Thursday 17 April 2008

Dreams : ฝันเล็กๆของเด็กอยากเป็นผู้กำกับ

เมื่อ “เอ็ม” นักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่ง ต้องเผชิญกับความจริงที่ว่าเขาได้ลงมือฆาตกรรมโหดครอบครัวของ “เมย์” แฟนสาวของเขา ทั้งคุณยาย คุณอา ซึ่งเป็นครูสอนเคมีโอลิมปิกของเขาเอง และแม้แต่ “น้องแพร้ว” สุนัขตัวน้อยของเมย์ ก่อนจะปลิดชีวิตตัวเองหนีความจริง เศษเสี้ยวจิตสำนึกสุดท้ายของเอ็มพาเราย้อนกลับไปค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของคดีฆาตกรรมอันสะเทือนขวัญครั้งนี้

ข้างต้นคือเรื่องย่อของ “วัยสะรุ่น วุ่นแล้วฆ่า” ละครสะท้อนเรื่องจริงเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมในโรงเรียนมัธยมชื่อดังแห่งหนึ่ง เล่าผ่านมุมมองของกลุ่มคนวัยเดียวกัน ด้วยรูปแบบละครที่ไม่ใช้ sound ไม่มี prop ไม่เน้น costume เริดหรูอลังการ อาศัยเพียงชุดนักเรียนกระโปรงบานขาสั้น และมูฟเมนต์ของนักแสดงเท่านั้น

ละครเรื่องนี้แสดงในงานเทศกาลละครกรุงเทพ ๒๕๔๘ โดยกลุ่มเยาวชนหน้ากากใหม่รุ่นที่ ๑ จนคว้ารางวัลละครสร้างเสริมสุขภาวะยอดเยี่ยมของ สสส. มาแล้ว และได้นำกลับมาแสดงอีกครั้งในงาน Show case ผลงานของอาสาสมัครหน้ากากใหม่ เมื่อวันที่ ๒๗-๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ที่สถาบันปรีดีพนมยงค์ ทั้งยังสัญจรมาเปิดแสดงกลางแจ้งในงานวันคนรักษ์สัตว์ป่าเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ที่อุทยานสวนเบญจสิริ

คณะละครชุดนี้กำเนิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๗ จากการรวมตัวของนักเรียนมัธยมปลายกลุ่มหนึ่งในนาม “เยาวชนหน้ากากใหม่” โดยการสนับสนุนของเครือข่ายหน้ากากเปลือย เด็กๆ กลุ่มนี้มาจากต่างห้องต่างโรงเรียน บางคนเรียนแผนวิทย์ บางคนเรียนแผนศิลป์ บางคนเป็นประธานนักเรียน เป็นกรรมการนักเรียน บางคนเป็นเชียร์ลีดเดอร์ บางคนชอบเล่นละคร บางคนชอบเขียนบท บางคนอยากเป็นผู้กำกับ พวกเขามารวมตัวกันเพราะฝันอยากทำละครของตัวเอง

“พวกเรามาจากชมรมนิเทศศิลป์ฝ่ายละครเวที โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีพี่ๆ ของชมรมฯ ได้มาเรียนการแสดงกับหน้ากากเปลือยแล้วก็นำกลับไปพัฒนาต่อ จนเมื่อปีที่แล้วมีการเสนอละครของเยาวชนเพื่อเล่นในเทศกาลละครกรุงเทพ พวกเราก็อยากจะมาลองสนามนอกโรงเรียน เลยได้มารู้จักเพื่อนๆ ที่นี่และมาทำละครร่วมกัน” มิน - รักษ์กมล สงวนศรี หน้ากากใหม่รุ่น ๑ เล่าที่มาของการรวมตัว

ขณะที่ โจ๊ก - จิรกิตติ์ สุนทรลาภยศ จากโรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งสมัครเข้ามาในรุ่นที่ ๒ เล่าว่า “เมื่อปีที่แล้วหน้ากากใหม่รุ่น ๑ ได้รับเชิญไปแสดงที่โรงเรียนของผม ต่อมาพี่ๆ จากหน้ากากเปลือยก็ไปแสดงละครโชว์เคสอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ตรงกับความสนใจของผมพอดี พอมีการจัดเวิร์กชอปที่สถาบันปรีดีฯ ผมก็เลยสมัครเข้ามาเพราะคิดว่าจะเป็นพื้นที่ให้เราได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เกี่ยวกับการแสดงมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเพื่อนๆ จากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย ฯลฯ เพื่อนๆ ที่มาจากโครงการฯ ศรีบูรพาเข้ามารวมกลุ่มกันเล่นละครเรื่องนี้”

“วัยสะรุ่น วุ่นแล้วฆ่า” ที่ได้รับการนำกลับมาปัดฝุ่นใหม่ครั้งนี้เป็นการผสมผสานทีมเยาวชนหน้ากากใหม่ ๒ รุ่น คือ รุ่นที่เล่นในเทศกาลละครกรุงเทพปีที่แล้ว กับรุ่นที่เข้าร่วมโครงการละครเวทีสัญจร ๑๐๐ ปีศรีบูรพา “ตามหาลูกผู้ชาย” โครงการฯ นี้เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๘ ในวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยทางเครือข่ายหน้ากากเปลือยได้นำละครไปแสดงสัญจรใน ๑๕ โรงเรียนในกรุงเทพฯ และอีก ๕ จังหวัด และมีน้องๆ ที่สนใจเข้าร่วมเวิร์กชอปเพื่อขึ้นแสดงบนเวทีหอประชุมศรีบูรพาเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคมที่ผ่านมา

นอต - ณัฐวุฒิ อภิวรรณรัตน์ หน้ากากใหม่รุ่นแรกผู้รับบท “เอ็ม” เล่าถึงที่มาของละครเรื่องนี้ว่า “เรื่องมันเริ่มต้นมาจากข่าวเมื่อ ๓-๔ ปีที่แล้ว คือนักเรียนโรงเรียนมัธยมชื่อดังแห่งหนึ่งที่ผิดหวังจากความรักได้บุกไปที่บ้านของแฟนสาว แล้วยิงคุณยาย คุณอา กับสุนัขที่เลี้ยงไว้ตัวหนึ่ง ท้ายสุดก็ยิงตัวตาย ปัจจุบันแม้แฟนสาวของเขาจะรอดจากเหตุการณ์ครั้งนั้นแต่ก็ต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยโรคจิตประสาท เพราะทนรับสภาพความสูญเสียไม่ได้ เราสนใจประเด็นข่าวนี้ก็เลยยกขึ้นมาคุยกันเพื่อจะสร้างละครจำลองเรื่องนี้ขึ้นมา แล้วขยายความว่าเด็กผู้ชายคนนี้เขาคิดอะไรอยู่”

มินผู้รับบท “เมย์” แฟนสาวของเอ็ม เสริมว่า “นอกจากจะใช้ข่าวที่ว่าเป็นแกนเรื่อง เรายังได้นำเอาวิธีการนำเสนอและวิธีการแสดงของละคร ‘Bang Bang, You're dead !’ มาปรับใช้ ซึ่งบทละครเรื่องนี้นำมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในอเมริกา เป็นเรื่องของเด็กผู้ชายคนหนึ่งซึ่งถือปืนไรเฟิลเข้าไปยิงเพื่อนในโรงอาหาร ประกอบกับช่วงที่ทำเวิร์กชอปก็มีข่าวของเด็กที่ยิงตัวตายเพราะสอบได้เกรดเฉลี่ยไม่ถึง ๓ แล้วแม่ไม่ซื้อจักรยานให้ เรานำเอา ๓ เรื่องนี้มาผสมกันโดยมีเรื่องแรกเป็นตัวยืน

“การทำละครเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่เราได้ข้อสรุปว่าเราอยากเสนอเรื่องราวของวัยรุ่นในแง่มุมนี้ เราก็เริ่มกระบวนการฝึกอบรมในเรื่องของทักษะการแสดง มีพี่ๆ หน้ากากเปลือยคอยให้คำปรึกษา พอได้ทักษะแล้วก็เริ่มขั้นตอนการเข้าบท ซึ่งมันก็ยังไม่มีบทตายตัว เราก็ทำ scene work เล็กๆ กันเอง จากนั้นก็จะเลือกซีนต่างๆ มาลองซ้อมกันหลายๆ รอบ แล้วก็ช่วยกันเกลาเป็นหนึ่งโครงเรื่อง พอได้โครงเรื่องก็ค่อยๆ พัฒนาบทในแต่ละซีนกันมาเรื่อยๆ ระหว่างซ้อมก็จะพัฒนาทักษะไปพร้อมกัน เช่น บางคนยังแอ็กติงไม่ค่อยได้ ก็จะให้พี่ๆ มาเวิร์กชอปให้ บางคนสมาธิสั้น ก็จะมาเวิร์กชอปเรื่องการใช้สมาธิกันมากขึ้น หรือพอซ้อมไปแล้วพบว่าเสียงยังฟังไม่รู้เรื่อง เราก็มาเริ่มกระบวนการวอร์มเสียงมากขึ้น”

แพน - บุณฑริกา อุดมผล ผู้รับบทคุณยาย ขยายความว่า “ทุกคนจะมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การคุยกัน แลกเปลี่ยนความเห็น ทำการบ้านมานำเสนอ เราจะคุยกันว่าฉากนี้อยากได้อะไรแล้วแปรมาเป็น scene work สั้นๆ ถ้ากลุ่มสนใจฉากไหนก็ซื้อ หมายถึงว่าฉากนี้โดน เอานะ แล้วก็เก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็รวมทุกฉากเป็นโครงเรื่องเดียว ดังนั้นกระบวนการซ้อมจึงสำคัญที่สุด เพื่อจะหาจุดไคลแมกซ์ของเรื่อง

“ที่สำคัญมุมมองของคนที่เล่นเป็นเอ็มใน ๒ แคสต์จะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการตีความของนักแสดง ดังนั้น ‘วัยสะรุ่นฯ’ เวอร์ชันแรกกับเวอร์ชันหลังจะต่างกันไปเลย”

นอตตีความว่า “ประเด็นหลักของ ‘วัยสะรุ่นฯ’ เวอร์ชันแรกคือเรื่องความรุนแรงจากสื่อ ผมคิดว่าวัยรุ่นเองเปิดรับสื่อค่อนข้างมาก อย่างเกม เราพบว่าเกมส่วนใหญ่สอดใส่วัฒนธรรมความรุนแรงเข้าไปในสมองของเด็ก เอ็มก็คือเหยื่อของความรุนแรงจากสิ่งเหล่านี้ กระทั่งวันหนึ่ง เมื่อเผชิญแรงกดดันในชีวิต จากเพื่อน จากแฟน จากครอบครัว โดยไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน เขาก็พบทางออกเดียวแบบเกม คือต้องฆ่า ต้องกำจัดทุกอย่างที่ขวางหน้า ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการจะบอกผ่านละครเรื่องนี้ก็คือว่า การที่วัยรุ่นคิดจะทำอะไรสักอย่าง องค์ประกอบแวดล้อมก็มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเหมือนกัน

ขณะที่กริช - กริช อริยประกาย ผู้สวมบท “เอ็ม” ในแคสต์ที่ ๒ คิดต่างไปอีกแบบ เขามองว่า “นอกจากอิทธิพลของสื่อแล้ว พื้นฐานทางอารมณ์ที่อ่อนแอเมื่อเผชิญกับสภาพแรงกดดันรอบด้านก็มีผลให้เอ็มตัดสินใจทำสิ่งนั้นลงไป ‘วัยสะรุ่นฯ’ เวอร์ชันนี้จึงลงลึกถึงจิตสำนึกตัวตนของเอ็มมากขึ้น จริงๆ แล้วเขาไม่ใช่คนชั่วร้ายอะไร ตัวเอ็มเองเป็นนักเรียนเคมีโอลิมปิก เขาไม่เคยสูญเสียอะไร เขาไม่เคยแพ้ แต่วันหนึ่งเขาต้องแพ้ไปทีละอย่างๆ ทั้งไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน คนรักก็ทิ้งเขาไป เขาคิดว่าตัวเองไม่เหลืออะไรแล้วในชีวิต

“สาเหตุน่าจะเกิดจากพื้นฐานทางครอบครัว เอ็มถูกเลี้ยงดูมาในแบบสังคมที่นิยมวัตถุและการแข่งขัน พ่อแม่คอยปรนเปรอทุกอย่างให้โดยลืมนึกไปถึงว่าจริงๆ แล้วเขาต้องการอะไร เอ็มเป็นรุ่นน้องในโรงเรียนเก่าของผม เพื่อนเขาเล่าให้ฟังว่าเอ็มไม่เคยต้องเสียอะไรจริงๆ ชีวิตเขามีแต่ได้ทุกอย่าง ก่อนหน้านี้ผมคิดว่าเขาไม่น่าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการแบบนี้ แต่พอได้มาเล่นละครเรื่องนี้ ได้มาเล่นเป็นเอ็ม ทำให้เราได้การมองโลกในอีกแง่มุมหนึ่ง ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของเขามากขึ้น ดังนั้นเราจะสื่อออกไปยังไงผ่านละครเพื่อสะท้อนไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง จะได้ช่วยกันหาทางออกก่อนจะสายเกินแก้เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้”

นอตเสริมว่า “ผมคิดว่าสิ่งที่เอ็มขาดก็คือเพื่อนสนิทและครอบครัวที่เข้าใจเขา เอ็มในเรื่องจะถูกเพื่อนล้อ ถูกเพื่อนอิจฉา แต่ไม่มีเพื่อนสนิทสักคนที่จะคุยได้ทุกเรื่อง ถ้าเอ็มมีเพื่อนคุยก็คงจะดี เพราะเพื่อนก็ช่วยเราหาทางออกของปัญหาได้ในบางครั้ง แต่จะอย่างไร ครอบครัวก็สำคัญที่สุด วัยรุ่นส่วนใหญ่มักอ้างว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องมุมมองที่ต่างกัน บางครั้งผู้ใหญ่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเด็กถึงทำอย่างนั้น เราต้องการนำเสนอว่าเด็กคิดอะไรอยู่เขาถึงทำสิ่งนั้นลงไปก่อนที่จะไปโทษว่าเด็กฝ่ายเดียว”

นอกจากประเด็นเริ่มต้นจะต่างกันแล้ว แหวน - วินดา ยอดพินิจ สมาชิกอีกคนของกลุ่มเสริมว่ายังต่างกันตรงที่กระบวนการของละครด้วย

“แคสต์แรกเป็นกลุ่มที่เราเวิร์กชอปกันมานานพอสมควร เราจึงเน้นไปที่การหาเครื่องมือในการเล่าเรื่อง ดังนั้นรูปแบบคือง่าย แต่สามารถเล่าเรื่องได้และสนุก ขณะที่แคสต์หลังเราถือว่าทำงานมาเป็นครั้งที่ ๒ แล้ว เราอยากจะลองเพิ่มเติมในลักษณะของการดึงเอาคาแร็กเตอร์ของตัวละครออกมามากยิ่งขึ้น โดยเน้นไปที่การตีความบทมากกว่า”

ถ้าถามว่าการทำละครสักเรื่อง ถึงจุดไหนถือว่าบรรลุเป้าหมายของมัน คำตอบที่ได้รับคือ “เสียงตอบรับจากผู้ชม สิ่งนี้เป็นก้าวแรกที่เราคิดว่าละครเยาวชนได้เดินมาถูกทางแล้ว แต่ที่สำคัญเราได้ข้อสรุปว่า การทำละครไม่ได้อยู่ที่โปรดักชัน สิ่งสำคัญอยู่ตรงกระบวนการระหว่างทางมากกว่า”

แพนบอกว่าที่ดีใจที่สุดก็เมื่อละครจบไปแล้วมีเสียงตอบรับกลับจากผู้ใหญ่หลายคนว่า อยากกลับไปดูบุตรหลานของตนที่บ้าน “ไม่มีใครอยากให้โศกนาฏกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นอีก แม้กับครอบครัวของตนเอง หรือกระทั่งไม่อยากให้มีข่าวร้ายๆ อย่างนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวไหน พอดูละครจบ แม่หนูบอกว่าดีใจนะที่ลูกไม่เป็นแบบนั้น”

มากกว่านั้น สิ่งที่ได้รับจากละครเรื่องนี้นอตมองว่ามันยังสะท้อนกลับไปยังตัวนักแสดงเองด้วย “การเล่นละครทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตคนในอีกหลายแง่มุม เพราะเราต้องมองโลกจากแง่มุมของตัวละคร ทำให้เราไม่ใช้ความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ และก็ได้เรียนรู้ว่าแต่ละคนก็คิดต่างกัน เหมือนเรามองของสิ่งหนึ่งจากคนละมุมเราก็เห็นต่างกัน”

สำหรับแหวน การเล่นละครยังทำให้เธอรู้จักตัวเองมากขึ้น “ปัญหาของวัยรุ่นสมัยนี้คือไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ทำให้เขาต้องหันเข้าหายาเสพติดหรือติดเกมติดเที่ยว ถ้าเขาได้ค้นพบตัวเองเขาก็จะมีเป้าหมายในชีวิต การเล่นละครก็เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เรารู้จักตัวเอง ค้นพบศักยภาพของตัวเอง และที่เราเล่นละครก็เพราะมันเป็นความสุขอย่างหนึ่ง แม้จะต้องซ้อมหนักมาก วิ่งขึ้นลงสถาบันปรีดีฯ วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๑๐ รอบ วอร์มอีก ๒ ชั่วโมง ซ้อมทุกวันตั้งแต่ห้าโมงเย็นถึงห้าทุ่ม แม้จะไม่มีรายได้สักบาทจากตรงนี้ แต่เราได้สิ่งที่มีค่ามากที่สุดคือมิตรภาพ เพราะเมื่อเล่นละครเราต้องเปิดใจ ที่ยากที่สุดคือการเรียนรู้จังหวะของเพื่อน เราวอร์มด้วยกันทุกวันมา ๒ เดือน ถึงวันนี้มองหน้ากันก็รู้แล้วว่าคนนี้จังหวะแบบนี้ คนนี้จะมูฟไปทางไหน

“การฝึกวินัยในตนเองก็เป็นเรื่องสำคัญ เราต้องแบ่งเวลามากๆ เลย วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมงเท่ากัน แต่เราก็แบ่งได้จริงๆ คือเรียนได้ อ่านหนังสือได้ ทำการบ้านได้ มาซ้อมละครได้ ช่วงที่เรามาซ้อมละครมันเหมือนเราได้ปล่อยทุกอย่างออกไป เพราะที่ตรงนี้คือ neverland ของพวกเรา เหมือนดินแดนแห่งความฝันในเรื่อง ปีเตอร์แพน เป็นดินแดนที่เราสามารถทำได้ทุกอย่าง แล้วเรามีความสุขที่อยู่ตรงนี้ เราสามารถที่จะพักทุกอย่างไว้โดยไม่ต้องมีอะไรมากังวลอยู่ในหัวเรา พอได้เล่นละครมันปลดปล่อยจริงๆ ลืมความเครียดทั้งหมด แต่พอละครจบเราก็ต้องหยุดตรงนั้นไว้แล้วกลับสู่โลกของความจริง เย็นอีกวันเราก็กลับมาที่ neverland ของเราใหม่ เป็นอย่างนี้มาหลายเดือนแล้ว” แพนกับมินช่วยกันฉายภาพความประทับใจ พวกเธอบอกอีกว่าการเล่นละครช่วยพัฒนาบุคลิกภาพ และไม่ได้ทำให้เสียการเรียนอย่างที่ผู้ใหญ่เข้าใจกัน

“คุณูปการของการเล่นละครที่เห็นได้ชัดคือเวลาพรีเซนต์งานหน้าชั้นเรียน เราสามารถสร้างสรรค์ออกมาได้หลายรูปแบบ ทำให้เรามั่นใจในตัวเองและกล้าแสดงออกมากขึ้น และยังทำให้เรามีสมาธิในการเรียน การอ่านหนังสือดีขึ้นด้วย

“คนเรามีสองฝันได้ เดินตามฝันสองเส้นทางไปพร้อมกัน ทุกวันนี้พวกเราก็เตรียมตัวสอบเอนทรานซ์ไปด้วย สัปดาห์หนึ่งซ้อมละคร ๓ วัน ถ้ามีเรียนพิเศษก็ไปเรียนก่อนค่อยมาซ้อมตอนกลางคืน ตื่นเช้ามาอ่านหนังสือ ครอบครัวก็มีส่วนสำคัญในการสนับสนุน ซึ่งเราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองไปพร้อมกันด้วย” มินกล่าวทิ้งท้าย

LINK: http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=printpage&artid=577