Tuesday, 29 April 2008

CANNES VALUE


CANNES VALUE
ฉบับนี้อ่านแบบระวังเปื้อนหมึกกันหน่อยนะคะ บทความนี้เพิ่งเขียนเสร็จหมาดๆ เลย พอดีเพิ่งกลับมาถึงกรุงเทพฯน่ะ นั่น โดนไปตัวนึงแล้ว ก่อนอื่นต้องขอโทษผู้อ่าน ทุกท่านนะคะที่ฉบับที่แล้วหายหน้าหายตาไป


มีเหตุให้ต้องเดินทางค่ะ ไม่ได้ไปไหนไกลหรอกนะ ไปแถวเมืองคานส์นี่เอง ไปเทศกาลงานประกวดโฆษณานานาชาติไง มีของมาฝากกันด้วย แต่เดี๋ยวบางท่านเขาอาจยังเง็งว่าเมืองคานส์มีงานประกวดโฆษณาด้วยหรือ มีแต่เทศกาลหนังไม่ใช่หรือ วันนี้มีความรู้ใหม่มาบอก จริงๆ แล้วที่คานส์มีอีกหลายเทศกาลนะ มีเทศกาลหนังโป๊ด้วย ไม่รู้แข่งอะไรกัน แต่ไม่แน่ปีหน้าจะลองเข้าร่วมดู ขอเช็ค Category ก่อน แล้วก็มีเทศกาลประกวดงานโฆษณานานาชาติที่เราพูดถึงนี่แหละ ข้าพเจ้าเข้าร่วมงานมา 5 ปีติดกันแล้ว ภูมิใจเหมือนได้ไปแสวงบุญที่เมกกะเลย แถมคนก็เยอะเหมือนกันด้วย โชคดีไม่โดนเหยียบตายซะก่อน สำหรับผู้อ่านที่ยังไม่คุ้นเคยกับเทศกาลนี้ Cannes Lions Festival คือ การประกวดโฆษณาทั้งในสื่อทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อกลางแจ้ง สื่อทางตรง สื่อทางอินเตอร์เน็ต และการประกวดวางแผนซื้อสื่อ ถือได้ว่าเป็นสนามโอลิมปิกของคนโฆษณาเลยทีเดียว จากทั่วโลกมีหนังโฆษณาส่งกันเข้ามาเป็นหมื่น สื่อสิ่งพิมพ์เป็นพัน กรรมการเป็นร้อย ดูกันเหงื่อออกตา เทศกาลนี้ต่างจากเทศกาลประกวดงานโฆษณาอื่นตรงที่ใช้เวลาจัดถึง 1 สัปดาห์เต็ม ทุกวันจะมีฉายหนังทุกเรื่องที่ส่ง เข้ามา แบ่งเป็นหมวดประเภทสินค้า มีห้องฉายถึง 4 ห้อง ในช่วงกลางสัปดาห์ก็จะมีสัมมนาจากองค์กรต่างๆ เช่น USA Today, Agency Network ใหญ่ๆมาให้ดูเสมอ การประกาศผลแต่ละสื่อจะแยกเป็นวันๆ โดยในคืนวันเสาร์ เป็นคืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การประกาศรางวัลหนังโฆษณายอดเยี่ยมพร้อมประกาศผล Agency of the year
ทำไมรางวัลนี้ถึงเรียกว่า Lions ผู้จัดเป็นอะไรกับสิงโตหรือเปล่า จริงแล้วคำว่า Cannes แปลว่า Lions ตัวรางวัล โลโก้ กราฟิกต่างๆ ก็เลยเป็นรูปสิงโต สำหรับปีนี้เป็นปีที่ 49 แล้ว จำนวนผลงานทั้งหมดที่ส่งเข้ามาลดลงถึง10% จาก ปีที่แล้ว อาจเป็นเพราะพิษเศรษฐกิจหรือเหตุการณ์ 11 กันยายนก็ได้ แต่เมื่อเทียบกับการประกวดอื่น ก็ยังถือว่าเยอะสุด ค่าส่งแพงที่สุดอยู่ดี ปีเก่าๆ ก่อนๆ ที่ผ่านมา งานของคนไทยในคานส์ถือว่าอยู่ในระดับประสบความสำเร็จ เราอยู่ในอันดับต้นๆ ของเอเชียเลยนะ รักษาระดับการได้รางวัลมาทุกปี โดยเฉพาะหนังโฆษณา อาทิ หนังโปรโมชั่น 19 บาทของ McDonald's (ว่ายน้ำ) ได้ Bronze หนัง Blackcat (ไอ้ฤทธิ์) ได้ Bronze หนัง Counterpain (ยกน้ำหนัก) ได้ Silver หนัง Sylvania (คนแก่) ได้ Bronze เทียบกับญี่ปุ่นแล้ว เขาต้องก้มหัวให้ (ไฮ้) เรา เพราะหนังจาก Dentsu ญี่ปุ่นหลายเรื่องที่ได้รางวัล Adfest ก็ยังไม่ติดรอบแรกของคานส์เลย แต่สำหรับปีนี้หนังของไทยค่อนข้างน่าผิดหวังเช่นกัน เพราะตัวเก็งหลายเรื่องได้แค่ใบประกาศเข้ารอบสุดท้ายกลับบ้านมา อาทิ Sponsor (เข้าเฝือก) Sealect Tuna (พุงป่อง) Orange (Wall in Your Heart) Sylvania (Lightman) รวมทั้งหารสอง (ยิ้มสยาม) ข้าพเจ้าได้คุยกับคณะกรรมการบางคน เขาก็ยังรู้สึกว่าปีนี้น่าจะมีหนังจากไทยได้สิงโตบ้าง ไม่เป็นไรหรอกพี่ๆน้องๆ ยังมีอีกหลายชาติที่ผิดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญี่ปุ่น ที่ลงทุนเสียเงินส่งงานสูงสุดเป็นอันดับ 3 แต่ละปีเสียหายไปหลายล้าน US ดอลลาร์ แต่ได้มาแค่รางวัล Silver จากหนังเรื่อง Whale (ปลาวาฬที่ได้กรังด์ปรีซ์ที่ Adfest) จากการได้เข้าร่วมงานหลายครั้ง ข้าพเจ้าลองวิเคราะห์แล้วรู้สึกว่าโฆษณาแรงๆ ที่เราคิดว่าแรงแบบชาวตะวันออกเนี่ย ไม่ได้แรงถูกใจชาวตะวันตกสักเท่าไหร่ (หมายเหตุ: จากกรรมการตัดสินหนังโฆษณา 20 กว่าคน สื่อสิ่งพิมพ์อีก 20 กว่าคน มีชาวเอเชียอยู่ไม่เกินอย่างละ 2 คน ไม่ถึง10% จากกรรมการทั้งหมด)




ไม่ต้องกลัว ยังไม่ลืมเรื่องของฝาก วันนี้หยิบงานโฆษณาทางสื่อสิ่งพิมพ์ที่แรงที่สุดในคานส์มาฝากกัน แคมเปญนี้ได้รางวัลกรังด์ปรีซ์มาเป็นโฆษณา Club 18-30 ทำโดย Saatchi & Saatchi London งานนี้แรงแบบทะลึ่ง ตึงตัง ฮาแบบใต้สะดือ ถามว่าครีเอทีฟบ้านเราคิดได้มั้ย ตอบแทนทุกคนว่าคิดได้อยู่แล้ว แต่ไม่มีลูกค้าคนไหนซื้อหรอก ถึงซื้อ Client Service ก็ไม่เอา ถึง Client Service เอา น.ส.พ. ก็ไม่ยอมลงให้ ทำไมเป็นงั้น มาดูที่งานกัน Club 18-30 เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจคล้ายๆ Club Med แต่ไม่ใหญ่เท่า ตั้งอยู่ตามประเทศต่างๆ เช่น กรีซ เหมือน Holiday Club ที่ Target เป็นหนุ่มสาวรุ่นเดียวกับชื่อคลับเลย จากที่ได้คุยกับ CD ของงานนี้ (คุณ David Droga) ก็ได้รู้ว่าข้อเท็จจริงของ Product ตัวนี้ คือ วัยรุ่นฝรั่งที่ไปเที่ยว Club 18-30 ตั้งใจไปจับคู่กันอย่างเดียว เขาก็เลยเอาความจริงมาบอกกันตรงๆ ให้เห็นกันจะจะไปเลย นอกจากนี้ยังมีอีกแคมเปญที่แรงตามกันมา จากผู้สร้างเดียวกันและได้รางวัล Gold ในหมวด Retail Stores เป็นโฆษณาร้าน Co Co de Mer (ร้าน Erotic shop หรือ Sex shop นั่นแหละ) เห็นภาพแล้วก็จะงงว่าคนเหล่านี้เป็นใครกันหนอ ทำอะไรกันหนอ สักพักก็อ๋อ ไอเดียเป็นการนำเสนอ Product Demonstration โดยไม่ต้องแสดงให้เห็นการใช้ แต่เห็นผลลัพธ์ของการใช้ Product ของร้านนี้จากใบหน้าของตัวแสดงแต่ละคนที่กำลังถึงจุดสุดยอด (อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นคอลัมน์เสพสมแล้วเลิกอ่านซะก่อนนะ) งานชิ้นนี้มีกระแสอือ อา เอ๊ย! ฮือ ฮา ตั้งแต่ก่อนตัดสินแล้ว จากการพีอาร์ว่า Co Co de Mer เป็นงานที่ใช้ผู้กำกับหนังโฆษณามือหนึ่ง Frank Budgen เป็นคนถ่ายภาพนิ่ง ทั้งยังเอาคนจริงมาแสดงจริงๆ ในบ้านของเจ้าของร้านอีกต่างหาก เพิ่งรู้นะเนี่ยว่ากระแสพีอาร์ก็มีผลอย่างยิ่งกับการตัดสินงานคานส์ครั้งนี้ มาถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งคิดว่าการจะได้รางวัลใหญ่จากคานส์ต้องทำแนว Sex อย่างเดียว แนวอื่นที่ได้ Gold ก็มีตั้งเยอะแยะ วันนี้พูดจนน้ำลายเต็มเสื้อ เนื้อที่หมดแล้ว ไว้คราวหน้ามาพูดต่อนะ แล้วจะเอางานแนวอื่นมาให้ดูกันว่าพวกฝรั่งคิดยังไงให้เป็นสับปะรด รวมทั้งหนังบางเรื่องที่ประสบความสำเร็จด้วย ก่อนจะไปก็ขอแสดงความยินดีกับคนไทยผู้ที่ได้รางวัลสิงโตทางสื่อสิ่งพิมพ์ติดไม้ติดมือกลับมาบ้านด้วย ปีนี้เราก็ไม่ขี้เหร่เท่าไหร่นะ ถึงจะไม่ได้ Gold แต่พวกเราก็หน้าบานกันถ้วนหน้าใช่มั้ย BBDO ได้ Bronze มา 1(เฮ) Grey ได้ Bronze มา 2 (เฮ) Saatchi & saatchi ได้ Bronze มา 6 (เฮ) O&M ได้ Silver มา 1(เฮ) ปีหน้า Cannes Jubilee ครบรอบ 50 ปี มาดูกันว่าเราจะเอาเงินไปสมทบทุนซื้อเรือยอชท์ให้ผู้จัดงานกันอีกมั้ย พวกเราสู้ต่อไป!

เรื่อง จุรีพร ไทยธำรงค์

Special Thank For Link: http://www.brandage.com/issue/cs_detail.asp?id=303