แม้โลกอินเทอร์เน็ตจะทำให้คนทั่วโลกติดต่อสื่อสารกันได้ไวปานจรวด แต่ในความรวดเร็วและความสะดวกสบายเช่นนี้ก็เป็นดาบสองคมเช่นกัน เพราะทำให้หลายคนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกวันนี้จะมีความขัดแย้งกันบ้าง กระทบกระทั่งกันบ้าง (บางทีก็เรื่องไม่เป็นเรื่อง) เกิดขึ้นในโลกใบใหญ่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์
ในช่วงปี 2012 ที่ผ่านมา มีหลายพฤติกรรมที่ถูกบ่มเพาะขึ้นมาจากผลพวงของสังคมออนไลน์ ซึ่งบางเรื่องอาจไม่ใช่พฤติกรรมที่ดีนัก แต่ชาวไซเบอร์ก็ทำกันจนติดเป็นนิสัยและชินชาไปเสียแล้ว งานนี้ คุณ "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" ได้หยิบพฤติกรรมต่าง ๆ มาวิเคราะห์ให้เห็นชัดเจนขึ้น ผ่านบทความที่โพสต์ในเฟซบุ๊ก เรื่อง "10 สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นจากการทะเลาะในโลกอินเทอร์เน็ตในปี 2012"ลองไปติดตามกัน
1. ยาวไป ไม่อ่าน
. ฮิตการแคป ฮิตการ quote แล้วตัดสินคนจาก ภาพหนึ่งภาพ หรือ ประโยคหนึ่งประโยค
เช่น = ถ้าวันนี้ เกรียนไกรตื่นนอน ทะเลาะแล้วด่าเมียที่บ้าน เตะหมาหน้าปากซอย ขึ้นรถเมล์ไปทำบุญที่วัด =
ใน FB เราจะเห็นคนที่ รักเกรียนไกร โพสต์รูปตอนต่อคิวขึ้นรถเมล์ และขณะไหว้พระทำบุญ จากนั้นก็แชร์
เราจะเห็นคนที่ เกลียดเกรียนไกร โพสต์รูปตอนเตะหมา และแคปประโยคด่าเมีย จากนั้นก็แชร์
ทำให้เราเผลอตัดสินอะไรจาก "quote" ที่แคปมาแบบไม่ครบ คล้าย ๆ กับแต่ก่อน ที่ตัดสินคนจากรูปถ่าย ที่เลือกตัดจังหวะที่เรารักหรือเกลียดแล้วเอามาขยายความ
3. เชื่อมั่นในหลักการ แต่ไม่สนใจหลักฐาน
ถ้าเกิดเรื่องขึ้นมา หากเป็นพวกฝั่งตรงข้าม ก็คิดว่า "มันผิดแน่" จากชุดความคิด "ความผิดบางอย่างจะหาใบเสร็จ หรือ หลักฐานเป็นรูปธรรมไม่มีทางได้หรอก"
แต่กรณีความผิดเดียวกัน ถ้าเกิดขึ้นกับพวกฝั่งเรา ชุดความคิดจะเปลี่ยนเป็น "สรุปลอย ๆ นี่หว่า ไม่มีหลักฐานอย่ามาพูด"
และเมื่อมีหลักฐาน ก็จะยังเชื่อสมมติฐานตัวเองมากกว่า นำไปสู่การสรุปว่า หลักฐานนั้นเชื่อถือไม่ได้ ทำให้ตายไปก็คุยกันไม่รู้เรื่อง
4. แชร์ ไม่สน ถูก หรือ ผิด
ไม่สนว่าข้อมูลจริงหรือเท็จ แต่ถ้าเห็นว่า "ดี" ก็จะเผยแพร่ต่อไป หรือถ้าเห็นว่ามันเป็นการด่าอีกฝ่ายที่เราคิดว่า "เลว" อยู่แล้ว ก็จะเผยแพร่ต่อไป
ประมาณว่า "มันก็เป็นเรื่องดีนี่ ทำไมต้องแคร์ว่าถูกหรือผิด" หรือ "มันก็เลวอยู่แล้วนี่ ไม่เห็นจะเป็นไร"
ความไม่สนจริงหรือเท็จ แต่เน้นดีหรือเลว คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมปากว่าตาขยิบ hypocrit หรือ สังคมติดที่เปลือก เพราะมันง่ายในการ identify ดี กับ ชั่ว
5. "ไม่พยายามเข้าใจ" ฝั่งตรงข้าม ว่าเพราะอะไรเขาถึงคิดแบบนั้น ทำไมไม่เห็นหรือคิดอย่างที่เราว่า "ถูก" หรือ "ดี"
ความพยายามเข้าใจจะช่วยให้เราใจเย็นลง จะช่วยให้เราพยายามถกที่เหตุผลหรือประเด็น เช่น เขาอาจคิดแบบนี้เพราะถูกปลูกฝังมา เขายังไม่เห็นปัญหาในมุมที่เราเห็น คนรอบข้างเช่นครอบครัวหรือสังคมมองสิ่งนี้เป็น taboo ฯลฯ
ความพยายามเข้าใจ จะถอดกรอบที่เรามองอีกฝ่ายในแง่การเมืองหรืออคติได้มากขึ้น และคุยกันตรงประเด็นได้มากขึ้น เพราะต่อให้อีกฝ่ายดื้อ ก้าวร้าว ฯลฯ เราก็จะไม่หลุดไปเป็นแบบที่เขาเป็น
แต่ความไม่พยายามเข้าใจ ทำให้เราเห็นอีกฝั่ง "ผิด" หรือ "โง่" หรือ "ชั่ว" หรือเวลาคุยกันเห็นแต่สีเสื้อ ฝั่งตรงข้ามตลอดเวลา
แล้วการเหน็บแนม กระแนะกระแหนก็จะเริ่มขึ้น
6. ความคิดคนเปลี่ยนได้ บางอย่างที่เราเคยเห็นว่าถูกหรือคิดว่าดี มันอาจไม่ดีแบบนั้นในอนาคต สิ่งที่เราเคยเชื่อหรือหลักการที่เคยยึดก็อาจเปลี่ยนไปได้ตามข้อมูลที่เราพบ จากประสบการณ์ที่เราเห็น และ เราก็อยากให้คนอื่นคิดหรือเห็นเหมือนเรา
แต่ถ้าได้ดูหนัง inception จะจำได้ว่า ความคิดของคนจะเปลี่ยนได้อย่างเบ็ดเสร็จที่สุด เมื่อเจ้าตัวเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง ไม่ใช่ถูกบังคับหรือโน้มน้าว
เรามักอยากให้อีกฝ่าย มอง/เชื่อ/คิด ในมุมของเรา ด้วยข้อมูล
พอเขาไม่เห็น ด้วยความอยากให้อีกฝ่ายเปลี่ยน เราก็จะกระทำคล้าย ๆ จะเอามือไปแหกตา
หรือพออีกฝ่าย ด่าเรา ดูถูกเรา เราก็เอาตัวไปเสมอเขา คือ ด่ากลับ ดูถูกกลับ
แล้วพอเมื่อไหร่ก็ตามที่เราใช้คำดูถูกเหยียดหยาม เข้าไปอยู่ในวงสนทนา ต่อให้เราถูกจริง ๆ ก็ไม่มีวันที่อีกฝ่ายจะเห็นตาม
และเมื่อนั้นก็เป็นแค่ การเอาชนะกัน
7.เกาไม่ถูกที่คัน – เช่น จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เป็นคำไอน์สไตน์เคยว่าไว้จริง ๆ แต่หลายเรื่องในชีวิตที่ต้องถกหรือคุยกัน จำเป็นต้องใช้ความรู้ไม่ใช่จินตนาการ หรือหลายเรื่องต้องใช้เหตุผล แต่คนโต้เถียงใช้เรื่องศีลธรรม
8. Like ความรุนแรง - ยุคโซเชียลมีเดีย และสื่อโทรทัศน์ ทำให้การมีพวกและเกาะกลุ่มเหนียวแน่นขึ้น มีการสนับสนุนพวกเดียวกันมากขึ้น มีแนวโน้มเสริมความรุนแรงให้กันมากขึ้น
การยืนหยัด ความถูกของตัวเอง เป็นปัจเจก ที่อาจแกว่งหรือเปลี่ยนได้ แต่พอมีพวกพ้องที่เรา "คิดว่า" พวกเราดี พวกเราถูก แสดงออกเช่นกด like หรือแชร์ เราก็จะไม่คิดตรวจสอบตัวเอง หรือ ไม่คิดตรวจสอบหลักการของเราอีกต่อไป พร้อมมั่นใจว่าเราเหนือกว่าฝ่ายคิดค้านหรือฝั่งตรงข้าม (เป็นคนดีกว่า, เป็นคนมีคุณธรรมกว่า, เป็นคนหัวก้าวหน้ากว่า, เป็นคนมีเหตุผลมากกว่า ฯลฯ)
เวลาเราแสดงความก้าวร้าว หรือส่งความเกลียดชังเข้าไปในสังคม แล้วมีคนมากด like เราจะไม่รู้ตัวว่ามันคือ ความก้าวร้าว รุนแรง (aggression) และ แรงบวกที่ได้จากการกดไลค์ก็คล้ายกับทำอะไรซักอย่างในห้องประชุมแล้วมีคนปรบมือ ซึ่ง ก็จะทำให้เรามีแนวโน้มจะทำตัวแรงมากขึ้นต่อไป ทำให้เรายิ่งมั่นใจในการก้าวร้าวครั้งถัดไปมากขึ้น
ความมั่นใจที่มากขึ้น มาพร้อมการมองอีกฝ่ายด้วยสายตาดูถูก หมั่นไส้ คนที่ไม่ยอมคิดเหมือนกับเรา
9.การไม่ยอมรับว่า คน คือ สิ่งที่ไม่สมบูรณ์ – และ เราก็คือ คน เหมือนคนอื่น ๆ ที่เรารัก หรือคนอื่น ๆ ที่เราเกลียด
** ดังนั้น เราอาจคิดผิดได้
คนที่เราชื่นชอบอาจผิดได้, คนที่เราเกลียดอาจถูกได้
หลักการที่เรายึดอาจมีปัญหาจริง
คนที่เราชื่นชมและคนที่เราเกลียดชัง ย่อมมีทั้งด้านดีและเลว **
10. เชียร์สนับสนุนทุกอย่างที่เป็นพวกเดียวกัน ค้านจับผิดทุกอย่างที่เป็นฝั่งตรงข้าม จนหลักการบางอย่างที่สามารถเดินด้วยกันได้ไม่เกิดการเดินหน้า หลายสิ่งที่ทำให้สังคมดีกว่าที่มาจากฝั่งตรงข้ามไม่เกิดเป็นรูปธรรม
ไม่ว่าจะยืนอยู่ฝ่ายไหน แต่ความเห็นส่วนใหญ่ที่พยายามแสดงออกมา ล้วนแล้วแต่อยากทำให้สังคมดีขึ้น อยากให้ลูกหลานอยู่ในสังคมที่ดีกว่านี้ เพียงแต่ความเชื่อต่างกัน ซึ่งความแตกต่างมีในทุกชาติ มีในทุกสมัย
แต่ถ้าตั้งต้นแค่อยากเอาชนะอีกฝ่าย ก็ไม่มีทางที่จะได้สังคมที่ดีกว่านี้
และเราก็ไม่สามารถยกตัวเองได้ว่า อยากให้สังคมหรือลูกหลานที่ดี เราแค่อยากเอาชนะ