Thursday, 17 April 2008

Dreams : “แด่พระผู้ทรงธรรม” โครงการหนังสั้นเฉลิมพระเกียรติ

ปรามธานี วงศ์พรหมเมศร์ หรือ ปราม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสสัมผัสงานที่แตกต่างจากการเรียนในคณะสถาปัตย์มาสู่การทำงานจริงในฐานะผู้กำกับหนัง แต่เธอบอกว่ามันเกิดจากความบังเอิญ “พอดีได้อ่านหนังสือพิมพ์แล้วเจอข่าวโครงการนี้ ตอนนั้นเป็นช่วงปิดเทอมด้วย บวกกับอยู่ในช่วงเบื่องานคณะด้วย (หัวเราะ) คือแบบมันกินเวลาของเราไปหมดเลยนะงานเร่งงานรีบ ทุกเสาร์อาทิตย์ก็ต้องดราฟแบบ ไม่เหมือนคณะอื่น พอปิดเทอมนี่คือสวรรค์เลยนะ เลยอยากหาอะไรทำที่มันต่างจากงานคณะบ้าง ” และเธอเป็นคนชอบวาดการ์ตูนชอบคิดเรื่องราว ชอบสื่อความคิดให้ออกมาเป็นภาพให้คนอื่นได้รับรู้ งานนี้จึงน่าลองทำดู
หลังจากรู้ข่าวจึงหาข้อมูลคิดเขียนและส่งโครงเรื่องคร่าวๆเข้าไปประกวดคัดเลือก จากร้อยกว่าเรื่องจนเหลือ 5 เรื่องสุดท้ายที่ถูกนำไปถ่ายทำและฉายจริง ในโครงการสร้างภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ “แด่พระผู้ทรงธรรม” เนื่องในศุภวาระที่พระบาทสมเด็กพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้ดำเนินการ
ปรามเล่าให้ฟังถึงขั้นตอนกว่าจะได้รับคัดเลือกว่า เธอรู้ข่าวโครงการช่วงกลางเดือนเมษายนซึ่งระยะเวลาหมดเขตส่งเรื่องคือปลายเดือน เธอจึงต้องคิดและเขียนส่งให้ทันในเวลาไม่กี่วัน เธอเริ่มหาข้อมูลและคิดออกมาได้เป็นหนังที่มีชื่อเรื่องว่า “ทะเลของก้อย” “โจทย์คือให้คิดโครงเรื่องหนังสั้นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ชีวประวัติของในหลวงค่ะ แต่สื่อถึงสิ่งที่ในหลวงทำให้ประชาชนได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ก็เลยคิดเป็นเรื่องของเด็กนักเรียนหญิงม.ปลายคนหนึ่งที่เกิดความเครียดจากการอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย แล้วไม่รู้จะทำยังไงกับภาวะตอนนั้น แล้วไปเห็นหนังสือพระมหาชนกในห้องสมุดก็เลยได้เปิดอ่าน ซึ่งเรื่องราวในหนังสือมีผลทำให้เขาเกิดกำลังใจขึ้นมา นี่คือโครงเรื่องคร่าวๆ ในหนังจริงๆก็จะมีการใส่รายละเอียดอะไรต่างๆเข้าไปอีก”
เธอนำเรื่องใกล้ตัวที่เคยผ่านมาไม่นานมาใช้เป็นโครงเรื่องและจากความคิดนี้ก็ส่งผลให้เธอได้รับคัดเลือกในเดือนพฤษภาคม เดือนนี้เธอต้องหาทีมงาน เสนองบประมาณ เขียนโครงเรื่องอย่างละเอียดถูกต้องพร้อมที่จะนำไปใช้ถ่ายทำหนังจริงๆได้ ซึ่งเธอบอกว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเธอไม่มีความรู้ด้านนี้ “เราก็ไม่เคยรู้เรื่องการทำหนังมาก่อนเลย ก็ต้องหาคนมาช่วยไม่งั้นไม่รอดแน่ เขียนโครงเรื่องคร่าวๆพอได้ แต่ถ้าต้องเขียนโครงเรื่องแบบละเอียดถูกต้องตามหลักเพื่อเอาไปทำหนังจริงอันนี้ทำไม่ได้แล้ว ซึ่งตอนนั้นเหลืออีก 2 วันก่อนหมดเวลาส่ง ก็เข้าไปแอดเมล์ทุกคนที่มีในเว็บบอร์ดของเว็บ thaishortfilm.com จากการแนะนำของเพื่อนแล้วก็บอกว่าเราได้ทุนทำหนัง มันเป็นอะไรที่เสี่ยงมากจริงๆนะ แต่ไม่รู้จะทำยังไง ก็เจอพี่คนหนึ่งที่ดีมากพอเราเอาโครงเรื่องให้เขาดูเขาก็ช่วยทำจนทันส่งได้ ซึ่งตอนแรกปรามจะยกโครงเรื่องให้เขาไปทำต่อเองเลย แต่พี่เขาก็ดันเราให้เป็นผู้กำกับเอง แต่เราไม่มีประสบการณ์สุดท้ายเราก็เลยให้เขามาเป็นผู้กำกับร่วมด้วย”
แม้ไม่เคยทำหนังมาก่อนแต่ด้วยความตั้งใจของปรามที่อยากจะทำ ก็ช่วยให้เธอได้สัมผัสการเป็นผู้กำกับจริงๆในวันเปิดกล้องช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ใช้เวลาถ่ายทำ 2 วัน กับหนังที่มีความยาวไม่เกิน 15 นาที แม้ตัวหนังจะไม่นานแต่สิ่งที่เธอได้กลับมากมายเหลือเกิน และนี่คือสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ด้วยตัวเองเพิ่มขึ้น “ได้รู้ถึงความงี่เง่าของตัวเอง แบบว่าเราเกิดอารมณ์น้อยใจ คือตัวเราไม่มีประสบการณ์ เวลาทำงานมันเหมือนไม่มีตัวตนอ่ะ แต่ดันได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้กำกับก็มีแอบคิดว่า เอ๊ะนี่มันหนังเรารึเปล่าว่ะอะไรเงี้ย (ยิ้ม) แต่ทีมงานเขาดี เริ่มจากโปรดิวเซอร์เขาเริ่มเห็นสีหน้าเราก็เข้ามาคุยกับพี่ผู้กำกับร่วม พอดีวันที่ถ่ายมันตรงกับวันที่เราต้องส่งแบบงานคณะด้วยก็ไม่ได้นอนมาทั้งคืนพอส่งแบบเสร็จก็ออกเดินทางไปถ่ายหนังต่อเลย ด้วยความง่วงบวกความเครียดมันก็ทำให้เกิดสีหน้าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ตรงนั้นทำให้เรารู้สึกถึงความเป็นเด็กในตัวเราเลย ซึ่งความเป็นเด็กมันไม่ได้วัดกันที่อายุนะ มันดูที่วุฒิภาวะ การควบคุมสถานการณ์ เวลาทำงานกับคนอื่นแล้วทำไมเราเด็กจังเลย(หัวเราะ) เรายังง๊องแง๊งอยู่เลย” และเธอยังได้รู้ว่าแม้จะได้ชื่อว่าหนังสั้น แต่กระบวนการผลิตก็มีความยุ่งยากซับซ้อนไม่ง่ายอย่างที่เธอเคยคิดมาก่อน
เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่อยากเป็นผู้กำกับกันมาก เมื่อเธอได้รับโอกาสนี้แล้วผมถามว่ารู้สึกยังไงบ้าง “ก็ชอบนะ รู้สึกดีค่ะ แต่ถ้าถามว่าเท่มั้ย เท่หรอ... มันอาจจะเท่ตรงที่ว่าชื่อผู้กำกับได้ขึ้นไงมันก็อาจจะเท่ตรงนั้นมั้ง แต่ชีวิตคนเรามันคงไม่ใช่แค่ขอให้ได้ขึ้นชื่อขึ้นมาแล้วก็... มันน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น (ยิ้ม)” และสิ่งที่เธอฝันอยากทำมากที่สุดคือการเปิดสตูดิโอทำงานศิลปะอะไรก็ได้ ที่ให้ทุกคนได้มาใช้เป็นพื้นที่โชว์งาน เช่นวาดรูป ทำหนัง เขียนนิยาย และอะไรก็ได้เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนคิดและสร้างสรรค์ในสิ่งที่ตัวเองชอบ
ผลงานเรื่องนี้ของเธอจะได้ร่วมฉายกับโครงเรื่องที่ผ่านการคัดเลือกอีก 4 เรื่อง รวมกับอีก 4 เรื่องที่ทำโดยผู้กำกับอาวุโสรับเชิญ 4 คนคือ บัณฑิต ฤทธิ์กล, เป็นเอก รัตนเรือง, อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล และวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง รวมเป็น 9 หนังสั้น ที่จะเปิดฉายให้ชมกันฟรีไม่ต้องซื้อบัตรในเดือนกันยายนนี้จำนวน 5 รอบเท่านั้น
สอบถามรายละเอียดโครงการนี้เพิ่มเติมได้ที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
โทร. 02 422 8888 หรือ www.ocac.go.th
LINK: http://www.bkknews.net/newbkk1/Bkkyao/detail.php?idnew=16