อันที่จริง ก่อนที่ชายหญิงแต่ละคนจะมาครองคู่ เป็นผัวเมียกันได้นั้น จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ที่ว่าง่ายเพราะบางคนถูกใจกัน ก็แต่งกันได้เลย พ่อแม่ก็ส่งเสริม แต่บางคู่กว่าจะได้ครองรักกันได้ ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย เช่น คู่ที่พ่อแม่กีดกัน เพราะอีกฝ่ายฐานะยากจนกว่า ฝ่ายชายก็อาจต้องฝ่ากระสุนของพ่อตา ฝ่าดงตีน เอ้ย! ดงเท้าของพี่ชายเมียที่เป็นนักเลง แต่อย่างสมัยนี้ แค่ขอเบอร์โทรศัพท์ หรือติดต่อทางอินเตอร์เน็ท ก็อาจได้ผัวได้เมียรวดเร็วสมยุคไฮเทค แต่จะจีรังยั่งยืน หรือแค่ชั่วครั้งชั่วคราวก็ขึ้นกับทั้งสองฝ่าย หรือบางคนแต่งจนมีลูก หรือลูกโตเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ผัวดันขอไปมี "ผัวใหม่" เพราะเพิ่งคิดได้ว่าตัวเองไม่ชอบผู้หญิง แบบนี้ก็มี เรียกว่าชีวิตคู่มีสารพัดสารพันแบบ ( แหม..ตัวเองเป็น all in one ก็ไม่บอกกันตั้งแต่แรก..!!)
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าไม่ว่าหญิงหรือชาย ส่วนมากถ้าเลือกได้ก็คงอยากจะมี "คู่ครอง" ที่สามารถร่วมชีวิตกันได้อย่างยาวนาน แบบที่โบราณว่า "ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร"
ชายและหญิงที่โคจรมาใช้ชีวิตร่วมกันนั้น บางคนก็อาจจะเป็นคู่สร้างคู่สมที่กลายเป็นมาคู่คิด คู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่าอย่างที่พูดถึงข้างต้น แต่ก็มีไม่น้อยที่เป็นคู่เวรคู่กรรม คู่กัด คู่แข่ง หรือบางครั้งก็เป็นเพียง คู่ขา ที่มาอยู่ด้วยกันเพียงครั้งคราวก็ได้ อย่างไรก็ดี คนโบราณเขาก็พูดถึง ผู้หญิงที่ชายจะได้มาเป็นคู่ครอง ว่ามีอยู่ 7 ประเภทด้วยกันคือ
1. วธกาภริยา หมายถึง ภริยาเยี่ยงเพชฌฆาต คือ เมียที่ไม่ได้อยู่กินกันด้วยความพอใจ ดูหมิ่น และคิดทำลายสามี (เมียแบบนี้สงสัยเป็นประเภทถูกฉุด หรืออาจถูกบังคับให้แต่งมาก็ได้)
2. โจรีภริยา หมายถึง ภริยาเยี่ยงโจร คือ เมียชนิดล้างผลาญทรัพย์สมบัติ (พวกที่ชอบขอเงินสามีซื้อเพชรราคาแพง จะเข้าข่ายไหมเนี่ย)
3. อัยยาภริยา หมายถึง ภริยาเยี่ยงนาย คือ เมียที่เกียจคร้าน ไม่ใส่ใจการงาน ปากร้าย หยาบคาย ชอบข่มสามี หรือดุด่าสามีเป็นประจำ (ดูท่าจะเป็นลักษณะของเมียโดยทั่วไป)
4. มาตาภริยา หมายถึง ภริยาเยี่ยงมารดา คือ เมียที่หวังดี คอยเป็นห่วงเป็นใย เอาใจใส่ สามีหาทรัพย์มาได้ก็เอาใจใส่คอยประหยัดรักษา (มีเมียแบบนี้ ก็ทำให้สามีสบายใจ)
5. ภคินีภริยา คือ ภริยาเยี่ยงน้องสาว คือ เมียที่เคารพรักสามี ดังน้องรักพี่ มีใจอ่อนโยน รู้จักเกรงใจ มักคล้อยตามสามี (ประเภทนี้ไม่ค่อยมีปากมีเสียง สามีก็มักรักและเอ็นดู)
6. สขีภริยา คือ ภริยาเยี่ยงสหาย คือ เมียที่เป็นเหมือนเพื่อน มีจิตภักดี เวลาพบสามีก็ร่าเริงยินดี วางตัวดี ประพฤติดี มีกิริยามารยาทงาม(เป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจ แหม! ฟังเหมือนสโลแกนธนาคาร)
7. ทาสีภริยา คือ ภริยาเยี่ยงทาส คือ เมียที่ยอมอยู่ใต้อำนาจสามี ถูกสามีตะคอกตบตี ก็อดทน ไม่แสดงความโกรธตอบ (เรียกว่ากลัวสามี จนหงอ แต่ประเภทนี้ก็ต้องระวัง หากเก็บกดมากๆ ระเบิดขึ้นมาเมื่อไร สามีตายได้ไม่รู้ตัว)
ทั้งเจ็ดประเภท คือ รูปแบบภริยาที่คนสมัยก่อนแบ่งเอาไว้ ที่น่าแปลกคือ ไม่ยักจะมีการแบ่งประเภท "สามี" ไว้ด้วย ว่ามีแบบไหนบ้าง ดังนั้น น่าจะอนุโลมให้ใช้หลักการเดียวกันได้
ในทางพุทธศาสนา ก็ได้มีการกล่าวถึงคู่ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ความเจริญ ว่าจะต้องมีความเหมาะสม และมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกลมกลืนกัน 4 ประการ ได้แก่
1. มีความศรัทธาเสมอกัน หมายถึง ต้องเป็นคู่ที่ยินดี หรือชมชอบในสิ่งเดียวกัน พูดง่ายๆว่า มีรสนิยมหรือความสนใจไปในทางเดียวกัน จึงจะไปด้วยกันได้ มิใช่เมียรักความสงบ ชอบไปวัด ผัวกลับชอบไปผับไปบาร์ แบบนี้ถึงอยู่ด้วยกันได้ แต่ก็จะไม่มีความสุข ต่างคนก็ต่างจะหงุดหงิดซึ่งกันและกัน
2. มีศีลหรือความประพฤติปฏิบัติที่เสมอกัน หมายถึง การมีศีลธรรม จรรยา พื้นฐานการอบรมหรือการกระทำที่พอเหมาะพอสมกัน เพราะหากมีความประพฤติหรือการกระทำที่ไปด้วยกันได้ ก็จะทำให้เกิดความสงบสุขในชีวิตคู่ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง และแตกแยกกันในที่สุด
3. มีความเสียสละ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสมอกัน เมื่อมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ต่างก็ต้องมีสิทธิ์ในทรัพย์สินที่หามาได้ ดังนั้น ถ้าทั้งคู่เต็มใจเสียสละไม่เท่ากัน ก็จะมีปัญหาให้โกรธเคืองกันได้ง่าย เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเอาทรัพย์สินไปใช้ เช่น ผัวเอาเงินไปทำบุญ เมียไม่พอใจ เมียเอาของไปบริจาค ผัวไม่เห็นด้วย เช่นนี้ก็จะมีแต่เรื่องให้ว่ากระทบกระเทียบกันได้ตลอดเวลา หรือใครคนใดคนหนึ่งแอบเม้มเงินไว้เพื่อจะทำในสิ่งที่ตนชอบ เพราะกลัวอีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วย แบบนี้ก็จะเกิดความระแวงแคลงใจกันได้เช่นกัน ชีวิตคู่ก็จะไปไม่รอด เพราะไม่วางใจซึ่งกันและกัน
4. มีปัญญาเสมอกัน หมายถึง มีความรู้ ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ เสมอกัน จะทำให้คิดเหมือนๆ กัน หรือยอมรับความแตกต่างกันและอยู่ร่วมกันได้