Friday 17 August 2012


อยู่กับปัจจุบัน......อดีดแก้ไขไม่ได้ อนาคตไม่แน่นอน ...อ่านนะ

เขาอายุเพียง ๕๓, เป็นผู้บริหารสูงสุดของ
บริษัทตรวจบัญชียักษ์ “KPMG” ของสหรัฐฯ,
ได้รับเงินเดือนอันดับต้น ๆ ของสุดยอดนักบริหารมะกัน,    กำลังอยู่จุดสูงสุดของอาชีพ...
กำลังเตรียมเดินทางรอบโลก, เตรียมไปร่วมงานวันแรกของลูกสาวขึ้นเรียนชั้นมัธยม, 
ทุกอย่างกำลังเป็นไปอย่างเฟื่องฟู
และวันดีคืนดี, หมอก็ตรวจพบว่า
นาย “ยูจีน โอ’เคลลี่” (Eugene O’Kelly) 
มีมะเร็งในสมองและอยู่ในขั้นสุดท้ายเสียด้วย
หมอบอกว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน ๓ ถึง ๖ เดือน
ไม่ต่างอะไรกับสวรรค์อับปางลงต่อหน้าต่อตา, 
ความฝันทุกอย่างที่มีสำหรับตัวเองและครอบครัว
พังสลายลงมาฉับพลัน
ยูจีนตัดสินใจว่าเขาจะไม่ยอมนอนรอวันตาย, 
เขาตัดสินใจปรับแผนชีวิตเพื่อให้ไม่กี่สิบวันของชีวิต
ที่เหลือมีความหมายที่สุด
ผมรู้จักเขาจากหนังสือ
“Chasing Daylight” (“ไล่ล่าแสงตะวัน”) 
ที่ออกขายมาในอเมริการะยะหนึ่งแล้ว 
เป็นหนังสื่อที่เขาเล่าชีวิตวันต่อวันจนถึงวันสุดท้าย 
โดยมีบทส่งท้ายเขียนโดยภรรยาที่ชื่อ “คอรีนน์” 
ซึ่งเป็นทั้งเงาประจำตัวและเป็นพยาบาลตลอด ๒๔ ชั่วโมง
ที่เล่าถึงนาทีสุดท้ายของชีวิตของสามี
เรื่องราวน่าทึ่งของนักธุรกิจใหญ่ที่ต้องเผชิญกับ 
“กำหนดตารางวันตาย” นี้เป็นการบันทึก 
“การเดินทางวาระสุดท้าย” อย่างกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว
ภายใต้ชื่อหนังสือนั้น, คนเขียนอธิบายว่ามันคือเรื่องราวส่วนตัวที่เล่าขานอย่างละเอียดละออว่า
“ความตายที่กำลังจะมาถึง
ไปปรับเปลี่ยนชีวิตของข้าพเจ้าอย่างไรบ้าง”
“ทันทีที่หมอบอกว่าผมจะมีชีวิตอยู่อีก ๓ ถึง ๖ เดือน, 
ผมก็ถามตัวเองว่า “ทำไมช่วงสุดท้ายของชีวิตคนเรา
จะต้องเป็นช่วงที่เลวร้ายที่สุด?”
เขาบอกตัวเองว่าเขาจะทำให้วันเวลาช่วงสุดท้ายก่อนตายนั้นเป็น 
“ประสบการณ์ทางสร้างสรรค์ที่ควรจะเป็นช่วงที่ดีที่สุดของชีวิต” ให้ได้
เมื่อมีเวลาไตร่ตรองและพูดคุยกับตัวเองเพียงพอ, 
ยูจีนก็บอกว่าถือว่าเป็น “โชคดี” ที่เขารู้ล่วงหน้าว่าจะตาย
เพราะคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเวลาคิดถึงความตายของตัวเองก่อนด้วยซ้ำ เพราะมันมาอย่างรวดเร็ว, กระทันหัน,
และเจ้าตัวตั้งตัวไม่ทันด้วยซ้ำไป
หมอบอกเขาว่ามะเร็งในสมองของเขาส่วนนั้นจะไม่ทำให้มีอาการเจ็บปวดมากนัก ความเสื่อมของสมองมาค่อย ๆ มาในรูปของเงามืด สายตาจะพร่ามัว และเมื่อถึงเวลาอาการก็จะทรุดเข้าสู่โคม่า ความมืดของกลางคืนจะมาถึง และเขาก็จะตาย
เขานับนิ้วแล้วว่าจะเหลือชีวิตเพียง ๑๐๐ วัน
เขาย้อนมองชีวิตการทำงานเขาแล้วก็ปลงว่าเขาไม่เคยมีเวลาให้กับครอบครัว, ไม่ค่อยได้กลับบ้านกินข้าวเย็นกับภรรยาและลูก, 
แม้ลูกจะอ้อนว้อนขอร้องให้เขาไปร่วมงานโรงเรียนของลูก
เพราะพ่อแม่ของเพื่อนๆ ต่างก็ไปร่วมทั้งนั้น, 
เขากลับอ้างว่ามีนัดหมายเรื่องงานการ
ที่ไม่อาจจะไปเป็นเพื่อนของลูกได้
ยูจีนนั่งเสียใจว่าเขาใช้ชีวิตอย่าง 
“นักธุรกิจที่ไม่เคยมีเวลาให้กับครอบครัว” 
ทั้งๆ ที่เขาอ้างว่าที่เขาทำงานหามรุ่งหามค่ำ, 
ต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้ตำแหน่งสูงขึ้น
และได้รายได้เพิ่มพูนขึ้นนั้น
ก็เพราะเขารักครอบครัว
“ในฐานะซีอีโอของบริษัทใหญ่ที่มีพนักงานถึง ๒๐,๐๐๐ คน, ผมมีสิทธิ์พิเศษมากมาย แต่งานในตำแหน่งนั้นก็กดดันให้ผมต้องทำงานอย่างบ้าเลือด ปฏิทินงานการของผมกำหนดไว้ ๑๘ เดือนล่วงหน้า ผมเคลื่อนไหวด้วยความเร็ว ๑๐๐ ไมล์ต่อชั่วโมงตลอดเวลา,
ผมทำงานตลอดเวลา, แม้วันสุดสัปดาห์ก็ไม่ได้เว้น, 
กลางดึกกลางดื่นผมก็ยังทำงาน, 
ผมไม่เคยได้ไปงานโรงเรียนของลูกสาวคนเล็กของผมเลย สิบปีแรกหลังการแต่งงาน ผมไม่เคยไปพักร้อนกับภรรยาเลย...”
แต่เขารู้วันที่เขามีชีวิตเหลือไม่กี่เดือนว่านั่นเป็นข้ออ้างที่เขาไม่มีโอกาสได้แก้ตัวอีก
ยูจีนตัดสินใจว่าเขาจะทำให้การจากโลกของเขา
เป็น “ความตายที่ดีที่สุด” เท่าที่จะทำได้
เขาเรียกมันว่า “the best possible death”
เขานั่งลงเขียน “สิ่งที่ต้องทำก่อนตาย” อย่างนี้
๑. จัดแจงเรื่องกฎหมายและการเงินของตัวเองให้ครอบครัวให้เรียบร้อย
๒. “ร่ำลา” ครอบครัว, เพื่อนสนิท, และเพื่อนร่วมงาน
๓. ทำให้ทุกอย่างที่เหลือของชีวิตเป็นเรื่อง “ง่ายๆ และสบาย ๆ”
๔. อยู่กับปัจจุบันทุกนาที
๕. สร้างและเปิดอารมณ์ให้รับ “นาทีอันสมบูรณ์” (“perfect moments”) ตลอดเวลาจนถึงลมหายใจสุดท้าย
๖. เริ่มต้นกระบวนการ “ผ่องถ่าย” ไปสู่ภาวะถัดไป
๗. เตรียมงานศพของตัวเอง
น่าแปลกว่า สำหรับคนที่ต้องรับการรักษาที่ทำให้ร่างกายต้องผ่ายผอมและสมองทำงานช้าลงไปเรื่อยๆ นั้น, 
ยูจีนสามารถทำตามตารางที่วางไว้ให้กับตัวเองเกือบทั้งหมดทุกวัน, เขาจะนั่งลงเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยปากกา 
เพราะสมองไม่พร้อมจะให้ใช้นิ้วพิมพ์คอมพิวเตอร์ได้ 
และลายมือก็เริ่มจะเฉๆ ไฉๆ ไม่เป็นตัวหนังสือแล้ว 
แต่เขาก็มีความอดทนและมุ่งมั่นเขียนจนถึงอีกไม่กี่วันก่อนที่จะจากไปโดยมีภรรยาของเขาเป็น “ผู้เขียนร่วม” 
เพื่อปิดฉากชีวิตด้วยหนังสือที่เขาเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งชีวิตอันยุ่งเหยิงและวุ่นวายกับการ “สร้างเนื้อสร้างตัว” 
หรือ “สร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและครอบครัว” นั้น
จะต้องปิดฉากลงอย่างฉับพลันอย่างนั้น
ยูจีนร่ำลาเพื่อนฝูงด้วยการเขียนจดหมายไปขอบคุณเขาที่ได้เป็นเพื่อนอันแสนดีหรือเพื่อนร่วมกันที่น่ารัก....และบอกด้วยว่า เขากำลังจะจากโลกนี้ไปในเร็ววัน ขอให้เพื่อนได้รับความขอบคุณจากเขาด้วย
หนึ่งในหลายร้อยฉบับที่เขาเขียนอำลาเพื่อนนั้นมีสั้นๆ อย่างนี้
“ดั๊กเพื่อนรัก...
เพื่อนคงได้ยินข่าวแล้ว, สุขภาพฉันย่ำแย่ลงเรื่อยๆ เพราะเจ้ามะเร็งสมองระยะสุดท้าย ที่ฉันเขียนจดหมายฉบับนี้มาก็เพื่อจะบอกเพื่อนว่ามิตรภาพของเราตั้งแต่เราเรียนที่ Penn State ด้วยกันนั้นมีความหมายต่อชีวิตฉันอย่างมากทีเดียว
ขอให้เพื่อนโชคดีในชีวิต  ขอให้พระเจ้าคุ้มครองเพื่อนด้วย
ยูจีน...”
เขานั่งลงกับลูกทีละคนเพื่อ “พูดจาสั่งลา” กันอย่างสนิทสนม
อยากคุยเรื่องอะไรก็ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอดีต,หรือสิ่ง ที่เคยทำด้วยกันหรือประสบการณ์อันน่าประทับใจที่เคยใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นการแสดงความอาลัยอาวรณ์, 
ไม่จำเป็นต้องเป็นการพูดคุยกันอย่างเป็น “สาระ” เกินไป.
.จะคุยอะไรก็ได้ระหว่างพ่อกับลูก, ลูกกับพ่อ, ผัวกับเมีย, เมียกับผัว...หัวเราะต่อกระซิก, กระเซ้าเย้าแหย่กันได้ก็ยิ่งดี
และสิ่งที่ยูจีนค้นพบที่สำคัญที่สุดก่อนหมดลมหายใจก็คือความสำคัญของการ “อยู่กับปัจจุบัน” หรือ here and now
เพราะตลอดชีวิตของการทำงานนั้น,เขาไม่เคยอยู่กับตัวเอง, ไม่เคยอยู่กับปัจจุบันเลย...มีแต่อดีตกับอนาคต
เมื่อเขารู้ว่าเหลือชีวิตเหลือเพียงแค่ประมาณ ๑๐๐ วัน, 
เขาจึงรู้ว่าการ “อยู่กับปัจจุบัน” นั้นมีความหมายอันลึกซึ้งเพียงใด