Creative BAD Awards Vol. 3
1. BOB SCARPELLI / DDB Worldwide: Chairman & Chief Creative Officer
ผลงานที่ผ่านมาของ DDB Worldwide ภายใต้การทำงานของ Bob Scarpelli ที่สร้างชื่อเสียงอย่าง ลือลั่นคือ
Campaign “Whass up” ของเบียร์ Budweiser ที่เป็น Campaign ที่โด่งดังทั่วสหรัฐ และทั่วโลก ซึ่งในปี 2000 “Whass up” ได้รับรางวัล CANNES FILM GRAND PRIX, Grand Clio และรางวัลอื่น ๆ อีก 15 รางวัล ทั่วโลกอีกด้วย รวมทั้งได้รับการบันทึกว่าเป็น “Clio Advertising Hall of Fame”
นอกจากนี้ Budweiser ยังได้รับ “Radio Grand Clio” 3 ปี ติดต่อกัน และ “CANNES RADIO GRAND PRIX” 2 ปี ติดต่อกัน จนทำให้ DDB ได้รับรางวัล Clio’s Agency of the Year ในปี 2003 และ 2004 Bob Scarpelli ยัง
ดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรติในการเป็นประธานการตัดสินรางวัลโฆษณา Clio Festival ประจำปี 2003 อีกด้วย
BOB นั้นเรียกได้ว่าประทับใจกับงานโฆษณาของไทยในรอบหลายๆปีที่ผ่านมาอย่างมาก โดยสิ่งที่โดดเด่นของงานโฆษณาไทยในสายตาของ BOB นั้นก็คือ ความเรียบง่ายและมักจะมีอะไรที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเสมอ จนบางครั้ง BOB เองถึงกับอดสงสัยไม่ได้ว่า ครีเอทีฟของไทยนั้นกินอะไรเป็นอาหารถึงได้คิดงานออกมาได้ขนาดนี้
“ผมคิดว่า ช่วงนี้ หนังโฆษณาจากประเทศไทย ช่วยนำความสด ความแปลกใหม่ มาสู่วงการโฆษณาของโลก คนไทยเขากินอะไรกันเหรอถึงได้คิดอะไรได้ขนาดนี้ สิ่งที่ดีที่สุดในโฆษณาไทยคือ ความเรียบง่าย และสิ่งที่ไม่คาดฝันทั้งหลาย ดูเหมือนว่าหนังโฆษณาไทยจะสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ด้วยภาพที่มีพลังมากทีเดียว”
เมื่อถูกถามถึงความแตกต่างในการเล่าเรื่องของโฆษณาไทยกับโฆษณาในประเทศอื่นๆ
“ผมว่าวิธีการเล่าเรื่องของโฆษณาไทยไม่ได้แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ เลยนะ แต่สิ่งที่ดีของโฆษณาไทยคือ อารมณ์ขันในปริมาณพอดีๆ และบุคลิกของคนไทยที่ไม่จริงจังกับชีวิตมากไป... ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของสินค้าและลูกค้าแหละนะ ดูเหมือนว่าพวกครีเอทีฟในประเทศไทย จะรู้ซึ้งเป็นอย่างดีว่า ถ้าเราต้องการที่จะมีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจ หรือต้องการจะเปลี่ยนใจผู้บริโภคแล้ว เราต้องดึงให้คนดูเข้ามามีส่วนร่วม หรือต้องให้สนุกไปกับเราด้วย” BOB ได้แสดงความคิดเห็นต่อคำถามนี้พร้อมกับอธิบายต่อไปว่า
“ผมว่าโฆษณาไทยบางเรื่อง ก็ตลกสุดขั้วจริงๆ พวกคุณไม่กลัวการลองผิดลองถูกเลย ผมชอบมาก”
มาที่เรื่องชิ้นงานโฆษณากันบ้าง BOB ได้ยกตัวอย่างงานพรินต์แอดที่ตนเองประทับใจอย่างมากก็คือ แคมเปญของ Channel 11 เพราะโฆษณาชิ้นนี้มีสิ่งทุกอย่างที่ตนเองต้องการ ทั้งความเรียบง่าย ความประหลาดใจ และรอยยิ้ม ส่วนหนังโฆษณานั้น BOB เองก็ยอมรับว่าประทับใจหนังโฆษณาของไทยหลายเรื่องด้วยกัน
“ที่จริงแล้ว มีหนังหลายเรื่องที่ผมชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ผมจะบอกในตอนนี้เรื่องที่ผมชอบที่สุดคือ แคมเปญของ Bangkok Insurance ผมว่าหนังเรื่องนี้เยี่ยมมาก เป็นเรื่องราวที่สร้างมาจากคนที่รู้เรื่องประกันชีวิตอย่างลึกซึ้งจริง ๆ การถ่ายทำก็เยี่ยมมาก และยังสร้างความน่าเชื่อถือและอารมณ์สนุกสนานให้คล้อยตามว่าทำไมเราถึงจำเป็นต้องซื้อ Bangkok Insurance ไม่ต้องคิดอะไรมากแล้ว ผมว่า เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้ชมที่คานส์คืนนั้น ก็เห็นด้วยกับผมแน่ ๆ”
กับข้อแนะนำไปถึงครีเอทีฟไทยว่าวงการโฆษณาไทยควรปรับปรุงอะไรอีกบ้าง BOB ก็ได้ให้ข้อคิดไว้น่าสนใจไม่ใช่น้อย
“ผมคงไม่มีคำแนะนำว่า คุณจะพัฒนางานในปัจจุบันได้อย่างไรบ้าง แต่ผมแค่อยากจะบอกให้คุณต่อยอดความคิดจากเดิมที่เยี่ยมยอดอยู่แล้ว ให้เชื่อมต่อไปสู่สื่อแบบใหม่ หรือสื่ออื่นๆที่คุณคิดค้นขึ้นมาเอง”
ส่วนคำถามทิ้งท้ายที่ว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คุณทำหนังโฆษณาในประเทศของคุณนั้น BOB ไม่ลังเลที่จะตอบว่า
“ผมไม่อยากจะทำให้ลูกค้า หรือเพื่อนร่วมงานผิดหวัง นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมถึงทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่เพื่อสร้างมาตรฐานที่สูงขึ้นให้กับ DDB เหล่านี้ล้วนเป็นแรงบันดาลใจและจูงใจให้ผมพยายามให้ดีที่สุด ไม่ว่าเราอยู่ที่ไหนก็ตาม”
2. XANDER SMITH / TBWA\PARIS: CREATIVE
คงจะไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า TBWA\PARIS เป็น Agency ที่มีความเป็น Creative ที่สูงส่งอย่างมาก ๆ ในปัจจุบัน จากการจัดอันดับของ SHOT GRAND PRIX 2005 ก็จัดให้เป็น “World Most Awarded Agency Of 2005” ก็ไม่น่าแปลกใจเช่นเดียวกัน เพราะ TBWA\PARIS ได้รับ “Agency Of the Year, CANNES” 2003, 2004, 2005, และ 2006 4 ปีติดต่อกัน รวมทั้งได้ “CANNES GRAND PRIX PRINT” ในปี 2003, 2005 อีกด้วย ยังไม่รวมถึง “GRAND CLIO PRINT 2006”
Xander Smith เป็นหนึ่งใน Creative ที่ทำงานอย่างใกล้ชิดอย่างมาก อาจเรียกได้ว่า เป็นมือขวาของ Erik Vervroegen ที่เป็น President & Executive Creative Director ของ TBWA\PARIS Xander Smith เคยอยู่กับ TBWA\HUNT\LASCARIS ที่ South Africa ปัจจุบันมีสินค้าหลายราย เช่น Play Station, Adidas, Mapa, Young Lungs Against Tobacco และ Nissan Europe
ต้องบอกว่า Xander Smith นั้นได้รับรางวัลมากมายระดับโลกอย่างนับไม่ถ้วนจริงๆ
กับคำถามเปิดการสนทนาที่ว่า มองโฆษณาไทยว่าเป็นอย่างไรนั้น
Smith เองก็ยอมรับว่า ตลอดระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมา มีโฆษณาหลายๆ เรื่องจากประเทศไทยที่สื่อผ่านไอเดียใหม่ถอดด้ามอย่างที่ตนเองไม่ได้เห็นมานานแล้ว งานบางชิ้นก็บ้าสุดขั้ว กล้าที่จะลองทำโน่นทำนี้ในลักษณะเป็นธรรมชาติ ไม่ได้เสแสร้ง จนทำให้รู้สึกอิจฉาที่ครีเอทีฟไทยกล้าทำเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัว Smith เองก็ยังรู้สึกว่างาน Print Ad ของไทย ค่อนข้างยึดติดกับหลักเกณฑ์แบบเดิมๆ ไม่แหวกแนวเท่าไหร่
“บางครั้งผมก็รู้สึกว่ามันมีกลิ่นอายของความเป็นตะวันตกแฝงอยู่ ยังขาดความบ้าบิ่นที่เป็นลักษณะเฉพาะของหนังโฆษณาโทรทัศน์ไทย แต่ Print Ad ไทย ก็มีลูกเล่นและเยี่ยมมาก โดยรวมแล้ว ผมว่า โฆษณาไทยมีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ตามสูตรสำเร็จและเมื่อดูแล้วทำให้เกิดแรงบันดาลใจมากทีเดียว”
Smith ยังได้อธิบายถึงความแตกต่างในวิธีการเล่าเรื่องของโฆษณาไทยกับต่างประเทศให้ฟังว่า
“นอกจากเรื่องความบ้าบิ่นที่เห็นได้ชัดว่ามีมากกว่าโฆษณาในแถบตะวันตกแล้ว ผมว่าหนังโฆษณาของไทย มักแสดงออกผ่านวิธีการเล่าเรื่องเป็นหลัก ผมเห็นว่ามีหลายเรื่องที่ใช้วิธีการนำเอาหนังยาวๆเป็นชั่วโมงๆ มาย่อๆ ให้เหลือเรื่องสั้นๆ ไม่กี่นาที
หรือบางครั้งก็นำเอาเรื่องของความรักมาดำเนินเรื่อง (ไม่ว่าจะเป็นความรักระหว่างสุนัขสองตัว หรือระหว่าง ผีเสื้อสมุทรกับพระอภัยมณี ก็ตาม) ดนตรีที่ใช้ก็ออกแนวย้อนยุคแบบ Hyper และการแสดงของตัวละครแต่ละตัวก็เล่นกันก็สุดยอดจริงๆ และเมื่อองค์ประกอบแต่ละส่วนมารวมกัน ก็เลยสร้างอารมณ์การเล่าเรื่องที่เป็นแบบฉบับของตัวเองที่ไม่เหมือนใคร”
เมื่อถูกถามถึงงานพรินต์แอดของไทยชิ้นโปรดที่ชื่นชอบ Smith ไม่ลังเลที่จะตอบว่า ตนเองรู้สึกประทับใจกับชิ้นงานของ Fedex (Box) ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่เยี่ยมที่สุด และเรียบง่ายที่สุดเท่าที่ตนเองเคยเห็นมา ส่วนอีกแคมเปญที่ประทับใจก็คือ ผลงานแคมเปญของ Tamiya (กบ/แตงโม/หลอดไฟแตก) ก็เป็นอีกแคมเปญหนึ่งที่สร้างบนพื้นฐานของความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในกลุ่มเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด รวมไปถึงชิ้นงานของ Channel 11 แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของงานโฆษณาไทยได้ชัดเจนมาก
ทางด้านของหนังโฆษณาของไทยที่ประทับใจนั้น Smith ภาพยนตร์โฆษณาชุด Bangkok Insurance คือหนังที่ Smith แอบเทใจให้ ด้วยเหตุผลเพราะสามารถเอาเรื่องในชีวิตประจำวันมาสร้างให้เห็นภาพได้อย่างเยี่ยมยอด นอกจากนี้แล้วก็ยังมีหนังของรถกระบะ Ford ชุดคิงคอง Smith บอกว่าชอบสีหน้าของลูกคิงคองตอนที่เงยหน้าขึ้นมองแม่ ด้วยสายตานิ่งๆ แต่เต็มไปด้วยคำถามในใจ
ภาพยนตร์โฆษณา Soken ก็เป็นหนังอีกเรื่องที่ Smith เอ่ยปากชมว่ามีลูกเล่น ลูกบ้า และฮาขำกลิ้ง
รวมไปถึงหนัง Bridgestone ที่ตนเองชอบเพราะสื่อถึงความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์
ส่วนหนังเรื่องสุดท้ายที่เข้าตากรรมการอย่าง Smith นั้นก็คือ หนังโฆษณา Chicklet Stick ชุด “ปากสั่น” เพราะแคมเปญทำให้หลังจากที่ดูหนังโฆษณาจบ Smith ถึงกับต้องตั้งคำถามในใจว่า
“แม่งเป็นห่าอะไรกันวะ”
Smith ยังได้ให้คำแนะนำว่า วงการโฆษณาไทยควรปรับปรุงก็คือ การเพิ่มความบ้าและความสนุกเข้าไปในงานPrint Ad ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เดิม
ส่วนกับข้อคิดที่ว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คุณทำหนังโฆษณาในประเทศของตน Smith ได้กล่าวสรุปทิ้งท้ายให้ฟังว่า
“ในฐานะที่เป็นชาวแอฟริกาใต้ที่อาศัยอยู่ในปารีส การที่จะหาแรงบันดาลใจได้ ผมจำเป็นต้องเดินออกไปข้างนอกบ้าน การได้เดินไปตามถนนในปารีสทำให้ผมเกิดความอยากจะทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ผมคิดว่า วิธีการที่ดีที่สุดที่จะสร้างไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมาได้ คือการได้อยู่ในวัฒนธรรมที่ต่างออกไป
เหมือนอย่างที่ Nietchzie บอกไว้ว่า “เมื่อคุณได้เรียนมาจนถึงจุดๆ หนึ่ง จงคืนความรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง และเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง” นอกจากนั้นแล้วผู้หญิงสาวชาวฝรั่งเศสก็เป็นแรงบันดาลใจที่ดีเหมือนกัน”
3. TONY HIDALGO / Chief Creative Officer : Saatchi & Saatchi, Mexico
Mexico ถือว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองในเชิงความคิดสร้างสรรค์ของโลก จะว่าไปแล้วในแง่ภูมิศาสตร์ของประเทศก็อยู่กึ่งกลางระหว่างสหรัฐอเมริกา และบราซิล น่าจะมีผลต่อความคิดสร้างสรรค์ที่ดีทีเดียว
ผลงานของ Tony ได้รับรางวัลมากมายจากหลายสถาบัน ไม่ว่าจะเป็น Cannes, Clio, D&AD, The One Show, San Sebastian Festival และ Festival Iberoameri Cano de Publicidad.
Tony ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานของ Mexican Creative Advertising เคยร่วมเป็นกรรมการตัดสินใน The Festival Circulo de Oro นอกจากนี้ยังเคยชนะรางวัล The Grand Prix of TV and Print ในงานเดียวกันนี้
ที่ผ่านมา Tony เคยดำรงตำแหน่ง Worldwide Creative Board ของ Leo Burnett และปัจจุบันเป็น Creative Board ที่ Saatchi & Saatchi Latin America
กับมุมมองของ Tony ที่มีต่อผลงานโฆษณาของไทยนั้น Tony เองก็อดที่จะชื่นชมชิ้นงานของไทยเมื่อถูกเอ่ยถามไม่ได้
“ผมเชื่อว่าปัจจุบันประเทศไทยได้กลายเป็นต้นแบบของความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ หลายๆปีที่ผ่านมา ผมได้เห็นไอเดียใหม่ๆ มาจากบริเวณนี้ของโลก และรู้สึกว่า ความคิดใหม่ๆ แบบนี้ ครอบคลุมสินค้าหลายๆ ประเภท ซึ่งสื่อให้เห็นถึงความมั่นคงสม่ำเสมอของวิวัฒนาการการโฆษณาในประเทศไทย”
Tony ยังได้อธิบายเพิ่มเติมถึงความโดดเด่นของงานโฆษณาไทยเมื่อเทียบกับงานจากที่อื่นๆให้ฟังว่า ผลงานของไทยในยุคหลังๆนี้ มีจินตนาการที่ไม่สิ้นสุด
“ผมว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นว่า จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์สามารถขยายออกไปได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนใหญ่วงการโฆษณาในละติน อเมริกา จะยึดโฆษณาของอังกฤษ หรืออเมริกันเป็นแบบอย่าง แต่ผมก็พยายามที่จะให้ลูกทีมของผมได้เรียนรู้จากแนวคิดของประเทศอื่นๆ บ้าง และผลงานจากประเทศไทยก็เป็นเรื่องแรกๆ เลยที่พวกเรามักจะดูกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โฆษณาทีวี”
Tony ยังได้พยายามวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้ครีเอทีฟของไทยมีผลงานร้อนแรงเช่นนี้ ว่าน่าจะมาจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวอย่างอาหารไทย
“ผมว่านะ อาหารไทยต้องช่วยให้คุณทำงานออกมาได้อย่างนี้แน่เลย ผมว่าไอเดียเด็ด ๆ ของพวกคุณคงมาพร้อมๆ กับตอนที่อาหารรสชาติจัดๆ อร่อยๆ ลงท้องพวกคุณแน่ ๆ”
เมื่อถูกถามถึงภาพยนตร์โฆษณาที่ประทับใจ Tony กล่าวว่า ตนเองนั้นประทับใจกับหนังโฆษณาของ Bangkok Insurance ชุดรถยนต์ ซึ่งมีไอเดียที่ดีและมีเทคนิคที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมจริง
“คำพูดปิดท้ายของหนังเรื่องนี้ช่วยให้หนังสมบูรณ์แบบอย่างไร้ที่ติ กับหนังอีกเรื่องที่ชอบก็คือ Ford เรื่อง King Kong ที่ทำออกมาได้เยี่ยมมากเหมือนกัน”
ส่วนงานโฆษณาสิ่งพิมพ์นั้น Tony กล่าวตรงๆว่า ยังไม่มีชิ้นไหนที่ผมชอบมากเป็นพิเศษ
“ผมคิดว่ายังมีโอกาสตรงส่วนนี้อีกเยอะมากสำหรับโฆษณาไทย” Tony ยังคงให้ความหวัง พร้อมกับให้คำแนะนำกับสิ่งที่คนโฆษณาไทยควรจะนำไปพัฒนา
“หนังโฆษณาไทยควรจะแสดงออกถึงความเป็นไทยต่อไป ซึ่งผมว่าเป็นลักษณะที่เปิดเผยและจริงใจชัดอยู่แล้ว และคุณควรจะรักษาความกล้าหาญที่จะสื่อไอเดียออกมา อย่างที่คุณคิดไว้ โดยไม่ได้ไปลอกแบบตามประเทศอื่นๆ เหล่านี้เป็นเหตุผลว่า ทำไมผลงานของพวกคุณถึงได้สดใหม่ ดึงดูด และ แสดงออกถึงความเป็นมนุษย์จริงๆ”
มาถึงคำถามทิ้งท้ายที่ว่า อะไรคือแรงบันดาลใจในการทำงานโฆษณา?
“แรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผมคือหนังเรื่อง “Rocky” ซึ่งเป็นหนังที่ผมนึกถึงเป็นเรื่องแรก เวลาที่ผมเจอเรื่องท้าทาย อุปสรรค หรือปัญหา หรือเวลาที่มืดแปดด้าน หนังบอกว่าให้สู้เข้าไป ให้เหงื่อมันไหลออกมา และทุ่มความปรารถนาอย่างเต็มหัวใจ แล้วอารมณ์ความรู้สึกอย่างท่วมท้น คือรางวัลตอบแทน” Tony กล่าวทิ้งท้าย
4.
NICK WORTHINGTON / Executive Creative Director - Publicis Mojo Auckland, New Zealand
Nick เป็น Creative ระดับโลกที่ได้รับรางวัลมากมายตลอด 10 ปี ไม่ว่าจะเป็น Gold Lions 10 รางวัล, D&AD Pencil 11 รางวัล, Gold British TV Advertising Awards 10 รางวัล Nick เป็นหนึ่งในครีเอทีฟไม่กี่คนที่ได้รับจารึกชื่อใน Guiness Book Of Records กับผลงานโฆษณาทาง TV: Levi’s “Drug Store” ที่ได้รับการขนานนามให้เป็นโฆษณาที่ได้รับรางวัลมากที่สุดในโลก
Nick เป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด เริ่มงานกับ BBH London ตั้งแต่ปี 1996 ได้รับการสั่งสอนให้ยึดกฎเหล็ก 3 ข้อ ต่อไปนี้
1. สร้างสรรค์งานที่ดี
2. ทำงานกับลูกค้าที่คิดเหมือนเรา
3. สนุกกับชีวิต
บางครั้ง Nick ก็ทำได้ทั้ง 3 อย่าง
เมื่อถูกถามถึงว่ามองโฆษณาไทยว่าเป็นอย่างไรนั้น Nick แสดงทัศนะให้ฟังว่า
“นานๆที จะมีโฆษณาไทย ผ่านมาให้คนที่นิวซีแลนด์เห็นซักที เราเคยดูโฆษณาไทย เพียงเพราะอยากรู้อยากเห็นว่าเป็นยังไง แต่ตอนนี้โลกแคบลงเรื่อยๆ เราเริ่มหันมามองโฆษณาไทยเหมือนๆ กับที่เรามองโฆษณาของเจ้าอื่นๆที่ทำในนิวซีแลนด์เอง”
โดย Nick ยังได้กล่าวเสริมถึงความแตกต่างในวิธีการเล่าเรื่องของโฆษณาไทยต่างกับโฆษณาในประเทศอื่นๆให้ฟังเพิ่มเติม
“ผมว่าแต่ละประเทศก็มีมุมมองทางวัฒนธรรมต่างกันไปนะ คนอเมริกัน ก็ต่างจากคนแคนาดา คนฝรั่งเศสก็ต่างจากคนสวีเดน แต่ละประเทศก็มีเอกลักษณ์ของตนเองหลายๆ แนว เราเคยชินกับการนำเสนอทางสังคมที่เต็มไปด้วยต่างวัฒนธรรม ต่างลักษณะของมันเองผ่านสื่อต่างๆ”
ถ้าจะให้ลงลึกไปในรายละเอียดเพิ่มเติมก็จะพบว่า ความโดดเด่นของงานโฆษณาสิ่งพิมพ์ในสายตาของ Nick ก็คือ ถ้าเป็นงานสิ่งพิมพ์โฆษณาไทยก็มีวิธีการเล่าเรื่องคล้ายๆ กับที่อื่นๆ เช่น การใช้ภาพที่สื่อความคิดอย่างเรียบง่าย ใครๆมองก็เข้าใจ
“มีงานดีๆ เรียบง่าย หลายงานที่สื่อสารออกมาได้ตรงใจและเข้าขั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะแยกชิ้นใดชิ้นหนึ่งออกมาได้ ซึ่งที่ Cannes มีสูตรการตัดสินอยู่สูตรหนึ่งที่คนคุ้น ๆ กัน ผมชอบงานที่ลึกมากกว่างานที่ใช้แค่ภาพดีๆ และคำปิดท้ายเจ๋ง ๆ ผมว่าผลงานชิ้น Tamiya “กบแตก” และ “Keep Chopping” ที่ใช้ภาพขวานไม่มีด้ามนั้นดีจริงๆ” Nick ยกตัวอย่าง พร้อมกับอธิบายต่อไปว่า
“ส่วนถ้าเป็นหนังทีวีก็อีกเรื่องหนึ่ง ที่ผ่านมา ผมว่าหนังโฆษณาไทย มีลักษณะเหมือนการแสดงละครเวที คือต้องทำอะไรให้เวอร์ ให้แรงๆ เสียงดังๆ ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิงกับหนังโฆษณาในอังกฤษ ซึ่งค่อนข้างนิ่งๆ มีอารมณ์ขันแบบลึกๆ
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้อะไรๆ ก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อย่างหนังโฆษณาประกันชีวิต Bangkok Insurance ที่มีลมพัดหมุนๆ มียางรถยนต์เด้งไปเด้งมา ก็สามารถออกอากาศได้ทุกๆที่ในโลกนี้
มันเป็นการยากที่จะจินตนาการว่า Smooth E จะมาฉายที่นี่ ถ้าได้จะเอามาฉายจริงๆ ก็คงจะกินใจมาก ทำไมนะเหรอ เพราะมันกล้าแสดงออก มันดูคลีเช่ และดูแล้วสนุกมาก เป็นงานที่สื่อให้เห็นถึงความมั่นใจ ผมขอแสดงความยินดีด้วยครับ” Nick ลำดับใจความ
แน่นอนว่าหนังโฆษณาสองเรื่องที่ยกมา ย่อมเป็นโฆษณาในดวงใจของ Nick นั่นเอง
“ผมเป็นคณะกรรมการตัดสินหนัง Kodak Gongs Awards ในห้องนั่งเล่นที่บ้าน ให้สมาชิกในครอบครัวเป็นกรรมการร่วมตัดสิน ผลที่ออกมาคือ หนังโฆษณาส่วนใหญ่คุณภาพแย่มาก สิ้นเปลืองเวลาพ่อของลูก ๆ ผมในการชมเป็นอย่างยิ่ง (แทนที่พ่อจะเอาเวลาไปปะยางจักรยาน หรือไปช่วยแม่ทำงานดีกว่า) แต่อย่างไรก็ดี ถ้าหนังมันจะดี มันก็ดีของมันจริงๆ หนังโฆษณาที่ชนะโหวต คือ Bangkok Insurance จากประเทศไทย กรรมการร่วมของผมนี้ เป็นหนึ่งในกรรมการที่เก่งที่สุดเท่าที่ผมได้ร่วมตัดสินมา”
Nick ยังได้ให้คำแนะนำอันทรงคุณค่ากับครีเอทีฟชาวไทย เช่นเดียวกับที่ Nick ได้แนะทีมครีเอทีฟของตนเอง ก็คือให้พยายามมองหาแรงบันดาลใจจากมุมมองภายนอกของวงการโฆษณา
พร้อมกันนี้ Nick ยังได้เล่าถึงแรงบันดาลใจของตนเองในการทำหนังโฆษณาส่งท้าย
“แรงบันดาลใจของผมมาจากการได้พูดคุย และรับฟังคนรอบๆตัว ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในวงการโฆษณาเสียด้วย”
5. AKIRA KAGAMI / Executive Creative Director, Dentsu Inc., Tokyo
Akira เปรียบเสมือนตัวแทนของแผนกสร้างสรรค์ของ Dentsu, Tokyo น้อยคนนักที่สามารถได้รับรางวัล Grand Prix จาก Asia Pacific Adfest ถึง 3 ครั้งด้วยกัน ผลงานที่สร้างชื่อให้กับ Akira คือ WOWOW “The Bridman”, “Running Woman” และ Japan Ad Council “Imagination Whale” ที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ ทั่วโลก
ทุกครั้งที่ใครก็ตามไปงาน Cannes ทุกคนก็จะพบกับ Akira ผู้ซึ่งเป็นผู้ต้อนรับแขกจากทุกมุมโลกกับงานสัมมนา “Asian Explosion Dentsu” และ Dentsu Party อยู่ทุกปีจนคุ้นตาของผู้เข้าร่วม Cannes ทั่วโลก
Akira ได้รับเชิญให้เป็นกรรมการประกวดโฆษณาชั้นนำของโลก เช่น Cannes, Clio, The One Show และได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธาณคณะกรรมการตัดสิน Ad Fest ในปี 2002 อีกด้วย
ในความเห็นส่วนตัวของ Akira นั้น Akira ค่อนข้างที่จะรู้สึกประทับใจงานโฆษณาของบ้านเรา เหตุผลเพราะ โฆษณาไทยนั้นทำให้ Akira รู้สึกว่าในอาชีพการทำงานของเรา ยังมีหลายๆ สิ่งที่เป็นไปได้
Akira ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า โฆษณาไทยมีวิธีการเล่าเรื่องต่างกับโฆษณาในประเทศอื่นๆ
“ผมเชื่อว่างานโฆษณาเกิดจากชีวิตประจำวันของเรานี้เอง ด้วยเหตุผลดังกล่าว โฆษณาไทยย่อมจะแตกต่างไปจากโฆษณาในประเทศอื่นๆ แน่นอน ส่วนใหญ่เราได้ยินอยู่เรื่อยๆ ว่า โฆษณาไทยมักนำเสนอผ่านอารมณ์ขันแบบบ้าๆ แล้วก็เป็นเรื่องจริงว่า เราได้เห็นผลงานที่ตลกมาก แบบที่ไม่เคยคิดมาก่อน แต่ผมรู้ว่ามันมีอะไรมากกว่านั้น ถึงแม้ว่าจะอยู่ในอารมณ์ที่ตลกสุดสุด แต่โฆษณาไทยก็ยังแสดงออกถึงอาการเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกับความดี และความเศร้าของมนุษย์ และผมว่าลักษณะนี้เป็นธรรมชาติและเอกลักษณ์ของโฆษณาไทยที่เยี่ยมยอดที่สุด”
กับคำถามที่ว่าหนังโฆษณาจากประเทศไทยเรื่องโปรดของคุณคือเรื่องอะไร และทำไมคุณถึงชอบ Akira กล่าวยอมรับว่า งานพรินต์แอดของไทยพัฒนาขึ้นมากอย่างรวดเร็วในหลายๆ ปีที่ผ่านมา ส่วนเรื่องที่ตนเองนึกได้ตอนนี้ ก็คือ โฆษณาของ Tamiya ที่ตนเองก็รู้สึกประหลาดใจที่โฆษณาชิ้นนี้ ต่างจากโฆษณาทางโทรทัศน์ เป็นผลงานที่ผลิตออกมา อย่างมีหลักการ มีเหตุมีผลมาก ทำให้รู้สึกได้ว่ากำลังสัมผัสกับอีกด้านหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์แบบของไทย
ส่วนในฝั่งของโฆษณาทีวีนั้น Akira แสดงทัศนะว่า
“มีหนังหลายเรื่องที่ผมชอบ ล่าสุด คงจะเป็นหนังของ Bangkok Insurance; Love Story ของ Smooth E และ อีกเรื่อง เป็นหนังเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ของกางเกงยีนส์ Wrangler “PRAY” ส่วนเหตุผลที่ทำไมถึงชอบ ก็เหตุผลเดียวกันกับงานโฆษณาพรินต์แอด”
Akira ยังได้ให้คำแนะนำไปยังบรรดาครีเอทีฟของไทย ถึงสิ่งที่ควรจะปรับปรุงก็คือ
“ผมเชื่อว่า ปัจจุบันนี้ โฆษณาไทยกำลังสร้างผลงานชั้นเยี่ยมระดับโลก ผมยังสงสัยว่า จะมีอะไรที่ต้องปรับปรุงอีกหรือไม่ แต่ถ้าจะให้พูด ผมคิดว่าก็คงเป็นเรื่องการคิดให้ไกล ให้ไปถึงอนาคต คิดถึงข้างหน้า และ จงสนับสนุนใน ครีเอทีฟไทยออกไอเดียสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา เพื่อต่อไปจะได้เป็นผู้นำของวงการโฆษณาโลก ไม่ใช่เป็นผู้นำแต่ในเอเชียเท่านั้น”
เมื่อถูกถามถึงแรงบันดาลใจในการทำงาน Akira ได้ให้ข้อคิดกับเรื่องนี้ว่า ขอให้สนุกสนานกับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน
“ก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษหรอกครับ แค่ออกไปเที่ยวนอกเมือง คุยกับคนโน้นคนนี้ ดูโทรทัศน์ ดูหนัง อ่านหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร และที่สำคัญที่สุดคือ จงสนุกสนานกับการใช้ชีวิตในแต่ละวันก็พอ”