Saturday 26 April 2008

"ปัญญาบารมี" หฤทัยสูตร ….หัวใจของพุทธธรรม

"ปัญญาบารมี" หฤทัยสูตร ….หัวใจของพุทธธรรม

ในบรรดาคำสอนของพุทธธรรมที่ว่ากันว่าไม่ต่ำกว่า 84,000 ข้อนั้น ถ้าให้เลือกเรียนและฝึกฝนได้เพียงข้อเดียวหรือพระสูตรเพียงเล่มเดียว ตัวผมไม่ลังเลใจเลยที่จะเลือกหฤทัยสูตร หรือชื่อเต็มที่เรียกว่า ปรัชญาปารมิตา (ปัญญาบารมี) หฤทัยสูตร หรือ คัมภีร์แห่งจิตเพื่อบรรลุปัญญาบารมีอันลือชื่อของมหายานนี้มาเป็นหลักยึดในการปฏิบัติธรรมของตัวเอง

คัมภีร์หฤทัยสูตรที่แพร่หลายไปทั่วนี้คือฉบับที่เป็นภาษาจีนที่แปลโดยพระถังซำจั๋งจากภาษาสันสกฤตอีกต่อหนึ่งในราว ค.ศ.649 สำหรับตัวต้นฉบับภาษาสันสกฤตนั้นไม่มีแล้วทั้งในประเทศอินเดียและเนปาล จะมีเหลือฉบับคัดลอกสมัยโบราณอยู่ฉบับหนึ่งเท่านั้นที่เก็บรักษาเอาไว้ในวัดโฮริวยิแห่งประเทศญี่ปุ่น

สถานภาพของคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรในพุทธศาสนาสายมหายายนั้นเทียบได้กับคัมภีร์ไบเบิ้ลของศาสนาคริสต์เลยทีเดียวแหละ ทั้งๆที่คัมภีร์นี้มีเนื้อหาสั้นมากแค่อักษรจีน 262 คำเท่านั้นซึ่งสั้นกว่า พระคาถาชินบัญชร อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธไทยเสียอีก แต่คัมภีร์เล่มนี้กลับมีพลังในตัวเองอย่างมหาศาลจนเหลือเชื่อเลยทีเดียว หากใครได้ศึกษา ฝึกฝนปฏิบัติตามแล้วอย่างจริงจังย่อมเข้าใจได้เอง เพราะแก่นแท้ของความจริงของจักรวาลและหลักสัจธรรมของชีวิตล้วนตกผลึกและอัดแน่นอยู่ในคัมภีร์ฉบับนี้ทั้งสิ้น อย่างที่ยากจะเชื่อได้ว่าสัจธรรมทั้งหลายทั้งปวงของพุทธธรรมสามารถบรรจุอยู่ในคัมภีร์สั้นๆ เล่มนี้ได้อย่างไรกัน

จะว่าไปแล้ว คัมภีร์เล่มนี้จึงไม่ต่างไปจาก "ไวยากรณ์พระโพธิสัตว์" เลย ด้วยเหตุนี้แหละผมจึงต้องยกเอาแก่นความคิดของคัมภีร์ฉบับนี้มาขึ้นต้นเป็นอันดับแรกสำหรับการจะทำให้ผู้คนเข้าใจหัวใจ (หฤทัย) ของมังกร (จอมยุทธ์และอภิมนุษย์) ในศตวรรษที่ 21

คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร (คำถอดความ)
(1) พระโพธิสัตว์กวนอิมผู้ศักดิ์สิทธิ์(คันยิโซโบสัทสุ-ออกเสียงเป็นภาษาญี่ปุ่น สำหรับผู้ถนัดออกเสียงเป็นภาษาแต้จิ๋วย่อมทดแทนกันได้)
เมื่อท่านได้เข้าสู่การบำเพ็ญปัญญาบารมีอันลึกซึ้งเพื่อแสวงหาสัจธรรมที่จะช่วยมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ให้พ้นทุกข์ได้นั้น (เกียวยินฮันเนียะฮารามิตตะยะ)
ท่านได้รู้แจ้งขันธ์ทั้ง 5 ทั้งปวง ซึ่งประกอบขึ้นเป็นสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ล้วนเป็น สุญตา หรือ ความว่าง ทั้งสิ้น (โชเก็นโกะอุนไคคู)
ท่านจึงถือสัจธรรมอันนี้เป็นมรรคที่แท้จริงที่จะช่วยให้มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้สามารถพ้นทุกข์ได้ (โดะอิสไซคุยากุ)

ขยายความ ผู้ที่เข้าถึงหัวใจและจิตวิญญาณของคัมภีร์วิเศษเล่มนี้จักต้องมีคุณสมบัติที่โดดเด่น 2 ประการอยู่ในตัว คือ หนึ่ง มีหลักวิชาหรือทฤษฎีที่ถูกต้องในการหลุดพ้นและมุ่งบรรลุความรู้แจ้งด้วยการบำเพ็ญสมาธิ-วิปัสสนา กับ สอง มีปณิธานของพระโพธิสัตว์ที่มุ่งจะช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ มุ่งช่วยผู้อื่นให้หลุดพ้นด้วย

จะว่าไปแล้วนี่คือเอกภาพของทฤษฎีกับปฏิบัติ นั่นเองและน่าจะเป็นอุดมคติของการพัฒนาตนเองในเชิงจิตวิญญาณด้วย เพราะหากผู้ใดเอาแต่ฝึกฝนสมาธิ-วิปัสสนาจนตระหนักถึง ความว่าง หรือความเป็นสุญตาของสรรพสิ่งแล้วหยุดตัวเองอยู่แค่นั้น เขาผู้นั้นก็จะกลายเป็นคนเบื่อโลก ไม่อยากทำสิ่งใดทั้งสิ้น ดีไม่ดีอาจถึงขั้นหดหู่หมดอาลัยตายอยากในชีวิตด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นในทัศนะของผม ผู้ที่ศึกษาธรรมะ ฝึกฝนสมาธิ-วิปัสสนาจนเข้าถึง สุญตา ได้แล้ว เขาจะต้องไม่หยุดอยู่แค่นั้น แต่จะต้องรุดหน้าต่อไป โดยก้าวเข้าสู่ปฏิบัติการแห่งความรัก (ความเมตตา) เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ด้วยถึงจะเป็น ทาง ที่ถูกต้องจริง

เพราะฉะนั้น เคล็ดลับของการฝึกฝนตนเองด้วยคัมภีร์วิเศษเล่มนี้ก็คือตัวผู้ฝึกจะต้องตั้งจิตมุ่งมั่นที่จะเป็นโพธิสัตว์ (กวนอิม) เสียก่อน จากนั้นจึงบำเพ็ญ ปัญญาบารมี เพื่อให้ได้ปัญญาดุจพระโพธิสัตว์ เพราะคนธรรมดาสามัญยากนักที่จะได้ ปํญญาบารมี จากคัมภีร์เล่มนี้โดยแค่ท่องบ่นคัมภีร์ฉบับนี้ ต่อให้ท่องบ่นเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านเที่ยวก็ตาม

ยกเว้นเสียแต่ว่า ตัวผู้นั้นมีความมุ่งมั่นที่จะแปรเปลี่ยนตนเองหรือเปลี่ยนแปลงตนเองไปเป็นพระโพธิสัตว์ผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตาและประกอบไปด้วยปัญญาบารมีก่อนแล้วเท่านั้น

ผมจึงมีความเห็นว่า ถ้าหากเราไม่ศึกษาคัมภีร์วิเศษฉบับนี้จากจุดยืนที่กล่าวมานี้ ผู้ฝึกคนนั้นจะไม่มีวันเข้าถึงความล้ำลึกของคัมภีร์ซึ่งทรงพลานุภาพเล่มนี้ได้เลย สิ่งที่เขาจะได้คือความรู้ที่เป็นแค่เปลือกนอกจากคัมภีร์เล่มนี้เท่านั้น

สิ่งนี้เป็นความจริงไม่แค่เฉพาะคัมภีร์เท่านั้น ยังเป็นจริงสำหรับผู้ฝึกพระคาถาชินบัญชรอันศักดิ์สิทธิ์ด้วย เพราะผู้ที่ท่องพระคาถาชินบัญชรโดยหวังอัญเชิญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสงฆ์คุณ แค่มาคุ้มครองกายให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวงและมีสิริมงคล โดยไม่คิดจะทำตัวเองให้เป็นพระพุทธะด้วย พวกเขาย่อมได้อานิสงส์จากพระคาถาอันศักดิ์สิทธิ์แค่เปลือกผิวเท่านั้น

(2) สารีบุตรเอ๋ย (ศิษย์เอ๋ย) สิ่งที่เราจะบอกเธอในที่นี้ก็คือว่า (ฉะริชิ)
รูป นั้นไม่ใช่รูป แต่มันเกิดรูปเกิดร่างขึ้นมาได้ก็เพราะมันอาศัยร่วมกันกับสิ่งอื่น รูปจึงไม่ต่างไปจาก ความว่าง (ชิกิฟุอิคู)
และสิ่งที่ไม่มีรูปร่างหรือความว่างนั้นก็มิได้หมายความว่ามันไม่มีอะไร เพราะจากความว่างก็สามารถอาศัยการร่วมกันกับสิ่งอื่นทำให้เกิดรูปขึ้นมาได้เช่นกัน ดังนั้น ความว่าง จึงไม่ต่างไปจาก รูป (คูฟุอิชิกิ)
สรรพสิ่งหรือ รูป ทั้งหลายในโลกนี้ล้วนตั้งอยู่ได้ด้วยการอาศัยร่วมกันกับสิ่งอื่นดังนั้นเราจึงบอกเธอว่ารูปก็คือความว่าง (ชิกิโซกุเซะคู) และความว่างก็คือรูป (คูโซกุเซะชิกิ) เพราะฉะนั้นขันธ์อื่นๆ ไม่ว่าเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ (จุโซเกียวชิกิ) ต่างก็เป็นความว่างเช่นกัน และความว่างก็เป็นขันธ์ต่างๆ เหล่านี้ด้วย (ยากุบุเนียวเซะ)

ขยายความ เนื่องจากธาตุแท้ของ รูป ก็คือ ความว่าง รูปจึงดำรงอยู่ได้หรือสามารถคงรูปเอาไว้ได้ตามหลักปฎิจจสมุปบาท คัมภีร์นี้จึงกล่าวได้ว่า "รูปคือความว่าง" และในขณะที่เมื่อคัมภีร์นี้กล่าวว่า "ความว่างก็คือรูป" มันหมายความว่า "ความว่าง" มีคุณสมบัติและมีพลังที่จะทำให้เกิด "รูป" ขึ้นมาได้ ความว่างจึงไม่ใช่ ความไม่มีอะไร อย่างที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดสับสนกัน จึงเห็นได้ว่าตรรกะของ "รูปก็คือความว่าง" (A เท่ากับ B)กับตรรกะของ "ความว่างก็คือรูป" (B เท่ากับ A) นั้นมีความหมายที่แตกต่างกันมากในคัมภีร์เล่มนี้อย่างที่พวกที่คิดแบบ "นักวิทยาศาสตร์" เถรตรงยากจะทำความเข้าใจได้

เพราะการทำความเข้าใจว่า "รูปก็คือความว่าง" นั้น ความจริงก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้วสำหรับปุถุชนคนธรรมดา แต่การที่จะเข้าใจความหมายของ "ความว่างก็คือรูป" นั้นมันยิ่งยากเข้าไปอีก หัวใจของคัมภีร์วิเศษเล่มนี้มิได้อยู่ที่ "รูปก็คือความว่าง" อย่างที่คนส่วนใหญ่ตีความหรือเข้าใจเช่นนั้นหรอก แต่อยู่ที่ "ความว่างก็คือรูป" ต่างหาก

เนื่องเพราะคนเราทุกคนควรจะตระหนักถึงความจริงในข้อนี้ให้ได้ว่าพวกเราทุกคนนั้นล้วนเป็น"รูป" ที่เกิดมาจาก "ความว่าง" ทั้งสิ้น และพวกเราทุกคนต่างก็มี "ความว่าง" เป็นธาตุแท้อยู่ในตัวทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วพวกเราทุกคนย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้ เพราะ "ความว่างก็คือรูป" ความว่างย่อมสามารถก่อให้เกิดรูปอะไรขึ้นมาก็ได้ ด้วยเหตุนี้แหละถ้าหากคนเรามีความมานะบากบั่น อุตสาหะวิริยะพยายาม ผู้นั้นก็ย่อมสามารถก้าวหน้าได้ รุดหน้าได้ เติบโตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และในทางกลับกันหากคนเราละเลยการฝึกฝนตนเอง เกียจคร้าน ไม่กระตือรือร้นผู้นั้นก็จะถดถอยเสื่อมโทรม ต่ำทรามลงไปเรื่อยๆ

คนเราแม้เกิดมาในโลกโดยแบก "ชะตาชีวิต" อันหนึ่งมาด้วยก็ตามที แต่ก็ใช่ว่าจะถูกชะตาชีวิตลิขิตอย่างสิ้นเชิงก็หาไม่ ทุกอย่างย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้นได้เสมอ เพราะ "ความว่างก็คือรูป" ฉะนั้นการที่เราเกิดมาจนก็ไม่มีเหตุใดที่เราจะต้องจนไปตลอดชีวิตใช่หรือไม่

จึงเห็นได้ว่าคำสอนเรื่อง "รูปคือความว่าง" เป็นโลกทัศน์ของพระโพธิสัตว์ผู้มีปัญญาบารมี ขณะที่คำสอนเรื่อง "ความว่างก็คือรูป" นั้นเป็นชีวทัศน์ของพระโพธิสัตว์ผู้มีเมตตาบารมีและวิริยะบารมี หากเราเข้าใจใน 2 ประเด็นนี้ได้อย่างถ่องแท้แล้ว ข้อความคำสอนอื่นๆ หลังจากนั้นของคัมภีร์วิเศษเล่มนี้ถือว่าเป็น ของแถม เท่านั้นเอง

(3) สารีบุตรเอ๋ย (ศิษย์เอ๋ย) (ฉะริชิ) แก่นแท้ของสรรพสิ่งนั้นเป็นความว่าง แม้ในทางปรากฏการณ์จะดูเหมือนว่ามีการเปลี่ยนแปลงต่างๆนานาอันเนื่องมาจากการอาศัยร่วมกันกับสิ่งอื่นก็ตาม แต่ตัวแก่นแท้ของสรรพสิ่งนั้นหาได้เปลี่ยนแปลงด้วยไม่ (เซะโฉะโฮคูโซ) ไม่มีทั้งเกิด ไม่มีทั้งดับ (ฟุโชฟุเม็ทสุ) ไม่มีสกปรก ไม่มีสะอาด (ฟุคุฟุโย) ไม่มีเพิ่ม ไม่มีลด (ฟุโซฟุเง็น)

ขยายความ ลักษณะต่างๆของ ความว่าง ได้ถูกบรรยายในคัมภีร์ส่วนนี้คือไม่มีทั้งเกิด ไม่มีทั้งดับ ไม่มีสกปรก ไม่มีสะอาด ไม่มีเพิ่ม ไม่มีลด ในที่นี้ผมจะขอยกตัวอย่างของ เงิน ซึ่งเป็นที่สุดของสิ่งสมมุติมาให้พิจารณากันดู

เงินไม่มีตัวตนจริงหรือไม่? สำหรับพวกนักเล่นหุ้น วันนี้มีหลายล้านบาท แต่ในวันข้างหน้าอาจเหลือไม่กี่หมื่นบาท หรืออาจเพิ่มมากกว่าเดิมอีกหลายสิบเท่าก็เป็นได้ แต่ที่เพิ่มหรือลดลงนั้นคือปริมาณของเงินหาใช่ตัวตนของเงินไม่ เพราะตัวตนของเงินไม่เคยดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลงให้ตัวเราครอบครองเลยแม้แต่ชั่วขณะเดียว เมื่อมีเหตุอาศัยร่วมกันกับสิ่งอื่น เงินถึงอยู่กับเรา แต่เมื่อหมดเหตุอาศัยอันนั้นเงินก็ไปจากเรา ตอนที่เราใช้เงินความจริงเราใช้อำนาจซื้อที่เงินมีอยู่ในขณะที่มันอยู่กับเราเท่านั้น แต่ตัวตนของมันไม่เคยดำรงอยู่เลย เงินไม่มีตัวตนมีแต่ปริมาณของเงินที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น

เพราะถ้าเงินมีตัวตนจริง มันจะต้องดำรงอยู่ได้โดยไม่เปลี่ยนแปลงด้วยเงื่อนไขหรือสาเหตุใดๆ ก็ตามอย่างไรก็ดีเงินก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในโลกสมมุติหรือในโลกที่เป็นปรากฏการณ์ แต่เงินจะกลายเป็น มายา ที่ไร้ตัวตนในทันทีในโลกของสัจธรรมหรือในโลกของปรมัตถ์

ในโลกของปรมัตถ์จึงเป็นโลกของพระโพธิสัตว์ปัญญาบารมี
ส่วนโลกของปรากฏการณ์เป็นโลกของพระโพธิสัตว์กวนอิม
และโลกของผู้ที่ศึกษาคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรเล่มนี้จึงควรเป็นโลกของผู้ที่รู้จักสมมุติ เข้าใจสมมุติ ยอมรับสมมุติ ใช้สมมุติเป็น แต่ไม่ยึดติดในสมมุตินั้น

"ยอดคน" คือผู้ที่รู้ทันและไม่ยึดติดในสมมุติทั้งปวงที่สังคมยัดเยียดให้ แต่ พระพุทธะ คือผู้ที่รู้ทันและไม่ยึดติดในสมมุติทั้งหลายทั้งปวงกันเกิดจากธรรมชาติ จักรวาล และธาตุทั้ง 4 ท่านจึงมีอำนาจเหนือจักรวาลและธาตุทั้ง 4 ได้


"ปัญญาบารมี" หฤทัยสูตร ….หัวใจของพุทธธรรม (ต่อ)

(4) ด้วยเหตุนี้ใน ความว่าง จึงไม่มีทั้งรูป (เซะโคะคูจูมุชิกิ) ไม่มีทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณ (มุจุโซเกียวชิกิ) และก็ไม่มีสิ่งที่ถูกรับรู้ซึ่งได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิด (มุชิกิโชโคมิโซกุโฮ) จึงไม่มีทั้งโลกที่ตามองเห็น (มุเง็นไค) และไม่มีโลกทางความคิด (ไนชิมุอิชิกิไค)

ขยายความ ถ้าหาก ความว่าง ในที่นี้คือหลักอันเดียวกับหลักปฎิจจสมุปบาทแล้ว เราก็ย่อมกล่าวได้ว่าในหลักปฎิจจสมุปบาทจึงไม่มีทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเช่นกัน และก็ไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเช่นกัน รวมทั้งไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดเช่นกันด้วยเพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา คือไม่มีตัวตน

จึงเห็นได้ว่า "ความว่าง" "หลักปฎิจจสมุปบาท" และ "อนัตตา" เป็นสิ่งเดียวกันและแยกจากกันไม่ได้เลยในปัญญาแบบพระพุทธะ

(5) ด้วยเหตุนี้ใน ความว่าง จึงไม่มีทั้งอวิชชา (มุมุเมียว)
และก็ไม่มีการสิ้นสุดของอวิชชา (ยาคุมุมุเมียยิน)
ไม่มีทั้งชรามรณะ (ไนชิมุโรชิ) และก็ไม่มีการสิ้นสุดของชรามรณะ (ยาคุมุโรชิยิน)
ไม่มีอริยสัจ 4 คือ ไม่มี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (มุคุจูเม็ทสุโด)
ไม่มีทั้งโพธิปัญญาและก็ไม่มีการตรัสรู้ใดๆ (มุจิยาคุมุโทคุ)
เพราะโพธิปัญญาและการตรัสรู้แบบพระพุทธเจ้าอยู่เหนือ ความว่าง เหล่านี้ไปอีก(อิมุโฉะโทคุโคะ)

ขยายความ ในการบรรลุถึง ความว่าง จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ถึงเรื่องขันธ์ 5 และเรื่องหลักปฎิจจสมุปบาทที่อธิบายถึงธรรม 12 ประการ คือ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปทาน ภพ ชาติ ปรามรณะ ซึ่งเกิดขึ้นร่วมกันโดยอาศัยกันละกันเกิด รวมทั้งยังต้องเรียนรู้เรื่องอริยสัจ 4 ด้วยก็จริง

แต่ครั้นเมื่อเข้าถึง "ความว่าง" ได้จริงๆแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็น "ไม่มี" ไปและตัว "ความว่าง" เองก็จะต้องถูกข้ามพันหรือถูกก้าวข้ามอีกทีด้วย เพราะมีแต่ปัญญาในระดับมิติที่ข้ามพ้นจาก ความมีอะไร-ความไม่มีอะไร และ ความว่าง ทั้งปวงได้แล้วเท่านั้น จึงจะเป็นปัญญาชั้นสุดยอดที่แท้จริง

หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งได้ว่า ตราบใดที่ยังยึดติดกับ ความว่าง อยู่ ตราบนั้นก็ยังไม่มีปัญญาขั้นสุดยอด คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรเล่มนี้จึงเป็นคัมภีร์ที่อธิบายความสูงส่งของ "ความว่าง" แต่ขณะเดียวกันก็เสนอให้เข้าถึง "ความว่าง" ที่ก้าวข้าม "ความว่าง" อีกทีหนึ่งและนี่แหละคือความล้ำลึกสุดหยั่งคาดของคัมภีร์เล่มนี้ที่ยากจะหาคัมภีร์เล่มอื่นที่จะอธิบายเรื่องความว่างเหมือนกันมาทัดเทียมได้

(6) พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย (ผู้แสวงธรรมทั้งหลาย) (โบะไดสัทสุตะ)
ถ้าหากได้ปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุปัญญาบารมีแล้ว (เอะฮันเนียะฮะระมิตตะโคะ)
ใจของเขาก็จะไม่มีสิ่งยึดติด (ชินมุเคเงะ) เมื่อไม่มีสิ่งยึดติด (มุเคเงะโคะ) ก็จะไม่มีความ กลัว (มุอุคุฟุ)
สามารถหลีกพ้นมายาที่กลับตาลปัตรทั้งปวง (อ็อนริอิสไซเต็นโตมุโซ) เข้าถึงสภาวะแห่งนิพพานได้ (คุเคียวเนะฮัน)
เหล่าพระพุทธะในสามโลก (อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต) ก็เช่นกัน (ซานเซะโฉะบุทสุ) ต่างก็ฝึกฝนปัญญาบารมี (เอะฮันเนียะฮะระมิตตะโคะ) จนกระทั่งสามารถบรรลุ อนุตรสัมมาโพธิญาณ อันเป็นปัญญาสูงสุดได้ (โทคุอะโนคุตะระซันเมียะคุซันโบะได)

ขยายความ สิ่งที่ทำให้ใจยึดติด คือสิ่งที่ครอบงำจิตใจจนเป็นอุปสรรคต่อการทำงานที่แท้จริงของปัญญาในตัวเรา แต่เมื่อปัญญาบารมีเกิดขึ้นสิ่งเหล่านี้ก็จะหายไปเอง ดุจเมื่อมีแสงสว่างเกิดขึ้น ความมืดย่อมเลือนหายไปในบัดดล

เมื่อใจไม่มีสิ่งยึดติด ใจย่อมไม่มีความกลัว เพราะความกลัวเกิดจากการไปยึดติดอยู่กับ อัตตา ของใจ ฉะนั้นเมื่อใจเราก็ไม่มีอะไรยึดติดมิหนำซ้ำใจเรายังมีความวิริยะพากเพียรในการฝึกฝนตนเองตามวิถีแห่งพุทธะอยู่ด้วยแล้วในใต้ฟ้านี้จะมีสิ่งใดมาทำให้เราหวาดหวั่นได้ ? ดังนั้น มายา ที่ทำให้เรามองโลกกลับตาลปัตรจึงไม่อาจรังควานเราต่อไปอีกได้

แต่แปลกเหลือเกินที่คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ก็ยังชมชอบอยู่ในโลกที่กลับตาลปัตรอยู่ดี เพราะยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ชอบในสิ่งที่นำความทุกข์มาให้แก่ตนและรังเกียจสิ่งที่นำความสงบสุขมาให้แก่ตน
การพนัน สุรา บุหรี่ ยาเสพติด ความจริงเป็นสิ่งที่นำความหายนะมาให้แก่ตนเองและสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนรอบข้าง แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่แลเห็นว่า สิ่งเหล่านี้คือความสุขสุดยอดในชีวิต อย่างนี้ถ้าไม่เรียกว่ากลับตาลปัตรแล้วสมควรจะให้เรียกว่าอะไร ?

ความขยันหมั่นเพียรในการทำงานและการศึกษาเล่าเรียนเป็นสิ่งที่นำความสำเร็จมาให้แก่ชีวิตในอนาคต แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่รังเกียจการทำงานหนักและการขยันเรียนนี่ก็เป็นสิ่งที่กลับตาลปัตรมิใช่หรือ? โอ ทำไมโลกนี้จึงมีสิ่งกลับตาลปัตรมากมายเหลือเกิน

นี่เพราะไม่มี ปัญญาที่แท้จริง จึงทำให้มนุษย์จำนวนมากยังต้องจมปลักอยู่กับความทุกข์ต่างๆ นานาท่ามกลางสิ่งกลับตาลปัตรเหล่านี้

(7) เพราะฉะนั้นจึงควรรู้ไว้ว่า ปัญญาบารมี (โคะจิฮันเนียะฮะระมิตตะ) เป็นมนตราอันยิ่งใหญ่ (เซะไดยินชุ) เป็นมนตราแห่งปัญญาอันยิ่งใหญ่ (เซะไดเมียวชุ) เป็นมนตราสูงสุด (เซะมุโยชุ) และเป็นมนตราที่ไร้เทียมทาน (เซะมุโตโดชุ) ซึ่งสามารถช่วยให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง (โนโยะอิสไซคุ) มนตรานี้เป็นของจริงแท้ไม่ปลอม (ชินยิทสุฟุโคะ)

ขยายความ คัมภีร์เล่มเล็กนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงพระสูตรธรรมดาเท่านั้นแต่ยังเป็น มหามนตรา ที่มีความขลังและมีพลังศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย ตรงนี้แหละที่เป็นความล้ำลึกอีกประการหนึ่งของคัมภีร์วิเศษเล่มนี้

พลังของมนตราหรือธารณีหรือคาถาอาคมนั้นมิได้อยู่ที่ความหมายของมันเท่ากับอยู่ที่เสียงของมัน ตามหลักวิชา Cymatics อันเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบที่คลื่นเสียงมีต่อมวลวัตถุ ได้ค้นพบว่าคลื่นสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจัดระเบียบของมวลสารวัตถุได้ การทดลองที่พิสูจน์ถึงความจริงในข้อนี้ก็คือ การเอาแผ่นโลหะบางๆมาติดบนไวโอลินแล้วโรยทรายบนแผ่นโลหะบางๆนั้น ครั้นเมื่อทำการดีดสายไวโอลิน ทรายที่อยู่บนแผ่นโลหะก็จะเรียงตัวใหม่เป็นรูปลักษณ์ต่างๆนานาตามขนาดของความสั่นของคลื่นเสียงที่ดีดไป

ถ้าประยุกต์หลักวิชาอันนี้มาใช้กับการฝึกท่องมนตราก็จะอธิบายได้ว่าการฝึกท่องมนตราบทใดบทหนึ่งซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้เกิดความสั่นไปยังตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในสมองอันเป็นที่ตั้งของจักร 6 กับ จักร 7 ตามหลักวิชาโยคะ ก็น่าที่จะสามารถกระตุ้นจักรทั้ง 2 นี้ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้

(8) จึงขอถ่ายทอดมนตราแห่งปัญญาบารมี (โคะเซ็ทสุดฮันเนียะฮะรธมิตตะชุ) ไว้ที่นี่ดังต่อไปนี้
(โซคุเซ็ทสุชุวะสุ)
"กะเต กะเต พารากะเต"
พาราสังกะเต โพธิสวาหะ"
(เกียะเท เกียะเท ฮะระเกียะเท ฮะระโซเกียะเทโบยิโสะวะคะ)
จบคัมภีร์ ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร (ฮันเนียะชินเกียว)

ขยายความ มนตราท้ายคัมภีร์เล่มนี้ เป็นภาษาสันสกฤตที่มีใจความดังต่อไปนี้
"ผู้ไปแล้ว (กะเต) ผู้ไปแล้ว (กะเต)
ผู้ไปฝั่งนั้นแล้ว (พารากะเต)
ผู้ไปฝั่งนั้นหมดแล้ว (พาราสังกะเต)
ผู้ตรัสรู้แล้ว (โพธิ)
จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด (สวาหะ)"

ผู้แสวงหาความหลุดพ้นทั้งหลาย พวกท่านจะต้องรู้ถึงสัจธรรมแห่ง ปัญญาบารมี ในคัมภีร์วิเศษเล่มนี้ให้จงได้ เพราะสัจธรรมอันนี้เป็นยอดของยอดแห่งปัญญาที่จะช่วยให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง พลังของมันนั้นมีมากเกินหยั่งคาด มันเป็นสัจธรรมท่ามกลางสัจธรรมทั้งหลาย และเพราะมันเป็นสัจธรรมมันจึงคงทนไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะอยู่ในโลกใดยุคใด

ผู้แสวงธรรมทั้งหลายเอ๋ย ขอพวกท่านจงจำคำพูดต่อไปนี้ให้ดีและจงท่องให้ขึ้นใจว่า "ข้าฯ จะนำสัจธรรมแห่ง สุญตา ติดตัวข้าฯ ไปตลอดการเดินบนทางของข้าฯ ข้าฯจะมุ่งเดินต่อไป เดินต่อไป ภายใต้การดูแลของพระมหาโพธิสัตว์เจ้า (พระอวโลกิเตศวร) จนกว่าข้าฯ จะไปถึงฝั่งฟากโน้นในวันใดวันหนึ่ง"

(จากหนังสือหัวใจมังกร : สุวินัย ภรณวลัย)