Tuesday 9 April 2013

คนการบินไทย-คนไทย

 





 เมื่อสามปีก่อน ผมเขียนบทความเรื่อง "JAL สอนอะไรใคร" ในคอลัมน์นี้
โดยกล่าวถึงความตกต่ำของสายการบิน JAL ที่เคยยิ่งใหญ่ แต่กลับต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายเมื่อต้นปี 2010 เพราะ
การบริหารที่อุ้ยอ้าย และการเมืองเข้าแทรกแซง
เช่น ต้องบินในเส้นทางบินที่ช่วยเสริมสร้างบารมีให้แก่นักการเมือง ทั้งๆที่ขาดทุนเกือบทุกเที่ยวบิน เป็นต้น
วันนั้น ผมทิ้งท้ายไว้ว่า ใครที่คิดว่าสายการบินแห่งชาติคือสมบัติผลัดกันชม ก็จงดูตัวอย่าง JAL เอาไว้ให้ดี เพราะนั่นคือจุดจบที่เห็นอย่างชัดเจน วันนี้ ผมนำเสนอ "JAL ภาคสอง" ครับ และคิดว่าน่าจะได้บทเรียนดีๆ เช่นกัน
ในวันที่ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายนั้น JAL มีหนี้สินมากถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมทั้งต้องถอนบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์โตเกียวอีกด้วย
ความท้าทายเฉพาะหน้าในขณะนั้นก็คือ จะมีใครที่สามารถเข้ามาพลิกฟื้น JAL ซึ่งอยู่ในอาการโคม่าขนาดนั้น ได้หรือไม่
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทาบทามนาย Kazuo Inamori ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก "Kyocera Corporation" ให้เข้ามาเป็นผู้นำในการฟื้นฟู JAL ซึ่งนายอินาโมรินั้น อาจจะถือได้ว่ามีข้อด้อยอยู่ข้อหนึ่งก็คือ
เขาไม่เคยมีประสบการณ์หรือความรู้เกี่ยวกับธุรกิจการบินเลย แม้แต่นิดเดียว
นายอินาโมริ เริ่มเข้ามาบริหารงาน JAL เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2010 และหลังจากผ่านไป 6 เดือน เขาให้สัมภาษณ์ว่า เขาต้องรับงานหนักมาก น้ำหนักลดลงไปถึง 4 กิโลกรัม พร้อมกล่าวว่าสิ่งที่เขาได้พบใน JAL ก็คือ
"ผู้บริหารและพนักงานแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน
องค์กรขาดข้อมูลที่สะท้อนผลประกอบการที่เป็นปัจจุบัน
ความรับผิดชอบที่ไม่ชัดเจน
รวมทั้งความไม่ใส่ใจอย่างจริงจังของผู้บริหารที่จะพลิกฟื้นองค์กร
ถือว่าเป็นองค์กรที่อุ้ยอ้าย และผู้บริหารขาดความรับผิดชอบ"
เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงทีเดียว และนายอินาโมริยังบอกว่า มีข้าราชการเก่าหลายคนที่ใช้เส้นสาย ลาออกก่อนกำหนดเพื่อรับเงินชดเชยก้อนโตจากรัฐบาล แล้วก็เบียดตัวเองเข้ามาเป็นผู้บริหาร JAL ในอัตราเงินเดือนที่สูง ว่าแล้วนายอินาโมริ ก็ลงมือบริหารความเปลี่ยนแปลงทันที โดยกำหนดให้ผู้บริหารระดับสูงสุด 50 คน ต้องเข้า "โครงการฝึกอบรมผู้นำ" สัปดาห์ละ 4 ครั้ง รวมเวลาฝึกอบรมทั้งหมด 17 ครั้ง เพื่อให้ตระหนักว่า "ผู้นำที่ดีนั้น เป็นเช่นใด" โดยเขาเป็นผู้ร่วมบรรยายด้วยถึง 6 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของเขา ว่า "ผู้นำที่ดีจะต้องมีความรอบรู้ในเรื่องข้อมูลทางการเงิน มีบุคลิกภาพที่ดี มีความลุ่มหลงในงานที่ทำ และความทุ่มเท เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย"
หลังจากนั้น เขาก็ฝึกอบรมผู้บริหารในระดับถัดไปจนครบ 200 คน บางครั้งเขาก็หิ้วกระป๋องเบียร์ เดินไปแจกพนักงาน แล้วดื่มเบียร์ไป พูดคุยกันไป เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกของพนักงาน นอกจากนั้น เขาพยายามลดต้นทุนทุกชนิด ด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งวิธีการปลุกจิตสำนึก ด้วยการติดป้ายราคา สิ่งของและเครื่องใช้ชนิดต่างๆ เช่นกล่องบรรจุกระดาษ ก็ติดป้ายไว้ว่ากระดาษแต่ละแผ่นที่พนักงานหยิบไปใช้นั้น มีราคาแผ่นละเท่าใด เป็นต้น
เพื่อให้เรื่องราวสั้นลง ผมบอกเสียตรงนี้เลยว่า นายอินาโมริ ใช้เวลาเพียงสั้นๆเท่านั้น ในการพลิกฟื้น JAL เพราะก่อนสิ้นปีแรก ก็ปรากฏว่าผลประกอบการเริ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดหวังแล้ว และหลังจากนั้นก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกลับมามีกำไร และสามารถ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ได้อีกครั้ง ในเวลาเพียงไม่ถึง 3 ปี เท่านั้น
ความสำเร็จล่าสุด ที่ไม่เกี่ยวกับผลประกอบการโดยตรง ก็คือ
JAL ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสายการบินที่ตรงเวลาที่สุด เป็นอันดับหนึ่งของโลก ในปี 2012
การพลิกฟื้น JAL ครั้งนี้ จึงถือเป็นเรื่องราวของความสำเร็จอันยิ่งใหญ่
ที่สถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจ จะต้องนำไปใช้เป็นกรณีศึกษา เพื่อสอนนักศึกษาและนักบริหาร อย่างแน่นอน
เล่ามาถึงขนาดนี้ ผมยังไม่ได้บอกรายละเอียดเลยว่า
นายอินาโมริ นั้นมีอายุอานามเท่าใด มีศิลปะการบริหารอย่างไร จึงเก่งกาจขนาดนี้
เชื่อหรือไม่ครับว่า วันที่นายอินาโมริ ได้รับการทาบทามให้เข้าไปพลิกฟื้น JAL เมื่อต้นปี 2010 นั้น เขามีอายุมากถึง 78 ปีแล้ว! อายุขนาดนี้สำหรับคนทั่วไป ก็คือ ไม้ใกล้ฝั่ง ที่อยากพักผ่อน ใกล้หมดพลังทางกายหรือทางปัญญา ไปแล้ว แต่เหตุใดรัฐบาลจึงกล้ามอบให้คนวัยนี้ เข้าไปบริหารเพื่อฟื้นฟูองค์กรขนาดยักษ์ ในภาวะล้มละลายอย่างร้ายแรง และเหตุใดเขาจึงทำได้สำเร็จในระยะเวลาเพียง 3 ปี เท่านั้น
ต้องถือว่า อินาโมริ เป็นบุคคลพิเศษ เขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Kyocera Corporation ด้วยตัวเอง เมื่อมีอายุเพียง 27 ปี เท่านั้น และบริษัทแห่งนี้ได้เติบโตขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการระดับโลก ภายใต้การบริหารงานของเขามาเป็นเวลานานถึง 53 ปี และมีผลกำไรมาตลอด ไม่เคยขาดทุนเลยแม้แต่ปีเดียว
อินาโมริ เป็นทั้งนักคิด นักเขียน นักพูด และ นักบวช เขามีปรัชญาในการบริหารงานที่น่าศึกษา วันแรกที่เขาเข้าไปรับตำแหน่งซีอีโอของ JAL นั้น เขาบอกพนักงานตรงๆว่า
"ผมเกลียด JAL มาก และไม่ใช้บริการ JAL มาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว"
เขาให้สัมภาษณ์ว่า
"พนักงาน JAL ทำหน้าที่ตามหนังสือคู่มือเท่านั้น
แต่ไม่ได้มีจิตใจในการให้บริการอันอบอุ่นแก่ผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจากหัวใจ"
แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารสายการบิน แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เขาบอกว่า
ปรัชญาในการบริหารที่เขาใช้ได้เสมอ ก็คือ
องค์กรไม่จำเป็นต้องมีเอกสาร หรือพิธีรีตองอะไรมากมาย
"ขอเพียงให้ฝ่ายบริหารตระหนักในปรัชญาเดียวกัน และตรงกันว่า  หน้าที่ของฝ่ายบริหาร ก็คือการสร้างความสุขกาย สุขใจ ให้เกิดขึ้นแก่พนักงาน เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ที่เหลือก็คือสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นตามมาเอง"
ความจริงผมควรจะต้องเรียกเขาอย่างเต็มยศว่า ดร.อินาโมริ ผู้ซึ่งวันนี้อยู่ในวัย 82 ปี แล้ว เขาเป็นผู้บริหารอาวุโส ที่มากด้วยแนวคิด ปรัชญาการบริหาร และผลงานโดดเด่น เขายอมเหน็ดเหนื่อยเพื่อฟื้นฟู JAL โดยไม่ขอรับค่าตอบแทนแม้แต่เยนเดียว ดร. อินาโมริ เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากวงการทั่วโลก ได้รับเชิญไปบรรยาย ในมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศต่างๆ นับว่าเป็นผู้อาวุโส ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า อายุเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น
พูดมาถึงตรงนี้ ก็เลยนึกถึงชายวัย 82 อีกท่านหนึ่ง ที่ขณะนี้มาร่วมเสวนาอยู่เมืองไทย ชื่อว่า ดร.ฟิลลิป คอตเลอร์ ซึ่งผมและนักเรียนไทยที่ไปเคลล็อก หลายคน ได้มีโอกาสรับประทานอาหารร่วมกับท่าน เป็นการส่วนตัวเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า ผู้ชายคนนี้ ก็ยังมีความเข้มข้น และมีชีวิตชีวา แม้วัยจะล่วงเลยมาขนาดนี้แล้วก็ตาม ท่านบอกผมว่า ท่านมีหนังสือออกใหม่ ปีละหนึ่งเล่ม ตลอดมา
เห็น ดร. อินาโมริ และ ดร. คอตเลอร์ ชายวัยกว่า 80 ปี พร้อม ผลงาน ของทั้งสองคนแล้ว ช่างเป็นกำลังใจของคนวัยอาวุโสทุกคน แต่ก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึง ผลงาน ของ "ขิงแก่" ที่เข้ามาฟื้นฟูประเทศไทย เมื่อปี 2549-2550 แล้วก็คิดถึงวลีที่ว่า "เสียของ" ขึ้นมาทันที ไม่น่าเลยนะเรา..... อยากลืม กลับจำ
ศ.ดร.วรภัทร โตธนะเกษม
เจ้าของคอลัมภ์นิสต์ BUSINESS&SOCIETY









































-- AM