Thursday 17 April 2008

Dreams : ต้องการเป็นผู้กำกับ รุ่นใหม่ไฟแรง

CREADIT LINK : http://childmedia.net/node/99
โดย รพี ชัยมุณี
ที่มา : คอลัมน์ ชีวิตนอกตำรา นิตยสาร ฅ คน.(มีนาคม 2549) : 82-83.
ภาพประกอบ : โครงการยุทธศาสตร์สื่อเด็ก

ในช่วงวัยแห่งการเรียนรู้เพื่อเพิ่มเติมประสบการณ์ชีวิตไปพร้อมกับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เด็กสมัยใหม่กับความอยากรู้อยากลองเป็นของคู่กัน ยิ่งรู้มากก็ยิ่งมีทางเลือก ให้ตัวเองมาก แต่การที่เด็กจะมีโอกาสได้ออกไปลอง ออกไปค้นหาตัวเองนั้น จะมีผู้ใหญ่สักกี่คนที่ให้เวลา ให้โอกาสและเฝ้ามองพวกเขา เพื่อไม่ให้เจอกับสิ่งที่ไม่พึง ประสงค์ในการเดินทางเพื่อสร้างเสริม ประสบการณ์ชีวิต

'โมทย์-ปราโมทย์ กีรติเกรียงไกร'
'โมทย์-ปราโมทย์ กีรติเกรียงไกร' นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์ เอกประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เขาก็เป็นอีกคนหนึ่งที่พยายามสร้างโอกาส ให้เด็กที่อยากเรียนรู้ ได้ทำในสิ่งที่ต้องการ

โมทย์เป็นเพียงนักศึกษาที่ไม่ได้มีปัจจัยพื้นฐานต่างอะไรไปจากคนอื่น แต่ความต่างที่เขามีคือ ความกระตือรือร้นและกระหายที่จะทำตามความฝัน โดยไม่ได้ทำเพียงเพื่อตัวเองเท่านั้น หากยังจุดไฟและสุมลามไปสู่เด็กรุ่นน้องคนอื่นๆ ด้วย 'GLOZE นิตยสารของเด็กมัธยม โดยเด็กมัธยม เพื่อเด็กมัธยม' คือกองไฟกองย่อมๆ ที่เขากำลังช่วยเขี่ยให้เชื้อไฟปะทุ
"เห็นหนังสือของเขาครั้งแรกในงานประจำปีที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ความคิดแรกคือ มันน่าจะไปต่อได้" โมทย์เล่าถึงการพบกับกลุ่มรุ่นน้อง ม.5 ที่ลงทุนกันทำหนังสือขายในโรงเรียน ตอนนั้นเขาเห็นความตั้งใจบางอย่างในกลุ่มเด็กๆ แม้หนังสือฉบับแรกจะล้มไม่เป็นท่า และทำให้ทุกคนต้องเสียเงินเปล่า
"ก็คุยกันระยะหนึ่งก่อน น่าจะเป็นเดือนกับการตรวจสอบทัศนคติว่าเอาแน่นะ ต้องเอาจริง เพราะว่าหนังสือมันไม่ใช่อะไรที่จะเลิกก็เลิก" พฤศจิกายน 2547 พวกเขาเซ็ตทีมกันใหม่ แม้ว่าสมาชิกในกลุ่มจะเหลือไม่ถึง 10 คน แต่ทิศทางการทำหนังสือก็ชัดเจนมากขึ้น จากหนังสือวัยรุ่นที่พวกเขานิยมว่าตามแฟชั่น กลายเป็นหนังสือที่ตั้งใจทำเพื่อเปิดมุมมอง รอบตัวให้คนวัยเดียวกันได้เห็นทางเลือกหลากหลายในการใช้ชีวิตวัยมัธยม

"มันเหมือนกับซื้อใจ เพราะผมไม่มีอะไรเลย มีแต่น้องนี่แหล่ะ ถ้าน้องทั้งวงยุบ ผมก็จบเหมือนกัน เราต้องซื้อเขาด้วยการให้ใจจนเขารู้สึกได้ก่อน เขาก็จะให้กลับมาเอง เพราะเด็กเขาไม่ได้คิด เรื่องธุรกิจ เขาคิดแบบ..ฉันชอบ ฉันรัก ก็จะทำ คิดแบบทุ่มเท ทำด้วยใจบริสุทธ์ เราก็ต้องแลก"

กว่า 8 เดือนกับการทำหนังสือร่วมกับน้องๆ ที่สมัครใจทำต่อ ในที่สุด GLOZE ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 ก็เผยโฉมอวดผู้คน พวกเขากระจายกำลังไปตามโรงเรียนอื่นๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อเข้าถึงคนอ่าน รวมถึงเพื่อนๆที่อยากทำงานเขียนและมีการเปิดตัวให้คนทั่วไปได้ รู้จักในงานแถลงข่าว 'สื่อเพื่อเด็กไทย ก้าวไกล...ไปถึงไหน' ซึ่ง GLOZE เป็น 1 ใน 6 สื่อของเด็กและเยาวชน ที่ได้รับการคัดเลือก

โครงการนี้ พวกเขาได้รับการสนับสนุนจาก สสส.เป็นระยะเวลา 1 ปี แต่โมทย์ก็บอกว่ามันเป็นแค่เงินจำนวนหนึ่ง ยังมีส่วนที่ต้องหาเพิ่ม การไปงานครั้งนี้เป็นการพาน้องไปเปิดตัวมากกว่า
"การได้ที่ตรงนี้แม้ว่าผมจะเป็นคนดิ้นรน แต่เราก็ต้องแสดงศักยภาพของน้องให้มากที่สุด มันไม่มีประโยชน์หรอกถ้าทุกอย่างเป็นผมหมด แต่ตรงนี้เราหาพื้นที่ให้ ให้มันเป็นงานของน้อง น้องมาทำงาน พอเราเห็นเขาขึ้นเวที เรารู้สึกว่า เราพอจะมีปัญญาทำอย่างนี้ได้บ้าง ก็รู้สึกดี" พูดถึงตรงนี้โมทย์ยิ้มแบบปลื้มๆ

ในมุมหนึ่ง โมทย์ดูเมือนเด็กหนุ่มที่เล่นสนุกอยู่กับการทำกิจกรรมกับน้องๆ แต่ในแง่ของความรับผิดชอบและความคิด เขากลับมีความเป็นผู้ใหญ่ และใช้เหตุผลในการทำงานค่อนข้างมาก
ผมเรียนประชาสัมพันธ์มา เวลาทำงานก็คิดวิธีประชาสัมพันธ์ด้วย เพราะหนังสือเกิดขึ้นมาแล้ว ต้องรู้ว่าเกิดมาเพื่ออะไร มีหน้าที่อะไร มีปรัชญา วิสัยทัศน์ภายในปีนี้จะไปถึงไหน 6 เล่ม แล้วแกนจะเป็นยังไง ต้องดูไม่ให้สะเปะสะปะ

กับแผนคร่าวๆในการสร้างกรอบประกอบฝันให้น้องๆ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นสำหรับโมทย์แล้ว เขามอง GLOZE ไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้มาก

"มอง GLOZE เป็นองค์กร ในอนาคตอยากให้เด็กวัยรุ่นคิดถึงเรา นอกจากสื่อสิ่งพิมพ์ เราอาจจะมีรายการวิทยุเล็กๆ ฟังเพลงออนไลน์ในเว็บอีกสื่อหนึ่ง อาจต่อยอดไปผลิตทีวีเล็กๆ ให้เด็กได้ถ่ายทำรายการแล้วตัดต่อขึ้นเว็บไซต์ ต่อไปถ้าเรามีเงินทุน ก็อาจเปิดค่ายเพลงให้เด็กทำเพลง แล้วก็โหลดฟังกันได้ หรือเด็กคนไหนทำหนัง อยากเป็นผู้กำกับ ก็ทำไป"

โมทย์จริงจังกับความฝันมาก ฟังแล้วก็สงสัยว่าเขาจะทำไปเพื่ออะไร และทำไมถึงต้องทำใหญ่โตขนาดนั้น
"ผมอยากส่งเสริมให้เด็กได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ คือเด็กเราเก่งนะ แต่มันแย่ที่บ้านเราไม่ค่อยมีพื้นที่ให้เขา เหมือนเป็นถั่วงอก ไม่มีรู ไม่มีแปลงที่เตรียมพร้อม ถ้าเรามีเวทีของเราเอง เราเป็นแบรนด์ขึ้นมา เราจะมีกำลังผลักดันน้องกลุ่มอื่นๆ อีกหลายร้อยคนให้เขาได้มีเวที ได้ยืน ได้พูด ได้ทำอะไรเยอะแยะ

"เรื่องที่คิดนี่ยังไม่เคยเล่าให้น้องๆฟัง เขาอาจคิดว่า เฮ้ย! พี่...มันอะไรนักหนา แต่ถ้าเราไม่คิด เราก็ไม่มีฝัน ไม่มีไฟ มันก็จะแค่ว่าเล่มนี้แล้วเล่มหน้าเป็นยังไงแล้วก็จบ มันสั้นไป อย่างที่ผมคิดเนี่ยอีก 4-5 ปี มันคงจะเกิดขึ้น ถ้าระยะสั้นสัด 1-2 ปี ให้มีวิทยุทีวีขึ้นมา หรือจัดกิจกรรม Meeting ประจำปี อาจจะมี 1 โรงเรียน 1 หนังสือ (หัวเราะ) มันก็ต่อยอดไปเรื่อยๆ อีก 5 ปี -10 ปี ก็จะมีทุกอย่าง

ฝันระยะยาวของโมทย์กับการผลักดันน้องๆวัยมัธยม อะไรคือแรงจูงใจให้เขาเลือกทำงานกับเด็ก แทนที่จะทำงานกับเพื่อนวัยเดียวกัน

"ผมเลือกทำงานกับกลุ่มเด็กมัธยม เพราะผมมองว่าถ้าเป็นเด็กประถมอาจจะเด็กไป แต่ถ้าเด็กมหาวิทยาลัย บางทีมันเหมือนกับว่ากว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยก็สายเสียแล้ว
"ม.1 เริ่มมาจากเด็ก เริ่มโตมา 6 ปี จะเลี้ยวซ้ายหรือขวาก็ได้ จะพุ่งแหกโค้งก็ได้ ถ้าเราเอา ม. 1-ม.6 มาทำให้เขามีแนวทางที่ดี ทำให้เยาวชนที่จะโตต่อไปมีอะไรมากขึ้น
"อีกหน่อยน้องๆกลุ่มนี้ก็จะโต ต้องไปเรียนมหาวิทยาลัย กลับมาเป็นรุ่นพี่ GLOZE มาช่วยต่อยอดให้เด็กมัธยมรุ่นต่อไปที่จะเข้ามาทำงาน มาทำสิ่งที่อยากทำต่อไปเรื่อยๆ"
ทุกวันนี้โมทย์ยังคงต้องวิ่งหาสปอนเซอร์ ติดต่อประสานงาน และช่วยจัดการเนื้อหาและรูปเล่ม เพื่อสร้างแนวทางร่มกันก่อนที่จะปล่อยให้น้องทำเองหมด

"อย่างที่ทำอยู่นี่เหมือนหาเรื่องใส่ตัวนะ เรียนก็ต้องเรียน งานก็ต้องทำ แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะได้เงินอะไร ต้องวิ่งหาเงินอีก แต่ทำแล้วมีคนสนใจ มีเด็กเริ่มอีเมลล์มาคุยกับเรา ถ้าไม่ทำก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน ถ้าเราทำมันก็มีคนที่เล่นด้วยกับเรา คนที่คิดเหมือนเราแต่ยังไม่กล้าที่จะทำ ผมคิดว่าถ้าอยากทำมันต้องกล้า บ้าด้วย กล้าหรือบ้าก็ไม่รู้นะ

"ไม่เคยท้อ เพราะเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำเรียกว่าดี บางคนคิดว่าเราทุกข์ เหนื่อย ไม่ได้หลับได้นอน แต่จริงๆเรามีความสุข ก็เลยเปลี่ยนคำว่าเหนื่อย ท้อ เป็นสนุกมากกว่า ถึงตอนนี้จะมีคนแค่นี้ เดี๋ยวก็มีคนมาช่วย เดี๋ยวคนก็มากขึ้น" ความสุขปรากฏชัดเจนบนใบหน้าโมทย์

"อยากให้เอาเราเป็นตัวศึกษา ว่าสิ่งที่เราทำก็ไม่ได้มาจากทุกอย่างพร้อมหมดนะ มาจากศูนย์นี่แหล่ะ เริ่มจากความคิดบวกกับความพยายาม สู้กับมันให้เต็มที่แล้วก็จะเกิดขึ้นได้

"มันเกิดขึ้นได้เพราะเด็ก เด็กแต่ละคนก็มีสิ่งที่อยากทำของเขาในใจ

"หน้าสุดท้ายของ GLOZE ที่อยากจะมีทุกเล่ม คือ 'GLOZE สนับสนุนเด็กไทยให้เชื่อมั่นในตัวเอง' อยากให้เด็กศรัทธาในความสามารถตัวเอง อย่าแบบกูทำได้ แต่ไม่กล้าเดี๋ยวโดนด่า คิดอย่างนั้นไม่ได้ ไม่มีอะไรสมบูรณ์พอให้ทุกอย่างดำเนินไปได้หรอก เอาแค่มีจุดๆหนึ่งก็พอ แค่ 60-70% หรือ 30% ก็พอ แต่ความตั้งใจต้อง 100% นะ"

ดูเหมือนว่าทุกอย่างที่ทำสำหรับโมทย์นั้น มีเพียงความตั้งใจดีที่จะสร้างเด็กๆ ให้เดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ด้วยแสงนำทางที่สว่างออกมาจากตัวเด็กเอง
การเดินทางของเด็กกลุ่มหนึ่งเพื่อทำในสิ่งที่รัก โดยมีโมทย์เป็นพี่เลี้ยง ในขณะที่เด็กๆได้ทำความเข้าใจกับถนนสายใหม่ ถนนของโมทย์เองก็ยิ่งชัดเจนขึ้นกับความตั้งใจ ที่จะเป็นผู้ดำรงฝันของเยาวชน โมทย์กำลังสร้างเครือข่ายเล็กๆ บนถนนของเขา และขณะที่นั่งคุยกันนี้สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือแวงสว่างที่เปล่งประกายอยู่ในตัว ของโมทย์