คงไม่ปฏิเสธว่าในภาวะที่ตั๋วหนังราคาประมาณ 200 บาท แต่เซทป๊อปคอร์บวกน้ำอัดลมราคากลับแพงกว่านั้นเล็กน้อย มันก็อดคิดไม่ได้ว่าจริงๆ โรงหนังรวยจากอะไรกันแน่ ซึ่งก็ยังดีที่พอจะมีข้อมูลหาออกมาได้
โรงหนังเครือเดียวที่มีข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์คือเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดในโรงหนังทั้งหมดประมาณ 80% ประกอบด้วยเมเจอร์ซีนีเพลกซ์ 295 โรงฉาย อีจีวี 74 โรงฉาย พารากอนซีนีเพลกซ์ 16 โรงฉาย และเอสพละนาด 28 โรงฉาย ก็น่าจะพอเป็นตัวแทนภาพรวมได้ มีข้อมูลการเงินดังนี้ครับ
ปัจจุบันเครือเมเจอร์ฯ มีธุรกิจแยกย่อยหลายส่วน ซึ่งที่จะไม่รวมมาคำนวณในเรื่องนี้ก็เช่น ธุรกิจด้านโฆษณา, โบว์ลิ่ง, คาราโอเกะ, รายได้ค่าเช่าพื้นที่, ผลิตภาพยนตร์ (M๓๙) โดยในปี 2555 บริษัทมีรายได้รวม 6,965 ล้านบาท คิดเป็นรายได้จากการขายตั๋วโรงภาพยนตร์ 3,398 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการขายอาหารและเครื่องดื่มนั้นอยู่ที่ 914 ล้านบาท
จะเห็นว่ารายได้หลักคือการขายตั๋ว (GBO) นั้นยังสูงกว่าการขายป๊อปคอร์นหรือที่เมเจอร์เรียกว่า Concession ถึงเกือบ 4 เท่าตัว ฉะนั้นการบอกว่ายอดขายป๊อปคอร์นถล่มทลายยิ่งกว่า คงเป็นได้แค่การประชดมากกว่าความจริงครับ
ตัวเลขที่น่าสนใจในประเด็นนี้คือ ธุรกิจภาพยนตร์และการขายป๊อปคอร์นนั้นเมื่อหักต้นทุนขั้นต้น ซึ่งรวมถึงส่วนแบ่งให้เจ้าของภาพยนตร์ 50% แล้ว ทำให้เมเจอร์มีอัตราส่วนกำไร 29% เท่านั้น และยังต้องไปหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอีก ส่งผลให้ธุรกิจภาพยนตร์ถูกกดดันด้วยมาร์จิ้นพอสมควร เมเจอร์จึงอธิบายในรายงานผลประกอบการประจำปี 2555 ว่า บริษัทจะให้ความสำคัญกับ Concession หรือน้ำอัดลม+ป๊อปคอร์นมากขึ้น เพราะมันมีกำไรเยอะกว่ามาก (เพิ่มเติม - ตัวเลขไม่ทางการ มาร์จิ้นป๊อปคอร์นคือ 80% ... เอิ๊ก!)
และเนื่องจากกำไรส่วน Concession นี้สูง เมเจอร์ฯ เลยยังกำหนดเมตริกซ์ตัวหนึ่งไว้เลยคือ %Con-To-Box หรืออัตราส่วนรายได้ของอาหารเครื่องดื่มเทียบกับรายได้จากการขายตั๋ว ว่าจะต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2554 นั้นอยู่ที่ 25% ขณะที่ปี 2555 อยู่ที่ 28% บริษัทยังอธิบายกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยเพิ่มรายได้ตรงนี้ได้คือการพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ และหัวของฝาปิดแก้วน้ำให้หลากหลายและน่าสนใจมากขึ้นนั่นเอง
จะเห็นว่าเอาเข้าจริง ป๊อปคอร์นน้ำอัดลมอาจจะแพงเว่อร์ แต่มันยังไม่ใช่รายได้หลักของโรงหนัง ที่อาจพอพูดได้คือส่วนนี้อาจเป็นตัวสร้างกำไรอย่างมีนัยสำคัญให้โรงหนังครับ