Thursday, 20 September 2007

ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆทั้งสิ้น

จากบอกอ สารคดี 268
ทายาทท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่า
ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยารัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่
๘ มีอาการทางโรคหัวใจ จึงได้เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ต่อมาในค่ำวันที่ศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันปรีดี พนมยงค์
อาการของท่านผู้หญิงได้ทรุดหนักลงโดยลำดับ กระทั่งได้ถึงแก่อนิจกรรมโดยสงบ เมื่อเวลา ๐๒.๐๐ น.
ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว
สิริอายุ ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน
ทั้งนี้ทายาทของท่านผู้หญิง ขอขอบคุณคณะแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ที่ได้พยายามดูแลรักษาจนสุดความสามารถอย่างดียิ่งทุกประการ
ในการจัดพิธีศพท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ทายาทจะปฏิบัติตาม “คำสั่งถึงลูก”
ที่ท่านผู้หญิงได้เขียนไว้ด้วยลายมือ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๑ ความว่า

คำสั่งถึงลูกๆทุกคน
เมื่อแม่สิ้นชีวิต ขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑)นำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที เมื่อหมอตรวจว่าหมดลมหายใจแล้ว
๒)ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆทั้งสิ้น
๓)ประกาศทางวิทยุ และลงหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งข่าวให้ญาติมิตรทราบ
๔)ไม่มีการสวดอภิธรรม ทั้งนี้ไม่รบกวนญาติมิตรที่ต้องมาร่วมงาน
๕)มีพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระที่แม่นับถือแสดงธรรมกถา
(เช่นเดียวกับที่จัดให้ปาล) และทำบัตรรับหนังสือที่ระลึก
๖)ไม่รบกวนญาติมิตร ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ หรือเงินช่วยทำบุญ
๗)เมื่อโรงพยาบาลคืนศพมาก็ทำการฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย
๘)ให้นำอัฐิและอังคารไปลอยที่ปากน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นสถานที่ๆแม่เกิด
๙)หากมีเงินบ้าง ก็ขอให้บริจาคเป็นทาน แก่มูลนิธิต่างๆ ที่ทำสาธารณกุศล
๑๐)ขอให้ลูกทุกคนปฏิบัติตามที่แม่สั่งไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องฟังความเห็นผู้หวังดีทั้งหลาย
ลูกๆที่ปฏิบัติตามคำสั่งของแม่จงมีความสุข ความเจริญ
พูนศุข พนมยงค์


เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์
ได้อำลาโลกไปอย่างเงียบ ๆด้วยวัย ๙๕ ปี
คนที่รู้จักประวัติของท่าน ย่อมทราบว่าตลอดชีวิตของท่านผู้หญิง
เป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิตให้กับคนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) เคยเขียนถึง ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ว่า
"ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มิใช่เป็นเพียงบุคคลหนึ่ง ที่มีชื่อ ผ่านเข้ามาใน ประวัติศาสตร์
ในฐานะเป็นภริยาของ ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เท่านั้น แต่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
เป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งทีเดียว อย่างน้อย ในกระแสแห่ง ความผันผวนปรวนแปร ของเหตุการณ์บ้านเมือง
ที่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข ถูกกระทบกระแทก อย่างหนักหน่วงรุนแรง ครั้งแล้วครั้งเล่า
ตลอดช่วงเวลายาวนาน ท่านผู้หญิงรู้เห็น รู้สึก มองสถานการณ์และเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างไร รวมทั้งนำชีวิต
และบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะครอบครัว ลุล่วงผ่านพ้นมาได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่
น่าสนใจศึกษาอย่างมาก"
ท่านผู้หญิงพูนศุข เกิดในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ ในตระกูล ณ ป้อมเพชร์ ซึ่งเป็นตระกูลขุนนาง บิดาของท่าน คือ
พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ คนแรกของประเทศ อายุไม่ถึง ๑๗ ปี
ท่านผู้หญิงก็สมรสกับ ปรีดี พนมยงค์ ดอกเตอร์หนุ่ม นักกฎหมายชื่อดัง ในสมัยนั้น
สี่ปีต่อมา สามีของท่านก็กลายเป็น บุคคลสำคัญ ในประวัติศาสตร์สยาม ในฐานะ หนึ่งในผู้ก่อการ
เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบ ประชาธิปไตย
แต่เมื่ออายุได้เพียง ๒๒ ปี ต้องลี้ภัยการเมือง ไปต่างประเทศ เนื่องจากนายปรีดี ถูกกล่าวหาว่า
เป็นคอมมิวนิสต์ และเมื่อกลับมาเมืองไทย ท่านก็ต้องติดตาม นายปรีดี ไปทุกหนทุกแห่ง ในฐานะ ภรรยาของ
สามีที่ดำรงแหน่ง รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง
อายุเพียง ๒๘ ปี ท่านก็ได้รับ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ท่านผู้หญิง"
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านผู้หญิงพูนศุข ภรรยา ผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ เข้าร่วมกับ
ขบวนการเสรีไทย ทำงานใต้ดิน ส่งข่าวออกนอกประเทศให้แก่สัมพันธมิตรในช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย
หลังจากนายปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน ก็ถูกนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม กล่าวหาว่า
มีส่วนพัวพัน กับกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ในที่สุดทหารกลุ่มหนึ่งได้ก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ขับรถถังมาจ่อหน้าทำเนียบท่าช้าง
และสาดกระสุนเข้าไปในบ้านที่ท่านผู้หญิงและลูก ๆ พำนักอยู่
เหตุการณ์นั้นทำให้นายปรีดีต้องหนีตายไปอยู่ต่างประเทศ
ต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เมื่ออายุได้ ๔๐ ปี ท่านผู้หญิงและลูกชายถูกอำนาจเผด็จการสั่งจับกุมคุมขัง
ในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร จนท่านผู้หญิงไม่อาจทนอยู่เมืองไทยได้
ตัดสินใจติดตามไปอยู่กับนายปรีดีที่ประเทศจีนและฝรั่งเศสเป็นเวลา ๓๐ กว่าปี
จนสามีอันเป็นที่รักได้จากไปเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖
ช่วงชีวิตที่เหลือ ท่านได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย คอยช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ
ทางสังคมมาตลอดยี่สิบกว่าปี และจากไปอย่างเงียบ ๆโดยในพินัยกรรมระบุชัดว่า “ บริจาคศพให้ทางโรงพยาบาล
ไม่ต้องจัดงานศพ และไม่ขอรับเกียรติยศใดๆทั้งสิ้น”
สุดยอดของสามัญชนที่กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ