Sunday 19 August 2012

บทความพิเศษ ของ นงนุช สิงหเดชะ



บทความพิเศษ นงนุช สิงหเดชะ มติชนสุดสัปดาห์ 13 กรกฎาคม 2555



อย่างที่เราๆ ท่านๆ สังเกตเห็นนั่นล่ะว่า นับแต่ก่อตั้งประเทศไทยมานี้
ยังไม่เคยเห็นการเมืองทำให้คนในชาติแตกแยกกันในระดับลึกมากเท่ายุคนี้
ภาษาเทคโนโลยีร่วมสมัยเขาเรียกว่าแตกแยกกันละเอียดร้าวลึกระดับ "นาโน"
ตั้งแต่ระดับชาติไปจนถึงองค์กร บริษัท ครอบครัว พี่น้อง สามีภรรยา
ไม่เว้นแม้แต่ในวงการกวี ศิลปิน

ล่าสุดนี้เกิดวิวาทะของคนกวี สุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน
ศิลปินแห่งชาติ และศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชื่อดัง
(ที่ได้ชื่อว่าเป็นซ้ายเก่า) และ วิสา คัญทัพ (อดีตซ้ายฝ่ายเสื้อแดง)
ทั้งนี้ หงา คาราวาน เขียนกลอนเนื่องในโอกาสวันสุนทรภู่ว่า

"ขอเรียนศาลแห่งสีที่เคารพ
สีต้องใช้ไม่ครบกระบวนสี/มีกลุ่มคนผูกขาดในชาตินี้
ยึดสีแดงไปย่ำยีเป็นของตน/ทำให้สีแดงแย่มีแต่ยุ่ง
จะแต่งปรุงงานศิลป์ก็สับสน/ ศิลปินเดือดร้อนเกินจะทน
เพราะสีแดงถูกปล้นขโมยไป/เอาสีแดงคืนมาให้ข้าเถิด
ก่อนจะเกิดสงครามห้ามไม่ได้/ทุกวันนี้พวกข้าไม่กล้าใช้
เพราะว่าใจไม่มีให้สีแดง..."

ทำให้ วิสา คัญทัพ เขียนตอบโต้ ในทำนองว่า หงา คาราวาน
(และยังพาดพิงเลยไปถึง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) มองไม่เห็นประชาชน
มองไม่เห็นว่าสีแดงคือเลือดของประชาชน จึงไม่มีใจให้สีแดง

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จากธรรมศาสตร์ ก็ร่วมแจมด้วย
โดยโพสต์ข้อความตั้งข้อสงสัยว่าทำไมอดีตฝ่ายซ้ายจึงหันมาเชียร์เจ้า "ทำไม
อดีตฝ่ายซ้าย อย่างพี่จี๊ด (จิระนันท์ พิตรปรีชา) พี่ "คมทวน" (คันธนู)
และอีกหลายต่อหลายคน จึงหันมา เชียร์เจ้า เป็นปริศนา
ที่ผมเองก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน"

นี่คือส่วนหนึ่งจากข้อความของนายสมศักดิ์



เราจะสังเกตเห็นความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงและนักวิชาการ-กวีที่สนับสนุนฝ่ายสีแดง
นั่นก็คือพวกเขามัก "สรุปเหมา" ว่า ใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยกับคนเสื้อแดง
เป็นพวกเชียร์เจ้า พวกนิยมอำมาตย์ พวกไม่เชื่อในประชาชน
ไม่เชื่อในเสรีภาพและประชาธิปไตย

นี่เป็นข้อสรุปที่ผิด และหากยังไม่พยายามเข้าใจสาเหตุที่แท้จริง
พวกเขาก็จะยังคงคร่ำครวญและฟาดงวงฟาดงากับคนที่ไม่เห็นด้วยต่อไป
และเชื่อแน่ได้ว่ายากนักที่พวกเขาจะสามารถโน้มน้าวให้คนอีกจำนวนมากอย่างน้อยก็ครึ่งประเทศ
หันมาสนับสนุนหรือเห็นพ้องกับประชาธิปไตยในแบบของพวกเขา
ที่หลายคนเรียกว่า "ประชาธิปไตยสีแดง"

สังเกตกันอีกหรือไม่ว่า
คนที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยแบบคนเสื้อแดง
จำนวนมากล้วนเป็นผู้มีสติปัญญา มีการศึกษาสูง
หลายคนเป็นนักต่อสู้กับเผด็จการ หลายคนทำงานให้กับชาวบ้าน ชาวรากหญ้า
หรือในรายที่เป็นกวี ก็เป็นกวีชื่อดัง เป็นศิลปินแห่งชาติ

ถามว่าคนเหล่านี้ไม่รู้จักประชาธิปไตย ไม่รักเสรีภาพและประชาธิปไตยหรือ

คนระดับ จิระนันท์ พิตรปรีชา ภรรยาขอ งเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ฝ่ายซ้ายเก่า
เรียนจบจากอเมริกานี่
ไม่รักเสรีภาพและไม่รู้จักประชาธิปไตยเท่ากับชาวไร่ชาวนาในภาคเหนือและอีสานหรือ

หงา คาราวาน เป็นศิลปิน กวี
อันเป็นอาชีพที่ได้ชื่อว่าที่รักและหวงแหนเสรีภาพมากที่สุดนี่
ไม่รักเสรีภาพ ไม่รักประชาธิปไตยกระนั้นหรือ



หรือหากดูจากผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้วจะเห็นว่า "คนชั้นกลาง"
ไม่เลือกพรรคเพื่อไทย เห็นได้ชัดจากพื้นที่กรุงเทพฯ
หรือในกรณีต่างจังหวัด จะเห็นว่าในเขตอำเภอเมือง
พรรคเพื่อไทยไม่ได้รับความนิยม

กรุงเทพฯ และในเขตเมือง อนุมานได้ว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของผู้มีการศึกษาสูง
ฐานะทางเศรษฐกิจสูง
เป็นผู้อยู่ด่านหน้าของประเทศในการเชื่อมต่อกับโลกภายนอก
เป็นผู้อยู่ด่านหน้าของความทันสมัย
มีจำนวนผู้เรียนจบจากประเทศตะวันตกโดยเฉลี่ยสูงกว่าพื้นที่อื่น
คำถามมีอยู่ว่า แล้วคนเหล่านี้ไม่รู้จักและไม่รักประชาธิปไตยอย่างนั้นหรือ

คนชั้นกลางหรือคนกรุงเทพฯ หรือแม้แต่คนในเขตเมืองใหญ่
ได้ชื่อว่าเป็นผู้รักและหวงแหนสิทธิเสรีภาพของตนมากที่สุด
ถ้ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับเสรีภาพของพวกเขา
พวกเขาจะเป็นกลุ่มแรกที่ออกมาส่งเสียงโวยวายโดยไม่สนใจว่าคนที่ปกครองเขาอยู่นั้นเป็นอำมาตย์หรือนายทุน

แต่ทำไมตลอดมานับแต่หลังปี 2534 จนถึงก่อนยุคของทักษิณ
พวกเขาไม่เคยรู้สึกว่าขาดแคลนเสรีภาพและประชาธิปไตย ดังนั้น
อย่างน้อยก็แสดงว่าบ้านเมืองภายใต้ "อำมาตย์"
(ตามจินตนาการของฝ่ายทักษิณ) มีเสรีภาพและประชาธิปไตยมากพอสมควร
ขณะที่พวกเขาทนไม่ได้ในยุคทักษิณ (อย่าอ้างเหตุผลผิดๆ
อีกล่ะว่าคนชั้นกลางได้รับประโยชน์จากอำมาตย์)



ในด้านเศรษฐกิจหรือความเจริญทางวัตถุ ที่จะใช้เป็นตัวชี้วัดว่า "อำมาตย์"
ถ่วงความเจริญและประชาธิปไตยของประเทศจริงหรือไม่นั้น

ก็อย่าลืมว่า นับตั้งแต่ราว พ.ศ.2530 เป็นต้นมา
เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตร้อนแรง ขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10
เปอร์เซ็นต์ เป็นหนึ่งในดาวเด่นของภูมิภาคเอเชีย
ตลาดหุ้นของไทยขึ้นไปสูงสุดที่ 1,700 จุด เมื่อปี 2537 (นายชวน หลีกภัย
เป็นนายกฯ) จนบัดนี้ยังไม่มีรัฐบาลไหนลบสถิติได้ แม้แต่ยุคทักษิณ

ขณะที่รัฐบาลที่ก่อวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม
2540 คือรัฐบาลที่มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี
และมีรองนายกรัฐมนตรีชื่อ ทักษิณ ชินวัตร หลังจากมีการลอยตัวค่าเงินบาท

และมีการเล่าลือกันให้แซดว่านักการเมืองในรัฐบาลบางคนในขณะนั้น
รู้ข้อมูลวงในล่วงหน้าว่าจะมีการลดค่าเงินบาท
จึงฉวยโอกาสฟันกำไรค่าเงินอื้ออยู่รายเดียว

ขณะที่บริษัทอื่นขาดทุนค่าเงินจนเลือดไหลแทบล้มประดาตาย



กลับมาที่ประเด็นของประชาธิปไตย
แท้จริงแล้วส่วนใหญ่คนที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายเสื้อแดง
ไม่ได้เกี่ยวกับว่าพวกเขาเชียร์เจ้าหรือฝักใฝ่อำมาตย์
แต่พวกเขาพิจารณาเนื้อแท้ว่า
สิ่งที่ปรากฏอยู่นั้นเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่เปลือก
ซึ่งพวกเขาเห็นว่าประชาธิปไตยยุคทักษิณเป็นแค่เปลือก

หรือหากจะมีอำมาตย์อยู่จริง คนชั้นกลางหรือคนที่ไม่เลือกพรรคของคุณทักษิณ
เขาก็เห็นว่าเอาเข้าจริงบ้านเมืองยุคอำมาตย์ยังมีคุณธรรมมากกว่า
สงบสุขมากกว่า เพราะอย่างน้อยอำมาตย์ก็ไม่มีการปลุกระดมสร้างภาพลวงตาคนให้เกลียดชังแตกแยกกันทางชนชั้น

ผิดกับยุคนี้ที่ฝ่ายที่อ้างว่ารักประชาธิปไตย
แต่ชอบปลุกระดมบ่มเพาะให้คนเกลียดชังกันทางชนชั้นจนแทบจะฆ่ากันวันนี้วันพรุ่งก็ยังได้

อีกทั้งพฤติกรรมที่ทำตัวก้าวร้าวข่มขู่คุกคาม ข่มเหงคนอื่นที่เห็นต่าง
ใช้กฎม็อบเหนือกฎหมาย แต่ยังดันคิดว่าตัวเองเป็นนักประชาธิปไตยนั้น
ยิ่งทำให้คนจำนวนมากเบื่อหน่ายเอือมระอาถึงขั้นโกรธ
และข้องใจว่าจริงๆแล้วฝ่ายสีแดงเข้าใจประชาธิปไตยครบถ้วนและถ่องแท้หรือไม่

บรรพบุรุษของไทยได้สร้างสิ่งที่ดีไว้
นั่นคือทำให้คนไทยทุกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์อยู่ร่วมกันได้
ไม่ขัดแย้งเกลียดชังกันทางชนชั้น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์หรือศาสนา
แต่อีกไม่นานจากนี้ไปเราคงเหมือนประเทศด้อยพัฒนาอีกหลายประเทศเช่นรวันดาที่ต้องฆ่ากันเพราะขัดแย้งกันเรื่องชนชั้น
เชื้อชาติเพราะประชาธิปไตยแต่เปลือกนี่ล่ะ

นี่คือเหตุผลหลักที่คนอีกจำนวนมาก
ไม่อาจจะยอมรับและเห็นด้วยกับประชาธิปไตย "สีแดง"
ถ้าคนเสื้อแดงยังหาเหตุผลที่แท้จริงไม่เจอว่าทำไมคนอีกมากไม่ยอมรับ
ก็ยากนักที่ประชาธิปไตยสีแดงจะเบ่งบานในใจคนทั้งประเทศ