...ต้นปี 2549 GTH ประกาศว่า ปีจอขอทำหนังได้เงิน และปีนี้ก็กำลังจะจบคำประกาศศักดานั้นลงด้วยหนังเรื่อง "เก๋า เก๋า" ของ 1 ในผู้กำกับแฟนฉัน (เบื่อคำนี้หรือยังคะคุณ)
...ไม่ค่ะ นี่ไม่ใช่บทสัมภาษณ์เฮียบอลเก๋าเป็นแน่ (ถึงจะเป็นเพื่อนพี่คนนั้นก็เถอะ) เพราะเว็บเรามองการณ์ไกลกว่านั้นค่ะ
...ก่อนที่ใครจะแย่งชิงความเป็น Information Center ไปจากเรา (อิอิ) เราลากตัวเองไปนั่งคุยกับผู้หญิงที่ชื่อ "แอน-โสรยา นาคะสุวรรณ" เพราะชื่อนี้กำลังจะเป็นที่ติดหูคุณในวันเวลาอันรวดเร็วนี้ กับตำแหน่งผู้กำกับหนังสารคดีว่าด้วยเรื่องเด็กเอ็นทรานซ์ โดยการดันปั้นของพี่เก้งของฉานนนนนนน
...และนี่คือหนังเปิดศักราชปี 2550 ของค่าย GTH ที่ชื่อ "Final Score 365 วัน-ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์" ค่ะ
...แน่นอนว่าการพูดคุยของเราไม่ได้ดีไปกว่าโปรดักชั่นโน้ต ที่เดี๋ยวทางค่ายคงจะส่งตามมา (ใช่มั้ยคะ ใช่มั้ยคะ ขอเป็นไฟล์ด้วยนะคะ มาเป็นแผ่นกระดาษเนี่ย พิมพ์ไม่ไหวหรอกค่ะ)
...แต่ว่าเราคุยกันเอามันค่ะ หลังอ่านจบ หลายคนอาจจะอยากเปลี่ยนเป็น สนทนาประสาผู้หญิงถึงผู้หญิงซวย เอ้ย...สวย อันนี้ก็ช่วยไม่ได้นะคะ (อิอิ)
***บทสัมภาษณ์นี้มีคำไม่สุภาพแซมประปราย (ประหนึ่งสิววัยสาวที่ผุดอยู่ข้างแก้มซ้ายแล้วย้ายมาข้างขวา แลดูเป็นธรรมชาติมาก ๆ) ผู้ปกครองโปรดพิจารณานะคะ***
***บทสัมภาษณ์ค่อนข้างยาวนะคะ ไม่ต้องรีบอ่าน ค่อย ๆ ละเลียดอ่านพร้อมจิบกระทิงแดงไปด้วยก็ได้ค่ะ***
เคยทำหนังสั้นมาก่อน
- เออ เป็นสารคดีเหมือนกัน ตั้งแต่สมัยเรียนที่จุฬาฯ ละ เรื่องแรกตอนที่เราจบ เรามาทำกับพี่แกละ ปมไหม ทำ Continue (ควบคุมความต่อเนื่อง - เป็นตำแหน่งตามขนบของเด็กฟิล์มที่จบใหม่ส่วนใหญ่)
จบนิเทศ จุฬาฯ
- ใช่
รุ่นเดียวกับพวกนั้นป่ะ พวกหนุ่ม ๆ ฮ็อตทฮิตทั้งหลาย
- ก็ต้องโปรโมทว่า ไม่ใช่หนึ่งในผู้กำกับแฟนฉัน (หัวเราะ)
เรียนหนัง
- เออ เรียนฟิล์ม
แล้ว
- ก็ชอบทำหนัง ก็ทำ (หัวเราะ)
ตอนเรียนก็คือไม่ได้ทำหนังสั้นป่ะ แต่มาทำ Amazing Thailand ตอนจบแล้วป่ะ
- ไม่ ๆ อันนั้นคือเป็นโปรเจ็คต์จบเลยค่ะ ก็ทำ คือตอนนั้นมันใหม่มากไง ไม่เคยมีใครทำ โปรเจ็คต์นักเรียนเป็นสารคดี ก็เหมือนกับเป็นเรื่องแรก ๆ แล้วเผอิญมันก็ได้รางวัล ก็ดี มันก็ไปฉายที่โน่น ที่นี่
รางวัลช้างเผือก
- ใช่ รองชนะเลิศรางวัลช้างเผือก
ปีนั้นใครได้ช้างเผือก
- เพื่อนเราชื่อซันเต้ เรื่อง "คงกระพันชาติไทย" ก็นี่แหละค่ะ ก็วนเวียนอยู่ในวงการทำเรื่องโน้น เรื่องนี้ แล้วก็เบื่อ (หัวเราะ) ไปเรียนต่อ ตอนไปเรียนต่อ ก็คิดว่าคงไม่ได้ทำหนังแล้วมั้ง คือช่วงนั้นมันปี 2541 ที่เราจบที่มันมีฟองสบู่ มันมีโน่นนี่ มันก็ล้มไปทุกวงการ ก็เลยว่า เฮ้ย ไปเรียนดีกว่า ก็เลยไปเรียน ไปอยู่เมืองนอก
ไปเรียนอะไร
- ไปเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ
เพื่อไร ไม่อยากเรียนฟิล์มต่อแล้วเหรอ
- ไม่ คือตอนแรกก็จะไปเรียนฟิล์ม แต่ก็คิดว่า เอ๊ย เราก็เรียนมาแล้วนี่หว่า แล้วรู้สึกว่าเรื่องฟิล์มมันเป็นเรื่องที่เหมือนกับสอนกันไม่ได้ คือเหมือนกับว่าคุณไปเรียนที่โรงเรียนไหน คุณก็คงได้เทคนิค ได้อะไรอย่างนี้
ได้วิธีการทำหนัง หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า
- เออ แต่ว่าเราไม่ได้อยากได้อย่างนั้น เราก็เลยไปเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ (หัวเราะ) ก็เลยไปเรียนอะไรที่ไม่เกี่ยวกับการทำหนัง
คิดว่ามันจะเอื้อกับการทำหนัง
- ใช่ ๆ คิดว่ามันเกี่ยวกับความสนใจของเราที่จะเอามาใช้ในหนัง ก็ไปเรียนอยู่ตั้งหลายปีแน่ะ แล้วก็ (หัวเราะ) อยู่แบบคิดว่าเราคงจะไม่ได้กลับมาทำหนังแล้วมั้ง (หัวเราะ) อยู่ ๆ วันหนึ่งก็รู้สึกว่า โอ๊ย ไม่ได้ละ ต้องเลิกเรียนแล้วกลับมาทำจริง ๆ
จบแล้ว
- ไม่จบ
เรียนปริญญาเอก
- เออ ไม่จบ เอกก็ทิ้งไว้งั้นแหละ
เรียนเอกอะไร
- เรียนประวัติศาสตร์ศิลป์นี่แหละค่ะ แต่ว่าไอ้เรื่องที่เราทำมันเกี่ยวกับฟิล์มไง พวกแบบทฤษฎีฟิล์มอะไรพวกนี้ คงไม่อยากรู้หรอกมันน่าเบื่อ (หัวเราะ) ก็เป็นแบบอ่านหนังสือเยอะ ๆ ตลอดเวลา ทิ้งตรงนั้นแล้วกลับมา
กลับมาปีไหน
- กลับมาปีที่ทำ "เหมืองแร่" 2547
ตอนที่เรียนอยู่ พวก "แฟนฉัน" ก็ฮ็อตแล้ว
- อ๋อ ตอนนั้นที่ดังก็เรียนอยู่ มีเพื่อนส่งดีวีดี "แฟนฉัน" ให้ไปดูแล้วบอก โอ๊ย พวกนี้รุ่งเรืองกันมากที่เมืองไทย (หัวเราะ) รุ่งเรืองสุด ๆ (หัวเราะ)
พวกนั้นเค้าเป็นรุ่นน้องหรือรุ่นพี่
- รุ่นพี่เรา
ก็เห็น ๆ กันอยู่ตอนเรียน
- ใช่ ๆ เออ ก็เม้าท์ ๆ กัน พวกนี้แม่งโด่งดังสุด ๆ ซูเปอร์สตาร์เมืองไทยยุคนั้น เราก็ไม่ได้อยู่ไงก็ได้แต่ข่าว ได้ยินข่าวโน่นนี่นั่น แต่ว่าก็กลับมา แต่ไม่ได้เกี่ยวกับแก๊งนี้นะ (หัวเราะ) คือไม่เกี่ยวว่าจะกลับมารุ่งเรืองหรืออะไร เราก็กลับมาทำหนังนี่แหละ ไอ้โปรเจ็คต์แรกตอนที่กลับมาเป็นหนังเวียดนาม คือเราบินกลับมาวันหนึ่งแล้วก็มีคนโทรมาเลยน่ะ แล้วก็ไปทำเลย จนกระทั่งมาถึงวันนี้ยังไม่ได้หยุดจากการทำหนังเลย (หัวเราะ) มีเพื่อนคนหนึ่งชื่ออี๊ด ตอนนั้นเราไปทำเป็น set coordinator หนังเวียดนามชื่อ Journey from the fall เป็นหนังคนเวียดนามอพยพ
ผู้กำกับคนเวียดนาม
- ใช่ เป็นคนเวียดนาม แต่เกิดอเมริกา โตอเมริกา ได้รางวัลโน่นนี่ แล้วมาฉายเทศกาล Bangkok Film ก็สนุกดีอยู่ป่า 3 เดือน หลังจบจากนั้นก็มีพี่โทรมา อ่ะ มาทำเหมืองแร่หน่อย (หัวเราะ) ไปอยู่ป่าอีก 3 เดือน (หัวเราะ) ไม่ได้หยุดเลยค่ะ ก็ได้ทำจริง ๆ
เหมืองแร่เป็นตำแหน่งอะไร
- เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ 4 คือเค้าฟอร์มทีมอะไรกันหมดละ คือก็เกือบจะไม่ได้ทำน่ะ อยู่ ๆ เค้าต้องการคนเข้ามาทำพวกดูแลนักแสดง พูดภาษาอังกฤษกับนักแสดงฝรั่ง
ซึ่งมีอยู่คนเดียวในเรื่อง
- เยอะ (หัวเราะ) เยอะ นี่แหละค่ะ ก็เลยมาทำตรงนี้ แต่ก็ไม่เคยคิดเรื่องตำแหน่งอะไร ไม่ได้มายด์ตำแหน่ง ทำหนังก็ทำ
เวลานักเรียนหนังเค้ายกมือตอบว่าอยากเป็นอะไร เค้าก็อยากเป็นผู้กำกับ แล้วพี่อยากเป็นอะไร
- ก็แล้วแต่คน
เราน่ะ
- เราก็รู้ตัวว่าเราอยากเป็นผู้กำกับ แต่เราคิดว่าเป็นผู้กำกับมันต้องเป็นอะไรหลายอย่างก่อน คือมันต้องรู้อะไรเยอะพอสมควรเหมือนกัน เราก็เลยไม่มายด์ ใครชวนทำอะไร เราก็ไปทำหมดเลย (หัวเราะ) จนท้ายสุดก็มาทำอันนี้ค่ะ สารคดี
ทำไมหนังเรื่องแรกเลือกทำสารคดี
- ทำไมเหรอ
เค้าเลือกเราหรือเราเลือกเค้า
- ก็มันเป็นจังหวะพอดีน่ะ เราก็บอกพี่เก้งว่าเราอยากทำสารคดีใช่มะ
บอกตอนไหน
- บอกตอนเหมืองแร่ใกล้จะถ่ายเสร็จ เราอยากทำสารคดีเกี่ยวกับเด็ก แล้วแกก็ไม่ว่าอะไร จู่ ๆ วันหนึ่งแกก็โทรมาบอกว่าเออน้อง มันมีเรื่อง Entrance น่าสนใจ ทำไหม เออก็ทำ ก็ทำเลย (หัวเราะ) คือไม่ได้คิดเลยว่าต้องไปทำรีเสิร์ชก่อนหรือคิด คือก็ทำเลย แล้วหลังจากนั้นก็ทำงานด้วยความรวดเร็วจนกระทั่ง 1 ปี 8 เดือน ผ่านไป (หัวเราะ) จนถึงวันนี้ (หัวเราะ) ก็ใกล้เสร็จละ
เริ่มจากพี่เก้งเป็นคนบอกว่าเออ ทำสารคดีกันเถอะ
- คือทุกคนจะคล้าย ๆ กันว่าเราเป็นคนทำสารคดีน่ะ คือมันเป็นความสนใจของเราน่ะ คืออย่างที่คณะก็รู้ว่าแอนแม่งทำสารคดีว่ะ ก็จะเป็นที่รู้กันว่ามีความสนใจเป็นพิเศษ แล้วเรื่องนี้มันน่าสนใจคือ ไอ้ประเทศเรามันมีวัตถุดิบมากมายที่จะทำได้ แต่ว่าแทบจะไม่มีหนังสารคดีฉายโรงเลย แล้วคนก็ค่อนข้างจะกลัวว่า เฮ้ย เป็นสารคดีกูคงไม่ออกจากบ้านไปดูหรอกว่ะ มันคงต้องน่าเบื่อแน่นอน คงมีแต่ข้อมูล คงพูดถึงแต่ว่าเหมือน Discovery หรืออะไรที่เราเคยดูตามทีวี ก็เลยรู้สึกว่าท้าทายน่าลอง
แล้ว GTH คิดเรื่องท้าทายไหม
- อ๋อ เค้าก็อยากให้คนออกมาดูอยู่แล้ว
คือจะขายคำว่าสารคดีเลยไหม
- ในแง่คนทั่วไป เค้าคงจะไม่ขายคำว่าสารคดี เพราะว่ามันอาจจะไม่ดึงคนออกจากบ้านมาดูหนัง เออ แต่สำหรับเราซึ่งอาจจะเป็นคนกลุ่มน้อยซึ่งแบบ สารคดีเหรอ อยากดูว่ะไอ้เหี้ย (หัวเราะ) อยากดูชิบหาย คือถ้าเป็นเราจะรู้สึกว่า อยู่ ๆ ถ้ามีสารคดีไทยเข้าฉาย โอ้โห แม่งต้องไปดูเลยว่ะ เออ แต่คนทั่วไป เค้าไม่น่าคิดเหมือนกัน อาจจะด้วยนิยามคำว่าสารคดีอาจจะยังแคบ
สารคดีของพี่แอนคืออะไร ชั้นอยากทำสารคดี คืออยากทำอะไร จะแบบความจริง Fact เลยรึป่าว
- (หัวเราะ) ก็ไปดูหนังก่อนไหมล่ะน้อง คือคนทำสารคดียังไงมันก็ต้องมีประเด็นว่าสารคดีมันมีพื้นฐานมาจากความจริง ซึ่งความจริงคืออะไร (หัวเราะ) ความจริงคืออะไร
ความจริงคือสิ่งที่เราเห็นอยู่ทั่วไปป่ะ
- เออ ก็อาจจะอันนั้น แล้วน้องรู้ได้ยังไงว่า ความจริงคือสิ่งที่เราเห็นอยู่ทั่วไป
นั่นนะดิ เออ แต่ยังเราก็เชื่อว่าสารคดี มันคือคนทำมันต้องมีความเชื่อของมัน แล้วตัดออกมาโทนอารมณ์แบบนั้น มันต้องมีความเชื่อก่อน
- เออ ใช่ สารคดีสำหรับเรา คือมันแยกออกจากความรู้สึกไม่ได้ แล้วไอ้ความรู้สึกนี้ก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า นึกออกมะ มันอาจจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ได้ แต่ว่าสารคดีส่วนใหญ่ที่ทำออกมาแล้วเหมือนจริงนี่ เรารู้ว่ามันคือความคิดเห็นของคนทำ มันเป็นเอาความคิดเห็นมาพูด ซึ่งตรงนี้มันทำให้หนักแน่นน่าเชื่อถือ แต่ว่าเราไม่ได้สนใจสารคดีแบบนั้น เราสนใจระหว่างไอ้เส้นความเป็นจริงในสารคดีกับความเป็นจริงมากกว่า ว่ามันสร้างความรู้สึกยังไงในหนังได้บ้าง เพราะงั้นเรื่องของเรามันเลยใช้เทคนิควิธีการเล่าเรื่องแบบหนังเข้ามาแบบเยอะ เยอะมาก
โทนหนัง
- โทนหนังเหรอ ก็ต้องเศร้า (หัวเราะ)
เห็นพี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์ - ผกก. เด็กหอ) บอกว่าดีมาก
- ก็ไม่ขนาดนั้น
ดู 3 นาที แกบอกขนลุก
- 3 นาทีขนลุก 1 ชั่วโมงครึ่งหลับ (หัวเราะ)
ทำสารคดีแล้วทำไมเลือกทำเรื่องเด็ก Entrance เพราะพี่เก้งบอกให้ทำเหรอ
- อ๋อ ไม่ใช่หรอก เราอยากทำเรื่องเด็กอยู่แล้ว แต่ว่าพอดีมันเป็นจังหวะว่าพี่เก้งเค้ามีไอเดียนี้อยู่ ว่าเรื่องเด็ก Entrance มันเป็นประเด็นได้ ซึ่งเราก็เอามาแล้ว เอามาคิดต่อออกมาจนเป็นเรื่องนี้ ก็คือทำตั้งแต่แคสติ้ง รีเสิร์ช เก็บฟุต แล้วก็มาตัด
รีเสิร์ชเริ่มจากอะไร
- รีเสิร์ชเริ่มจาก Entrance คืออะไร แต่ไม่ได้เริ่มจากไกลตัวนะ คือเริ่มจากตัวเอง เพราะเราเคยผ่าน Entrance ไง หลายคนเคยผ่าน Entrance น้องเคยผ่าน Entrance ป่ะ ซึ่งมันเป็นเรื่องใกล้ตัวน่ะ มันเหมือนกับเราย้อนนึกไปตอนเราอายุนั้น
เค้าถึงว่า GTH หากินแต่ของเก่า
- ไม่นะ มันมีข้อมูลใหม่เยอะมากนะ คือมันต้องเริ่มจากเราว่าตอนนั้นเป็นไงวะ ปีตอน ม.6 อย่างเรานี่ก็โคตรติดเพื่อนเลย โคตรแบบว่าไม่กลับบ้านทำกิจกรรม แล้วอยู่ ๆ วันหนึ่งรู้สึกว่า เอ๊ย ไม่ได้แล้วว่ะ กูต้องอ่านหนังสือแล้วว่ะ แม่งมันมีการสอบ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมต้องสอบ คือรู้แค่ว่าคนอื่นเค้าสอบ เราก็เลยต้องสอบ มันก็เหมือนกับเป็นข้อบังคับของเด็ก ม.6 ส่วนใหญ่ ซึ่งเราก็รู้ประมาณนี้ ซึ่งหลังจากนั้น เราก็เอาข้อมูลเหล่านี้ไปรีเสิร์ชกับเด็กว่า เออ มันเป็นยังไงกันบ้างวะ มันต่างจากสมัยเรา มันมีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง
- ในแง่ความรู้สึกเราว่าแทบจะไม่เปลี่ยนเลย ก็เหมือนเดิม อาจจะเปลี่ยนแค่ว่า จากเคยเรียกว่า Entrance ก็เปลี่ยนมาเรียกว่า Admission มีโอเน็ต เอเน็ต ซึ่งอันนั้นมันเป็นแค่กติกาในการสอบ แต่ว่าโดยเนื้อ (หัวเราะ) มันก็ยังอยู่ครบถ้วนเหมือนเดิม (หัวเราะ) ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการศึกษาไทยนี่ไม่เคยเปลี่ยนเลย (หัวเราะ) เออ เราก็เลยรู้สึกว่าอยากพูดประเด็นนี้
- แล้วคือถ้าหนังเรื่องนี้มันจะมีไอ้อารมณ์มิตรภาพ มันก็เกิดขึ้นเอง มันไม่ใช่ต้องการเอาไอ้ตรงนั้นเป็นจุดขาย เพื่อจะเอา Logic คืนวันสีชมพูกลับมา มันไม่ใช่แบบนั้น แต่ถ้ามันจะมี มันก็เป็นโดยเรื่อง ตัวละครมันเป็นขึ้นมาเองขณะเวลานั้น คือมันก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่มันมีเพราะมันเป็นความสัมพันธ์ของเด็กแต่ละคนอยู่แล้ว
แล้วเลือกเด็กยังไง เด็กยังไงที่เราคิดว่าต้องอยู่ในหนังของเรา
- ไม่ใช่เด็กห้องคิงแน่นอน (หัวเราะ) จริง ๆ เลือกเด็กคนเดียว แต่พอถ่าย ๆ ไปแล้วเห็นเด็กที่แวดล้อมมันก็น่าสนใจ ก็เลยเอามาเป็นตัวละครในหนังด้วย เราไม่ได้สนใจที่จะเลือกเด็กห้องคิงมาถ่าย (หัวเราะ)
อ่ะไม่แน่ เด็กห้องคิงอาจจะน่าสนใจก็ได้ เด็กเนิร์ดมันเป็นยังไงวะ
- เราก็ไม่รู้ แต่มันคงไม่ใช่ เพราะที่เราเลือกก็เป็นเด็กกลาง ๆ เรียนบ้าง เล่นบ้าง โง่บ้าง ฉลาดบ้าง ซึ่งมันเป็นลักษณะของเด็กทั่ว ๆ ไป ซึ่งเราสนใจในคาแร็คเตอร์แบบนี้มากกว่า ก็เรียกมา
ไปหาเจอจากไหน
- ไอ้เด็กที่เป็นตัวหลักไปหาเจอจากสยามสแควร์ (หัวเราะ)
แน่นอนอยู่แล้วว่าแหล่งต้องอยู่ที่โน่น
- (หัวเราะ) ใช่ อยู่กับมันรู้สึกเหมือนเลี้ยงลูก
ออกถ่ายทุกวัน
- เก็บทุกวันค่ะ
ถ่ายไปเยอะไหม
- ช่วงแรก ๆ ก็หน้ามืดตามัว กด ON อย่างเดียวเลย
เก็บมาปีหนึ่งก่อนน้องเค้าจะ Entrance
- ใช่
คือก็ถ่ายเก็บไป เพราะไม่รู้ว่าอารมณ์ไหนมันจะเกิดขึ้น อันไหนจะมาเก็บประมวลรวมในเรื่องได้
- ก็ถ่ายไปเรื่อย ๆ (หัวเราะ)
สนุก
- ใช่
อะไรสนุก
- อยู่กับเด็กสนุก แล้วก็ทีมงานน้อยสนุก มีตากล้อง มีคนทำเสียง มีเรา มีผู้จัดการกอง มีน้องผู้ช่วยผู้จัดการกอง แล้วก็น้าคนขับรถ
เด็กไปเรียนเราก็ถ่าย
- ใช่ เราก็ขออนุญาตถ่ายทำ เก็บบันทึกทุกที่ อย่างเช่นตอนเค้าไปสอบเราก็ขออนุญาต ในห้องเรียน ที่บ้าน
ไอ้สารคดีนี่มันจะออกมาเป็นคนค้นฅนป่ะ
- มันก็มีคนคิดแบบนี้เหมือนกัน คนค้นฅนก็เป็นสารคดีที่ดีนะ แต่ว่าวิธีการที่เค้าทำ มันก็จะมีไดเร็คเตอร์ มีคนออกมาอธิบายเรื่องว่า เรากำลังจะดูเรื่องนี้เรื่องนั้น หรือไม่ก็ใช้ Voice Over เยอะๆ เราก็ได้ข้อมูลว่าไอ้นี่มันอย่างนั้น ไอ้นั่นมันอย่างนี้ ซึ่งเป็นลักษณะของสารคดีทั่ว ๆ ไป แต่ว่าหนังเราไม่มีไดเร็คเตอร์ ไม่มีคนมาเล่าว่า ไอ้นี่เป็นอย่างนี้เพราะอย่างนั้น มันก็เลยไปทำไอ้โน่นไอ้นั่น มันก็จะไม่มีเทคนิคแบบนี้เข้ามา เหมือนกับเราเข้าไปอยู่ในชีวิตเค้าจริง ๆ เลยค่ะ เหมือนเราดูหนังเรื่องหนึ่ง เค้าก็เป็นตัวละคร เป็นธรรมชาติของเค้าเอง ไอ้ตรงนี้มันเลยทำให้เส้นแบ่งระหว่างสารคดีกับภาพยนตร์สารคดีมันต่างกัน
แล้วตัวเองจัดเป็นอะไร สารคดีหรือภาพยนตร์สารคดี
- เป็นหนังสารคดี
เพราะมันใส่ความคิดเห็น
- มันมีความคิดเห็นอยู่แล้วล่ะ แต่ว่าวิธีการนำเสนอ เหมือนกับหนังที่เราดูแล้วสนุกกับมัน มากกว่าที่จะมานั่งฟังคนพูดแล้วบรรยาย
จะว่าเค้าไม่ดีเหรอ
- ไม่ได้ว่าเค้าไม่ดี แต่ว่าอย่างนั้นคนก็อยู่บ้านดูทีวีก็ได้ ไม่ต้องออกมา
ดู "เด็กโต๋" ป่ะ เป็นไง
- ได้ดู ก็ดี ชอบนะ บริสุทธิ์ดี ชอบ
มองว่าผู้หญิงทำสารคดีเป็นไง
- (หัวเราะ) เอาอีกแล้ว มาทำนองนี้อีกแล้ว (หัวเราะ)
อ่ะ เห็นเป็นผู้หญิงไง
- ผู้หญิงทำสารคดีไม่ได้เหรอคะน้อง(หัวเราะ)
ไม่ได้ว่า คือ GTH ทำหนังโลกมัน Feel Good อยู่แล้วล่ะ แล้วมันก็จะได้ตังค์ระดับหนึ่ง ถึงถ้ามันไม่ได้ตังค์ มันก็ต้องได้คำชม แล้วเค้าเปิดปีหน้าเป็นหนังสารคดีของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ทำ
- (หัวเราะ) ฟังดูแล้วเหมือนถูกกลั่นแกล้งเลยนะ (หัวเราะ)
แล้วสารคดีมันจะไปได้รางวัลคำชมตาม Festival แทนที่จะได้เงินในเมืองไทยหรือเปล่า
- ไม่รู้ ไม่ ไม่ ไม่
หรือว่าสารคดีเรื่องนี้มันจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ Mass
- ใช่ เราทำให้เด็กทุกคนดู แล้วผู้ใหญ่อยากดู ก็มาดูได้
มันจะดูเหรอ
- ก็นั่นน่ะสิ อยากฟัง อยากดู Feedback ตอนหนังฉายว่ามันจะเป็นยังไง แต่เราก็เข้าใจที่น้องบอกว่าความเป็น GTH ความเป็นหนัง Feel Good อย่าง "แฟนฉัน" ซึ่งตรงนั้นมันก็มีโมเดลอย่างนี้อยู่ของบริษัทนี้ ซึ่ง...
เราก็จะเป็นอย่างนั้น
- (หัวเราะ)
ก็ไอ้แฟนฉัน, เพื่อนสนิท, Seasons Change มัน Feel Good ได้ มันก็เป็นหนังไง
- แล้วสารคดีมันจะ Feel Good ยังไง ใช่มะ
เออ
- ก็ไปดูดิ ก็ไปดู
เออ เราน่ะไม่เท่าไหร่ เราน่ะไปดูแน่ ๆ แต่คนเยอะ ๆ นี่สิ แม่งสารคดีก็ตัดไปเลยนะ แม่งเด็กเอ็นท์อีก โห มันจะน่าสนใจยังไงวะ โน่นเดี๋ยวมันจะไปได้ Festival เมืองนอกโน่นแก
- คือหนังถ้ามันทำเสร็จมันก็สินค้าอยู่แล้วล่ะ แต่มันจะเป็นสินค้าแบบไหน คือถ้ามันไปเมืองนอก แล้วคนที่โน่นชอบ นี่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี มีคนรักหนังเรา เป็นเรื่องที่ดี มันก็ขายตลาดกลุ่มคนดู แต่คือสำหรับเมืองนอก คำว่าสารคดี เค้าไม่รู้สึกกลัว เพราะมันมีวัฒนธรรมของการดูสารคดีอยู่แล้ว แต่ว่าบ้านเรานี่ดิ พูดถึงสารคดีปุ๊บ โอ๊ย ตายละ ปู่เย็นหรือเปล่าจ๊ะ (หัวเราะ) นึกออกมะ มันจะมีความแคบของทัศนคติอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลว่า ทำไมอย่าง "เสือร้องไห้" (สันติ แต้พานิช) ไปฉายที่โน่นแล้วคนชอบ หรือ "เด็กโต๋" ไปฉายปูซานแล้วคนชอบ
- ซึ่งเราไม่ได้ว่าหนังมันต้องโกอินเตอร์ มันอยู่ที่ว่ามันจะได้รับการตอบรับจากตรงไหนมากกว่า คือถ้าเด็กดูทั่วประเทศไทยแล้วชอบมัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเมืองนอกจะไม่ชอบ คือมันแล้วแต่ว่า ใครจะสามารถหาไอ้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับหนังได้มากกว่ากัน แต่ว่าไอ้เรื่องนี้เราก็ไม่ได้ทำให้มันยากมาก (หัวเราะ) ก็ทำให้มันดูเข้าใจได้ระดับหนึ่ง
เออ เด็กดูมันจะก้ำกึ่งไง เด็กมัธยมแม่งกูดูผี ดูตลก ให้มันได้อารมณ์ชัดไปเลยดีกว่า
- อ๋อ จะบอกว่าสารคดีไม่มีอารมณ์ (หัวเราะ) สารคดีมันอินดี้หน่อยป่ะ
เออ คนอย่างจะดู เด็กโต๋ เสือร้องไห้ มันก็กลุ่มหนึ่งเอง ทั้งที่อย่าง เด็กโต๋ มันเป็นหนังสารคดีโคตรดี ถ้าคุณเข้าไปดูแม่งชีวิตไม่ได้ลำบากชิบหาย แต่มันโคตรรู้สึกดีกับเค้า สดใสชิบหาย คนไม่มาดูมันกลัวอะไร คนอาจจะกลัวสารคดีไง แล้วคิดว่าคนจะกลัวหนังพี่ไหม
- ก็เป็นไปได้
ต้องตัดคำว่าสารคดีออกไปไหม แล้วอย่างสารคดี Amazing Thailand ที่ทำมันเกี่ยวกับอะไร
- ก็เกี่ยวกับโสเภณีผู้หญิง (หัวเราะ) ไม่ได้ลงลึกในตัวละครใด แค่เป็นเหมือนภาพสเก็ตช์ของประเทศไทยตอนนั้น โน่นนิดนี่หน่อย เอามารวมกัน ก็เป็น 3 ตอน ตอนกรุงเทพฯ ตอนอยุธยา ตอนพัทยา
เป็นผู้หญิงทำสารคดีต้องทำแต่เรื่องแบบนี้ป่ะ
- โหน้อง เราอยู่ในยุคที่มีความหลากหลาย ใครอยากทำอะไรก็ทำไปเถอะ (หัวเราะ) ถ้าคิดว่ามันดีก็ทำไปเถอะ มันไม่สามารถหาคำนิยามเดียวได้ต่อไปแล้ว หรือแม้กระทั่งเราเอง วันนี้เราทำอย่างนี้แล้ว พรุ่งนี้เราอาจจะทำอย่างอื่นก็ได้ที่มันต่างไป ซึ่งมันก็เป็นแค่วันนี้ เราทำตรงนี้อันนี้เท่านั้นเอง มันก็เลยออกมาเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเกิดพรุ่งนี้เราไปสะดุดอะไร (หัวเราะ) เราก็อาจจะคิดอะไรออกอีกอย่าง ทำอีกแบบหนึ่งไป มันไม่เกี่ยวว่าคนทำอะไรแล้วก็ต้องทำเหมือนเดิม
อย่าง "เด็กโต๋" พอทำแล้วมันก็ติดต่อเนื่อง คือเค้าก็มีเรื่องให้ความช่วยเหลือ มูลนิธิอะไรต่อไป
- อ๋อ ไม่เหมือนกัน อันนั้นมันมีจุดประสงค์ในการหาทุนเพื่อไปช่วยเด็ก ดังนั้นไอ้ภาระรับผิดชอบมันต่อเนื่อง คือถึงแม้พี่นกเค้าจะไปทำอย่างอื่น เค้าก็ต้องกลับมาช่วยตรงนี้อยู่ดี ไอ้ตรงนี้ก็ส่วนตัวมากกว่า มันไม่ใช่แค่ว่าเราทำหนัง แต่มันกลายเป็นชีวิตของเค้าไปแล้วไง ซึ่งตรงนี้เราว่าเรานับถือนะ มันไปเกินกว่า
หน้าที่คนทำหนัง
- ใช่ มันปกติกับคนทำสารคดีน่ะ คือมันอินกับ Subject ที่ว่าทุกอย่างมันเป็นความจริงน่ะ คือถ้าเราเข้าไปดีลกับเด็กซึ่งเป็นคาแร็คเตอร์เด็กจริง ๆ ไม่ใช่เด็กที่ถูกปั้นให้แสดงเป็นเด็กคนนั้นในจินตนาการของคนเขียนบท อย่างเราถ่ายหนังเด็กทำการบ้านไม่ได้ เราก็ช่วยนะ (หัวเราะ) ทำการบ้าน คือแบบพี่ผมไม่ไหวแล้วจะตกวิชานี้แล้ว ช่วยผมทำการบ้านหน่อย (หัวเราะ) ก็นี่ช่วยทำการบ้านถึงตี 2 ตี 3 ซึ่งมันมีไอ้ตรงนี้เป็นเสน่ห์ของสารคดี เพราะว่าทุกอย่างไม่ได้ถูกเซ็ท มันคือความจริง ไอ้ความจริงมันมีทั้งหลังกล้อง หน้ากล้อง ซึ่งตรงนี้มันเล่นพลิกไปพลิกมาแล้วมันสนุก เด็กอกหัก พี่ผมทำไงดี (หัวเราะ) ผมอยากฆ่าตัวตายมาก ซึ่งจะมีเรื่องแบบนี้ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ของคนทำกับ Subject ของเราจริง ๆ
เด็กเดินเป็นร้อย เป็นพัน ไปเลือกมันยังไง ไปสะดุดอะไรมัน หน้าตามันเหรอ
- ก็ไปนั่งคุยกับมัน
คุยทุกคน
- ก็ไม่ ก็เลือกดู เล็ง
เล็งจากอะไร ท่าเดินมัน
- (หัวเราะ)
คือไอ้คิดไว้ตอนที่จะเลือกเด็ก มันคือเด็กยังไงที่วาดไว้
- มันเริ่มจากว่า ไม่ได้คิดว่าเลือกเด็กแบบไหนชัดเจนมาก ก็แค่ว่าประมาณว่า หนึ่ง ไม่ใช่เด็กเพอร์เฟ็คต์ ไม่ใช่เด็กที่ว่าแม่งเรียนก็เก่ง ไอ้โน่นก็ดี ไอ้นี่ก็เป็นเลิศ คือเราไม่ได้สนใจไอ้ความสมบูรณ์แบบตรงนี้ คือเราก็อยากได้เด็กธรรมดานี่แหละ ที่สอบตกบ้าง เล่นบ้าง เรียนบ้าง แล้วเราก็กระจายทีมไป เจอเด็กสัก 7- 8 คนได้ แล้วก็ใช้เวลาอยู่กับเด็กคนละวัน เพื่อที่จะเก็บฟุต แล้วเอาฟุตมาตัดต่อเป็นเหมือนกับเทปแคสติ้งคร่าว ๆ แล้วเราก็ดูผ่านเทปไอ้เด็กคนนี้ ดูว่ามันน่าสนใจอะไรไหม มันสามารถมาเป็นตัวในหนัง แล้วเราสามารถดูมันได้ชั่วโมงครึ่งหรือเปล่า
- เด็กบางคนแม่ง 15 นาทีแรกแม่งโคตรน่าสนใจเลยว่ะ (หัวเราะ) ผ่านไปอีก 10 นาทีรู้สึกว่าไม่ไหวล่ะ (หัวเราะ) รู้สึกว่าเคมีข้างในหมดแล้ว เค้ามีให้เราได้แค่นั้น ซึ่งไอ้ Process นี้ เราก็ต้องลงไปถ่ายจริง ๆ เลย เพื่อที่จะดูว่าไอ้เด็กที่เราจะเลือกนี่มันสามารถตรึงเราไว้ได้ในระยะเวลานานไหม คือเราต้องเลือกเด็กที่เราสามารถถ่ายทำ 1 ปี ถ้าเราเลือกผิด (หัวเราะ) สมมุติถ่ายไป 5 เดือน อ้าว ชิบหาย (หัวเราะ) ไม่มีอะไรแล้วว่ะ (หัวเราะ) ไอ้เหี้ยทำไงดี ก็จบกัน ก็ขั้นตอนนั้นก็ต้องละเอียดนิดนึงว่าคือใคร ท้ายสุดเราก็มาได้ไอ้เด็กผู้ชายคนหนึ่ง
ชื่อไร
- ไอ้เปอร์
ไฮเปอร์
- จริง ๆ แม่มันบอกว่ามาจากเปอร์เฟค (หัวเราะ )มันตรงข้ามกับเปอร์เฟคทุกอย่าง มันเป็นเด็กคนแรกที่เราเจอ ก็ตามไปโรงเรียน ไปเจอเพื่อนมัน แล้วหลังจากนั้นเพื่อนมันก็เป็นตัวละครของเราด้วยอีก 2-3 คน (หัวเราะ)
แล้วอะไรของมันที่แบบว่าตรึงเราว่ะ กูดูมึงจบแน่ ๆ ชั่วโมงครึ่ง กูตามมึงได้แน่ ๆ 1 ปีกว่า
- มันมีอะไรในตัวเยอะไง มันมีความรั่วเยอะ ความรั่วของเด็กวัยรุ่น ซึ่งเราว่าตรงนั้นมันเป็นเสน่ห์ไง มันทำให้เรานึกถึงสมัยเราอกหักตอน ม.6 มันทำให้เรานึกถึงความสับสนในการตั้งคำถาม การที่ไม่สามารถดีลกับชีวิตอะไรบางอย่างได้ ซึ่งตรงนั้นมันเป็นเสน่ห์ทั้งหมดของความเป็นวัยรุ่นโว้ย ซึ่งไอ้คนนี้มันมีครบเกือบทุกมุม เพียงแต่ว่ามันจะกวนตีนเท่านั้นเอง (หัวเราะ)
ตอนดูหนังกับตอนมาทำหนังคิดเหมือนกันไหม
- เราดูหนังหลากหลาย เราทั้งดูทั้งทำอยู่แล้ว คือถ้าไม่ได้ทำหนังใหญ่ เราก็ทำพวกงาน VDO ซึ่งก็ดูไปทำไป เพียงแต่ว่าไอ้นี่มันเป็นโปรเจ็คต์แรกที่สเกลมันใหญ่นิดนึง
พี่เก้งสอนอะไรบ้าง
- (หัวเราะ) ไม่ได้สอนอะไรนะ บอกว่าโชคดี ขอให้โชคดี (หัวเราะ)
ขยายคำว่าโชคดีหน่อยดิ
- ก็ไม่รู้ ก็ไม่มีใครสอนอะไร เพราะว่าใน GTH ก็ไม่เคยมีใครเคยทำสารคดี เพราะว่าเค้าไม่รู้ มันเป็นสัตว์อีกตระกูลหนึ่งไง คือเราน่ะทำอยู่แล้ว รู้ว่ามันจะประมาณไหน คือถ้าถามว่าใน GTH บอกว่าสารคดีต้องทำยังไง คือมันก็มี แต่มันก็เป็น Feedback หลังจากได้ดูแล้ว เฮ้ย มันน่าจะเป็นอย่างนี้นะ แต่ช่วงแรกมันก็ยังงง ๆ ไม่มีใครรู้ว่าหน้าตามันจะเป็นยังไง คือท้ายสุด เราก็รู้แค่ว่าเด็กพวกนี้มันต้อง Entrance แต่ระหว่างทางจะคืออะไร หลังจาก Entrance เสร็จคืออะไร ก็ไม่รู้
ตอนทำคิดว่าจะจบลงตรงไหน
- สอบเสร็จ ประกาศผล แล้วก็ ณ ปัจจุบันของแต่ละคนว่าใครเป็นยังไงบ้างแล้ว คือเราอยากจะให้เป็นปลายเปิดมากกว่าไง คือไม่อยากจบแบบว่าและในที่สุดพวกเขาก็เอ็นท์ติด เย้ (หัวเราะ) คืออันนั้นเราไม่ชอบ เพราะว่าหนังจะเหมือนบอกว่า ถ้าคุณเอ็นท์ติดแล้วคือดี ถ้าคุณสอบไม่ติดแล้วไม่ดี แต่ว่าเผอิญในหนัง ไอ้ตัวละครพวกนี้ อุ๊ย บอกไม่ได้ (หัวเราะ)
สารคดีเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
- เราไม่ชอบอะไรแบบนั้นเลยน่ะ
คนดูจะรู้สึกไหม
- ถ้าคนดูจะรู้สึก มันจะรู้สึกโดยชีวิตของเด็กเอง มันอาจจะรู้สึกผ่านวิธีการเล่าด้วยล่ะ แต่ว่าไม่อยากจบแบบเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า (หัวเราะ) ถ้าไม่ขยันแล้วจะเอ็นท์ไม่ติด (หัวเราะ) ไม่เอาแบบนั้น ไม่ชอบ เพราะที่จริงแล้ว มันไม่ใช่ความจริงไง มันไม่ใช่แค่ว่าคุณสอบไม่ติดแล้วชีวิตคุณจะสูญสลาย เพราะมันก็เป็นแค่ปีหนึ่ง เป็นแค่ช่วงชีวิตหนึ่งที่มันต้องเข้าไปสู่สนามรบ Entrance
ก็เดี๋ยวอีก 4 ปี ก็ไปถ่ายตอนมันเรียนจบ เริ่มหางานอีกสเต็ป
- เออ จริง ๆ เราว่าสารคดีมันเป็นเรื่องของเวลาจริง ๆ ว่ะ ก็ยังคุยอยูว่าเดี๋ยวอีก 10 ปี ทีมงานเราเดี๋ยวมาเจอกันใหม่ (หัวเราะ) แต่ไม่รู้จะมีใครมาเจอกับเราอีกหรือเปล่านะ คือมันก็เป็นแค่บันทึกของช่วงเวลาหนึ่ง มันผ่านไปอีก 10 ปี ไอ้เด็กพวกนั้นมันอาจจะโตไปเป็นอะไรก็ไม่รู้ไง ซึ่งมันก็อาจจะไอ้เรื่องอีกเรื่องหนึ่ง
เราว่า 4 ปี กำลังดี
- อีก 4 ปี น้องก็ไปถ่ายเอง (หัวเราะ) พี่ไม่ไหวหรอก แต่ว่ามันก็ไม่ได้พูดแต่เรื่องไอ้พวกนี้ มันก็มีเรื่องการศึกษา ครอบครัว ทัศนคติของคนทั่วไปกับ Entrance ทำไมมึงต้องให้ลูกมึง Entrance ด้วยวะ ถามว่าแล้วในโรงเรียนที่เราเรียนเค้าสอนอะไร เรามีความรู้กันจริงเปล่า
มีเรื่องกวดวิชาไหม
- มี แต่ว่าไม่ได้เอาขึ้นมาเป็นประเด็น ก็คือแค่ให้เห็นภาพ แต่ถ้าทำให้เป็นประเด็นมันยาก เพราะมันเยอะไง คือถ้าเกิดมาเจาะลงไปจะพูดถึงเรื่องนี้อย่างเดียวมันจะเยอะ ก็เลยว่าเป็นแค่แบบผ่าน ๆ ฉายให้เห็นเป็นหลาย ๆ มุม แล้วท้ายสุดคนจะคิดยังไงก็แล้วแต่เค้า
ได้เรียนหนังกับพี่เก้งป่ะ
- ไม่ได้เรียน ก็บอกแล้วไง ไม่ใช่หนึ่งในผู้กำกับแฟนฉัน (หัวเราะ) นี่ เพิ่งดูหนังตุรกีในเทศกาลหนังกรุงเทพฯ ไอ้ผู้กำกับคือเราติดตามเป็นแฟนเหนียวแน่นชื่อ นูริ บูเก้ เซรัน เรื่องที่เอามาฉายล่าสุดชื่อ Climate ดีโคตร ดูแล้วขนลุก
ขนลุก 3 นาทีป่ะ
- ไม่ ขนลุกตลอดทั้งเรื่อง (หัวเราะ) กลับมาถึงบ้านแล้วยังรู้สึกขนลุกอยู่ หนังเกี่ยวกับผู้ชายกับผู้หญิงที่เลิกกันแล้วก็จะกลับมาคืนดีกันใหม่ แต่ก็ค้นพบว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าวิธีการที่เค้านำเสนอมัน โอ้โห ชั้นเชิงสุดยอดมาก แล้วมันใช้บรรยากาศของฤดูกาลเข้ามา คือแบบแนะนำน้องไปดู สุดยอดมาก ไม่เคยดูหนังอย่างนี้มานานมากแล้ว เป็นหนังที่ดูแล้วหัวไม่แวบไปคิดอย่างอื่นเลย คือปกติถ้าเราดูหนังแล้วเรารู้ทัน โห แม่ง หนังบิ๊วกูอย่างนี้ ไอ้นั่นอย่างนี้ เรื่องนี้ดูแบบ (หัวเราะ) ชั่วโมงครึ่ง กลับไปบ้านอีกวันหนึ่งยังรู้สึกว่า เฮ้ย ต้องกลับไปดูใหม่ เราต้องกลับไปดูอีกรอบ คนดูเยอะมาก แล้วก็ได้รับเสียงปรบมือ
พูดถึงหนังไทยดีกว่า
- ก็มีคนทำหนังดี ๆ เยอะนะ พี่เจ้ยดี น่าสนใจมาก ตอนนี้เรารู้สึกว่ามันมีคนรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมาเยอะ แล้วทีนี้ไอ้วิธีการทำหรือสไตล์ความน่าสนใจ มันมีหลายแบบมากขึ้น อยากคุณชอบดูแบบ "แฟนฉัน" คุณก็ดูได้ คุณชอบดูแบบทดลองหน่อย คุณก็ดูได้ คุณชอบดูแบบเหงา ๆ
มันก็เจ๊ง
- โอ๊ย มันไม่เจ๊งหรอก ยังไงหนังมันก็ต้องทำออกมา (หัวเราะ)
แคร์คนดูไหม
- ก็แคร์นะ
อยากให้คนแห่กันมาดูเยอะ ๆ ไหม
- อยากให้คนมาดูเยอะ แต่ว่าไม่ได้รู้สึกว่าต้องการให้เค้าชอบมันมาก ให้เค้ารักมันมาก เพราะถ้าเกิดคุณทำอย่างนั้น คุณก็อาจจะเสียจุดยืนของตัวเองไปเหมือนกัน
จุดยืนของตัวเองคืออะไร
- คือเราหมายความว่า บางทีคุณทำหนังแล้วพยายามจะคิดว่า นี่ คนดูต้องชอบแบบนี้ เราก็เลยใส่แบบนี้ คือไอ้ตรงนี้เราว่ามันน่ากลัวไง เพราะมันทำให้รู้สึกว่า อ้าว แล้วสิ่งคุณต้องการจะบอกล่ะ มันคืออะไร คือคุณแค่ต้องการจะให้คนดูดูแล้วบันเทิงเหรอ ไอ้ความบันเทิงมันก็จำเป็น แต่ว่ามันก็ยังต้องมีเส้นอะไรของคนทำน่ะ ที่คุณต้องการจะพูด คือถ้าเมื่อไหร่คุณต้องการจะทำงาน แล้วคุณคิดถึงแต่ว่า ถ้าใส่ช็อตนี้เข้าไปแล้วคนแม่งชอบแน่นอน ตรงนี้มันอาจจะเป็นคำถาม หนังทุกเรื่องมันก็ Complete ตรงที่มีคนดูนั่นแหละ ถ้าคนดู ดูแล้วชอบก็โอเค ถ้าคนดู ดูแล้วไม่ชอบ ก็โอเค (หัวเราะ) คือมันก็แล้วแต่รสนิยม เป็นเรื่องรสนิยมของอะไรหลาย ๆ อย่าง
หนังสั้น
- อย่างรุ่นเรา เราก็ชอบของเพื่อนเราชื่อ ซันเต้ "คงกระพันชาติไทย"
จริงป่ะ พูดไปแล้วรอบหนึ่ง
- เออ เราอยากดูของธัญสก (ทัน-สะ-กะ) อยากดูแต่ก็ยังไม่ได้ดู
อ๋อ เกิร์ลลี่ เบอร์รี่
- เออ มันมีเกิร์ลลี่ เบอร์รี่ กับ แฮปปี้ เบอร์รี่
เอ๊ะเดี๋ยว เกิร์ลลี่ เบอร์รี่ มันชื่อวงนี่หว่า
- เออ (หัวเราะ) ใช่ แฮปปี้ เบอร์รี่ ไปกันใหญ่ คนทำก็เอ๊ะ ยังไง (หัวเราะ)
คนดูหนังพี่จะได้อะไร
- ได้ความสนุก (หัวเราะ) สนุกดีมีสาระอ่ะ เราโฆษณาหนังไม่เป็น น้องอย่าให้เราโฆษณาเลย (หัวเราะ) โอ๊ย มันยังไม่ไฟนอล พูดยาก
ใช้เงินเค้าไปเยอะป่าว
- ไม่เยอะ ขี้ปะติ๋ว
เค้าให้ทำเรื่องที่ 2 หรือยัง หรือรอดูเรื่องแรกว่าเจ๊งหรือเปล่า
- ใช่ ถ้าเจ๊งก็พับเสื่อกลับบ้าน (หัวเราะ) คือหนังเรามันเงียบมากไง คนก็นึกไม่ออกว่ามันคืออะไร เพราะมันยังไม่เคยโฆษณาอะไรให้เค้าเข้ามาดูหน้าตามันประมาณนี้นะ
ชื่อไทยว่าอะไร
- ยังไม่มี มีแต่ Final Score ชื่อไทยยังไม่คอนเฟิร์ม มี "เอ็นท์ไม่หมูติดมัน" เข้าใจไหมน้องว่ามันคืออะไร พี่ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน (หัวเราะ)
ทำไมเราต้องไปดูเรื่องนี้ เพราะบ้านเราไม่มีสารคดีดูเหรอ เราเลยต้องไปดูเรื่องนี้
- ทำไมต้องไปดูเรื่องนี้เหรอ (หัวเราะ) นี่เราเป็นคนขายของที่แย่มากเลยะ (หัวเราะ) เราขายของไม่เป็น
พี่ยังไม่เจองานแถลงข่าวสิ เจอนะนักข่าวเค้าจะถามว่าฝากอะไรให้คนดู จะตอบเค้าไปว่าไงล่ะ
- (หัวเราะ) ก็อยากให้มาดูเรื่องนี้เป็นหนังดีมีคุณภาพ
แล้วเค้าก็จะถามว่ามีแรงบันดาลใจอะไรในหนัง
- เอ่อ เผอิญคิดถึงสมัยตัวเอง Entrance แล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นความทรงจำที่ดี (หัวเราะ) เลยเอามาบันทึกบนแผ่นฟิล์มค่ะ (หัวเราะ) เราไม่อยากตอบแบบนี้ไง
ก็ให้พี่เก้งช่วยตอบ
- ใช่ น้องชอบพี่เก้งอยู่หรือเปล่า
ใช่ ชอบ (หน้าแดงระเรื่อ)
- เห็นอยู่ในเว็บน่ะ (หัวเราะ) ตอนแรกยังคิดอยู่ว่าน้องเค้ามาสัมภาษณ์ผู้หญิงน่ะ เค้าจะชอบชั้นไหม ชั้นเป็นผู้หญิง (หัวเราะ) ทำไมเหรอน้องชอบผู้กำกับเหรอ อยากมีแฟนเป็นผู้กำกับเหรอคะ เดี๋ยวพี่ช่วยหาให้
ไม่เป็นไรพี่ เดี๋ยวหาเอง
- ชอบใครที่สุดคะ
ชอบพี่ย้ง (หน้าแดงระเรื่อเป็น 2 เท่า)
- ทำไมล่ะ
ไม่รู้ เราชอบ "ด.เด็ก ช.ช้าง" ไง ได้ดูหลายปีที่แล้ว รู้สึกเลยว่า คนทำหนังเรื่องนี้เราอยากเจอจังเลยว่ะ แล้ววันหนึ่งเค้าทำ "แฟนฉัน" อ๋อ อ้อ คนนี้นี่เอง สุขมากอนันต์ เออ จำได้ ๆ
- (หัวเราะ) นี่สาวกพี่ย้ง
เออ พี่ย้งจะซวยไง ขนาดหนังออกไปนานแล้ว นี่ยังเพียรพยายามหาเรื่องสัมภาษณ์เค้าอยู่ คือหนูชอบพี่ หนูอยากรู้เอง ไม่ได้เกี่ยวกับเว็บอยากรู้หรอก
- (หัวเราะ)
คือเราชอบคุยกับคนทำหนังไง ในฐานะคนดูอ่ะ บางทีมันทำหนังเหี้ย ๆ ออกมามูลค่าเสียเงินบาทเท่ากัน บางทีหนังฮอลลีวู้ดในโรงแย่ ๆ ในราคาเท่ากัน เราก็ไม่จำเป็นต้องดูมันทุกเรื่อง หนังไทยดี ๆ มันก็มี คนทำมันต้องรับผิดชอบไง พี่ไม่ต้องขนาดขุดตัวตนมาคุยกับหนูหมดนะ ฟังวิธีคิดเค้า เราคิดว่าคนที่คิดอะไรดี ๆ ได้ หนังเค้าก็น่าจะมีอะไรดี ๆ ได้ แต่ก็โดนผู้กำกับหลอกมาหลายคนแล้ว
- คือเราว่าคนทำมันต้องใช้ตัวงานเป็นตัวตัดสิน อย่างเราพูด เราก็ไม่รู้จะพูดยังไง น้องอาจจะชอบหรือไม่ชอบไง เออ ถ้างานมันดีมันก็คือดีไง แต่ว่าเราว่ามันไม่น่าเกี่ยว เพราะผู้กำกับพูดผ่านหนังไปหมดแล้ว ไม่ใช่นั่งพูดอีกทีหนึ่ง แล้วหนังเป็นอะไรที่แยกกันคือดูหนังก่อนแล้วมานั่งคุยกัน บางทีมันพูดยากเพราะเรื่องนี้ไม่มีพล็อต เราไม่มีพล็อต ไม่ได้คิดจากพล็อต มันเป็นความรู้สึกแล้วก็เป็นสด ใน ณ ขณะวินาทีที่เราออกไปถ่ายทำ ซึ่งเราก็ไม่รู้จะโฆษณาว่ายังไง
ก็นี่ไงจะเอาไปโฆษณา คือเราสงสารคนดู หนังไทยบางทีแม่งหลอกตีหัวกัน บางคนทำหนังออกมานี่ แม่งมึงลุกมาต่อยกันเลยดีกว่าว่ะ
- คือเราพยายามจะไม่คิดว่าเราทำอะไรแล้วมันจะถูกใจคนดู เพราะว่าค้นพบว่าถ้าคิดแบบนั้นกลายเป็นว่าเราดูถูกคนดู เออ เค้าไม่ได้อยากดูอะไรที่มันใหม่ มีสาระ คนดูทั่วไปเค้าก็ต้องการอะไรที่มันบันเทิงอย่างเดียว ซึ่งบันเทิงอย่างเดียวอาจจะเป็นหนังที่ตลกโปกฮา คุณดูปุ๊บก็ผ่านไป เรารู้สึกว่ามันย้อนกลับมาที่คนทำหมดเลยว่า คุณน่ะเคารพคนดูแค่ไหน คุณน่ะทำหนังคุณภาพแค่ไหนออกมา พอท้ายสุดมันเป็นส่วนผสม 2 อย่างระหว่างคนทำกับคนดู
เราให้เค้าแล้วเค้ารับ
- ใช่ เพราะการทำหนังมันก็ Give and Take ใช่ม้า อย่างเรา เวลาเราทำ เราก็ให้หนังเรา หนังมันก็ให้อะไรเรากลับมา หนังให้คนดู คนดูก็ให้อะไรกลับมา มันก็เป็นส่วนผสม 2 อย่าง คือฉายหนังออกไปคนดูชอบ ได้ Feedback กลับมาก็เป็นกำลังใจ ได้ทำหนังอย่างนี้ต่อไป ถ้าเกิดเค้าไม่ชอบ เค้าก็ให้อะไรเรากลับมาอยู่ดี (หัวเราะ) เออ ก็ตรงนี้รู้สึกไม่ดีอย่างนี้ เราก็ได้เรียนรู้ ซึ่งทุกอย่างในโลกมันก็เป็น Give and Take น่ะ เป็นแค่ส่งถ่ายพลังงานระหว่างของ
แล้วคนกลุ่มใหญ่ ๆ เค้าจะเข้ามา Give and Take กับเราไหม
- เราไม่รู้ว่าเขาจะดูหรือเปล่า แต่ถ้ามันเกิดมีคนกลุ่มหนึ่งเกิดชอบมัน แล้วมันกลายเป็นหนังที่ทุกคนอยากดูขึ้นมา ก็ถือว่าโชคดีที่คนส่วนใหญ่จะมาดู แต่เราบอกได้อย่างคือถ้าคุณจะมาดู เราบอกได้ว่าหนังเราไม่แย่
หนังแย่คืออะไร
- หนังแย่คือหนังที่ดูแล้วบอกว่าผู้กำกับมึงอย่าทำต่อ (หัวเราะ) หรือกลับมาบ้านแล้วรู้สึก ไอ้เหี้ย กูไม่น่าเสียตังค์ ไปดูเลย คือคุณจ่ายเงินหนึ่งร้อยบาทสำหรับหนังเรื่องนี้ เราว่าก็คุ้มนะ แต่ก็บอกว่าเราขายของไม่เป็น (หัวเราะ)
เออ ยืนอยู่หน้าโรง บอกเหตุผลมาซิว่าทำไมต้องดู Final Score
- (เงียบ)
อ่ะ ข้อเดียวก็ได้ถ้าพี่คิดลำบาก
- อ่ะ หนึ่ง เป็นภาพยนตร์สารคดีที่ไม่มีบทเรื่องแรก ๆ
โอ๊ย ชั้น "เสือร้องไห้" ดูมาแล้ว
- เออ เรื่องที่สอง (หัวเราะ) ให้ "เสือร้องไห้" เค้าเป็นเรื่องแรก
"เสือร้องไห้" เค้าบัญญัติศัพท์ว่า เรียลลิตี้ ฟิล์ม พี่มีศัพท์อะไรเรียกจุดขายตัวเองไหม
- น่าจะเป็นสารคดีไม่มีบท
เสือร้องไห้นี่ก็ไม่มี
- แต่เราไม่อยากเรียกเรียลลิตี้ ฟิล์ม เพราะว่าเราไม่แน่ใจคำว่าเรียลลิตี้ ฟิล์ม แปลว่าอะไร มันเหมือนคุณดู Big Brother
ต่อให้ Big Brother การแสดงออกมันก็ไม่ใช่เรียลลิตี้ ว่ะ
- ใช่ มันก็เป็นปัญหาว่ะ เราก็ไม่รู้ว่ะ (หัวเราะ) ว่าจะโปรโมทว่าอะไร อ่ะ ข้อสอง
แล้วข้อหนึ่งน่ะอะไร
- เป็นสารคดีเรื่องที่ 2
แต่เป็นเรื่องแรกของ GTH
- เออ เป็นสารคดีเรื่องที่ 2 แต่เป็นเรื่องแรกของ GTH ส่วนข้อที่สองคุณจะได้รับ (หัวเราะ) ความบันเทิง สนุกสนาน และสาระ (หัวเราะ) ขายไหมวะนี่ ก็ไปดูเหอะ ขอร้อง (หัวเราะ) คือบางทีเด็กเค้าอาจจะเข้าใจผิดว่า เข้าไปดูเพราะจะทำยังไงให้สอบได้ (หัวเราะ) แต่จริง ๆ แล้วหนังไม่ได้บอกอะไรเลย (หัวเราะ) เด็กอาจจะคิดว่า ตายห่า เดี๋ยวกูจะไปดูเรื่องนี้ก่อนสอบ (หัวเราะ) จะสอบยังไงให้ได้คะแนนเยอะ ปรากฏว่าดูออกมา หนังแม่งห่วยฉิบหาย ไม่เห็นบอกว่าทำไงถึงเอ็นท์ติด อ่ะมีจริงนะน้อง พวกเด็กแบบนี้ พวกเด็กห้องคิง ที่แบบอิน ๆ หน่อย (หัวเราะ) ถามว่าน้องอยากดูอะไรจากหนังเรื่องนี้ บอกว่าอยากดูเพราะอยากรู้ว่าเด็กคนอื่นมีวิธีการในการอ่านหนังสือยังไงตอนสอบ (หัวเราะ) แล้วกูจะบอกมึงในหนังไหมนี่ เด็กบางคนก็อยากดูสนุก เพื่อน
รุ่นเดียวกัน
- ใช่ รุ่นเดียวกันว่าเป็นยังไง คิดยังไง เพราะมันสดมากนะน้อง คือมันเพิ่งปีที่แล้วไง เริ่มถ่ายพฤษภา ปีที่แล้ว ปิดกล้อง มิถุนา ปีนี้
ทำไมคิดปิดกล้อง
- เพราะเหนื่อย (หัวเราะ) แต่นี่เดี๋ยวก็ต้องมีถ่ายเพิ่มนิดหนึ่งให้มันสมบูรณ์ แล้วเดี๋ยวเด็กมา พ่อแม่เด็กมาดู เราก็จะถ่ายเก็บไว้
แล้วจะไปฉายในมหา'ลัยหรือในมัธยมก่อน
- ทั้งสอง สมัยนี้เด็กเข้า ม.1 มันก็คิด Admission แล้ว
ไม่ พ่อแม่เค้าคิด Admission ไว้ตั้งแต่ท้องแล้ว
- (หัวเราะ) ก่อนหน้านั้นอีก น่ากลัวมาก
เด็กกับมหา'ลัยน่ากลัวไหม
- หมายความว่า
เค้าฝากชีวิตไว้กับมหา'ลัย
- ก็แล้วแต่เด็ก เด็กบางคนก็รู้สึกตัวว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ของชีวิต เด็กบางคนก็เป็นเด็กตามระบบ ถ้าเกิดไม่ได้อันนี้ ทุกอย่างพังทลายสลาย แล้วแต่เด็ก แล้วแต่พ่อแม่ พ่อแม่ว่าไง เด็กก็ว่าตาม คือไอ้ที่เครียดน่ะพ่อแม่ (หัวเราะ) ไม่ใช่เด็ก (หัวเราะ) เด็กมันก็เฮฮาไปตามประสา
นี่ตอนไปถ่ายพ่อแม่เค้าไม่ว่าเหรอ มีผู้หญิงมาอยู่ในบ้าน
- ไปอยู่บ้านเค้า ทำตัวเนียน ๆ กับบ้านเค้า ยังดีที่เราถ่ายเด็กผู้ชาย ถ้าเด็กผู้หญิงคงยากหน่อย (หัวเราะ)
ถ้าสมมติว่าหนังฉายไม่ว่าจะเจ๊งหรือไม่เจ๊ง แล้วเค้ามาถามว่าแอนมีโปรเจ็คต์อะไรป่าว นี่เอาตังค์มาให้ทำหนัง เอาตังค์มากองไม่อั้น อยากทำไร
- อยากทำหนังโป๊ (หัวเราะ) เราอยากทำหนังโป๊ผู้หญิงมากเลย อยากทำหนังเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์น่ะ
เซ็กซ์ผู้หญิงกับผู้หญิงป่ะ
- เราไม่ได้เฟมินิสต์ขนาดนั้น เรื่องเพศกับคนเมืองน่ะ เราก็นึกถึงตัวละครหลาย ๆ ตัวที่มันเกี่ยวโยงกัน มันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องเพศ แรงขับทางเพศทั้งหมด แต่ไม่รู้ว่าจะได้ฉายหรือเปล่า
หลังจากหนังเรื่องนี้ทำอะไร
- ก็ Develop เรื่องต่อไป
เรื่องที่บอกนี่เหรอ
- ก็มีหลายเรื่อง อยากทำเรื่องช้างด้วย แล้วก็เรื่องอีกเยอะแยะมากมายในหัว ไม่ได้ Develop เลย
นอกจากทำหนัง ทำอะไร
- สอนหนังสือ
สอนอะไร
- สถาปัตยกรรมและการออกแบบ ที่ School Of Art And Design สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นพาร์ทไทม์ อาทิตย์ละวัน
สอนเด็ก ป.ตรี
- ใช่ เออ แล้วแบบขำมากกลายเป็นว่า เด็กคนหนึ่งที่เราถ่ายมันก็มาเข้าคณะนี้ แล้วเราก็เป็นอาจารย์สอนมัน มันมีเด็กคนหนึ่งในห้องนั้นน่ะ แต่มันไม่ใช่ตัวละครหลัก โผล่มาไม่กี่ซีน แล้วมันก็อยากเรียนสถาปัตย์ฯ เราก็เลยแนะนำ แล้วมันสอบ เราก็มาสอนพอดี แล้วที่ขำมาคือว่า เด็กนักเรียน 250 คน มีอาจารย์ประมาณ 20 คน กลุ่มหนึ่งก็ 40 กว่าคน จับฉลาก แล้วไอ้นี่ก็ดันได้อยู่กลุ่มเรา (หัวเราะ) โอ้โห รู้หมดเลยว่ามึงอ่านหนังสือหรือเปล่า กินเหล้า เทอมนี้ได้ C+ โทร.มาบ่นใหญ่เลย (หัวเราะ) แล้วก็มีงาน VDO ในโปรเจ็คต์ Hit and Run ทำเป็นงาน VDO ฉายทางช่องเคเบิล เป็น Art Project เล็ก ๆ
หนังดีคืออะไร
- หนังดีคือหนังที่เราชอบ แล้วถ้าคนอื่นไม่ชอบมันเป็นหนังดีป่ะ
หนังดีคือหนังที่เราเข้าใจป่ะ
- บางทีเราก็ไม่เข้าใจแต่เราชอบ เราก็รู้ว่าเป็นหนังดี เราก็ไม่เข้าใจ บางทีดูไปแล้วอาทิตย์หนึ่ง ไอ้เหี้ย กูชอบนี่หว่า เพิ่งนึกออก หนังแบบนี้มันมาช้า ๆ แต่อยู่นาน แต่หนังบางเรื่องมาเร็ว ไปเร็ว
หนังดีทำให้คนทำมีเครดิตดี ๆ ติดชีวิตมัน
- คือทำหนังแต่ละเรื่องก็ขอว่า เวลากูตายไม่เสียดายชีวิต (หัวเราะ) แต่ก็เฉียดตายทุกเรื่อง นี่ เรามีเพื่อนญี่ปุ่น อยู่ ๆ มันก็ย้ายมาอยู่เมืองไทย มาทำงานปั้นหม้อ (หัวเราะ) ส่งไปญี่ปุ่น แล้วบอกว่าหลังจากนี้เป็นต้นไป ชั้นอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ก็ได้แล้ว เพราะว่าชั้นสามารถทำงานจากทุกที่บนโลกที่มีดินน่ะ แล้วส่งหม้อไป เรารู้สึกว่ามันเป็นไอเดียของคนรุ่นใหม่ สิ่งที่เราต้องการคืออย่างนี้
เรามีเพื่อนเป็นญี่ปุ่น
- (หัวเราะ) คือ เรามีแฟนเป็นญี่ปุ่น (หัวเราะ)
ไอ้คนปั้นหม้อป่ะ
- ไม่ใช่ ๆ (หัวเราะ)
ก็ว่าจะทำใจคบมันซักที
- ก็น่าลองนะน้อง เพราะอย่างประเทศญี่ปุ่นเวลามันทำอะไรเป็นส่วนรวม มันจะโคตรตั้งใจ อย่างเช่นทำงาน จะตั้งใจทำมาก เพราะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบ อย่างขับรถสปีดลิมิต 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็ไม่มีใครกล้าไปเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วมันกลายเป็นว่าน่ารักไง แล้วความที่ทุกคนเชื่อกฎ ทำตามกฎ แต่พอเอาเข้าจริง ๆ แล้วข้างในโคตรอิสระเลย คือมันต่างกัน ไอ้นี่อยากจะทำร้านบะหมี่ก็ไปเปิดร้านบะหมี่ แต่เป็นบะหมี่ที่ดีที่สุดที่จะทำได้ในชีวิตนี้ ไอ้นี่อยากเป็นศิลปินทำหม้อก็ไปเรียนทำหม้อ เพื่อที่ว่าจะทำหม้อที่ดีที่สุดในชีวิตของมัน ซึ่งมันจะมี Detail ของความแตกต่างของชีวิต
- แต่คนไทยแบบบอกให้ขับ 80 มันขับ 120 บอกตรงนี้ห้ามกินเหล้าอ่ะกูกิน มึงบอกตรงนี้อย่างนั้นกูก็ทำอีกอย่าง แต่พอเอาเข้าจริง ๆ พอมันเป็นเรื่องความแตกต่าง เป็นตัวของตัวเอง คนไทยพออยู่ในกลุ่ม พี่ว่าไงผมก็ว่างั้น ครูว่าไงหนูก็ว่างั้น พ่อว่าไงผมก็ว่างั้น พอเอาเข้าจริง ๆ ความแตกต่างในบ้านเราโคตรน้อยน่ะ แล้วไอ้คนที่จะแตกต่างขึ้นมาจริง ๆ คนทั่วไปรับได้ไหม เราต้องสร้างไง ไม่ใช่แค่หนัง การเมือง ทุกอย่างเลยนะ อย่างหนังที่มันแตกต่าง มันไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ก็เพราะเราไม่ได้สร้างความคิดของการยอมรับสิ่งที่มันแตกต่างไปจากเราได้ เราคิดได้แค่ว่า เมื่อวานทำอย่างนี้ประสบความสำเร็จ พรุ่งนี้กูก็ต้องทำอย่างนี้ เพื่อจะประสบความสำเร็จอีก เพราะคนไม่ได้รับข้อมูลที่แตกต่างออกไป บ้านเราคำว่าแตกต่างมันยังโดนจำกัด มันไม่เคยมีวิธีคิดว่าแตกต่างแล้วสร้างสรรค์เป็นยังไง เฮ้ย มึงแตกต่าง มึงอะไรวะ มึงทำเซอเหรอ เราว่าตรงนั้นต้องสร้าง
เพราะมีแฟนเป็นญี่ปุ่นเหรอ
- ไม่นะ (หัวเราะ) เออนี่ เมื่อวานไปฟังเล็คเชอร์เป็นสถาปนิกญี่ปุ่นมา แล้วมันก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยนะเว้ย แล้วมันก็ อาโน ไอ เม็ด ดีส โปรเจ๊ค ฟอร์ม (หัวเราะ) อย่างงี้ เราก็ไอ้เหี้ย แล้วมึงจะพูดอย่างนี้อีกชั่วโมงครึ่ง แล้วกูจะทำยังไงวะนี่ (หัวเราะ) ปรากฏว่าพอขึ้นภาพเป็นสไลด์งานมัน งานแม่งโคตรดีแน่ะ แต่คือตัวมันอะไรก็ไม่รู้ คนญี่ปุ่นจะเป็นแบบนี้คือแม่งข้างในมันนี่อะไรก็ไม่รู้ กูรู้ว่ามึงทำงานดี แต่ว่ามึงมีคาแร็คเตอร์อย่างหนึ่งที่ไม่สามารถจะสื่อสาร (หัวเราะ) กับใครได้ ซึ่งไอ้นี่ก็พูดอย่างนี้แม่งชั่วโมงครึ่งเว้ย คือมี 2 คนไง แล้วอีกคนภาษาอังกฤษไม่ได้ดีกว่ากันเลย มันก็พูดแค่ว่า หวัน ถู ถี (หัวเราะ) คือ กดสไลด์ หวัน ถู ถี ดี (หัวเราะ) คือไม่พูดเลยดีกว่า คืองานมันบอกหมดแล้ว แต่คือถ้าพูดแล้วคนพยายามจะฟัง แล้วก็ฟังไม่รู้เรื่องก็แบบเหี้ยอะไรของมึงวะ
- บ้านเรามันสอนว่าให้รวยไง คนที่มีตัวตนคือคนที่รวยเท่านั้น ถ้ามึงไม่รวยก็อย่าหวังใครจะให้โอกาสมึง คือถ้าไม่รวยก็อย่าหวัง ดังนั้นที่ญี่ปุ่นแบบหนังน่ะ มึงจะดูอะไร มีตั้งแต่อินดี้โคตรไปจนถึงหนัง Commercial สุด ๆ มันมีหมด เพราะว่าบ้านมันมีความแตกต่าง คือเค้าทำหนังออกมาอย่างน้อยต้องมีคนกลุ่มหนึ่งดูแน่ ๆ ซึ่งบ้านเรามันก็ต้องพัฒนา ซึ่งมันก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ถ้ามันดีได้กว่านี้มันก็จะดีมาก ไม่ว่าจะหนัง ดนตรี ศิลปะ งานเขียน โน่นนี่ มันต้องแตกต่างแล้วล่ะ ไม่งั้นคุณก็ย่ำอยู่ที่เก่า คุณไม่เคยเอาอะไรตีความใหม่เลย คุณก็คิดว่าไอ้ที่มีมาคือสิ่งที่ดี คือเมืองไทยมันมี Hidden Agenda เยอะไง คุณไม่มีวันรู้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง อะไรดี อะไรไม่ดี คุณแค่ถูกเค้าฝังหัวมาตั้งแต่เด็ก ว่าไอ้นี่ดี ไอ้นี่ดี แล้วคุณเคยคิดไหมวะว่า หรือว่ากูถูกโปรแกรมมาวะ (หัวเราะ)
ก็เพื่อนกูบอกว่าดี
- เออ พ่อกูก็บอกว่าดี แม่กูก็บอกว่าดี อย่างที่อังกฤษพอซัมเมอร์ปุ๊บก็แบกเป้ นักเรียนก็แบกเป้ คนทำงานก็แบกเป้ ใช้ชีวิตท่องเที่ยวไปโน่นไปนี่ ดูในสิ่งที่ไม่เคยดู ไปในที่ไม่เคยไป อันนั้นมันเป็นส่วนสำคัญของชีวิตมาก บางทีพอเรากลับมา เราเห็นเด็กบ้านเรา แล้วรู้สึก เฮ้อ (หัวเราะ) ทำยังไงวะจะทำให้เด็กมันรู้สึกว่า มันมีทางเลือกอื่นในชีวิต ไม่ใช่แค่ว่ามึงต้องเข้ามหา'ลัย มึงต้องเรียนได้เกรด 4 มึงต้องจบ คือมันต้องสร้างบรรยากาศอะไรก็ไม่รู้เหมือนกันที่ เฮ้ย มึงมีทางเลือกนะ คือถ้ามึงไม่ชอบระบบซีเนียร์ มึงก็ไม่จำเป็นต้องไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะ คือมันยังมีหลายคณะที่เป็นอย่างนั้นใช่มะ ดังนั้นนี่มันเลยสร้าง Group Mentality เป็นลักษณะความคิดของกลุ่ม คือถ้ากลุ่มว่าไงก็ว่ายังงั้น คืออันนี้มันไม่ดี กลายเป็นว่าเติบโตขึ้นมาเข้าระบบ
เบ้าหลอมเดียวกัน
- อันนี้น่ากลัวมาก เข้าไปถ่ายหนังไป ก็ไม่แปลกใจที่ทำไมเด็กถึงเป็นอย่างนั้น เพราะว่ามันโดนอย่างนั้น ซึ่งมันอาจจะโดนเหมือนสมัยก่อนที่เราก็เคยโดน ก็เราร้องไห้ตอนเราสอบ Entrance ติด ร้องไห้ว่าแม่งกูได้ว่ะ แล้วพอมานึกดู (หัวเราะ) ตอนนั้นทำไมกูร้องไห้วะ (หัวเราะ) กูร้องไห้เพราะคนบอกว่าคุณต้องได้ ถ้าคุณไม่ได้คุณไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งมันมีพื้นที่เล็ก ๆ ของความเป็นเด็กน่ะ ที่เค้าน่าจะบอกเราว่า เฮ้ย ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไรหรอก มันยังมีอะไรอีกตั้งเยอะแยะมากมาย แต่เราก็ต้องยอมรับว่ามีเด็กกลุ่มใหญ่จริง ๆ ที่ชีวิตแม่งแขวนไว้กับอะไรแบบนั้น ดูแล้วก็แย่
มันแขวนเพราะผู้ใหญ่หรือเด็กมันก็อยากเองด้วย
- เด็กมันก็อยากเองด้วย มันกลายเป็นทั้งระบบ ก็ไม่รู้ก็มันทำกันมาอย่างนี้ (หัวเราะ) อย่างเพื่อนเราต่างชาติเยอะแยะเลย ม.6 ไม่เรียนหรอก ไปเที่ยวปีหนึ่ง ทำอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่เรื่องเรียนน่ะ แล้วพอคิดออกกับตัวเองว่า ตัวเองจะเรียนอะไรค่อยว่ากัน ไม่จำเป็นว่าแกต้องจบปริญญาตรีตอนอายุ 21 แต่บ้านเรามันมีแพทเทิร์นชีวิตแบบนั้นไง ดูแล้วก็รู้สึกสงสารเด็กนะ แต่คือตอนที่มันเอ็นท์ติดเราก็ดีใจนะ (หัวเราะ) คือถ้าคุณชนะเกม คือคุณก็ควรจะดีใจ เพียงแต่ว่ามันก็ควรจะมีอะไรที่อยู่เหนือเกมอันนั้น นั่นคือโลกที่มันถูกขีดเอาไว้แล้ว
มันแปลก ๆ นะ
- จริง ๆ มันก็แปลก ๆ ทุกที่แหละ เพียงแต่ว่าพอเป็นเด็ก มันชัด เพราะเด็กมันถูกครอบงำได้ง่าย มันรู้สึกเยอะกว่าผู้ใหญ่ มันอยู่ในวัยที่มีความไร้เดียงสาบางอย่างที่มันก็ไม่รู้หรอกว่า ที่มันต้องสอบเพราะอะไร (หัวเราะ) คือมันก็สอบเพราะคนอื่นเค้าสอบกัน ถ้ามันโตขึ้นมันก็คงจะรู้แหละ (หัวเราะ) แต่พอเป็นหนังคนมันอิน เพราะก็คิดถึงตัวเองด้วยว่า ตอนนั้นกูก็แม่งอย่างนั้นอย่างนี้ มีประสบการณ์ร่วมเยอะ แต่คนที่ไม่เคยดูหนัง ถ้าเค้าจะชอบ เค้าน่าจะชอบไอ้ความเป็นเด็ก
ไม่ได้ใส่ปัญหาของสังคมที่มีวิธีคิดแบบนี้
- ก็ไม่ได้ใส่เยอะนะ เพราะเดี๋ยวมันจะกลายเป็นสารคดีทั่ว ๆ ไป ก็เลยจะใช้วิธีเล่าผ่านตัวละครมากกว่า
โฟกัสไปที่พ่อแม่เด็กหรือเปล่า
- ก็มี พ่อแม่เป็นส่วนใหญ่ส่วนหนึ่ง แต่เราทำเราจะอินมากกว่าไง (หัวเราะ) คือหนังน่ะอารมณ์แค่ครึ่งหนึ่งของของจริง ไม่รู้ว่ะ คือเวลาเราดูหนังเราจะไม่ได้คิดตามหนัง เราก็จะคิดตอนที่เราอยู่ ตอนที่เห็นอย่างนั้น เหตุการณ์นั้น ภาพนั้น
ตกลงไอ้ชั่วโมงครึ่งที่เอามาเรียงนี่มันคือ ที่เราโดนหรือเพียงเพื่อให้เนื้อเรื่องมันเป็นไป ตัดจากอะไร
- เป็นเรื่องเลย เป็นเส้นเรื่องเลย ก็มีหลาย ๆ คนบอกว่าสิ่งที่ได้จากหนังคือ อารมณ์ แต่ดูไม่ทัน เพราะบางทีไอ้นู่นนิดไอ้นี่หน่อย อุ๊ย ดูรอบสองถึงเก็ท แต่โดยอารมณ์ เส้นอารมณ์นี่ก็ได้เลย แต่ว่ามันอาจจะดูไม่ทัน เพราะเรื่องมันเยอะ แค่โอเน็ต เอเน็ต ก็อะไรไม่รู้ เหี้ยอะไรวะ (หัวเราะ) แต่ก็ไม่ได้อธิบายว่าคืออะไร
พี่แอนทำ Final Score กับตัวเองได้อะไรกลับมา
- ได้กลับไปหาไอ้อารมณ์ตอนนั้นน่ะ แต่ว่าเรารู้สึกสงสารเด็ก (หัวเราะ)
เด็กวันนี้เหรอ
- เด็กทั้งวันนี้ ทั้งพรุ่งนี้ เพราะมันก็คงไม่เปลี่ยนนะ แต่เราไม่ได้ทำสารคดี มึงต้องเปลี่ยนระบบ (หัวเราะ) ไม่ได้พยายามหาบทสรุปที่ตายตัว
รื้อระบบการศึกษา
- (หัวเราะ) เออ ไม่ได้ทำอะไรอย่างนั้น ทำเป็นเล็ก ๆ ทำความรู้สึกของมันเล็ก ๆ ซึ่งเราว่าทุกคนน่ะคิด เพียงแต่ว่า ไม่เคยมีใครเอามันมาขยายแล้วก็ดูมันจริง ๆ แล้วเด็กในเรื่องมันก็พีคมากด้วย (หัวเราะ) เด็กธรรมดาที่ดูแล้วไม่ธรรมดา แต่ทีมงานเราให้ใจมากเลยว่ะ ก็อยู่กันแบบไม่รู้จักกันมาก่อน แล้วต้องมานั่งทำหนังเรื่องนี้ด้วยกัน
ทีมงานมาจากไหน
- ก็เรารู้จัก พวกน้องบางคน น้องตากล้องก็เรียนนิเทศฯ เหมือนกัน แล้วคนอื่นก็เห็นหน้ากัน แต่บางคนก็ไม่เคยเห็นกันมาก่อน แล้วพอทำเรื่องนี้กลายเป็นว่าจบหนัง รักกันไปเลย (หัวเราะ) เพราะผ่านโน่นนี่ด้วยกัน (หัวเราะ)
ถ่ายที่ไหนเยอะ บ้านหรือโรงเรียน
- พอ ๆ กัน แล้วแต่ว่าจะไปไหน
ให้เด็กเล่าไหม หันมาพูดกับกล้อง
- พูดกับกล้องก็มี มีทุกอย่าง สัมภาษณ์ แต่สัมภาษณ์จะน้อยหน่อย
พี่แอนสัมภาษณ์เอง
- ใช่ แต่มันก็น้อย เพราะไม่อยากใช้น่าเบื่อ เออ ก็เป็นฟุตเตจจริง ๆ เยอะ ใช้เพลงเข้ามาเล่าก็เยอะ โน่นนี่ผสม
เพลง Grammy อ่ะดิ น่ะขายเพลงอีก เดี๋ยวก็ออกเทปอีก
- (หัวเราะ)
...หลังจากพูดคุยอย่างไม่ได้สสารอันใดเกิดขึ้นเลย คุณ ๆ อาจจะรู้จักหนังเรื่องนี้ขึ้นอีกนิด รู้จักผู้กำกับขึ้นอีกหน่อย
...เอ๊ะ อะไรนะคะ ไม่ได้รับรู้อะไรกระเตื้องขึ้นมาเลยเหรอคะ คิก คิก
...อ่า งั้นฉันไปตามสัมภาษณ์พี่ผู้กำกับหนังผี ที่กำลังจะผันตัวแลหัวใจมาทำหนังรักคนนั้นอีก 5 รอบดีกว่า ฉันถนัดนักแล (อิอิ)
...ติดตามความเป็นไป ความเคลื่อนไหวของข่าวหนังสารคดีเรื่องที่เราตีตราได้ว่า "มันส์" เรื่องนี้ได้อย่างสม่ำเสมอที่เว็บนี้นะคะ เว็บเป็นกลางกับทุกค่ายค่ะ (อิอิ)