงบิรู ( ณัฐรดา อภิธนานนท์ ) - บุคลิกอ่อนโยน เงียบขรึม ไม่ชอบพูดมาก เก็บความรู้สึกภายในใจ มีความเป็นศิลปินมากกว่านักรบ มีความสามารถทางการทูต สื่อสารได้หลายภาษา
“เราทำในสิ่งที่เราอยากทำได้เพียงบางครั้งเท่านั้น แต่นอกนั้นเราทำในสิ่งที่ต้องทำเสมอ” เจ้าหญิงอูงู ( แอนนา แฮมบาวริส ) - บุคลิกร่าเริง กล้าหาญ พูดจาฉะฉานเหมือนชาย คิดอะไรก็พูดอย่างนั้น ไม่เก็บความรู้สึกไว้ภายในนาน มีความสามารถในการต่อสู้มากที่สุดในบรรดาสามศรีพี่น้อง
“สำหรับข้า การได้รับใช้แผ่นดินลังกาสุกะ ถือเป็นเกียรติแก่ชีวิต” ยะรัง ( ชูพงษ์ ช่างปรุง ) - นายทหาร ลูกเลี้ยงของอำมาตย์ยะหริ่ง มีความกล้าหาญ ฉลาด ตรงไปตรงมา เก็บความรู้สึกได้ดี ใจเย็น มีฝีมือด้านการรบ จึงได้รับความไว้ใจในการเป็นทหารเอกของลังกาสุกะ

“ข้าคือ อับดุล กาฟูร์ โมไฮดิน แขกเมืองของลังกาสุกะ” เจ้าชายปาหัง ( เจษฎาภรณ์ ผลดี ) - เป็นเจ้าชายรูปงามแห่งรัฐปาหัง อภิเษกสมรสกับองค์หญิงอูงู เพื่อเสริมสัมพันธ์ไมตรีระหว่างรัฐลังกาสุกะกับรัฐปาหัง มีบุคลิกที่ดูสง่างาม เฉลียวฉลาด
ฝ่ายชาวเล - พันธมิตรแห่งท้องน้ำ
“จงปล่อยให้ทุกอย่างจบสิ้นที่ตัวเจ้า แล้วเจ้าจะเข้าใจความว่างของชีวิต” ปารี ( อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม ) - บุคลิกเคร่งขรึม ซึมเศร้า โกรธแค้นเพราะความแค้นที่ถูกปลูกฝัง แต่ในส่วนลึกยังมีนิสัยที่มีเมตตา เก็บอารมณ์ไว้ภายใน ไม่เปิดเผยออกมา หากรักใครก็จะไม่ยอมบอก ผ่านความลำบากในการฝึกวิชาดูหลำจนแก่กล้า และเป็นผู้นำของชาวเลในการสู้รบกับเหล่าโจรสลัดอย่างอาจหาญ
“อาจารย์ ปืนใหญ่มหาลาโลของข้าจะไม่แพ้มหาปืนใหญ่ของท่านแน่นอน” ลิ่มโต๊ะเคี่ยม ( จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม ) - ชาวจีนผู้กล้าหาญ รักการผจญภัย กล้าได้กล้าเสีย แต่ไม่โผงผาง สุขุม ไม่โกรธง่าย เป็นนักวางแผนและนักประดิษฐ์ที่ดี เป็นกุญแจสำคัญในการประดิษฐ์ปืนใหญ่เพื่อสู้รบกับฝ่ายโจรสลัด
“สิ่งที่พี่ทำ ถึงแม้จะช่วยชีวิตข้า แต่ทำลายชีวิตอื่นอีกมากมาย ให้ข้ายอมตาย ดีกว่าที่จะให้พี่สร้างอาวุธร้ายให้กับคนชั่ว” ลิ่มกอเหนี่ยว ( มนัสนันท์ พัชรโสภาชัย ) - น้องสาวของลิ่มโต๊ะเคี่ยม สุภาพเรียบร้อย เก็บความรู้สึก เป็นตัวอย่างของคนจีนหัวเก่าที่ไม่กล้าฝืนประเพณี ไม่พูดมาก ไม่แสดงออกอารมณ์ใด ๆ เป็นผู้มีเมตตากรุณาอย่างสูงส่ง
“ชีวิตข้าเป็นของเจ้าแล้ว” บินตัง ( เมสิณี แก้วราตรี ) – คนรักของปารี มีบุคลิกร่าเริง หัวเราะง่าย แต่เมื่อถึงเรื่องความรัก ยังหัวเก่า เก็บซ่อนความรู้สึก ชะตากรรมทำให้เธอต้องพรากจากคนรัก อันเป็นเหตุให้ปารียิ่งแค้นพวกโจรสลัดมากขึ้น

ฝ่ายดูหลำ - อำนาจของทะเลใจ

“วิชาดูหลำคือการรวมพลังคนเข้ากับพลังปลา สัตว์และมนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมตัณหา ตัณหาของปลาคืออาหาร ตัณหาของคนคือ ราคะ อำนาจ ความเกลียด ความโลภ ความแค้น” กระเบนขาว / กระเบนดำ ( สรพงษ์ ชาตรี ) - วัยหนุ่มเป็นชาวเลมีฝีมือที่สุด ฝึกดูหลำจากอาจารย์เฒ่า ฝีมือดีจนกษัตริย์บาฮาดูร์ ชาห์เรียกไปทำงานในวัง แต่หลงระเริงกับชีวิตที่นั่น จนทำให้เสียคน เป็นคนสองบุคลิก หากอยู่ในด้านดี จะเป็นกระเบนขาว หากอยู่ในด้านเลว จะเป็นกระเบนดำ เป็นอาจารย์ที่สอนวิชาดูหลำให้แก่ปารี และมีความสัมพันธ์บางอย่างกับฝ่ายโจรสลัด
ฝ่ายโจรสลัด - ศัตรูแห่งมหานที
“หากเราร่วมมือกัน การบุกลังกาสุกะก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ข้าขอให้เรื่องนี้เป็นเพียงเสียงกระซิบระหว่างเรา จงมาร่วมกันกระซิบให้ชื่อของเราดังกึกก้องท้องทะเลกันเถอะ” เจ้าชายราไว ( เอก โอรี ) - เจ้าชายผู้เงียบขรึม ไม่พูดมาก แต่ในใจเต็มไปด้วยความเกลียดชัง มองโลกในแง่ร้าย เจ้าคิดเจ้าแค้น ไม่ไว้ใจใครเลย น้ำนิ่งไหลลึก ใจเหี้ยมเกรียม เป็นคนประเภทที่หากขาข้างหนึ่งติดในกับดัก ก็สามารถตัดมันทิ้งเพื่อเอาตัวรอดได้
“คราวนี้ข้าลงมือเอง ท่านวางใจเถอะ” อีกาดำ ( วินัย ไกรบุตร ) - หัวหน้าโจรสลัด ที่คอห้อยสร้อยเขี้ยวปลาฉลามพวงใหญ่ ไม่ใช่คนเลวโดยสันดาน แต่สถานการณ์ทำให้เลว และเกิดติดใจในอำนาจของความเลว เป็นมือขวาของเจ้าชายราไว ในการทำศึกกับแคว้นลังกาสุกะ