Wednesday 19 September 2007

รายงานพิเศษ : 1 ปี คมช.-รัฐบาล...“สอบผ่าน” หรือไม่?

อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

1 ปี อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่ยาวนานนัก แต่ก็น่าจะมากพอที่ คมช.และรัฐบาลจะสะสางปัญหา-แก้วิกฤตบ้านเมืองที่เกิดจากน้ำมือของระบอบทักษิณให้สิ้นซากได้ อยู่ที่ว่า คมช.-รัฐบาลจะทำหรือไม่? และมีความพยายามเพียงใด? ...ถ้า “เวลา” คือเครื่องพิสูจน์ผลงาน เราลองมาประเมินกันว่า 1 ปีของ คมช.-รัฐบาล ถือว่า “สอบผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” หรือนอกจากไม่ผ่านแล้ว ยัง “ติดลบ” อีกต่างหาก

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ


แทบไม่น่าเชื่อว่า ช่วงเวลาแห่งการยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณโดย คมช.จะผ่านมาครบ 1 ปีแล้ว นั่นหมายถึงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ที่กำเนิดจากการรัฐประหาร ก็กำลังจะทำงานครบ 1 ปีเช่นกัน คำถามหนึ่งที่ดังขึ้นตอนนี้ ก็คือ ผลงานของ คมช.-รัฐบาลในห้วง 1 ปีที่ผ่านมา ถือว่า สอบผ่านหรือสอบตกกันแน่?

1 ในผู้ที่ได้ออกมาประเมินและให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ ก็คือ อ.ธีรยุทธ บุญมี แห่งคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ โดยบอกว่า รัฐบาลสุรยุทธ์ หรือรัฐบาลฤๅษีสอบตกโดยสิ้นเชิง เพราะทำตัวเป็น “รักษาการ” ให้งานพอเดินไปได้ แต่ขาดวิสัยทัศน์ ขาดความมุ่งมั่นที่จะขจัดการคอร์รัปชั่นในประเทศ ขาดความตระหนักที่จะต้องนำสังคมไทยให้พ้นวิกฤต และไม่สามารถอธิบายให้คนไทยและชาวต่างชาติเข้าใจถึงความผิดของกลุ่มอำนาจเก่าได้

สำหรับผลงานของ คมช.นั้น อ.ธีรยุทธ ให้สอบผ่านโดยดูจากความตั้งใจและความพยายาม อย่างไรก็ตาม อ.ธีรยุทธ บอกว่า เป็นการสอบผ่านแบบ “ครูปัดให้ผ่าน” เพราะกลัว คมช.จะขอ “สอบซ้ำ” พร้อมกันนี้ อ.ธีรยุทธ ยังแนะ พล.อ.สนธิว่า ไม่ควรลงเล่นการเมือง เพราะจะเหมือน “ลิเกการเมือง” ที่แสดงไปเรื่อยๆ ไม่ยอมจบ

อ.ธีรยุทธ ยังให้คะแนน คตส.ด้วยว่า ได้คะแนนดี เพราะสามารถค้นหาหลักฐานและเหตุผลในการดำเนินคดีระบอบอำนาจเก่าได้หลายคดี พร้อมแนะว่า คะแนนที่ได้จะเลื่อนจาก”ดี”เป็น”ดีมาก”ถ้า คตส.สามารถขยายผลไปสู่นักการเมืองคนอื่นที่คอร์รัปชั่นได้

ฟังการประเมินผลงานของ คมช.-รัฐบาลโดยนักวิชาการผู้คว่ำหวอดทางการเมืองอย่าง อ.ธีรยุทธแล้ว ลองไปฟังมุมมองของนักวิชาการคนอื่นๆ รวมทั้งนักการเมือง, ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนภาคประชาชนว่าจะให้คะแนนผลงานรัฐบาล-คมช.อย่างไร?

เริ่มด้วย รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่า 1 ปีของ คมช.และรัฐบาล ถือว่าสอบผ่าน เพราะดูจาก 4 เหตุผลในการยึดอำนาจแล้วจะเห็นได้ว่า การรัฐประหารสามารถยุติการนองเลือดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปะทะกันของกลุ่มคน 2 ฝ่าย คือฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับฝ่ายที่รัฐบาลทักษิณจัดมาเพื่อชนกันในวันที่ 20 ก.ย.2549 ทั้งนี้ อ.ไชยันต์ ตั้งข้อสังเกตว่า แม้รัฐบาลสุรยุทธ์จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็มีท่าทีที่เป็นประชาธิปไตย เพราะไม่พยายามจัดม็อบมาชนกับม็อบ นปก.หรือม็อบพีทีวี แต่ยังพยายามห้ามปรามด้วยซ้ำ

สำหรับการตรวจสอบทุจริตของรัฐบาลเดิมนั้น อ.ไชยันต์ แสดงความชื่นชมว่า แม้ คตส.จะทำงานช้า แต่ก็เป็นไปด้วยความชอบธรรม ซึ่งเป็นเรื่องดีแล้วที่รัฐบาลและ คมช.ไม่เข้ามาแทรกแซงการทำงานของ คตส.

“การแต่งตั้ง คตส.ขึ้นมาถือว่า เป็นการเริ่มนับ 1 แล้ว คตส.ได้เกิดขึ้นมาภายใต้อำนาจของ คมช. และมีการค่อยๆ ทำ ค่อยๆ หาข้อมูล ค่อยๆ พิจารณา หลายคนอาจบอกว่า ทำไมทั้ง คมช. และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ไม่ให้อำนาจในการที่จะทำให้ คตส.เดินหน้าไปได้เร็วขึ้น ซึ่งผมคิดว่าในแง่หนึ่ง อาจเป็นไปได้ว่า รัฐบาลหรือ คมช.จะไม่ได้ทำตรงนี้หรือเปล่า ซึ่งการไม่ทำ มันก็ดีแล้ว เพื่อให้การหาข้อมูลมันเป็นไปตามกติกาที่ควรจะต้องเป็น อาจจะช้าหน่อย แต่ก็เป็นด้วยความชอบธรรม ว่าไม่ได้ใช้อำนาจบาตรใหญ่ไปบีบบังคับคนเอาข้อมูลหรือไปอะไรต่างๆ มา ผมคิดว่าการทำงานแต่ละขั้นตอนของ คตส.ก็ถือว่า เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมสากล และผมคิดว่า ตอนนี้มาเกิน 50% แล้ว ถึงขั้นคุณทักษิณไม่ยอมกลับมา (ถูก)ออกหมายจับอยู่ ถ้าเข้ามา ก็ต้องถูกจับกุม เป็นเรื่องปกติของคนที่ถูกหมายจับทั่วไป เพียงแต่ว่าเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างไร ก็คงต้องให้ฝ่ายอัยการหารือกันต่อไป ผมคิดว่าหลายคนบอกว่าทำไม(คตส.)ไม่ไปดูเรื่องเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นในด้านอื่นๆ หรือคอร์รัปชั่นในรัฐบาลชุดนี้ ผมคิดว่ามันก็คงต้องดูทั้งนั้น แต่เป้าหมายหลักก็เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุการทำรัฐประหาร คตส.ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้เสร็จก่อน เพราะเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญ เรื่องอื่นก็ค่อยๆ ตามมา”

สำหรับการแทรกแซงองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณนั้น อ.ไชยันต์ มองว่า ในยุคของ คมช.และรัฐบาลนี้ก็ไม่ได้แทรกแซงองค์กรอิสระให้ซ้ำรอยรัฐบาลทักษิณ รวมทั้ง รธน.ปี’50 ก็ออกแบบให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงองค์กรอิสระได้น้อยลงเช่นกัน ส่วนเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เหตุผลของการยึดอำนาจนั้น อ.ไชยันต์ ไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ โดยบอก เรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเรื่องที่เปราะบางและละเอียดอ่อน ไม่ว่าฝ่ายใด ก็ไม่ควรนำมากล่าวหาหรือสาดโคลนใส่กัน เพราะการยิ่งพูดถึงเรื่องนี้ จะยิ่งเกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันมากเท่านั้น และว่า หากใครพูดจาหรือแสดงอาการดูหมิ่นประมุขของรัฐ ประชาชนย่อมเห็นเองอยู่แล้ว

ด้าน นายสันติ วิลาสศักดานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ คมช.และรัฐบาลสอบผ่านเช่นกัน โดยบอกว่า ตอนแรกที่มีการยึดอำนาจ ก็เป็นห่วงเหมือนกันว่า คมช.จะเป็นอย่างไร ,รัฐบาลที่ตั้งขึ้นจะเป็นอย่างไร แต่พอ คมช.เชิญ พล.อ.สุรยุทธ์มาเป็นนายกฯ ซึ่งมีภาพพจน์เรื่องความซื่อสัตย์-ไม่คอร์รัปชั่น ก็ถือว่าไว้ใจได้ แต่ในแง่การบริหารของรัฐบาล เนื่องจากรัฐมนตรีมีที่มาหลากหลาย ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง การบริหารจึงอาจไม่ค่อยราบรื่น เพราะให้อิสระรัฐมนตรีทุกคนในการแสดงความคิดเห็นได้

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังชี้ด้วยว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากปัจจัยภายในประเทศอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากปัจจัยภายนอกด้วย และรัฐบาลนี้พยายามประคับประคองเศรษฐกิจให้ไปได้เรื่อยๆ

“ผมดูว่าเศรษฐกิจของเราที่ผ่านมา เนื่องจากอาจจะพื้นฐานเศรษฐกิจของเราดีอยู่ด้วย และรัฐมนตรีชุดนี้พอเข้ามา ผมว่าเรื่องทุนต่างชาติ เขามองก็ให้ความมั่นใจพอสมควรว่าเรื่องความโปร่งใสอะไรด้วย แม้การตัดสินใจจะช้าไปบ้าง ถ้าเราดูหลังๆ นี่ เศรษฐกิจชักมีปัญหาบ้างนี่ มันเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง มันไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายในของเราเพียงอย่างเดียว เกิดจากปัจจัยภายนอกด้วย เรื่องการแข่งขัน เรื่องเศรษฐกิจอเมริกาที่ขาดดุลการค้าเยอะ เรื่องนักลงทุนที่เอาเงินมาลงทุนในประเทศไทยมากเกินไป ซึ่งไม่ใช่เป็นปัญหาที่แก้ไขง่ายๆ เพราะฉะนั้นมันก็มีผลเข้ามา และช่วงปีใหม่มันมีมาตรการของแบงก์ชาติเดือน ธ.ค. และมีเรื่องวางระเบิดในกรุงเทพฯ ก็ทำให้ความเชื่อมั่นของคนถูกกระทบกระเทือนไปด้วย ก็เลยทำให้ความเชื่อมั่นหายไปส่วนหนึ่ง และพอหลังๆ ถ้าเราดูตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา ค่าเงินบาทมันแข็งค่ามากไปหน่อย มันก็เลยอาจจะกระทบต่อการลงทุนการค้าขายของผู้ส่งออกด้วย ถ้าเราดูรัฐบาลนี้ เขาพยายามจะประคับประคองให้เศรษฐกิจที่ชักจะเริ่มมีปัญหา ค่อยๆ ไปได้เรื่อยๆ ข้อดีของรัฐบาลชุดนี้อีกอย่างคือ เรื่องการที่ท่านนายกฯ พยายามให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ให้ได้ และ คมช.ก็มีการตั้งคณะกรรมการร่าง รธน.เรียกว่า ส.ส.ร.พยายามทำให้เสร็จและ รธน.ก็ผ่านการลงประชามติมา เพราะฉะนั้นหลังๆ นี้ความเชื่อมั่นของต่างชาติเริ่มจะค่อยๆ ดีขึ้นจากการที่จะมีการเลือกตั้งในปีนี้”

ขณะที่ นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ มองผลงาน 1 ปีของ คมช.และรัฐบาลว่า รู้สึกผิดหวัง เพราะรัฐบาลแทบไม่ค่อยได้ทำอะไรที่สามารถนำมาคุยว่าเป็นผลงานได้เลย โดยนอกจากหลายเรื่องหลายปัญหาที่น่าจะแก้ไข แต่กลับไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว รัฐบาลยังไม่ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ทำให้อำนาจเก่ายังฝังตัวอยู่ทั่วไป รวมทั้งไม่คลี่คลายปัญหาการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นายพิเชษฐ ยกตัวอย่างสิ่งที่คมช.และรัฐบาลนี้ควรทำ แต่ไม่ได้ทำให้ฟัง

“การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันทั้งหลาย มันไม่ใช่เป็นหน้าที่ของ คตส.อย่างเดียว คตส.มีขอบเขตการทำงานเฉพาะสิ่งที่เขาร้องเข้ามาหรือมีเรื่องพื้นฐานเข้ามา แต่การทุจริจประพฤติมิชอบในทุกกระทรวงมันมีอยู่ เพราะฉะนั้น รัฐมนตรีแต่ละคนที่ดูแลในกระทรวงแต่ละกระทรวง มันต้องรื้อฟื้นอันนี้ขึ้นมาด้วย มิฉะนั้นมันจะปรากฏเรื่องใหม่ๆ ขึ้นมาในแต่ละกระทรวงที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลยอีกเยอะ ในฐานะที่ผมเคยอยู่ที่กระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังต้องดูแลรัฐวิสาหกิจทั้งหมด เราก็รู้ว่ารัฐวิสาหกิจทั้งหลายมันก็ยังมีปัญหาอยู่อีกเยอะเหลือเกิน สิ่งที่เกิดขึ้นหลายๆ เรื่อง แม้กระทั่งเรื่องที่โรงงานยาสูบ เรื่องท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เรื่ององค์การโทรศัพท์เดิม เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นชื่ออะไรแล้ว เรื่องกรมไปรษณีย์โทรเลข ล้วนแล้วแต่มีปัญหาเรื่องการทุจริตยังฝังอยู่ทุกกระทรวง ทีนี้การที่จะไปรื้อเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา โดยอาศัยข้าราชการในแต่ละกระทรวงให้ความร่วมมือ มันเป็นสิ่งที่ยาก นอกจากใช้อำนาจเข้าไปดำเนินการ นี่เป็นภารกิจเรื่องแรก”

“2.ในภารกิจในเรื่องอื่นๆ กลายเป็นว่า ASTV หรือคุณสนธิ ลิ้มทองกุลที่พูด รัฐบาลแทบจะไม่ได้พูดอะไรเรื่องเหล่านี้เลย การทำความเข้าใจให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป ยังบกพร่องมาก การบกพร่องอันนี้ก็เลยทำให้ฐานของพรรคไทยรักไทยหรืออำนาจเก่าก็ยังฝังอยู่ทั่วๆ ไป เพราะประชาชนไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมือง ส่วนเรื่องที่ 3 เรื่องถ้าเราพูดถึงพระเจ้าอยู่หัวนะ เขา(คมช.-รัฐบาล) ยังไม่ได้ทำอะไรสักเท่าไหร่เลยในสิ่งที่เคยกระทบเบื้องพระยุคลบาทให้มันคลี่คลาย หลายอย่างที่ไม่พึงเกิด หลายอย่างที่เป็นเรื่องทรนงองอาจ หลายๆ เรื่องมันก็ยังเกิดขึ้นอยู่ตามเว็บไซต์เยอะแยะไปหมดเลย”

ลองไปฟังความเห็นของภาคประชาชนกันบ้างว่าจะมองผลงาน 1 ปีของ คมช.และรัฐบาลอย่างไร?

นางสิรวิชญ์ สุทธิสุนทรวงศ์ เจ้าของโรงพิมพ์ผ้าแห่งหนึ่งใน กทม. บอกว่า รู้สึกผิดหวังกับรัฐบาลและ คมช.อย่างมาก เพราะ 1 ปีที่ผ่านมาทำอะไรกันอยู่ นอกจากจะปล่อยให้ระบอบทักษิณมีนอมินีมาเป็นตัวแทนแล้ว การไม่ทำอะไรของ คมช.และรัฐบาลยังชวนให้สงสัยว่า มีผลประโยชน์กับรัฐบาลเก่าหรือไม่?

“สิ่งที่เขาทำให้ประชาชน สิ่งที่เราเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประเทศ ให้กับองค์ในหลวง มีความรู้สึกว่าผลออกมาแบบนี้ มันไม่ใช่น่ะ เรารู้สึกว่าทั้ง คมช.ทั้งรัฐบาล มันคล้ายๆ กับมีอะไรต่อกัน มีความรู้สึกว่า เอ๊ะ! เขาทำเพื่อประเทศชาติจริงหรือเปล่า? เสียสละจริงหรือเปล่า? การที่ คมช.ทำการปฏิวัติขึ้นมาก็เพราะรัฐบาลชุดเดิมมิชอบ มิชอบด้วยการปกครองบ้านเมือง แต่สิ่งที่ผลออกมาแบบนี้มันไม่ใช่น่ะ มันกลายเป็นว่าประชาชนก็งง! ต่างชาติยังคิดเลยว่ารัฐบาลชุดเดิมที่โกง โกงจริงหรือเปล่า? มันต้องทำให้ประชาชนรุ่นหลังรู้ว่า ไอ้สิ่งที่โกงกินประเทศชาติไปแล้วเนี่ย มันจะสืบทอดการโกงกินในรุ่นต่อๆ ไปไม่ได้ ไม่ได้เลยอย่างที่เราเคยพูดว่า เหมือน “ยาม” น่ะ เราจะ “เฝ้าแผ่นดิน” เราจะต้องเฝ้าประเทศของเราไป ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็จะมาโกงไม่ได้ แต่แบบนี้เนี่ย (ระบอบทักษิณ) ยังมีนอมินีขึ้นมาอีกนะ ภูมิใจมากการมีนอมินี แล้วกลับมาจะมาตั้งตัวนี้ใหม่ เพื่อจะมาหาเสียงให้มันครบเท่านี้ และจะมาปกครองประเทศอีก ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน มีอะไรมันไม่โปร่งใสหมดเลย เรารู้สึกว่า จริงๆ แล้วทั้ง คมช.และรัฐบาลจะต้องออกกฎมาตรการที่มัน ถึงแม้จะไม่ต้องเป็นการบังคับอะไรก็แล้วแต่ แต่มันต้องเคลียร์มากกว่านี้ไง ต้องโปร่งใสมากกว่านี้ เพื่อประชาชนมองแล้วว่ารัฐบาลชุดนี้ถึงจะไม่เจ๋ง 100% นะ แต่ 60% ก็ยังดี แต่นี่ดูไปดูมาเหลือ 20% เราไม่อยากจะพูดเลยนะว่า ไม่แน่ใจเลยว่า เขาจะมีการฮั้วกับอำนาจเก่าหรือเปล่า เพื่อผลประโยชน์บางอย่างน่ะ”

ด้าน ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี เลขาธิการสมัชชาประชาชนภาคอีสาน 19 จังหวัด ก็ให้ คมช.และรัฐบาลสอบไม่ผ่านเช่นกัน โดยบอกว่า สิ่งเดียวที่รัฐบาลและ คมช.ทำได้ก็คือ การทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณต้องไปอยู่เมืองนอก แต่ขนาดทักษิณอยู่เมืองนอก คมช.และรัฐบาลก็ยังไม่สามารถต่อกรกับทักษิณได้เลย ดังนั้นส่วนตัวแล้วเชื่อว่า วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่จะเกิดขึ้นอีกแน่ในอนาคตอันใกล้นี้

“เหตุที่สอบไม่ผ่าน วัดที่เขายึดอำนาจมา 1 ปี เหตุผลก็เพื่อที่จะแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ แต่ปรากฏว่าจนถึงวันนี้แล้ววิกฤตการณ์ต่างๆ ผมว่าโดยพื้นฐานก็ยังทำไม่ได้เลย สิ่งที่ได้ ก็เพียงแต่คุณทักษิณอยู่ที่ลอนดอน ไม่ได้อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล แล้วคุณทักษิณที่ลอนดอนก็ยังมีอำนาจมหาศาล สามารถที่จะบงการความเป็นไป ใช้หมากใช้เบี้ยทีละเม็ดๆ ในการคานตอบโต้อำนาจของ คมช.และรัฐบาลสุรยุทธ์หมดชนิดที่ว่า รัฐบาลสุรยุทธ์แทบจะไม่สามารถที่จะไปต่อกรเขาได้เลย เราจะเห็นได้ว่า พรรคพลังประชาชนมันกลับมา และเขาสามารถที่จะมีโอกาสที่จะเข้าไปต่อสู้ทางการเมืองในรัฐสภาได้สบายๆ ประชาชนที่คุณทักษิณเลี้ยงขุนและหลอกไว้ รัฐบาลสุรยุทธ์ไม่สามารถจะเข้าถึงคนเหล่านั้นได้เลย ซึ่งมันจะก่อให้เกิดวิกฤตการณ์อีกรอบหนึ่ง ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่าพรรคพลังประชาชนและคุณทักษิณประกาศที่จะแก้ภาพพจน์และคดีต่างๆ เพราะฉะนั้นวิกฤตการณ์ต่างๆ รอบใหม่ที่จะเกิดขึ้น ก็จะเป็นวิกฤตทางการเมืองที่จะนำไปสู่การยุบสภา เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ถ้าการยึดอำนาจด้วยพระคลังอาวุธและตั้งรัฐบาลตัวแทนตัวเองขึ้นมา แล้วไม่สามารถเข้าไปถึงรากเหง้าปัญหาได้ แสดงว่าสอบตกหมดเลย”

ทพ.ศุภผล ยังย้ำด้วยว่า ขณะนี้หมดหวังกับ คมช.และรัฐบาลโดยสิ้นเชิงแล้ว และกำลังอดคิดไม่ได้ว่า คมช.ยึดอำนาจมาเพราะเห็นแก่แผ่นดินจริงหรือ? หรือเป็นเพียงแค่ไปคว้าเอาอำนาจจากมือของทักษิณมาไว้ในมือตัวเอง โดยอาศัยประชาชนเป็น”หินรองรับเท้าของตัวเองเหยียบขึ้นไป”เท่านั้น เพราะตนยังจำได้ว่า ตอนที่สมัชชาประชาชนภาคอีสานฯ เข้าพบ พล.อ.สนธิ เพื่อขอให้เปลี่ยนตัวนายกฯ ปลด พล.อ.สุรยุทธ์เมื่อไม่กี่เดือนก่อน พล.อ.สนธิ ยังบอกว่า ได้เตรียมแผนไว้มากมายเพื่อป้องกันไม่ให้ระบอบทักษิณกลับมา แต่จนถึงวันนี้ไม่เห็นสำเร็จสักแผน

ขณะที่ นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มองผลงาน 1 ปีของ คมช.และรัฐบาลว่า มีทั้งที่ตนเห็นว่า สอบผ่านและไม่ผ่าน

“ผมให้ผ่าน 2 เรื่อง 1.เรื่องการทำตามคำมั่นสัญญาในโปรแกรมที่ประกาศไว้กับประชาชนถือว่า คมช.-รัฐบาลได้ทำตามคำมั่นสัญญา 1 กำหนดการร่าง รธน.เสร็จ 2.การเลือกตั้ง กำหนดเสร็จ อันนี้ถือว่าเป็นการให้คำมั่นสัญญาและเป็นการรักษาคำมั่นสัญญา อันที่ 2 โดยเนื้อหาสาระแล้ว การร่าง รธน.ก็ถือว่าพัฒนาขึ้นมาจากฉบับ 2540 อันนี้ก็ต้องให้เครดิต ถึงแม้ว่าในหลายส่วนผมอาจจะไม่พอใจ แต่ในหมวดสิทธิเสรีภาพ หมวดการเมืองภาคประชาชนที่ทำให้เด่นชัดขึ้นนี่ ผมถือว่าดีกว่า รธน.ฉบับ 2540 อันนี้ก็ถือว่าให้ผ่าน 3.การตั้ง คตส.เพื่อตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น อันนี้ก็ถือว่าไปได้ดี แต่ก็ไม่คุ้มกับการที่ตัวเองลงทุนทำรัฐประหาร คือไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นใน รบ.ชุดที่แล้วได้สำเร็จเด็ดขาดในกระบวนการยุติธรรมในช่วงสมัยที่ตัวเองมีอำนาจ แต่สิ่งที่ไม่ให้ผ่านก็คือ การตั้งนายกฯ ที่ผิด ซึ่งได้คนที่ดีและซื่อสัตย์ แต่ไม่มีประสิทธิภาพ 2.ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐบาลคุณทักษิณ คมช.ไม่ให้ความเอาใจใส่ นี่ถือว่าไม่ผ่าน มาตั้งคุณคณิต ณ นคร(เป็น ปธ.สอบการฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ)ในปลายสมัย(รัฐบาลนี้) ไม่แน่ใจว่าจะทำให้ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสมัย รัฐบาลทักษิณสำเร็จในช่วงยุค คมช.หรือไม่”


นายพิภพ ยังฝากรัฐบาลและ คมช.ด้วยว่า สิ่งที่ยังไม่ได้ทำและน่าจะทำในช่วงเวลาที่เหลือก่อนเลือกตั้ง ก็คือ การปฏิรูปสื่อและการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะการปฏิรูปสื่อ เพราะ คมช.จะไม่สามารถสร้างการเมืองใหม่ได้เลยถ้าไม่ปฏิรูปสื่อ และถ้าเป็นไปได้ ฝากรัฐบาลและ คมช.อย่าพยายามทิ้งทวนด้วยการออกกฎหมายใดๆ ที่เพิ่มอำนาจของอำมาตยาธิปไตยโดยไปรุกล้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงภายใน!!