Wednesday, 16 April 2008

Dreams : อยากทำโฆษณา อยากเป็นผู้กำกับ เป็นครีเอทีฟ ก็ไปเขียนสตอรี่บอร์ด สมัครไปทั้งที่ไม่มีพื้นเลย

สัมภาษณ์ โดย ธัญสก พันสิทธิวรกุล ถ่ายภาพ โดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล

Apichatpong Weerasethakul
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
สัมภาษณ์ โดย ธัญสก พันสิทธิวรกุล ถ่ายภาพ โดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล
พี่มีงานอย่างอื่นด้วยนอกจากหนัง อยากทราบว่ากระบวนการคิดและทำต่างกันไหมคือวิดีโออาร์ต มันจะมีอิสระกว่า แต่ก็ไม่ได้ง่ายกว่านะ มันจะเน้นเรื่องอารมณ์มากกว่าหนัง ส่วนมิวสิควิดีโอนี่ เรามองว่าไม่ต่างจากวิดีโออาร์ตเลยนะ คือแทบไม่ต้องสื่ออะไรเลย เน้นที่ภาพอย่างเดียว เพราะมิวสิควิดีโอก็มาจากสายหนังทดลอง ทีนี้ พอเราทำมิวสิควิดีโอ เราก็จะทำมันออกมาเหมือนแบบที่ทำหนังทดลองนั่นแหละ คือวิดีโออาร์ตนี่ คนจะเข้ามาตรงไหนของเรื่องก็ได้ ไม่ต้องดูแต่แรกก็ได้ ในขณะที่หนังมันต้องดูตั้งแต่ต้นจนจบ
พี่เริ่มทำวิดีโออาร์ตตั้งแต่เมื่อไหร่น่าจะตั้งแต่ปี 98 นะ คือเราไม่แยกนะ บางทีก็เป็นหนังสั้น หนังทดลอง บางทีก็เอามาทำอินสตอลเลชั่น(ศิลปะการจัดวาง โดยคำนึงถึงองค์ประกอบของพื้นที่เพื่อสื่อความหมายร่วมกับชิ้นงานหรือภาพเคลื่อนไหว) คือเราไม่ซีเรียส บางทีมันไม่จำเป็นต้องอินสตอลก็ได้ อย่างเรื่อง Malee & The Boy แสดงครั้งแรกที่จุฬา กับ Like the Relentless Fury of the Pounding Waves (แม่ย่านาง) ในงาน Alian Generation พี่เจี๊ยบ(กฤติยา กาวีวงศ์)จัด แล้วก็มี Boys at Noon Girls at Night ฉายสองจอ คือด้วยความที่ชิ้นแรก ๆ นี่ทำด้วยความอยากทำ เลยแสดงในเมืองไทยก่อน แต่หลัง ๆ มานี่เป็นงานแบบคอมมิสชั่น คือแล้วแต่นิทรรศการไหนจะให้เราทำ ก็ต้องไปแสดงที่นั้น ๆ ก่อน ซึ่งงานพวกนี้หลัง ๆ จะมาจากเมืองนอกให้ทำมากกว่า
พี่คิดว่างานช่วงแรกของพี่มีความต่างจากงานในปัจจุบันนี้ไหมตอนนั้นเราลองเรื่องการเล่าเรื่อง แล้วก็พยายามหาที่มาของวิธีเล่าใหม่ ๆ เพื่อจะสานต่อจากที่เราทำไว้ใน ดอกฟ้าในมือมาร เป็นเรื่องการหาสิ่งที่เราเชื่อมโยง กับสิ่งที่เราโตขึ้นมากับมัน อย่างการ์ตูนเล่มละบาท ละครวิทยุ เราทำพวกนี้ตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ชิคาโก เพราะเป็นสิ่งที่ที่นั่นไม่มี มันเลยเหมือนการโหยหา อยากจะเอาของพวกนี้มาประยุกต์ หรือกลับไปค้นหารากเพื่อจะเอามาใช้ คือเราว่าหนังทดลองคือการค้นหาแนวทางใหม่ ๆ ซึ่งเราลองเอาของเก่าพวกนี้มาใช้ประยุกต์กับสไตล์ใหม่ โดยเฉพาะของไทยนี่ยิ่งน่าสนใจ เพราะมันยังมีพื้นที่อีกเยอะที่ยังไม่ถูกสำรวจ
ยกตัวอย่างสักเรื่องได้มั้ย อย่าง Malee & The Boy ชิ้นนั้นเป็นการทำหนังภายในหนึ่งวัน เหมือนไดอะรี่ปิกนิก ตอนนั้นคนที่ทำคอนตินิว(ควบคุมการต่อเนื่อง)ให้เรา เขามีน้องชาย 7 ขวบ แล้วเด็กคนนี้ก็จะป้วนเปี้ยนแถวออฟฟิศ ก็เลยคิดว่าลองขับรถแล้วก็ไปถ่ายเลย คือตอนนั้นเหมือนเป็นแรงขับว่า ตอนนี้ต้องทำหนังสักเรื่องแล้วล่ะ ก็ไปห้างสรรพสินค้า ไปโรงพยาบาล แล้วให้น้องเขาติดไมค์ไว้ตลอดทาง อัดเสียงเข้าเครื่องมินิดิสก์ แล้วเราก็ถ่ายสถานที่ที่เขาไป ถ่ายตัวเขาด้วย แล้วก็เอามาตัด คือเราขับรถไปตามสถานที่ที่เราชอบ แล้วปล่อยให้เด็กไปอัดเสียงมาให้หน่อย ทีนี้ตัวเขาก็จะเหมือนไมโครโฟนที่เดินไปเรื่อย คือเราอยากทดลองในแง่ของภาพกับเสียง อย่างเรื่องดอกฟ้าฯ มันเหมือนการร่วมงานกันระหว่างเรากับคนหลาย ๆ คนในประเทศไทยที่ให้เรื่องราวกับเรามา แต่ในเรื่องนี้เด็กเป็นเหมือนคนที่มอบเรื่องราวผ่านเสียงต่าง ๆ ให้กับเรา คือเรามองว่าในหนึ่งวันของชีวิตคน มันมีเรื่องราวมากมาย แล้วเราก็พยายามรวบรวมมันจากสิ่งแวดล้อมของชีวิตเด็กคนหนึ่ง
แล้วงานในปัจจุบันของพี่ต่างจากตอนนั้นอย่างไรตอนนี้เราสนใจวิธีการเล่าเรื่องน้อยลง คือเราเริ่มพบว่าการค้นหาที่มาของการเล่าเรื่อง มันเริ่มลึกเข้าไปในตัวมากขึ้น เริ่มมองว่าเราเล่นไปในทางทฤษฎีเยอะ แล้วเรากลัวว่างานมันจะแข็ง จนมันอาจไม่ใช่สิ่งที่เราค้นหาอยู่ เราเลยคิดให้น้อยลง แต่ใส่ความรู้สึกเข้าไปมากขึ้น งานหลัง ๆ มันเลยดูจะไม่มีความหมายอะไร เป็นเรื่องของอารมณ์ล้วน ๆ อย่างเรื่อง Faith , Luminous People (ลอยอังคาร), The Anthem แล้วบางทีเราเลยทำกับหนังสั้นเหมือนเป็นอินสตอลเลชั่นไปเลย คือไม่ว่าจะเข้ามาดูตอนไหนก็จะไม่รู้เรื่องอยู่ดี(หัวเราะ) แต่จะได้อารมณ์ในขณะนั้นไป
ยกตัวอย่างสักเรื่องให้เห็นภาพชัดหน่อยได้มั้ยอย่าง Luminous People มันเกิดจากตอนเราไปเห็นพิธีลอยอังคารที่แม่โขง แต่เราพยายามเซ็ตอัพมันขึ้นมาใหม่ คือเราพยายามจะคิดว่า มีอะไรที่เราจำได้บ้าง ตอนที่เราไปลอยอังคารพ่อเรา ค่อนข้างจะด้นสด ไม่ได้เขียนเป็นบท แต่เขียนเป็นกิจกรรมว่าต้องทำอะไรบ้าง แล้วก็ถ่ายไปเรื่อย ๆ แต่เสียงนี่มาทีหลัง ก็มีอัดเสียงบรรยากาศด้วย แล้วพอหลังจากตัดต่อแล้ว ก็ให้ทีมงานที่ไปถ่ายทำด้วยกัน มาพากย์จากภาพที่เราตัดต่อมา ตอนแรกจะเป็นเหมือนหนังเงียบ จะมีแค่เสียงเรือ แต่ตอนหลังคิดว่าให้ทีมงานลองเล่าเรื่องราวของเขาเองลงไปด้วยจะดีกว่า แล้วเราก็ตัดทอนจนเหลือแค่เรื่องที่โก๋(นิติพงศ์ ถิ่นทัพไทย)ร้องเพลงเกี่ยวกับวิญญาณพ่อของเขามาหา ก็ยังมีความเชื่อมโยงกับการทดลองก่อน ๆ นะ แต่เราไม่ได้คิดว่าเรากำลังทดลองเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เราคิดว่าก็เป็นเรื่องของคนรอบข้างเรา คือเราคิดว่าจะเอาสิ่งนี้มาช่วยในเรื่องอารมณ์ได้อย่างไรมากกว่าจะคิดว่า เราต้องการทดลองอย่างไร เพื่ออะไร คืองานชิ้นแรก ๆ เราไม่ได้คิดถึงเรื่องอารมณ์เหมือนตอนนี้ คิดแค่ว่าเฮ้ย จะมีวิธีไหนอีกบ้างที่จะผลักดันสื่อภาพยนตร์ไปสู่อนาคต เพื่อจะค้นหาว่าคนทั่วไปยังไม่ทำ หรือแม้แต่เราเองยังไม่เคยทำ แต่ตอนนี้เราไม่ได้คิดจะทดลองเพื่อค้นหาสิ่งนั้นแล้ว เป็นแค่การรู้สึกกับอารมณ์ขณะนั้นมากกว่า อย่าง สุดเสน่หา กล้องจะไม่เคลื่อนเลย แล้วก็แทบจะไม่มีภาพแทนสายตาเลย จะมีอยู่แค่ครั้งเดียวเองมั้ง ท้ายเรื่องตอนที่รุ่งมองขึ้นไปบนฟ้า แต่อย่างเรื่องหลัง ๆ เราไม่คิดอะไรพวกนี้แล้ว มันเลยผ่อนคลายมากขึ้น อย่างพอมันหันไปมองปุ๊บ คนดูก็จะได้เห็นภาพที่ตัดละครนั้นกำลังมองอยู่ทันที คือวิญญาณของโหวเชี่ยวเฉียนมันลอยออกไป(หัวเราะ) เมื่อก่อนถูกสิงอยู่ หลัง ๆ เลยมีดอลลีเข้ามาด้วย
ดูเหมือนบรรยากาศ พื้นที่ แล้วก็คนรอบข้างจะมีส่วนสำคัญในงานของพี่มากขึ้นเรื่อย ๆแน่นอน ๆ มันเป็นรีแอคชั่นระหว่างเรากับคนอื่น อย่าง Faith ที่เป็นมนุษย์อวกาศ เราทำเพราะตอนนั้นอกหักจะตาย(หัวเราะ) แล้วเรื่อง Waterfall เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโต้ง(ศักดา แก้วบัวดี) คือส่วนใหญ่มันเป็นเรื่องที่ได้มาจากการใช้ชีวิตน่ะ แล้วหนังมันก็เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของเราด้วย แล้วคนรอบข้างเราก็เป็นทีมงานที่ทำหนังด้วยกัน มันเลยเหมือนการสะท้อนกันไปมา ช่วงหลัง ๆ งานของเราเลยมีอุปกรณ์ทำหนังโผล่เข้ามาด้วย เคยคิดเหมือนกันว่า อยากทำสักเรื่องที่เห็นอุปกรณ์การถ่ายทำในเฟรมเลยดีมั้ย เห็นไมค์บูม เห็นอุปกรณ์จัดแสง แต่ก็มีคนทักว่า เฮ้ย อย่างนั้นนี่โกดาร์ด ทำแล้ว แต่เรากลับคิดว่าไม่เห็นจำเป็นเลย ว่าจะมีใครเคยทำมาก่อนหรือเปล่า แต่บางเรื่องก็ไม่เหมาะนะ อย่าง แสงศตวรรษ ตอนเราไปฉายที่สวิส แล้วเขาฉายผิดGate(ประตูเครื่องฉาย ซึ่งจะทำให้ขนาดของกรอบภาพที่ต่างกัน) แล้วมันเลยเห็นบูม เห็นอะไรโผล่มาด้วย เราก็โวยวายเพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เราตั้งใจจะให้เป็น เสียอรรถรสด้วย แต่อีกใจนึงเรากลับคิดว่า เออ นี่ไง คือสิ่งที่เราเคยคิดอยากให้คนดูเห็น แล้วจะไปปิดบังมันทำไม แต่พอฉายแล้วมันกลายเป็นหนังอีกเรื่องนึงไปเลย คือสำหรับเรามันเหมือนภาพโป๊น่ะ มันเป็นการเปลือยเทคนิค หนังมันคือการสร้างภาพลวงให้คนดู พาให้คนลอยออกไปจากความจริง ซึ่งพอเห็นไมค์ แทนที่เขาจะไหลไปกับเรื่องราวในหนัง เขาก็จะคิดถึงเทคนิคมากกว่า คือมันก็น่าสนใจนะ แต่สำหรับหนังเรื่องนี้มันไม่ใช่น่ะ

More and Creadit Link : http://thaiindie.com/wizContent.asp?wizConID=572&txtmMenu_ID=7