Friday, 12 October 2007

วิกฤตทางการเงินอันเกิดจากวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐฯ

วิกฤตทางการเงินอันเกิดจากวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐฯ ได้ขยายตัวไปคุกคามอังกฤษอย่างรุนแรงแล้ว โดยในปลายสัปดาห์ที่แล้วชาวอังกฤษตื่นตระหนกแห่กันไปถอนเงินจากธนาคารถึง 70,000 ล้าน และยังคงตื่นตระหนกพากันถอนเงินอย่างต่อเนื่องมาจนถึงต้นสัปดาห์นี้

เป็นผลให้ธนาคารกลางของอังกฤษต้องอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบอย่างขนานใหญ่ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสหรัฐและอีกหลายประเทศ

แล้วมันจะไม่มาถึงประเทศไทยหรือ? มันต้องมาถึงแน่ และกำลังคืบคลานมาถึงแล้ว! อย่าได้ไปเชื่อนายธนาคารหรือผู้คนในรัฐบาลเต่าที่ว่าไม่มีผลกระทบถึงประเทศไทยเป็นอันขาด มิฉะนั้นจะพากันพินาศยับเยินด้วยกันหมด

ก็ต้องทำความเข้าใจกันว่าวิกฤตซับไพรม์มันคืออะไร เกิดขึ้นอย่างไร และส่งผลอย่างไร ทั้งจะเกิดผลกระทบอะไรกับประเทศไทยของเรา ซึ่งจำจะต้องพูดจาว่ากล่าวอย่างง่าย ๆ ให้พี่น้องร่วมชาติได้เข้าใจทั่วถึงกันจะได้ไม่ถูกใครเขาหลอกแล้วพากันเสียหายยับเยิน

สิ่งที่เรียกว่าวิกฤตซับไพรม์เริ่มต้นขึ้นที่สหรัฐ เพราะในสหรัฐนั้นผู้คนทั้งหลายล้วนนิยมความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย จับจ่ายใช้สอยอย่างไม่บันยะบันยังยิ่งกว่านโยบายประชานิยมของรัฐบาลก่อนหลายร้อยเท่า จึงพากันเป็นหนี้สินท่วมตัว

เมื่อหนี้สินท่วมตัวก็มีระบบขายอนาคตของตัวเองโดยการก่อหนี้ล่วงหน้า ด้วยหวังว่าจะมีรายได้ในอนาคตมาทดแทนได้ทัน แต่ครั้นนิสัยเดิมที่เห่อเหิมฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยไม่มีความพอเพียงอยู่ในจิตใจ ถึงแม้จะขายรายได้ในอนาคตแล้วก็ยิ่งมีหนี้ท่วมหัวท่วมตัวล้นพ้นเข้าไปอีก

คนเหล่านั้นเป็นหนี้กับธนาคารและสถาบันการเงินเต็มไปทั้งประเทศ และหนี้เหล่านั้นกลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพที่อาจจะถูกจัดชั้นสำรองหนี้หรือตัดเป็นหนี้สูญ คล้ายๆ กับสถานการณ์ที่คนชั้นกลางและประชาชนในชนบทไทยที่กำลังเป็นหนี้ท่วมหัวท่วมตัวอยู่ในวันนี้ ซึ่งเป็นผลผลิตโดยตรงของนโยบายประชานิยมแห่งระบอบทักษิณ

การที่มีหนี้ด้อยคุณภาพที่อาจถูกจัดชั้นสำรองหนี้หรือตัดเป็นหนี้สูญเกิดขึ้นในระบบเป็นจำนวนมหาศาล จึงกดดันต่อธนาคารและสถาบันการเงินที่จะต้องแก้ไขปัญหานี้ก่อนที่จะล่มจม และหนึ่งในวิธีนั้นก็คือการจำหน่ายหนี้เหล่านั้นออกไปในราคาถูก

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็มีพวกหัวใสคิดหวังกำไรจากธุรกิจรับซื้อหนี้ จึงตั้งเป็นกองทุนขึ้นรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเหล่านั้นจากธนาคารและสถาบันการเงินในราคาถูก ๆ แล้วไปเรียกเก็บหนี้เต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ยซึ่งถ้าเป็นมรรคผลเต็มที่ก็จะมีกำไรมหาศาล

เช่น มูลหนี้ราคา 100 บาท ก็รับซื้อมาในราคา 15-20 บาท หากเรียกเก็บได้เต็ม 100 บาทก็จะมีผลกำไร 85-80 บาท นับว่าเป็นกำไรที่มากมายมหาศาลพอที่จะเสี่ยงกับหนี้บางจำนวนที่เรียกเก็บไม่ได้

การรับซื้อหนี้แบบนี้เรียกว่าซับไพรม์ หากจะแปลเป็นภาษาไทยให้เข้าใจกันชัด ๆ ก็คือกิจการรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพนั่นเอง

เมื่อแรกเริ่มเดิมทีทำกันใหม่ๆ ก็สามารถเรียกเก็บหนี้ได้เกือบเต็มจำนวน จึงสร้างผลกำไรมหาศาล ทำให้ผู้ทำธุรกิจนี้เห็นโอกาสที่จะมีกำไรมากขึ้น จึงเกิดเป็นกิจการที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน

จึงเกิดการระดมทุนโดยทั้งธนาคารและสถาบันการเงิน ตลอดจนนักลงทุนก็พากันมาลงทุนในกองทุนแบบนี้กันอย่างล้นหลาม ทำให้กิจการนี้ขยายตัวจนสามารถรับซื้อหนี้ในระบบได้มากตามไปด้วย

แต่เป็นเวรกรรมของชาวสหรัฐฯ เพราะเมื่อธนาคารและสถาบันการเงินสามารถขายหนี้ด้อยคุณภาพออกไปได้แล้วก็เบาตัวลง แล้วเร่งปล่อยกู้แบบเดียวกันนั้นอีก กู้แล้วก็ขายไปอีก เป็นวัฏฏะแห่งความพินาศเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ในที่สุดผู้คนก็เป็นหนี้ซ้ำหนี้ซ้อน คือเป็นหนี้ในกิจการซับไพรม์ด้วย เป็นหนี้ใหม่ที่เกิดจากการเร่งให้กู้ยืม ขยายวงเงินให้กู้ยืมด้วย ในที่สุดก็เกินความสามารถที่จะชำระหนี้ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้กิจการซับไพรม์ก็เริ่มเก็บหนี้ได้น้อยลง และมีแนวโน้มว่าจะขาดทุน แต่ทว่าวงเงินรวมทั้งหมดทั้งประเทศที่นำไปลงทุนในกิจการซับไพรม์นั้นมันมากมายมหาศาล พอนักวิเคราะห์พบเหตุการณ์ผิดสังเกตว่ากองทุนซับไพรม์ทั้งหลายอาจจะเจ๊งก็รายงานความเห็นให้สาธารณชนทราบ

เท่านั้นแหละเกิดเรื่อง ผู้คนก็พากันกลัวว่าธนาคารและสถาบันการเงินอาจจะต้องล้มเพราะไปลงทุนหรือให้กู้เงินในกิจการซับไพรม์กันมากมายมหาศาล จึงพากันไปถอนเงิน การตื่นตระหนกตกใจลุกลามเป็นไฟไหม้ฟาง ที่ไหนๆ ก็มีคนแห่ไปถอนเงิน

ความกลัวเหล่านี้ขยายตัวไปยังประเทศอื่นๆ ทั้งในยุโรปและญี่ปุ่น กลายเป็นวิกฤตขนาดใหญ่ที่มีขอบเขตทั่วโลกขึ้น เพราะเมื่อธนาคารและสถาบันการเงินถูกคนแห่กันไปถอนเงินไม่มีที่สิ้นสุดกิจการก็จะต้องล้ม จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางที่จะต้องอัดเงินเข้าไปในระบบให้กับธนาคารและสถาบันการเงิน เพื่อให้พอเพียงต่อการถอนเงิน

ดีไม่ดีถ้าอุดรอยรั่วไม่พอ ธนาคารกลางก็จะพาลเจ๊งตามไปด้วย ถึงกระนั้นแม้ว่าจะชะลอการถอนเงินได้บ้าง แต่ก็ทำให้ขาดความเชื่อมั่นว่าในที่สุดแล้วธนาคารและสถาบันการเงินหรือกองทุนต่างๆ จะไม่สามารถได้รับเงินที่ลงทุนไปกลับคืน จะส่งผลกระทบต่อเงินฝากของตน ซึ่งในวันหนึ่งธนาคารและสถาบันการเงินเหล่านั้นก็จะต้องเผชิญกับสภาพเช่นนั้น

ประเทศไทยของเรานอกจากไม่รู้สึกรู้สาเพราะไร้น้ำยาหน่อมแน้มเฉื่อยชาและล้าหลังแล้ว ยังหลอกลวงประชาชนว่าผลกระทบจะไม่ถึงประเทศไทย เป็นการโกหกทั้งเพ

ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจทางการเงินหรือ มีฐานะการเงินมั่งคั่งกว่าสหรัฐและอังกฤษหรือจึงว่าไม่มีผลกระทบ มันกระทบแน่ อย่าไปเชื่อใครว่าไม่กระทบ

ดังนั้นเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ที่เงินฝากแล้วถอนไม่ได้ซ้ำรอยปี 2540 ก็ควรจะได้เตรียมตัวเตรียมใจ รวมทั้งนักธุรกิจน้อยใหญ่ทั้งหลายก็ต้องเตรียมรับมือกับวิกฤตที่หากจะเกิดขึ้นให้ทันท่วงทีก่อนที่จะตายหยังเขียด.