Monday 15 October 2007

เศรษฐกิจพอเพียง ช่วยกันเผยแพร่ด้วยครับ

ตามรูปที่วาดขึ้นเป็นห่วง 3 ห่วงคล้องกัน ก็เพราะปัจจัยสำคัญทั้ง 3 ข้อ ควรพิจารณาพร้อมๆกัน และที่เจาะจงให้เป็นฐานใหญ่ก็คือ เงื่อนไข ก็เพราะจะต้อง
เข้ามาเป็นพื้นฐานที่สำคัญในทุกๆเรื่อง

ความหมายของ 3 ห่วง
ก่อน ตัดสินใจทำการสิ่งใด ทั้งการงาน และการดำรงชีวิต ควรพิจารณาถึง 3 ห่วงหลัก ดังนี้


ความพอประมาณ
หมายถึง ความพอดี ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป และไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ความพอดีของแต่ละคน แต่ละครอบครัว แต่ละองค์กรย่อม
ไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน เราต้องประมาณรู้ของเราเองว่า อัตภาพของเราอยู่ตรงไหน สถานภาพ ฐานะการเงิน และความสามารถของเรามีแค่ไหน

ง่ายๆ ก็คือ เราต้องรู้กำลัง รู้ทุนของเราเอง จะทำอะไรก็แล้วแต่ จะซื้อ หรือจะลงทุน ก็ควรทำตามที่กำลังของเรามี และก็ไม่เดือดร้อนตนเอง คือ ไปกู้หนี้
ยืมสินมากมายจนเกินฐานะของตนเอง

ถ้าคนรวยจะซื้อรถราคาแพงก็ย่อมทำได้ และถ้ามันพอประมาณสำหรับเขา แต่ในขณะที่คนฐานะปานกลาง จะซื้อรถก็ต้องคิดว่ามันพอเหมาะกับ
กำลังของตน คนที่ทำงานแล้ว หาเงินได้ด้วยตนเอง เก็บออมเงินไว้พอสมควร หากเขาจะตัดสินใจซื้อกระเป๋าสวยหรูมาถือก็ไม่น่าจะเป็นอะไร

แต่ถ้าเด็กวัยรุ่นแอบเจียดเงินค่าเทอมมาซื้อกระเป๋าสวยหรูเพื่อถือไปอวดเพื่อน ก็คงไม่เหมาะ ไม่พอประมาณ วัยรุ่นต้องตระหนักว่า เงินที่ใช้อยู่นั้นเป็นทุน
ที่มาจากหยาดเหงื่อของพ่อแม่ และควรใช้ไปในทางที่เกิดประโยชน์กับการศึกษา ซึ่งจะเป็นหลักของตนในอนาคต

ในขณะเดียวกันวัยรุ่นก็ควรรู้จักแบ่งเวลาให้ถูกต้อง พอประมาณกับสิ่งที่ตนกำลังทำ ไม่ควรเขม็งเกลียวเคร่งเครียดเกินไป ต้องรู้จักพักผ่อน มีสันทนาการ
บ้าง ซึ่งก็ควรมุ่งไปทางด้านกีฬา ศิลปะที่สร้างสรรค์ และรู้จักให้การช่วยเหลือผู้อื่นด้วย

ในการทำธุรกิจ แต่ละองค์กรก็จะมีความพอดีที่ต่างกัน ถ้าเป็นองค์กรใหญ่จะลงทุนทำอะไร ผู้บริหารต้องรู้ว่าแค่ไหนจึงจะลงทุนแล้วครอบคลุมกับเนื้องาน
หรือทั่วถึงคนในองค์กร เพราะถ้าน้อยเกินไปก็จะไม่สัมฤทธิ์ผล แต่ถ้าเป็นองค์กรขนาดเล็กๆ การทำตามกำลังที่มีอยู่ จะทำให้ไม่ต้องแบกภาระมากมาย
เกิดการควบคุมงานที่ทั่วถึงกว่า เกิดประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จได้มากกว่า


ความมีเหตุผล
ความมีเหตุผลนั้น เราต้องคิดทบทวนอย่างรอบคอบ ต้องพิจารณาจากเหตุทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง และยังต้องคำนึงถึงผลที่ตามมาด้วย

คำว่า "อยากได้ " " ใครๆเขาก็มีกัน " " กำลังอินเทรนด์ " " มันเป็นแฟชั่น " " ไม่มีแล้วอายเขาแย่เลย " คำเหล่านี้คือข้ออ้างของคนประเภท
วัตถุนิยม เป็นความฟุ้งเฟ้อ ไม่ถือเป็นเหตุผลของคนพอเพียง เนื่องเพราะคนพอเพียงจะคำนึงถึงประโยชน์มากกว่ารูปแบบ

" เราต้องลงทุนในเมกะโปรเจ็คต์ เพื่อกระตุ้นตัวเลขเศรษฐกิจและความสนใจลงทุนของ ชาวต่างชาติ " เป็นเหตุผลของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทั่วไป
ขณะที่ " เราต้องลงทุนในโครงการนี้แม้จะเป็นเมกะโปรเจ็คต์ ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวก และเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน " นี่ต่างหากจึงจะเป็นเหตุผลที่
แข็งแรงของเศรษฐกิจแบบพอเพียง


มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี
ภูมิคุ้มกัน คือ การรู้จักจัดการกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อรับกับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆที่
จะเกิดขึ้น เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอันมากที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา

เพราะ อนาคตคือความไม่แน่นอน เราไม่อาจรู้ว่าสถานการณ์ของโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร เศรษฐกิจจะผันผวนไปแค่ไหน ความต้องการของตลาด
จะเปลี่ยนไปอย่างไร กระทั่ง เราไม่อาจรู้ได้ว่า เราจะเจ็บป่วยเมื่อไหร่ หรือ โชค จะเข้าข้างเราหรือไม่

ภูมิคุ้มกัน จะทำให้เราไม่ประมาท ทำให้เรารู้จักที่จะวางแผนที่ดีในวันนี้ เพื่อวันข้างหน้า ทำให้เรารู้จักหาทางหนีทีไล่ มีแผนสำรองเพื่อการแก้ไขปัญหา
ที่หลากหลาย

ภูมิคุ้มกัน สามารถป้องกันความเสี่ยงได้ในหลากหลายรูปแบบ

- ในแง่ร่างกาย ถ้าเรียนหนัก ทำงานหนัก ก็ต้องพักผ่อนให้พอ กินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อจะได้แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย
- ในแง่การเงิน ต้องมีเงินออมไว้เผื่อใช้ยามฉุกเฉิน ยามเจ็บไข้ได้ป่วย หรือ ออมไว้เพื่อลงทุนเพิ่มเติม หรือเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ
- ในแง่สังคม เราต้องมีเพื่อน มีคนรู้จัก เพื่อการช่วยเกื้อกูลกันได้ในอนาคต

การพึ่งพาตนเองได้นั้น นับว่าเป็นภูมิคุ้มกันที่ดียิ่ง ทำให้ตัวเรามีความแข็งแรง ชุมชนและประเทศมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะรับกับสถานการณ์ต่างๆ รวมถึง
การที่จะออกไปสู้กับโลกภายนอกด้วย

ความหมายของ 2 เงื่อนไข
การตัดสินใจและการจะทำอะไรให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน


ความรู้
คือ ความรอบรู้ ในสิ่งที่จะทำอย่างถ่องแท้ และรอบด้าน
คือ ความรอบคอบ ที่จะนำความรู้มาพิจารณา เพื่อวางแผน ไม่หวือหวา หุนหันพลันแล่น
คือ ความระมัดระวัง ใช้ความรู้ให้เหมาะกับกาละ และเทศะ

คนจะพอเพียงได้ต้องมีความรู้ในวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำอย่างรอบด้าน ยิ่งรู้ลึกรู้จริง ก็ยิ่งดีต่อการปฏิบัติ

หากจะทำธุรกิจ ก็ต้องศึกษาธุรกิจนั้นๆ จนกระจ่าง จนรู้จริง เช่น ทำอย่างไร มีบุคลากรไหม ตลาดเป็นอย่างไร มีคู่แข่งมากไหม หาลูกค้าอย่างไรจะผ่าน
อุปสรรคอย่างไร

ถ้าเราจะทำอะไรสักอย่าง แค่เพราะเห็นคนอื่นเขาทำแล้วประสบความสำเร็จ เราก็จะล้มเหลวตั้งแต่ต้น

คุณธรรม
หมายถึง ความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต รู้จักการแบ่งปัน ไม่โลภ และไม่ตระหนี่
เป็นคนเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นคนดีด้วย
ความเก่งและความดีของเราจะเอื้อประโยชน์แก่ตัวเรา และสังคม
คุณธรรม คือ ศักดิ์ศรีที่จะทำเกิดความภาคภูมิใจ
คุณธรรม ของเราก็จะค้ำจุนตัวเราเองและคนรอบข้าง

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ คำตอบของการอยู่รอด และหนทางสู่ความสุขของคนไทยทุกคนในวันนี้
3 ห่วง 2 เงื่อนไข จะอยู่ในจิตสำนึกของเรา และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตนเองอย่างจริงจัง

เศรษฐกิจพอเพียง คือ ปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต แก่พวกเราชาวไทยมานานกว่า
30 ปี และภายหลังที่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ 'ฟองสบู่แตก' ในปี พ.ศ.2540 พระองค์ได้ทรงเน้นย้ำให้พวกเราใช้เป็นแนวทางการแก้ไข เพื่อให้
ประเทศไทยเรารอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในทุกๆด้าน

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักที่เราคนไทยทุกคน ทุกระดับสามารถนำไปปฏิบัติได้ ไม่ใช่เฉพาะเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา อย่างที่หลายคนเข้าใจ
แต่หมายถึงทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา ทุกอาชีพ เราสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตนเองได้ในทุกๆ เรื่อง ทั้งการดำเนินชีวิตประจำวัน
การศึกษาเล่าเรียน หรือทำงานในสาขาใดๆ

เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้ปฏิเสธทุนนิยม และไม่ได้บอกให้เราอยู่อย่างซอมซ่อ ไม่ได้ปฏิเสธความร่ำรวย ไม่ใช่การปิดประเทศเลิกค้าขาย ไม่ใช่ความ
เชยล้าหลังไม่ได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ๆ แต่ เป็นแนวคิด เพื่อให้เราใช้ ปัญญา ปรับตัวให้เข้ากับกระแสของการเปลี่ยนแปลงอย่างพอเหมาะ พอดี
เพื่อความก้าวหน้าที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน

เศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผน และการบริหารจัดการ ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานทาง
เศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็ง รักษาความสมดุลของทุน และทรัพยากรในมิติต่างๆ เน้นการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้เรามี
ีความแข็งแรง ให้เรารู้เท่าทัน ให้เรามีความพร้อมที่จะออกไปแข่งขัน ให้เราก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

ดังนั้น หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเน้นการปฏิบัติที่ไม่ประมาท นั่นคือ เน้นให้เราดำเนินชีวิตบน " ทางสายกลาง " ก็คือ ความพอเหมาะพอดี
ไม่น้อยเกินไปไม่มากเกินไปไม่สุดโต่งไม่โลภมากไม่ฟุ้งเฟ้อจนเกินฐานะ แต่ก็ไม่ใช่ตระหนี่ถี่เหนียวหรือประหยัดจนขาดแคลน

ถ้าเราจะนำหลักปรัชญานี้ไปใช้ เราอาจจะจำด้วยหลักง่ายๆ คือ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข อันประกอบด้วย พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี และ
มีความรู้ มีคุณธรรม ซึ่งจะนำไปสู่ ชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ที่ก้าวหน้าอย่างสมดุล มั่นคง ยั่งยืน และจะนำไปสู่ ประโยชน์สุขของคนไทยในที่สุด

www.pp-gen.com