Sunday 25 May 2008

Dreams : มูซาชิ (ฉบับท่าพระจันทร์)


มูซาชิ (ฉบับท่าพระจันทร์)

รายละเอียด: อิงจาก “มิยาโมโต้ มูซาชิ” โดย โยชิคาวา เอญิ

เรียบเรียงโดย สุวินัย ภรณวลัยโครงการจัดพิมพ์คบไฟพิมพ์ครั้งที่ 8 พฤษภาคม 2548 หนา 593 หน้า ราคา 260 บาท ลดเหลือ 234 บาท“ความสามารถที่จะรบชนะ” นี้แหละคือบทเรียนที่มีความหมายที่สุด ที่คนรุ่นหลังสามารถเรียนรู้จากมูซาชิได้ ไม่ว่าคนๆ นั้นต้องการจะ ‘ชนะ’ อะไรก็ตามแต่ที่แน่ๆ ก็คือ “ความสามารถที่จะรบชนะ” นั้นมิได้ได้มาเพราะโชคช่วยอย่างแน่นอน มูซาชิเป็นบุคคลประเภทที่เราสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า เขาไม่เชื่อในเรื่องของดวงหรือโชคชะตาดังแนวทางชีวิตที่เขาบัญญัติไว้ 19 ประการ ชื่อ “วิถีชีวิตที่เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว” ข้อ 18 ของเขาที่กล่าวว่า “จงเคารพบูชาพระเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่จงอย่าขอร้องอ้อนวอนให้ท่านช่วย”




พหุปัญญาของมูซาชิใน "คัมภีร์ห้าห่วง" (1)

โดย สุวินัย ภรณวลัย 19 เมษายน 2548 16:57 น.
www.suvinai-dragon.com

มิยาโมโต้ มูซาชิ (ค.ศ. 1582-1645) นักดาบ-นักกลยุทธ์ผู้ไร้เทียมทาน ศิลปินระดับแนวหน้า นักคิดนักปรัชญาเชิงกลยุทธ์ผู้โดดเด่น ปรมาจารย์สำนักดาบคู่ที่มีผู้สืบทอดร่ำเรียนวิทยายุทธ์ของเขาสืบต่อมาจนทุกวันนี้ ผู้เขียน "คัมภีร์ห้าห่วง" อันลือชื่อในช่วงบั้นปลายของชีวิต ซึ่งกลายเป็นตำรากลยุทธ์ที่ "ต้องอ่าน" ควบคู่ไปกับ "ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่" และผู้แสวงธรรมที่ไม่เคยหยุดยั้งในการฝึกปรือตนเอง ทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ

ไม่ว่าจะมองจากมาตรฐานในยุคสมัยใด และไม่ว่าจะมองจากมุมมองสายตาแบบใดก็ตาม คงยากที่จะปฏิเสธได้ว่า มูซาชิผู้นี้เป็นผู้ที่มี "พหุปัญญา" เป็นเลิศ และได้พัฒนาตนเองอย่างรอบด้าน อย่างบูรณาการไปถึงระดับที่สามัญชนน้อยคนจะสามารถไต่เต้าไปถึง โดยผ่าน วิถีกลยุทธ์ (ปิงผ่า ในภาษาจีน หรือ เฮียวโฮ ในภาษาญี่ปุ่น) เชิงบูรณาการ ของตัวเขา

ในโลกนี้ไม่มีใครมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบในทุกด้าน ความอาภัพหนึ่งเดียวในชีวิตของมูซาชิ ทั้งๆ ที่ตัวเขามีอัจฉริยภาพในทางกลยุทธ์อย่างสมบูรณ์แบบก็คือ เขาเกิดมาช้าไปยี่สิบปี! พอเขาเริ่มเข้าสู่ช่วงรุ่นหนุ่ม สงครามแย่งชิงแผ่นดินก็ยุติลงแล้ว โดยกองทัพฝ่ายตะวันออกเป็นฝ่ายชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ขณะที่กองทัพฝ่ายตะวันตกพ่ายแพ้ยับเยิน

เนื่องจากภูมิลำเนาและสายสัมพันธ์ของมูซาชิอยู่ในฝ่ายตะวันตก และมูซาชิในวัยรุ่นหนุ่มก็เข้าร่วมกองทัพฝ่ายตะวันตกทำสงครามในฐานะที่เป็น "ทหารเลว" ระดับล่างสุดคนหนึ่งเท่านั้น ตัวเขาจึงไม่ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพในการรบ และการดำเนินกลยุทธ์ในสงครามครั้งนั้นแต่อย่างใดเลย

ความอาภัพในชีวิตของมูซาชิเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นที่ตัวเขาคิดแสวง "อภิมรรค" โดยผ่านวิถีแห่งกลยุทธ์แล้ว เพราะยุคสมัยมิได้ต้องการ "กุนซือ" อย่างซุนหวู่หรือขงเบ้งที่ตัวเขาใฝ่ฝันจะเป็น เนื่องจากสงครามแย่งชิงแผ่นดินได้ข้อยุติแล้ว!

ทางเลือก เพียงหนึ่งเดียวที่หนุ่มน้อยมูซาชิสามารถเลือกเดินได้ในตอนนั้นคือ เป็น "โรนิน" หรือ นักรบอิสระไร้สังกัด ที่ออกพเนจรร่อนเร่ไปทั่วประเทศญี่ปุ่น เพื่อหาสังกัดเจ้านาย พร้อมกับลับฝีมือการต่อสู้ของตนไปพร้อมๆ กัน

ญี่ปุ่นภายหลังสงครามใหญ่ที่ทุ่งเซกิงาฮาร่ายุติ ที่เจ้าเมืองไดเมียวฝ่ายทัพตะวันตกถูกทำลายอย่างย่อยยับ ทำให้มีพวกโรนินเกิดขึ้นมากมายหลายหมื่นคน หากพวกโรนินเหล่านี้จะหาสังกัดใหม่หรือเจ้านายใหม่ได้ พวกเขาก็ต้อง แสดงตัว รวมทั้ง อวดตัวเอง ว่าเป็นคนมีฝีมือให้เป็นที่ร่ำลือไปทั่วให้จงได้ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงต้องตระเวนลับฝีมือ และโชว์ฝีมือไปตามมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น แน่นอนว่าหนุ่มน้อยมูซาชิก็เป็นหนึ่งในพวกโรนินเหล่านั้นที่ออก "ล่าฝันซามูไร" ไปกับเขาด้วย เพราะยุคสมัยมันเป็นอย่างนั้นไปแล้ว

การจะเป็น ยอดนักรบ ที่เป็นที่กล่าวขานในใต้หล้าสมัยนั้นได้ ก่อนอื่นคนผู้นั้นจะต้องเริ่มจาก การท่องยุทธภพ ก่อน หากผู้นั้นมีฝีมือดาบที่ร้ายกาจจริง พวกเจ้าเมืองไดเมียวทั้งหลายที่อยากได้คนมีฝีมือมาเสริมบารมีของตน เมื่อได้ข่าวย่อมให้ความสนใจแน่ หากถูกใจก็ย่อมยินดีชุบเลี้ยง

แต่พวกโรนินที่ฝึกวิชาฝีมือส่วนใหญ่ มิใช่ว่าจะประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ กลายเป็น ยอดนักดาบ กันได้ทุกคนเสมอไป จะว่าไปแล้ว มีผู้คนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็น ยอดฝีมือ

พวกโรนินส่วนใหญ่ที่เหลือ หากรู้ตัวดีว่า ขาดความสามารถและอัจฉริยภาพก็จะถอดใจเลิกคิดเป็นนักรบ หันกลับไปใช้ชีวิตเป็นชาวนาตามเดิม แต่หากยังดันทุรังต่อไปอีก จุดจบของพวกเขาส่วนใหญ่คือ ถ้าไม่เสียชีวิตในการประลอง ก็ต้องพิการไม่อาจจับดาบได้อีกตลอดชีวิต แต่ก็ยังมีส่วนน้อยที่ทิ้งดาบและหันไปออกบวชแทน

พวกนักรบจำนวนหนึ่งที่รอดชีวิตจากการท่องยุทธภพได้ ก็จะแข่งขันกันเพื่อชิงความเป็น เจ้ายุทธภพ หรือเป็นยอดฝีมือที่ถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ซึ่งพวกเจ้าเมืองไดเมียวทั้งหลายจะเชื้อเชิญยอดฝีมือเหล่านี้ให้มาเป็น ครูดาบ ประจำมณฑลของตน มีสำนักดาบเป็นของตนเอง และมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่ยอดฝีมือที่ธำรงตนเป็นนักรบอิสระ ไม่สังกัดเจ้านายคนไหนแล้วร่อนเร่ไปทั่วอย่างมูซาชิก็ยังพอมีอยู่

มูซาชิเริ่มประลองดาบที่มีชีวิตเป็นเดิมพันตั้งแต่อายุสิบสาม เขาผ่านการประลองเสี่ยงตายนี้กว่า 60 ครั้ง จนถึงอายุยี่สิบเก้าปี โดยไม่เคยแพ้แม้แต่ครั้งเดียว มิหนำซ้ำยังผ่านการประลองทั้งหมดนี้ได้โดยไม่พิการหรือบาดเจ็บด้วย ทั้งๆ ที่คู่ต่อสู้แต่ละคนของเขาล้วนแต่เป็นคู่มือที่ถ้าหากมูซาชิพลาดแม้แต่เพียงก้าวเดียว เขาต่างหากที่จะเป็นฝ่ายตายก่อนทั้งสิ้น

หากคำนวณช่วงเวลาที่มูซาชิออกท่องยุทธภพตั้งแต่อายุยี่สิบจนถึงยี่สิบเก้า เฉลี่ยแล้วเขาผ่านการประลองสองเดือนต่อหนึ่งครั้ง จนกล่าวได้ว่า ตลอดช่วงสิบปีนั้น มูซาชิอยู่ในภาวะ "สงคราม" หรือ "พร้อมรบ" ตลอดเวลา ต่างตรงที่มันเป็น "สงคราม" ของปัจเจกชนที่แสวงหาอภิมรรคบนวิถีกลยุทธ์หรือวิถีดาบ โดยผ่านการต่อสู้กับนักรบคนอื่นบนเส้นทางสายเดียวกันเท่านั้น

บุคลิก ของมูซาชิในช่วงนั้น พอจินตนาการได้ดังนี้

บุรุษผู้หนึ่ง กำลังเดินอยู่บนท้องถนนอย่างสงบและไม่สะทกสะท้านต่อแดดจ้า เขาเดินตัวตรง สายตาจ้องมองไปข้างหน้า เขาก้าวเท้าด้วยความเร็วสม่ำเสมอ

ความมั่นคง ที่เห็นได้ชัดจาก ภายนอก ของเขามาจาก ภายใน ของตัวเขา

ไม่ว่าใครที่พบเห็นเขา ล้วนดูออกว่า บุรุษคนนี้ได้ฝึกฝนตนเองจนร่างกายของเขาแข็งแกร่งเหนือคนทั่วไป

ร่างกายที่สูงห้าเชียะเก้าหุน ไหล่ที่ผายกว้าง หน้าอกที่กำยำ ผิวสีทองแดงเพราะเกรียมแดด

ไม่ว่าใครก็ดูออกว่า บุรุษคนนี้เป็น "นักรบ!"

ผู้คนที่เดินสวนทางกับบุรุษผู้นี้จะรู้สึกขนลุก เย็นยะเยือกขึ้นมาเองอย่างห้ามไม่ได้ เพราะบุรุษผู้นี้มีรังสีไร้สภาพที่เปล่งออกมากดดันคนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา

ใบหน้าของนักรบผู้นี้ปราศจากความรู้สึก ไม่มีแม้แต่ส่วนเสี้ยวเดียวที่ทำให้รู้สึกว่า คนผู้นี้ขาดความระมัดระวังตัวเอง

การฝึกฝนฝึกปรือตนเองอย่างหนักและต่อเนื่องยาวนานนับปี ล้วนเผยตัวเองออกมาจากทุกสัดส่วนในร่างกายที่แข็งแกร่งประดุจหินผาของบุรุษผู้นี้ ที่แม้ฝีเท้าของเขาจะเดินเบาๆ อย่างคล่องแคล่ว แต่ก็ให้ความรู้สึกที่มั่นคงพร้อมกับระดับความเร็วที่คงที่

แต่จุดเด่นที่สุดของนักรบผู้นี้ ยังคงเป็น ดวงตา ของเขา ดวงตาที่ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้เห็น จะไม่อาจลืมเลือนได้เลย ดวงตาที่เปล่งประกายร้อนแรงดุจเปลวไฟ และแรงกล้าเกินกว่าที่จะมองจ้องเพ่งตรงๆ ได้ ต่อให้ผู้มองเป็นผู้ฝึกวิทยายุทธ์มานานปี ก็ยังยากที่จะทนทานต่อการเพ่งจ้องกับสายตาคู่นี้ นับประสาอะไรกับคนทั่วไปเล่าจะกล้าประสานตากับดวงตาของเขาที่ประดุจดาบเปลือยอันคมกล้าเล่มหนึ่งได้...

ในยุคสมัยของมูซาชินั้น การมีชีวิตรอดเป็นกระบวนการเดียวกับการหล่อหลอมฝึกฝนตนเองให้ฉลาดและเข้มแข็ง ต่อให้การกลายเป็น ยอดคน หรือ ยอดฝีมือ ที่โดดเด่นใน วงการของมูซาชิ เป็นผลมาจากพรสวรรค์ในตัวของเขามีส่วนเกื้อหนุนอยู่ไม่น้อยก็จริง แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือ มูซาชิได้ใช้ความพากเพียรวิริยะพยายามอุตสาหะอย่างยิ่งยวดและอย่างไม่หยุดหย่อน ทั้งในการคิดปรับปรุงฝึกฝนฝึกปรือขัดเกลาพรสวรรค์ที่มีอยู่ภายในตัวเขาให้เปล่งประกายเจิดจ้าขึ้นมาโดยพึ่งพาการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นหลัก

เวลาและพลังงานส่วนใหญ่ในชีวิตของมูซาชิ เขาทุ่มเทให้กับการฝึกฝนตนเอง ไม่ว่าเรื่องดาบ เรื่องกลยุทธ์ (ความสามารถที่จะรบชนะ) การศึกษาสรรพวิทยาแทบทุกแขนงที่มีอยู่ในสมัยนั้น โดยเฉพาะการเมือง การปกครอง การวางผังเมือง หมากล้อม งานสถาปัตย์ งานจัดสวน ฯลฯ รวมทั้งงานศิลปะอย่างภาพวาด งานแกะสลัก และการเจริญสมาธิในแนวเซน จะว่าไปแล้ว ความสามารถเชิงพหุปัญญาของมูซาชิเป็นความสามารถของคนซึ่งบรรลุจุดสูงสุดในศิลปะแขนงหนึ่ง ซึ่งสำหรับเขาก็คือ ดาบหรือกลยุทธ์ แล้วเขานำไปใช้ประยุกต์กับศิลปะและวิทยาการแขนงอื่นๆ ซึ่งทำให้ตัวเขาสามารถเข้าถึงแก่นแท้ของศิลปะ หรือวิทยาการแขนงนั้นได้ภายในระยะเวลาที่สั้นกว่าคนทั่วไปมากนั่นเอง

ในยุคปัจจุบันที่ประเทศเราตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเบ็ดเสร็จโดยรัฐบาลพรรคเดียว ที่ได้รับชัยชนะในการช่วงชิงแผ่นดินกับฝ่ายตรงข้ามอย่างเด็ดขาดในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2005 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ห่างจากยุคสมัยของมูซาชิถึงสี่ร้อยปี แต่ดูเหมือน ทางเลือกของ "ปัญญาชนไร้สังกัด" ในประเทศนี้ ที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย อย่างองอาจ อย่างหฤหรรษ์ อย่างสง่างามด้วย ความเป็นอิสระและเป็นไทแก่ตัวจะมีไม่มากนัก

ด้วยเหตุนี้เอง ผู้เขียนถึงได้จับปากกาขึ้นมาเขียนถึง วิถีมูซาชิ อีกครั้ง หลังจากเว้นไปนานถึงสิบปีเต็ม นับตั้งแต่ที่ผู้เขียนได้เคยถ่ายทอด "มูซาชิฉบับท่าพระจันทร์" (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, พิมพ์ครั้งที่ 7) ออกมาเมื่อปี ค.ศ. 1995

เพราะยุคสมัยนี้ คนเราใช้ "ปากกา" "คำพูด" และ "ความคิด" ประหัตประหารกันแทนดาบอย่างรุนแรงกันเหลือเกิน ทำให้ผู้คนหลีกเลี่ยงชะตากรรมของการเป็น "นักรบ" ได้ยากเต็มที ไม่ว่าผู้นั้นจะต่อสู้กับอะไรหรือกับใครก็ตาม

ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่พวกเราจะมาศึกษาร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับมูซาชิ โดยเฉพาะจาก "คัมภีร์ห้าห่วง" ของเขาที่มูซาชิเขียนขึ้นมาในช่วงสองปีก่อนวาระสุดท้ายของชีวิตเขา ซึ่งเราอาจจะถือได้ว่า หนังสือเล่มนี้ของเขาคือตัวแทนแห่งวิถีกลยุทธ์เชิงบูรณาการของตัวเขาที่สะท้อนระดับการพัฒนาบุคลิกภาพขั้นสุดยอดของมูซาชิเอาไว้อย่างสมบูรณ์

มูซาชิเริ่มเขียน "คัมภีร์ห้าห่วง" ในปี ค.ศ. 1643 และเขียนเสร็จในปี ค.ศ. 1645 ก่อนเขาจะเสียชีวิตเพียงเจ็ดวันเท่านั้น ในระหว่างที่เขาเขียน "คัมภีร์ห้าห่วง" นี้ เขาหมกตัวอยู่ในถ้ำเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ชื่อ เรงันโด ซึ่งอยู่ด้านในสุดของ วัดอุนเง็นจิ เพื่อทุ่มเทให้กับงานเขียนชิ้นนี้ ซึ่งในระหว่างนั้น เขายังเจริญสมาธินั่งภาวนาแบบเซนมิได้ขาด

มูซาชิเริ่มเขียน "คัมภีร์ห้าห่วง" เมื่อเขาอายุหกสิบปี ซึ่งในสมัยนั้นต้องถือว่าเขาอยู่ในวัยชรามากแล้ว ชายชราคนหนึ่งผู้ทุ่มเทชีวิตที่เหลืออีกเพียงสองปีของเขาให้กับการเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง อันเป็นหนังสือที่เขาได้กลั่นกรองประสบการณ์ในชีวิตกว่าหกสิบปีเต็มของเขาทั้งหมด บรรจุใส่ลงในหนังสือเล่มนี้ หนังสือเล่มนั้นย่อมไม่ต่างไปจาก "พินัยกรรม" ที่เขาเขียนทิ้งไว้

ความจริงเมื่อมูซาชิเขียน "คัมภีร์ห้าห่วง" เสร็จแล้วเขามอบคัมภีร์นี้ให้กับศิษย์เอกของเขาสามคน พร้อมทั้งสั่งเสียว่า หลังจากที่พวกเขาได้อ่านคัมภีร์นี้เสร็จแล้วให้จุดไฟเผาทำลายเสีย เหตุที่พวกเรายังโชคดีได้อ่าน "คัมภีร์ห้าห่วง" เล่มนี้ได้ ก็เพราะศิษย์เอกคนที่สามของมูซาชิเกิดความเสียดายจึงขอยืมคัมภีร์จริงมาคัดลอกเก็บไว้ ก่อนที่จะนำคัมภีร์ต้นฉบับไปเผาตามคำสั่งเสียของอาจารย์นั่นเอง คัมภีร์ห้าห่วงจึงได้รับการถ่ายทอดมาจนถึงทุกวันนี้

เป็นที่เห็นได้ชัดว่า มูซาชิเขียนคัมภีร์เล่มนี้ออกมาเพื่อเป็นพินัยกรรม มิใช่เพื่อการค้า เพื่อการสร้างภาพ เพื่อการโฆษณาโปรโมตตัวเองแต่อย่างใด เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อ "ทัดทาน" และ "ถ่วงดุล ยุคสมัยของเขาที่ผู้คนในกระแสหลักลุ่มหลงบูชาอำนาจ และความมั่นคงในชีวิตเป็นสรณะ ราวกับไม่เห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตในวิถีทางเลือกอื่นที่ต่างออกไป ด้วยเหตุนี้คัมภีร์ดาบของมูซาชิ จึงกลายเป็น หนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์ยุคสมัยแห่งรัฐบาลเบ็ดเสร็จของกลุ่มโตกุงาว่า ไปโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ในหนังสือเล่มนี้ มูซาชิไม่ได้เขียนถึงสังคมและยุคสมัยของเขาเอาไว้เลย นอกจากวิชาดาบ และหลักแห่งกลยุทธ์ของตัวเขาเท่านั้น

ใน คำนำ ของคัมภีร์ห้าห่วง มูซาชิได้เขียนถึงตัวเองไว้ว่า ตัวเขา "ตั้งแต่อายุสิบสามจนถึงอายุยี่สิบเก้า ได้ทำการประลองฝีมือกับผู้คนไม่ต่ำกว่าหกสิบครั้ง และก็ไม่เคยสูญเสียความได้เปรียบเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ครั้นพอมีอายุล่วงวัยสามสิบไปแล้ว และหันกลับมาพิเคราะห์การต่อสู้ของตนเองในอดีตก็ได้ข้อสรุปว่า ที่ผ่านมาไม่ใช่เพราะวิทยายุทธ์ของตัวเองสูงกว่าของคู่ต่อสู้หรอกที่ทำให้ได้รับชัยชนะอาจเป็นเพราะตัวเองมีไหวพริบดี รู้จักช่วงชิงโอกาสจึงทำให้ได้ชัยมากกว่า ดังนั้น หลังจากนั้นแล้ว ตัวเองจึงมุ่งที่จะแสวงหาความลึกซึ้งในมรรคาแห่งวิทยายุทธ์ของตน มุ่งมั่นฝึกฝนทั้งเช้าและเย็น จนเมื่อมีอายุห้าสิบปีถึงได้รู้สึกว่า ตนเองบรรลุมรรคาแห่งดาบ และกลยุทธ์ได้เป็นผลสำเร็จ"

หลังจากนั้นแล้ว มูซาชิได้ขยายผลแห่งความสำเร็จในมรรคาแห่งดาบและกลยุทธ์ของเขาสู่ศิลปวิทยาแขนงอื่น เพื่อพัฒนาพหุปัญญาเชิงบูรณาการของเขา จนกลายเป็น วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการแบบพหุปัญญา ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสายหนึ่ง ดังที่ปรากฏใน "คัมภีร์ห้าห่วง" และงานศิลปะชิ้นต่างๆ ของเขาเป็น ประจักษ์พยานแห่งความสำเร็จของตัวเขาที่โลกและสังคมในยุคของเขายังไม่ยอมรับ ต้องให้เวลาผ่านไปอีกถึงสามร้อยปีให้หลังการเสียชีวิตของเขา ชีวิตและผลงานของเขาจึงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางสืบจนทุกวันนี้

พหุปัญญาของมูซาชิใน "คัมภีร์ห้าห่วง" (ตอนที่สอง)
โดย สุวินัย ภรณวลัย 26 เมษายน 2548 19:09 น.

www.suvinai-dragon.com

กลยุทธ์ เป็น เรื่องของการเอาชนะ ซึ่งเป็นเรื่องของคุณสมบัติความสามารถที่จำเป็น ไม่ว่าในระดับ ปัจเจก หรือระดับ รวมหมู่ ในการเอาชนะอุปสรรคปัญหาต่างๆ ไม่เพียงแต่ในเรื่องของสงคราม การแข่งขัน การขับเคี่ยวชิงไหวชิงพริบในทางการค้า การเมือง การทหาร และการกีฬาที่มีคู่แข่งคู่ต่อสู้เท่านั้น แต่ยังควรกินความกว้างไปถึง การเอาชนะตัวเอง ด้วย ถึงจะเป็น วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ ที่แท้จริง

ความช่ำชองทางกลยุทธ์ในการเอาชนะ โดยปราศจากการบ่มเพาะคุณธรรม และการพัฒนาจิตใจด้วย อย่างมากก็แค่ทำให้คนผู้นั้นเป็นคนเก่งที่เจ้าเล่ห์เพทุบายที่เป็นคนถ่อย เท่านั้น หาควรค่าแก่การยกย่องสรรเสริญไม่

จะเป็น คนดีวิญญูชน หรือเป็น คนถ่อย ต่างก็ศึกษากลยุทธ์จาก "ตำราพิชัยสงครามซุนหวู่" โดยเฉพาะศึกษา "36 กลยุทธ์" เหมือนกันทั้งสิ้น จะต่างกันก็ตรงที่ ฝ่ายไหนสามารถยกระดับ "เทคนิค" การฝึกกลยุทธ์ให้กลายเป็น "อภิมรรค" (เต๋า) ได้หรือไม่ กับ มีเป้าหมายสุดท้ายแห่งการได้ชัยชนะจากกลยุทธ์ไปเพื่ออะไรเท่านั้น

ตราบใดที่โลกนี้ยังมีสงครามในรูปแบบต่างๆ ตราบนั้น คนเราก็จำเป็นต้องมี ความรู้เชิงกลยุทธ์อย่างบูรณาการ เพื่อชนะสงคราม เพื่อยุติสงคราม และเพื่อสร้างสรรค์โลกที่ไร้สงครามอย่างถาวร อย่างนี้แหละถึงจะเป็น วิถี และ เป้าหมาย ของผู้ที่มุ่งมั่นจะเป็น นักกลยุทธ์ที่แท้จริง

ใน "ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่" แก่นแท้แห่งกลยุทธ์ ที่ปรมาจารย์ซุนหวู่ถ่ายทอดไว้อย่างกระชับในตำราคัมภีร์เล่มนี้ ก็คือ ยุทธศาสตร์การเอาชนะโดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง อันเป็นวิถีสำหรับ การบรรลุความสำเร็จแบบเต๋า ที่สอนให้คนเรา บรรลุความสำเร็จแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น และ "ใช้ทั้งกองทัพให้เหมือนใช้คนคนเดียว" คำสอนเชิงกลยุทธ์แบบนี้ ไม่มีวันตาย!

ผู้เขียนอยากให้ ท่านผู้นำแห่งระบอบทักษิณ น้อมใจรับฟังคำสอนของซุนหวู่ต่อไปนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ผลอย่างแท้จริง

"จงเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของการรบที่ประสบความสำเร็จ
ชัยชนะย่อมตกเป็นของผู้ที่ชนะอย่างง่ายดาย
สงครามที่ดีคือ สงครามที่ชนะได้อย่างชัดแจ้ง...
การได้มาซึ่งความสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องใช้ความหาญกล้า
จงชนะการรบโดยไม่ต้องบากบั่น
จงหลีกเลี่ยงการดิ้นรนที่เหนื่อยยาก...
การป้องกันความพ่ายแพ้ ย่อมนำมาซึ่งชัยชนะได้เสมอ...
จะชนะสงครามได้ สิ่งแรกคือ ต้องทำให้มั่นใจได้ว่าจะชนะเสียก่อน แล้วจึงค่อยแสวงหาการรบ
จงเอาชนะด้วยสติปัญญาเสียก่อนที่จะเริ่มทำสงคราม
หลังจากนั้น จงเข้าสัประยุทธ์เพื่อชัยชนะ"

ส่วน ระบบกลยุทธ์ ในตำรา "36 กลยุทธ์" ถือได้ว่าเป็น การสังเคราะห์ประเภทของกลยุทธ์อย่างครอบคลุมในทุกสถานการณ์ของการสัประยุทธ์ เท่าที่มีอยู่ในตำราพิชัยสงครามของจีนกว่า 200 เล่ม เอาไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว จึงขอนำเสนอ ระบบกลยุทธ์ ในตำรา "36 กลยุทธ์" นี้อย่างให้เห็น ภาพรวม ก่อนที่เราจะไปวิเคราะห์ โครงสร้างทางความคิดเชิงกลยุทธ์ ใน "คัมภีร์ห้าห่วง" ของมูซาชิ

ระบบกลยุทธ์ใน "36 กลยุทธ์"

ส่วนที่ 1 กลยุทธ์ชนะศึก

(1) ปิดฟ้าข้ามทะเล
(2) ล้อมเว่ยช่วยจ้าว
(3) ยืมดาบฆ่าคน
(4) รอซ้ำยามเปลี้ย
(5) ตีชิงตามไฟ
(6) ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม

ส่วนที่ 2 กลยุทธ์เผชิญศึก

(1) มีในไม่มี
(2) ลอบตีเฉินซัง
(3) ดูไฟชายฝั่ง
(4) ซ่อนดาบในรอยยิ้ม
(5) หลี่ตายแทนถาว
(6) จูงแพะติดมือ

ส่วนที่ 3 กลยุทธ์เข้าตี

(1) ตีหญ้าให้งูตื่น
(2) ยืมซากคืนชีพ
(3) ล่อเสือออกจากถ้ำ
(4) แสร้งปล่อยเพื่อจับ
(5) โยนกระเบื้องล่อหยก
(6) จับโจรเอาหัวหน้า

ส่วนที่ 4 กลยุทธ์ติดพัน

(1) ถอนฟืนใต้กระทะ
(2) กวนน้ำจับปลา
(3) จักจั่นลอกคราบ
(4) ปิดประตูจับโจร
(5) คบไกลตีใกล้
(6) ยืมทางพรางกล

ส่วนที่ 5 กลยุทธ์ร่วมรบ

(1) ลักขื่อเปลี่ยนเสา
(2) ชี้ต้นหม่อนด่าต้นไหว
(3) แสร้งทำบอแต่ไม่บ้า
(4) ขึ้นบ้านชักบันได
(5) ต้นไม้ผลิดอก
(6) สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน

ส่วนที่ 6 กลยุทธ์ยามพ่าย

(1) กลสาวงาม
(2) กลปิดเมือง
(3) กลไส้ศึก
(4) กลทุกข์กาย
(5) กลลูกโซ่
(6) หนีคือยอดกลยุทธ์

กล่าวโดยรวมแล้ว เคล็ด ของ "36 กลยุทธ์"ข้างต้นคือ การประยุกต์หลักการของเต๋า โดยเฉพาะในคัมภีร์อี้จิงมาใช้ในการทำศึก นั่นเอง เช่น "บุกก่อนมิสู้ตีโต้ตอบทีหลัง", "เลี่ยงแน่นตีกลวง เลี่ยงแข็งตีอ่อน", "แกร่งคือเสีย อ่อนคือได้", "ใช้ใกล้รอไกล ใช้สบายรอเหนื่อย", "ทำทีถอยแต่กลับรุก ทำทีรุกแต่กลับถอย", "ใช้ภาพลวงปกปิดภาพจริง", "ในจริงมีเท็จ ในเท็จมีจริง", "ใช้ความสงบรอความปั่นป่วน ใช้ความเงียบรอความวุ่นวาย", "อ่อนนอกแข็งใน", "สงสัยพึงแจ้ง สังเกตจึงเคลื่อน", "ไม่ปะทะด้วยกำลัง พึงขจัดความฮึกเหิม", "ลวงให้ย้ายแนวบ่อย หลอกให้ถอนทัพหลัก", "แกล้งไม่รู้ไม่ทำ ดีกว่าแสร้งรู้วู่วามทำ", "ยืมสถานการณ์สร้างกระบวนท่า", "เคลื่อนอย่างใจร้อนจักเสีย สงบแต่คล้อยตามจักได้", "ต่อแม่ทัพที่ฉลาด พึงโจมตีจุดอ่อนทางใจ", กลวงยิ่งทำกลวง สงสัยยิ่งให้สงสัย", "ใช้พิสดารซ้อนพิสดาร", "มีผู้แฝงอยู่ภายใน ไม่เสียหายแก่เรา", "เท็จจริงจริงเท็จ กลศึกจึงบรรลุ", "อาศัยจุดอ่อนแห่งจิต ลู่ตามจึงพิชิต", "หลายอุบายเป็นหนึ่งกลยุทธ์", "ถอยหนีมิผิด เป็นวิสัยซึ่งสงคราม" เป็นต้น

ในการศึกษาเรื่องกลยุทธ์นั้น จึงควรศึกษา "ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่" ควบคู่ไปกับ "36 กลยุทธ์" นอกจากนี้ยังควรศึกษาหนังสือ "ชมรมขุนพล" ของขงเบ้งซึ่งเป็นแม่บทของ "การดูคนเก่ง เพาะคนเก่ง ใช้คนเก่ง" เพื่อบ่มเพาะยอดคนในองค์กรด้วย แต่แม้กระนั้น การศึกษากลยุทธ์แค่จากตำราข้างต้นก็ยังไม่ใช่สิ่งสมบูรณ์ และยังไม่บูรณาการจริง หากปัจเจกผู้นั้น มิได้ ฝึกฝนเต๋า จนกลายเป็น ผู้เชี่ยวชาญเต๋าในภาคปฏิบัติ โดยผ่านการฝึก มวยไท้เก๊ก และ หมากล้อม โดยเฉพาะ หมากล้อมซึ่งเป็นศิลปะอัจฉริยะเพื่อการฝึกกลยุทธ์ของปราชญ์ชาวจีนมาแต่โบราณกาล

พวกเราควรศึกษา "คัมภีร์ห้าห่วง" ของมูซาชิจากบริบทการศึกษาวิชากลยุทธ์เชิงบูรณาการข้างต้น เพื่อทำให้ วิถีแห่งกลยุทธ์ หรือ วิถีแห่งวิทยายุทธ์ ของผู้นั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งในระดับปัจเจก และระดับรวมหมู่

มูซาชิเริ่มต้น "คัมภีร์ห้าห่วง" ของเขาดังต่อไปนี้

(1) วิถีแห่งกลยุทธ์ ของข้า ตัวข้าเรียกมันว่า "นิเท็นอิจิริว" (ทวิภพบรรจบเป็นหนึ่ง) ข้าได้ฝึกฝนมานานปีแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ข้าตั้งใจจะเขียนถ่ายทอดหลักกลยุทธ์ของข้าทั้งหมดลงในคัมภีร์เล่มนี้...

ข้าคือชินเม็ง มิยาโมโต้ มูซาชิ ซามูไร ที่เกิดที่จังหวัดเฮียวโงะ บัดนี้ (ค.ศ. 1643) ข้ามีอายุหกสิบปีกว่าแล้ว

(2) ข้ามีความสนใจใน วิชากลยุทธ์ และศิลปะการต่อสู้ มาตั้งแต่เด็กแล้ว จำได้ว่า ข้าเริ่มประลองฝีมือกับผู้คนเป็นครั้งแรก เมื่ออายุสิบสามคู่ต่อสู้ของข้าชื่อ อาริม่า คิเฮอิ เป็นนักดาบสายชินโตริว แต่ข้าก็สามารถเอาชนะเขาได้ เมื่อข้าอายุสิบหก ข้าก็สามารถเอาชนะนักดาบฝีมือดีคนหนึ่งที่ชื่อ อาคิยาม่า จากจังหวัดเฮียวโงะได้เช่นกัน ครั้นเมื่อข้าอายุได้ยี่สิบเอ็ด ข้าได้ขึ้นไปเมืองเกียวโต ได้มีโอกาสประลองกับนักดาบผู้มีชื่อแห่งยุคที่นั่นหลายครั้งด้วยกัน ไม่เคยมีเลยที่ข้าไม่ชนะ

(3) หลังจากนั้น ข้าได้ออกพเนจรไปตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และได้ประลองกับนักดาบสำนักต่างๆ เป็นจำนวนกว่าหกสิบกว่าครั้งด้วยกัน ไม่เคยเลยที่ข้าจะพ่ายแพ้แม้แต่ครั้งเดียว นี่คือประสบการณ์ในการต่อสู้ของตัวข้าในช่วงอายุตั้งแต่สิบสามจนถึงอายุยี่สิบเก้าปี

(4) แต่ครั้นเมื่อข้ามีอายุเลยสามสิบแล้วหันมาทบทวนการต่อสู้ของตัวข้าในอดีต ข้าได้พบว่า ชัยชนะที่ข้าได้มาโดยตลอดนั้น มิใช่เพราะว่าข้าบรรลุขั้นสุดยอดของวิทยายุทธ์แล้วจึงชนะได้หรอก แต่คงเป็นเพราะข้าอาจมีพรสวรรค์ติดตัวเกี่ยวกับเรื่องวิทยายุทธ์มาตั้งแต่เกิด หรืออาจเป็นเพราะ ข้าไม่ได้ละทิ้งวิถีของฟ้า หรืออาจเป็นเพราะคู่ต่อสู้ของข้ามีฝีมือด้อยกว่าข้ากระมัง จึงทำให้ข้าชนะมาได้โดยตลอด

(5) ดังนั้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ข้าจึงมุ่งแสวงหาที่จะบรรลุขั้นสุดยอดของกลยุทธ์และวิทยายุทธ์ให้จงได้ ข้าจึงยิ่งหมั่นเพียรฝึกฝนตนเองมากยิ่งขึ้น ทั้งเช้าและเย็น จนกระทั่งคิดว่าตนเองได้บรรลุอภิมรรค (เต๋า) แล้วเมื่อข้ามีอายุได้ห้าสิบ

(6) หลังจากนั้น ใจของข้าก็หมดความทุรนทุรายที่จะดิ้นรนแสวงหาอภิมรรค และหันมาใช้ชีวิตผ่านวันเวลาอย่างสงบสันติได้จริงๆ ข้าได้พยายามเอาหลักของแก่นวิชากลยุทธ์และวิทยายุทธ์ของข้าไปประยุกต์ใช้กับมรรคและศิลปะแขนงอื่น โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งครูคนไหนเลยอีกต่อไป แม้แต่การเขียนคัมภีร์เล่มนี้ ข้าก็จะไม่ขออ้างคำสอนตั้งแต่โบราณของตำราพิชัยสงครามเล่มใดๆ แต่ข้าจะใช้ภาษา ความคิด และประสบการณ์ของตัวข้าเองเป็นหลักในการเขียนคัมภีร์เล่มนี้...

(7) วิชากลยุทธ์และวิทยายุทธ์เป็นวิชาของนักรบ ไม่ว่าจะเป็นขุนพลหรือทหารเลวต่างควรศึกษาวิถีกลยุทธ์อันนี้เหมือนกัน แต่อนิจจาในโลกปัจจุบันนี้ นักรบที่เข้าใจถึงแก่นแท้ของวิชากลยุทธ์และวิทยายุทธ์ได้ช่างมีน้อยเต็มทน

(8) อภิมรรค ถ้าเป็นของพุทธจะหมายถึง วิถีที่มุ่งช่วยคนให้พ้นทุกข์ ถ้าเป็นคำสอนของขงจื๊อ จะหมายถึงวิถีแห่ง บุ๋น" (การศึกษาอบรมจรรยา) ถ้าเป็นแพทย์จะหมายถึง วิถีแห่งการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าเป็นกวีจะหมายถึง วิถีแห่งการแต่งกาพย์กลอน หรือถ้าเป็นการชงชา คัดอักษรหรือศิลปะแขนงอื่นๆ ต่าง ล้วนฝึกฝน มรรคของตนด้วยความปลอดโปร่งใจสำราญใจ กันทั้งสิ้น ซึ่งต่างกับ วิถีแห่งวิทยายุทธ์ หรือ มรรคบู๊ เพราะมี น้อยคนนักที่จะชอบวิถีนี้อย่างจริงจัง

(9) แต่ถึงจะเป็นนักรบ ก็จงระลึกไว้เสมอว่า หลักการของการเป็นนักรบที่แท้จริงนั้น จะต้องเพียบพร้อมทั้งบู๊และบุ๋น จะต้องเชี่ยวชาญทั้งสองทางนี้ไปพร้อมๆกัน ต่อให้มีแบ่งหลักแบ่งรอง ผู้ที่จะเป็นนักรบก็ต้องหมั่นเพียรพยายามฝึกฝนทั้งสองทางควบคู่กันไปให้จงได้

(10) หัวใจของการเป็นนักรบนั้น อยู่ที่การเตรียมพร้อมที่จะตายได้ทุกเมื่อ นักรบจะต้องรู้จักละอาย ยึดมั่นในคุณธรรม และเลือกที่ตายให้ถูกต้อง วิถีของนักรบนั้น มีพื้นฐานอยู่ที่การมีชัยเหนือคน ไม่ว่าในการต่อสู้หนึ่งต่อหนึ่ง หรือในการต่อสู้กับคนหมู่มาก

มูซาชิได้เขียน "คัมภีร์ห้าห่วง" โดยแบ่งเป็นห้าภาคด้วยกัน แต่ละภาคก็มีหลักวิชาแตกต่างกันไป โดยมูซาชิแบ่งเป็นภาคดิน ภาคน้ำ ภาคไฟ ภาคลม และภาคสุญตา โครงสร้างการเขียนของมูซาชิแบบนี้สะท้อนให้เห็นว่า มูซาชิเป็นพุทธในเชิงหลักคิด นี่คงเป็น ผลของการปฏิบัติธรรมแบบเซน ในช่วงบั้นปลายแห่งชีวิตของเขานั่นเอง

ใน ภาคดิน มูซาชิได้กล่าวถึง ภาพกว้างๆ เกี่ยวกับวิถีของกลยุทธ์และวิทยายุทธ์ตามทัศนะของเขา มูซาชิกล่าวว่า ในการจะรู้วิถีที่แท้จริงนั้น จะต้องรู้ทั้งที่ใหญ่ที่เล็กที่ตื้่นที่ลึก รู้หนารู้บาง ดุจการย่ำพื้นดินบนเส้นทางที่ตรงดิ่ง ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตั้งชื่อภาคแรกในคัมภีร์เล่มนี้ของเขาว่า ภาคดิน

ส่วน ภาคน้ำ ซึ่งเป็นภาคที่สองของคัมภีร์ห้าห่วง มูซาชิบอกว่า เหตุที่เขาตั้งชื่อว่า น้ำ ก็เพราะวิทยายุทธ์ของตัวเขาเรียนรู้จาก "น้ำ" มาเป็นเยี่ยงอย่าง โดยเฉพาะในการฝึกใจของเขา ซึ่งมูซาชิบอกว่า เขาได้พยายามฝึกใจของเขาให้เป็นดุจใจของน้ำ เนื่องจากน้ำสามารถปรับตัวเข้ากับภาชนะได้ทุกชนิดทุกประเภท นอกจากนี้ น้ำยังสามารถดำรงอยู่แค่หยดเดียวเป็นหยดน้ำค้างก็ได้ หรือจะดำรงอยู่เป็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาลก็ได้ เขาจึงขอใช้คุณสมบัติของน้ำนี้ เป็นสัญลักษณ์แทนหลักกลยุทธ์และวิทยายุทธ์ของสำนักของเขา

มูซาชิกล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่ฝึกฝนหลักวิทยายุทธ์จนกระทั่งสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ที่เป็นปัจเจกได้ดั่งใจปรารถนาแล้ว ก็ย่อมที่จะสามารถชนะคนทั้งโลกได้ด้วยหลักการเดียวกันนั่นเอง เพราะใจที่มีชัยเหนือคนคนหนึ่งนั้น ย่อมเป็นใจเดียวกับใจที่มีชัยเหนือไพรีข้าศึกนับพันนับหมื่น ดั่งคำสอนที่ว่า "จงใช้หนึ่งไปรู้หมื่น" หรือ หากรู้ซึ้งในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียวก็ย่อมสามารถรอบรู้ในเรื่องทั้งปวงได้ นี่แหละคือ หลักวิชาฝีมือที่เป็นหลักกลยุทธ์เชิงบูรณาการ และพหุปัญญาของมูซาชิ

สำหรับ ภาคไฟ มูซาชิได้กล่าวถึงการสู้รบในทัศนะของเขา มูซาชิกล่าวว่า ไฟนั้นเจิดจ้า จะใหญ่ก็ได้จะเล็กก็ได้ จึงเหมาะที่จะเป็นสัญลักษณ์ของการสู้รบ ซึ่งมีทั้งการต่อสู้แบบตัวต่อตัว และการต่อสู้ระหว่างกองทัพกับกองทัพ แต่วิถีของการรบนั้นยังคงเป็นหลักวิชาเดียวกันอยู่ดี ความจริงในเรื่องนี้ หากครุ่นคิด เรื่องนี้ให้ลึกซึ้งรอบคอบก็จะเป็นที่ประจักษ์ได้เอง

มูซาชิกล่าวว่า ไฟดวงใหญ่นั้นมองเห็นง่าย แต่ไฟดวงเล็กมองเห็นยาก เปรียบเหมือนกับคนหมู่มากที่จะเคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กันนั้นเป็นเรื่องยาก ในขณะที่คนคนเดียวใช้ใจดวงเดียวของตนก็จะเคลื่อนไหวง่าย เปลี่ยนแปลงง่ายในทันที เพราะฉะนั้นการรู้ในเรื่องเล็กๆ อย่างใจของคนคนเดียว จึงยากกว่าการรู้ในเรื่องใหญ่ๆ ของคนกลุ่มใหญ่ที่กุมสภาพได้ง่ายกว่า มูซาชิจึงเน้นว่า คนเราควรหมั่นฝึกฝนใจให้เป็นปกติไม่เปลี่ยนแปลงไม่หวั่นไหว แม้ยามเกิดเหตุฉุกเฉินไม่คาดฝัน หรือตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน เพราะนี่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการสู้รบ สำหรับ ภาคลม มูซาชิได้กล่าวถึง วิชาฝีมือของสำนักอื่นๆ ที่ไม่เหมือนกับสำนักของเขา เขาตั้งชื่อภาคนี้ว่า "ลม" (ซึ่งคำคำนี้ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงคำว่า สไตล์หรือลีลาได้ด้วย) เพื่ออธิบายสไตล์การต่อสู้ของสำนักอื่นๆ เพราะเขามีความเห็นว่า หากไม่รู้จักเรื่องของคนอื่นแล้วจะรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ได้อย่างไร

ส่วนในภาคสุดท้ายหรือ ภาคสุญตา ของคัมภีร์ห้าห่วงนั้น มูซาชิบอกว่า เขาต้องการพูดถึง เรื่องที่ลึกล้ำ ที่เป็นปากทางเข้าสู่อภิมรรค โดยเขาต้องการจะชี้ให้เห็นว่า เมื่อบรรลุอภิมรรคแล้วก็จงเป็นอิสระจากอภิมรรคนั้นเสีย จงเป็นอิสระจากวิถีกลยุทธ์ และวิถีวิทยายุทธ์เสียเถิด เพื่อก้าวเข้าสู่สภาวะอันสุดแสนพิสดารพันลึกของจิต นี่แหละจึงเป็นการเดินเข้าสู่อภิมรรคที่แท้จริง ที่เรียกกันว่า วิถีแห่งสุญตา

มูซาชิเก่งกาจขนาดนี้! มูซาชิปราดเปรื่องขนาดนี้! แต่จอมยุทธ์ และนักกลยุทธ์ชั้นยอดอย่างเขากลับมีชีวิตที่อาภัพ เพราะมูซาชิไม่ได้รับการยอมรับสักเท่าไหร่นัก จากคนในยุคสมัยเดียวกับเขา มีผู้คนจำนวนไม่น้อยในยุคของมูซาชิที่ตั้งหน้าตั้งตา วิพากษ์วิจารณ์ หยามเหยียด ดูแคลนใส่ร้ายมูซาชิ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเจอตัวจริงของเขา และไม่เคยได้รับรู้ด้านลึกด้านในที่จริงแท้ของตัวเขาเลย เพียงแต่ได้ยินคำร่ำลือในเชิงลบเกี่ยวกับตัวเขาเท่านั้น

โลกนี้ช่างเต็มไปด้วยเสียงคลื่นต่างๆ นานา

ผู้คนส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตมิต่างจากพวกปลาเล็กปลาน้อย ปลาซิว ปลาสร้อยที่ปล่อยชีวิตไปตาม "กระแส" เริงร่า ระริกระรี้ไปตามกระแสคลื่นที่มีขึ้นมีลง วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร

แต่ จะมีใครบ้างที่รู้ซึ้งถึงหัวอกของน้ำที่อยู่ลึกใต้ทะเลหนึ่งร้อยเชียะนั้น?

จะมีใครบ้างที่ล่วงรู้ถึงความลึกล้ำของมัน?

ภูมิปัญญามูซาชิกับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (ตอนที่หนึ่ง)
โดย .สุวินัย ภรณวลัย 3 พฤษภาคม 2548 17:07 น.
www.suvinai-dragon.com

"เลี้ยงทหารพันวันก็เพื่อใช้งานใน วันเดียว
ฝึกกลยุทธ์และวิทยายุทธ์พันวันก็เพื่อใช้ใน พริบตาเดียว"(มูซาชิ)

ใน วิชัน ของผู้เขียน การที่สังคมไทยจะก้าวไปสู่ สังคมแห่งความรู้ และ สังคมแห่งการเรียนรู้ ได้อย่างยั่งยืนแท้จริงนั้น จำเป็นจะต้อง มีการบูรณาการภูมิปัญญาสามยุค เข้าด้วยกัน คือ ภูมิปัญญาก่อนทันสมัย (Premodern wisdom) ภูมิปัญญายุคทันสมัย และ ภูมิปัญญายุคหลังทันสมัย (Postmodern wisdom)

การบูรณาการภูมิปัญญาสามยุคนี้จะต้องดำเนินไปทั้งใน แนวนอน กับ แนวตั้ง ทั้งในมิติปัจเจก และมิติรวมหมู่ ควบคู่กันไป การบูรณาการภูมิปัญญาสามยุคใน แนวนอน นั้นผู้เขียนหมายถึง การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เชิงกลยุทธ์แบบบูรณาการ โดยเรียกร้องให้ผู้คนสนใจ ศาสตร์และศิลปะแห่งกลยุทธ์ทั้งปวง เพื่อเป็น ผู้ชนะ ใน "สงครามชีวิต" ระดับปัจเจก และเป็น ผู้ชนะ ใน "สงครามเพื่อความอยู่รอดของชาติ" ระดับรวมหมู่ เพราะภาวะสงครามการค้า สงครามเศรษฐกิจที่ทุนนิยมไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงนั้น การชี้นำทางยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด ของ "ผู้นำเดี่ยว" ภายใต้ ระบอบทักษิณ อาจหมายถึง ความล่มจมของประเทศชาติ เอาได้ง่ายๆ นี่ยังไม่นับรวมภัยจาก "สงครามเย็นใหม่" ในรูปของลัทธิก่อการร้าย และลัทธิเคร่งศาสนาหัวรุนแรง (fundamentalism) ที่เห็นได้ชัดว่าล้มเหลว เพราะมุ่งแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยความรุนแรงอย่างมิติเดียวที่ตื้นเขิน

ส่วนการบูรณาการภูมิปัญญาสามยุคใน แนวตั้ง นั้น ผู้เขียนหมายถึง การเปลี่ยนแปลง โครงสร้างเชิงลึก ของสังคม โดยการ ยกระดับจิตสำนึก ของสังคม โดย การพัฒนาระดับจิต ของผู้คน และเพิ่มขยาย มิติทางจิตวิญญาณ ในทั่วทุกบริบทของการดำเนินชีวิต (ในเรื่องนี้ ผู้เขียนได้เขียนเป็นหนังสือออกมาแล้วชื่อ "การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก" จัดพิมพ์โดย Openbooks ซึ่งเป็น ภาคสุดท้าย ของ ไตรมาส ต่อจาก "แกะรอยทักษิโณมิกส์" และ "การเมืองเชิงบูรณาการ")

ปัจจุบัน การเรียนรู้เชิงกลยุทธ์ในสังคมไทย ยังถูกครอบงำโดย นักการตลาด และ ลัทธิการตลาด ที่มี ความโลภ เป็น แรงจูงใจหลัก สิ่งนี้มีนัยว่า พวกนักการตลาดและพวก ลัทธิบริโภคนิยม ที่เป็นตัวแทนของ โลกทัศน์แบบทันสมัยนิยม ได้ฉกฉวยใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาโบราณ (ก่อนทันสมัย) โดยละเลยแก่นแท้เรื่อง คุณธรรม หรือ หลักธรรม ซึ่งเป็น หัวใจคำสอน ของ ภูมิปัญญาโบราณ แต่มุ่งเอาภูมิปัญญาเหล่านั้นมารับใช้ตอบสนองความโลภ ความเชื่อแบบวัตถุนิยมอย่างสุดโต่ง ของพวกตนเป็นสำคัญ สิ่งนี้เห็นได้ชัดเจนในเรื่อง การนำเอาภูมิปัญญาโบราณเรื่องกลยุทธ์มารับใช้การตลาดอย่างไม่พยายามทำความเข้าใจให้ลุ่มลึกว่า วิญญูชนคนโบราณนั้น เขามีวิถีแห่งกลยุทธ์ที่แท้จริงเช่นไร ขณะเดียวกัน ก็ขาดวิสัยทัศน์ที่กว้่างไกลแบบโพสต์โมเดิร์น ที่ตระหนักถึงภัยอันตรายที่ลัทธิบริโภคนิยมกำลังบ่อนทำลายระบบนิเวศของโลก ซึ่งอาจนำมาซึ่งการล่มสลายแห่งเผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติในอนาคตที่ไม่นานนักได้

สังคมนี้กำลังตกอยู่ในเงื้อมมือของศาสนาใหม่แห่งลัทธิบริโภคนิยม โดย เจ้าลัทธิใหม่ นี้เป็นนักการตลาดตัวยง แต่วิถีแห่งกลยุทธ์ของเจ้าลัทธิใหม่คนนี้ ทั้งเบี่ยงเบนออกจากภูมิปัญญาโบราณ และภูมิปัญญาโพสต์โมเดิร์นอย่างเห็นได้ชัด

ความสำคัญของการหันกลับมาศึกษา ภูมิปัญญามูซาชิ จากมุมมองของ วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ เพื่อ ปลดปล่อยโลกทัศน์ ของเราให้เป็นอิสระจากลัทธิการตลาดที่มีแต่ความโลภ คลั่งไคล้เงินทองเป็นสรณะไปสู่ โลกทัศน์ของนักกลยุทธ์ที่แท้ที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย สมถะ แต่เปี่ยมไปด้วยปณิธานความมุ่งมั่น เพื่อกอบกู้ความอยู่รอดของประเทศชาติ และกอบกู้ความเป็นมนุษย์ ความเป็นจิตวิญญาณของเพื่อนร่วมชาติให้กลับคืนมา จึงเป็นเรื่องที่พึงตระหนักยิ่งเรื่องหนึ่งในสายตาของผู้เขียน

ใน ปรัชญาชีวิตของมูซาชิ เท่าที่เห็นได้จาก "คัมภีร์ห้าห่วง" ของเขานั้น เขาให้คุณค่าความสำคัญของ การตั้งจิตมีปณิธานที่แน่วแน่ในชีวิตคนเราไม่ว่าจะริเริ่มทำสิ่งใดก็ตาม การตั้งจิตอย่างมุ่งมั่นแรงกล้าที่จะประสบความสำเร็จเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ตัวมูซาชิโดยเฉพาะในช่วงบั้นปลายของชีวิตที่เขาหันมาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังนั้น เป็นผู้ที่เคารพศรัทธาในพระพุทธเจ้า เทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงก็จริงอยู่ แต่เขาก็ ไม่เคยคิดอ้อนวอนขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายช่วย เขาถือหลักว่า "ตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน" อย่าไปคิดหวังพึ่ง "ความเอื้ออาทร" จากอัศวินม้าขาวหรือ "เทวดา" หน้าไหน

การทำชีวิตในแต่ละวันของตนเองให้ดีที่สุด ที่เหลือปล่อยให้เป็นลิขิตของฟ้า การมี ระยะห่างที่สมดุล ระหว่างตัวเรากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างที่มูซาชิประพฤติเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ยิ่ง

มันเป็นความเชื่อส่วนตัวของมูซาชิว่า คนเราควรใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของตน เพื่อการฝึกปรือตนเอง โดย ฝึกฝนทุกเช้าค่ำ หมั่นปรับปรุงแก้ไข ดัดแปลงทักษะความเชี่ยวชาญของตนอยู่เสมอ โดยไม่เหนื่อยหน่ายต่อการเดินอยู่บนวิถีแห่ง อภิมรรค

ขงจื้อเคยกล่าวว่า "ตัวเองอายุสิบห้า ตั้งจิตปณิธานในการศึกษา อายุสามสิบเริ่มยืนได้ด้วยลำแข้งตนเอง อายุสี่สิบเริ่มไม่ลังเลสงสัย อายุห้าสิบจึงทราบเจตนารมณ์ของฟ้า" ตัวมูซาชิก็เช่นกัน หลังจากที่ตัวเขาได้พากเพียรฝึกปรือตนเองมาไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นวัน หรือไม่ต่ำกว่าสามสิบปี พอเขาอายุห้าสิบก็เข้าถึงมรรคแห่งกลยุทธ์และวิทยายุทธ์เช่นกัน

อาจกล่าวได้ว่า นี่คือความเป็นสากลของวิถีตะวันออก ที่ไม่ว่าผู้ใดก็ตามที่ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับวิถีของตนอย่างบากบั่น ไม่ย่อท้อ สักวันหนึ่ง มันย่อมก่อให้เกิดมรรคผล วันที่ดอกบัวเริ่มผลิบานในใจของผู้นั้น

ก่อนอายุห้าสิบ มูซาชิคงมุ่งมั่นเฝ้าแสวงหาวิถีแห่งกลยุทธ์และวิทยายุทธ์ที่ "ข้างนอก" ด้วยความพากเพียรพยายามเกินคนธรรมดาสามัญอย่างมุ่งมั่นแรงกล้า แต่แล้วพออายุห้าสิบมูซาชิคงพลันได้คิด พลันคิดตกแล้วค้นพบว่า ใจของตัวเขาที่กำลังแสวงหาอภิมรรคอยู่นั้น มันคือ อภิมรรค คือหลักแห่งกลยุทธ์และวิทยายุทธ์ที่เพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่แล้ว

นับจากบัดนั้น มูซาชิมิได้แสวงหาอภิมรรคอีกต่อไป มูซาชิไม่จำเป็นต้องแสวงหาใดๆ อีกต่อไป "ภายใน" ของเขาหยุดแล้ว มีศานติแล้ว! แม้ว่าหลังจากนั้น มูซาชิจะยังคงศึกษาฝึกฝนศิลปะต่างๆ อีกหลายแขนง แต่เขาไม่ได้และไม่จำเป็นต้องแสวงหาอภิมรรคอีกแล้ว อาจกล่าวได้ว่า หลังจากอายุห้าสิบ มูซาชิสามารถถูกนับเป็นหนึ่งใน "มหาบุรุษ" ได้อย่างเต็มภาคภูมิแล้ว ต่อให้การประเมินคุณค่าของมูซาชิในวัยก่อนสามสิบจะถูกพวกนักประวัติศาสตร์ "มองต่างมุม" ได้ต่างๆ นานา เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ได้หลายแง่ก็จริง แต่เราน่าจะยอมรับได้ว่า หลังจากอายุห้าสิบแล้ว มูซาชิ "เปลี่ยนไป" แทบเป็นคนละคน ความเปลี่ยนแปลงอันนี้แน่นอนว่า เกิดจาก ความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเชิงลึก หรือการเปลี่ยนแปลงในระดับจิต ในสภาวะจิตของมูซาชินั่นเอง

ความเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจของมูซาชิครั้งใหญ่ของมูซาชิในวัยห้าสิบ ทำให้ ตัวเขาสามารถปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการของความขัดแย้งที่ต้องมีปฏิปักษ์หรือคู่ต่อสู้ในวิถีแห่งกลยุทธ์และวิทยายุทธ์ แล้วล่วงล้ำเข้าสู่ โลกแห่งเอกจิต หรือ โลกของ "เอกบุรุษ" ที่ข้ามพ้น "ความเป็นคู่" อันเป็น โลกที่เขาสามารถมองสรรพสิ่งด้วยสายตาแห่งความจริง ความดี และความงามได้อย่างสมบูรณ์พร้อม และเป็น โลกที่ภาวะสมาธิกับกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันผนึกรวมกันเป็นเนื้อเดียวอย่างแนบแน่น

ภาพวาดของมูซาชิ งานแกะสลักของมูซาชิ งานช่างของมูซาชิ รวมทั้งงานเขียนของมูซาชิในช่วงหลังจากอายุห้าสิบ ล้วนเป็นความหลากหลายในการใช้วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เพื่อ สะท้อนโลกทัศน์ใหม่ และชีวทัศน์ใหม่ ที่ "ผุดบังเกิด" ขึ้นมาภายหลังอายุห้าสิบของมูซาชินั่นเอง

หลังจากที่มูซาชิกลายเป็น "เอกบุรุษ" เมื่ออายุห้าสิบแล้ว เขากลับเรียกชื่อ วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการของเขา ว่า สำนัก "ฟ้าคู่"

"ฟ้าคู่" ในความหมายที่ว่า เหนือฟ้ายังมีฟ้า ไม่ว่าผู้ใดในใต้หล้า ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงไหน มีศักดาอำนาจ ความมั่งคั่งมากล้นเพียงใด ก็ไม่อาจอยู่ค้ำฟ้า ล้วนแล้วแต่ถูกฟ้าค้ำจุนด้วยกัน ทั้งหมดทั้งสิ้น

"ฟ้าคู่" ในความหมายของ "มังกรคู่" หรือ "มังกรบูรณา ที่มุ่งเชี่ยวชาญทั้งบุ๋น และบู๊ไปพร้อมๆ กัน

"ฟ้าคู่" ในความหมายของ เอกภาพระหว่างการทำตัวเป็นปกติกับการคงความเป็นนักรบอย่างประสานกลมกลืน

"ฟ้าคู่" ในความหมายของ การเป็นหนึ่งเดียว ระหว่างสิ่งหนึ่งกับทุกๆ สิ่ง ระหว่างโลกียธรรมกับโลกุตรธรรมระหว่างทักษะกับวิถี ระหว่างชีวิตกับความตาย ทั้งหมดล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน

มูซาชิคือ เสรีชนคนกล้าที่แท้จริง คนหนึ่ง ความเป็นเสรีชนของมูซาชิเห็นได้ชัดจากคำกล่าวของตัวเขาเองที่ว่า ตัวเขา ใจเขา ไม่เคยห่างจากวิถีของฟ้า แต่ก็ไม่เคยถูกผูกมัดด้วยวิถีของฟ้า นี่คืออิสรภาพ และเสรีภาพขั้นสูงสุดอย่างแท้จริง หลังจากกลายเป็นเสรีชนที่แท้จริง การดำเนินชีวิตหลังจากนั้นของมูซาชิล้วนเป็น "ลีลาสมาธิ" ของตัวเขาเท่านั้น

วิถีของมูซาชินั้น เริ่มต้นจากวิถีของดาบ ที่ตัวเขาฝึกฝนเจาะลึกราวกับขุดค้นลงลึกใต้ดินเข้าไปลึกสุดลึก จวบจนกระทั่งเมื่ออายุห้าสิบ ตัวเขาจึงสามารถค้นพบ "ตาน้ำ" หรือแหล่งน้ำพิสุทธิ์ที่อยู่ล้ำลึกใต้พิภพนั้นได้ หลังจากค้นพบแหล่งน้ำใสอันนี้แล้ว เขาจึงนำมันไปใช้ประโยชน์กับศิลปะแขนงอื่นๆ ที่ตัวเขาฝึกฝนศึกษาอย่าง "พหุปัญญา" จนกลายเป็น "โลกของมูซาชิ" ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว

...ชีวิตนี้ของข้าพเจ้า มีวาสนาได้รู้จักเรื่องราวและผลงานของท่านนับว่ามิเสียชาติเกิดแล้ว!

ภูมิปัญญามูซาชิกับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (2)
โดย สุวินัย ภรณวลัย 10 พฤษภาคม 2548 18:25 น.
www.suvinai-dragon.com

มูซาชิ กล่าวว่า แก่นแท้ของกลยุทธ์และวิทยายุทธ์ นั้น อยู่ที่ การมีชัยเหนือผู้อื่น ไม่ว่าต่อปัจเจก หรือต่อฝูงชนล้วนมาจากหลักการเดียวกัน แล้วจะมีชัยเหนือผู้อื่นได้อย่างไร? ต่อคำถามนี้ มูซาชิตอบว่า ก่อนอื่นผู้นั้นจะต้องศึกษาและเข้าถึง คุณธรรม หรือ หลักธรรมของกลยุทธ์และวิทยายุทธ์ ก่อน

การกล่าวเชิงนามธรรมเช่นนี้ของมูซาชิ อาจทำให้ผู้ที่มีความคิดตื้นเขินแย้งว่า คุณธรรมหรือหลักธรรมมิได้ทำให้หายหิว หรือทำให้ท้องอิ่ม จึงไม่มีประโยชน์ในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งมูซาชิจะโต้กลับไปว่า ใน วิถีของสำนักฟ้าคู่ ของเขานั้น การฝึกฝนให้เชี่ยวชาญชำนาญทั้งในเรื่องรูปธรรมอย่างงานช่าง งานฝีมือ และในเรื่องนามธรรมอย่างงานปรัชญาความคิดจึงเป็นวิถีแห่งกลยุทธ์ที่แท้จริง

เพราะในมุมมองของมูซาชินั้น นักดาบที่คิดพึ่งแต่เทคนิคของดาบ เท่านั้นในการชิงชัย สุดท้ายก็จะไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึงวิถีแห่งดาบ เพราะฉะนั้น ถ้าหากสมมติให้มูซาชิสามารถให้คำแนะนำ ภราดร ศรีชาพันธุ์ นักเทนนิสอันดับหนึ่งของไทย ที่ระยะหลังฟอร์มการเล่นไม่ค่อยดีนักได้ มูซาชิก็คงเตือนสติภราดรว่า

"นักเทนนิสที่คิดพึ่งแต่เทคนิคของเทนนิสในการชิงชัย

สุดท้ายก็จะไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึงวิถีแห่งเทนนิส"

หรือถ้าให้มูซาชิมาเตือนสติ "ท่านผู้นำ" แห่งระบอบทักษิณได้ มูซาชิก็คงจะเตือนคุณทักษิณว่า
"ผู้นำทางเศรษฐกิจที่คิด พึ่งแต่เทคนิคของการหมุนเงิน หาเงินในการชิงชัยสงครามเศรษฐกิจ สุดท้ายก็จะไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึง วิถีแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่แท้จริง"

วิถีของนักเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่แท้มิใช่จะเข้าใจ เข้าถึงกันได้ง่ายๆ หรอก ต่อให้หาเงินเก่ง หมุนเงินเก่งแค่ไหนก็ตาม เพราะมันคนละเรื่องกัน

หลักธรรมหรือคุณธรรมแห่งวิถีที่แท้ ย่อมมีความเป็นสากลที่ใช้ได้กับทุกเรื่อง นี่คือ ความเชื่อโดยสุจริตใจของ จอมดาบ อย่างมูซาชิที่ตัวเขาสามารถเข้าถึงสัจธรรมอันนี้ได้ โดยผ่านการฝึกฝนในวิถีแห่งกลยุทธ์ และวิทยายุทธ์อันยาวนานของตัวเขา ภราดรยังไม่เข้าถึง หลักธรรมแห่งวิถีเทนนิส และตัวคุณทักษณก็ยังเข้าไม่ถึงหลักธรรมแห่งวิถีผู้นำ ความสำเร็จที่ได้รับในปัจจุบันจึงชั่วคราว ไม่ยั่งยืน และไม่ได้รับการยกย่องจากเหล่าปราชญ์ และผู้ทรงธรรมทั้งปวง

มูซาชิกล่าวว่า ผู้อยู่บนวิถีใด ผู้นั้นก็ควรที่จะเอาใจใส่ดูแลเครื่องมือแห่งวิถีตนเป็นอย่างดี ดาบเป็นเครื่องมือของนักดาบ ตำราหนังสือเป็นเครื่องมือของนักวิชาการ องค์กรเป็นเครื่องมือของนักบริหาร ผู้อยู่บนแต่ละวิถีควรเอาใจใส่เครื่องมือของตนอย่างให้ความสำคัญดุจชีวิตของตนเอง

ดาบ ต้องเป็น ชีวิตจิตใจ ของ นักดาบ

ตำราหนังสือ ต้องเป็น ชีวิตจิตใจ ของ นักศึกษา ปัญญาชน

การปฏิบัติธรรม ต้องเป็น ชีวิตจิตใจ ของ นักบวช

สุขภาวะขององค์กร ต้องเป็น ชีวิตจิตใจ ของ นักบริหาร

ความมั่นคงยั่งยืนสถาพรของชาติ ต้องเป็น ชีวิตจิตใจ ของ ผู้ปกครองประเทศ...อย่างนี้ถึงจะเรียกได้ว่า กำลังเดินอยู่บนวิถี และไม่เบนห่างจาก วิถีของฟ้า

สำหรับผู้ที่สนใจคิดจะร่ำเรียนฝึกฝนตามแนวทางสำนักฟ้าคู่ของมูซาชิ ตัวเขาได้ให้แนวทางการปฏิบัติตนเอาไว้ 9 ประการ

ซึ่งผู้เขียนได้ตีความตามแนวภูมิปัญญาบูรณาการ ดังต่อไปนี้

(1) จงคิดแต่ในเรื่องที่ถูกต้องดีงามเป็นสัมมาเสมอ หรือขยายความได้ว่า จงคิดดี พูดดี และทำดีในทุกสถานการณ์ที่ตัวเองประสบ ไม่ว่าสถานการณ์นั้นจะเลวร้ายย่ำแย่เพียงไหนก็ตาม ก็จะไม่เลิกคิดดี พูดดี ทำดีเป็นอันขาด

(2) จงหมั่นฝึกฝน "อภิมรรค" หรือ "วิถี"

หมายความว่า จงเลือกฝึกฝนศิลปะอะไรก็ได้ ที่คนผู้นั้นรักจนสามารถทุ่มเทชีวิตจิตใจทั้งหมดของตนให้กับการฝึกฝนศิลปะนั้นได้อย่างมิรู้เบื่อหน่าย อย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า จงพยายามพัฒนายกระดับ "ทักษะ" บางอย่างที่ตนเองมีให้สูงส่งจนกลายเป็น "วิถี" ให้จงได้ สำหรับในกรณีของมูซาชิคือทักษะในการใช้ดาบ

(3) จงสนใจศิลปะแขนงอื่นให้กว้างขวางเข้าไว้ หมายความว่า จงขยายความสนใจใฝ่รู้ในการฝึกฝนตนเองให้กว้างออกไป เพื่อพัฒนา "พหุปัญญา" ของตน ด้วยท่าทีที่เปิดใจกว้างเสมอ และจงมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ศิลปะแขนงต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อบูรณาการการฝึกฝนศิลปะต่างๆ เหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนากาย-ใจ-จิตวิญญาณอย่างรอบด้าน

(4) จงหมั่นศึกษาวิถีของอาชีพอื่นๆ ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งด้วย หมายความว่า จงศึกษาอาชีพสาขาวิชาต่างๆ ในฐานะที่ต่างก็เป็น องค์ความรู้ชนิดหนึ่ง ซึ่งจะต้อง พยายามสังเคราะห์องค์ความรู้ต่างสาขาที่หลากหลายเหล่านั้น ให้กลายเป็นวิสัยทัศน์เชิงบูรณาการของผู้นั้นให้จงได้

(5) จงมีดุลพินิจในการจำแนกสิ่งสาระเป็นประโยชน์ออกจากสิ่งสาระไร้ประโยชน์ หมายความว่า จงเลือกทำแต่ในสิ่งที่ช่วยให้ตนเองมีความรุดหน้าบน "วิถี" เท่านั้น และใช้ชีวิตตามมาตรฐานตามหลักการนี้อย่างเคร่งครัด

(6) จงมีสายตาคมกล้าในการมองสรรพสิ่ง หมายความว่า จงมองให้ทะลุถึงแก่นแท้แห่งหลักวิวัฒนาการของสรรพสิ่ง หรือจักรวาฬ (Kosmos) จนสามารถกำหนดตำแหน่งแห่งที่ (positioning) และทิศทางพัฒนาการของสังคม และปัจเจกไปพร้อมๆ กันได้

(7) จงแลเห็นในสิ่งที่คนทั่วไปมองไม่เห็น หมายความว่า จงพัฒนาความสามารถเชิงญาณทัสนะ (intuition) หรือสัมผัสพิเศษในเชิงญาณปัญญา โดยผ่านการเจริญสมาธิภาวนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับรู้สิ่งที่เหนือโลก สิ่งที่เป็นอภิปรัชญาได้

(8) จงมีความละเอียดรอบคอบ แม้แต่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หมายความว่า จงหมั่นเจริญสติปัฏฐาน 4 จนกระทั่งจิตมีความตื่นตัว มีสติเต็มบริบูรณ์อย่างรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เป็นนิจ

(9) จงอย่าทำในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ หมายความว่า จะคิดทำการสิ่งใด ต้องเห็นภาพทั้งหมดอย่างเป็นองค์รวม แล้วเลือกกระทำแต่ในสิ่งที่ก่อประโยชน์สูงสุดแก่คนส่วนใหญ่เสมอ

มูซาชิกล่าวว่า ผู้ใดก็ตามที่หมั่นฝึกฝน วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ ตามแนวทางการปฏิบัติ 9 ประการ ที่เขาเสนอไว้ดังข้างต้น จงพยายามบรรลุทั้ง ความลึก และ ความกว้าง ของวิถีไปพร้อมๆ กัน จงหมั่นฝึกฝนทั้งด้านทักษะเทคนิคแห่งวิถีให้เชี่ยวชาญ จงฝึกฝนวิธีคิด วิธีพินิจพิเคราะห์ของวิถีนั้นอย่างละเอียดลึกซึ้ง จงฝึกปรือร่างกายตนเองจนเคลื่อนไหวได้อย่างแคล่วคล่อง แม้เริ่มมีอายุแล้ว กำลังวังชา พละกำลัง ความคล่องตัวก็ยังไม่เสื่อมถอย จงฝึกจิตฝึกใจ จนกระทั่ง "ไม่หวั่นไหว" แม้ตกอยู่ในสถานการณ์คับขันเพียงใดก็ตาม หากผู้นั้นสามารถฝึกฝนตนเองในทุกมิติ ในทุกด้านได้อย่างนี้แล้ว จะแพ้คนอื่นได้อย่างไร? จะแพ้ตัวเองได้อย่างไร? ไม่ว่าจะต่อสู้กันตัวต่อตัว หรือต่อสู้กับคนหมู่มากก็ตาม

ใจของวิชาฝีมือของสำนักฟ้าคู่ของมูซาชินั้น ใช้ "น้ำ" เป็นต้นแบบ เพื่อได้มาซึ่งชัยชนะ มูซาชิบอกว่า คนเราต้องใช้ใจตนเองค้นหา "ใจของน้ำ" ให้พบ และหมั่นฝึกฝนจิตใจของตนเองให้กลายเป็นใจของน้ำให้จงได้

มูซาชิกล่าวว่า ใจจะต้องเป็นปกติเสมอ ไม่ว่ายามเผชิญการต่อสู้ หรือยามใช้ชีวิตประจำวันก็ตาม จะให้ผิดแผกแตกต่างกันไม่ได้ กล่าวคือ ใจของนักกลยุทธ์ที่แท้จะต้องกว้าง เปิดเผย เที่ยงตรง ไม่กระด้างเกินไป ไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่โอนเอียงไปข้่างไหน แต่จะต้องผ่อนคลายและสงบเยือกเย็นเป็นธรรมดา ไม่ใช่ว่ายามร่างกายนิ่งแล้วใจถึงค่อยนิ่ง แต่จะต้องฝึกตนจนกระทั่งแม้ยามร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ใจก็ยังคงนิ่งเป็นปกติไม่เคลื่อนไหว หวั่นไหวตามไปด้วย

ใจจะต้องไม่ถูกร่างกายที่เคลื่อนไหวฉุดลากไป และร่างกายก็ไม่ควรถูกใจที่เตลิดฉุดลากไปเช่นกัน จงใส่ใจกับการกำหนดวางใจ โดยอย่าให้ใจไปยึดติดกับร่างกาย พยายามรักษาสภาพ "อ่อนนอกแข็งใน" เอาไว้เสมอ อย่าให้คนอื่นอ่านออกได้

ในการใช้ชีวิตประจำวัน จงพยายามระมัดระวังอย่าให้จิตใจเกิดความขุ่นมัว หม่นหมอง จงทำใจให้กว้างและมีปัญญาเป็นศูนย์กลาง จงให้ความสำคัญในการฝึกฝนลับใจให้คมพร้อมๆ กับลับปัญญาให้คมพอๆ กัน การลับปัญญาให้แหลมคมจะช่วยให้การแยกแยะธรรมะอธรรม ผิดชอบชั่วดีในโลกนี้อย่างถูกต้องได้ เมื่อมีปัญญาในการเรียนรู้โลกเช่นนี้แล้ว ต่อไปปัญญาอันนี้ก็จะสามารถพัฒนาไปเป็นปัญญาของหลักกลยุทธ์และหลักวิทยายุทธ์ได้อย่างแน่นอน

ภูมิปัญญามูซาชิกับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (3)
โดย สุวินัย ภรณวลัย 17 พฤษภาคม 2548 18:13 น.
www.suvinai-dragon.com

โลกของนักกลยุทธ์ อย่างมูซาชิมันเป็น โลกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะ มันเป็นโลกของนักคิด นักปราชญ์ โลกของนักพรต โลกของนักรบ และโลกของศิลปินในคนคนเดียวกัน เวลาที่เราอ่าน "ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่" เรายังไม่สามารถจินตนาการได้ว่า โลกของซุนหวู่ผู้แต่งตำราพิชัยสงครามอันลือลั่นเล่มนี้เป็นคนอย่างไร และใช้ชีวิตยังไง หรืออาจกล่าวได้ว่า เนื้อหา ของ "ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่" กับ วิถีของซุนหวู่ สามารถแยกจากกันได้เป็นเอกเทศ และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ ผู้ที่ศึกษา แต่ "ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่" จึงยังไม่ใช่ผู้ที่อยู่บนวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการที่แท้จริง

แต่เวลาที่เราจะอ่าน "คัมภีร์ห้าห่วง" ของมูซาชิให้ เข้าถึง เรากลับพบว่า เนื้อหา ของ "คัมภีร์ห้าห่วง" ไม่อาจศึกษาอย่างแยกส่วนจาก วิถีของมูซาชิ ได้เลย เราต้องอยู่บนวิถีเดียวกับวิถีของมูซาชิ เราจึงจะสามารถเข้าถึงแก่นแท้ของ "คัมภีร์ห้าห่วง" ได้ กล่าวโดยนัยนี้ วิถีของมูซาชิเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ที่ต้องการฝึกฝนวิชากลยุทธ์เชิงบูรณาการ

ใน "ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่" เราจะไม่ได้เจอคำสอนทำนองนี้เหมือนอย่างใน "คัมภีร์ห้าห่วง" ของมูซาชิ ยกตัวอย่างเช่น

"ยามเผชิญเรื่องราวใดๆ ใบหน้าจะต้องไม่ลนลาน ไม่หลบสายตาผู้คน ไม่หน้านิ่วคิ้วขมวด สายตาจะต้องไม่วอกแวก ห่อตาเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ตากะพริบ ตีสีหน้าเข้ม เชิดจมูกและคางเล็กน้อย ลำคอตั้งตรง หลังตั้งตรง แต่ไหล่จะต้องตก บริเวณนับตั้งแต่ลำคอลงมาจะต้องไม่เกร็งแรงไว้ที่ส่วนไหนของร่างกายเป็นพิเศษ ก้นจะต้องไม่ยื่นออก บริเวณตั้งแต่หัวเข่าลงมาถึงปลายเท้า คือ ส่วนที่พยุงแรงทั้งหมดของร่างกายเอาไว้ จงทำตัวเหมือนยามปกติในขณะเผชิญการต่อสู้ และจงทำตัวเหมือนพร้อมต่อสู้ในขณะดำเนินชีวิตตามปกติ"

ใน "วิถีกลยุทธ์เชิงบูรณาการของมูซาชิ นั้น เรียกร้องให้ผู้นั้น นอกจากจะเป็น นักกลยุทธ์ แล้วจะต้องเป็น นักรบ ไปพร้อมๆ กันด้วย มูซาชิบอกว่า วิชาฝีมือของสำนักเขานั้น ถือหลักเสี่ยงตาย ยินดีเอาชีวิตเข้าแลกในการต่อสู้ทุกครั้ง จึงมิได้เน้นความพลิกแพลงใช้ลวดลายเหมือนสำนักอื่น แต่เน้นความเด็ดขาด รู้เป็นรู้ตายเป็นสำคัญ โดย มุ่งที่จะต่อสู้กับคนจำนวนมากกว่าแล้วก็ยังสามารถเอาชนะได้ เพื่อการนี้ผู้ฝึกจะต้องรู้จุดเด่นจุดด้อย และความถนัดของคู่ต่อสู้ให้กระจ่างเสียก่อน ที่จะเอาชนะเขา อีกทั้งจะต้องรู้อย่างถี่ถ้วนด้วยว่า ในวงการนี้นอกจากตัวเราแล้วมีใครคนไหนบ้างที่เก่งจริง และเก่งอย่างไรในเรื่องอะไร ตัวเราจะได้มีความมานะหมั่นฝึกฝนตนเองทั้งเช้าเย็น เพื่อบรรลุสภาวะอิสรเสรี และความสามารถที่โดดเด่นเหนือธรรมดาให้จงได้

มูซาชิบอกว่า วิถีของนักรบต้องเป็นวิถีของสุญตา อันเป็นสภาวะที่ ใจว่าง แต่เป็นความว่างอย่างมีปัญญา รู้ว่ากำลังมีอะไรหรือไม่มีอะไรอยู่ในใจตน แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นอิสระจากความมีไม่มีนั้น ใจที่ว่างอย่างขาดสติ ขาดปัญญา จึงไม่ใช่สุญตา แต่เป็นความหลง นักรบที่ไม่รู้จักวิถีของนักรบ จึงไม่อาจมีสุญตาได้ นักกลยุทธ์ที่รู้จักแต่เทคนิคของกลยุทธ์ แต่ไม่รู้จักวิถีของกลยุทธ์ ก็ไม่อาจมีสุญตาได้ เช่นกัน

นักรบ จะต้องยึดมั่นใน วิถีของวิชาฝีมือ หมั่นฝึกฝนฝีมือของตนอย่างต่อเนื่องจริงจัง ด้วยจิตใจที่เปิดเผย เปิดกว้าง ร่าเริง โดยไม่มีความหลง ความขุ่นมัว ความเมามัวอยู่ในจิตใจ และไม่เกียจคร้านลำพองตน นักรบและนักกลยุทธ์ที่ดีจะต้องหมั่นฝึกฝนทั้งกาย ใจ และลมปราณโดยไม่ขาดตกบกพร่อง เขาจะต้องฝึกฝน "ตาใจ" เพื่อให้มีสัมมาทิฐิจะได้สามารถขจัดเมฆหมอกให้หมดไปจากใจได้ นี่แหละคือ ความหมายของสุญตาที่แท้จริงในทัศนะของมูซาชิ

มูซาชิบอกว่า ตราบใดที่ผู้นั้นยังไม่ได้ตระหนักถึงวิถีที่แท้จริงของกลยุทธ์อันนี้ ต่อให้ฝึกฝนเทคนิคมากแค่ไหน ก็จะไม่มีทางกระจ่างแจ้งได้ เพราะยังคิดเข้าข้างตัวเองอยู่ จึงมิอาจเข้าใจได้ว่า สุญตาคือวิถี (เต๋า) และวิถีก็คือ สุญตา จะมีก็แต่ผู้ที่มีจิตใจซื่อตรง จริงใจ และถ่อมตนเท่านั้น จึงจะฝึกฝนสำเร็จ

เมื่อได้อ่าน "คัมภีร์ห้าห่วง" ของมูซาชิ เราจะยิ่งตระหนักชัดว่า มูซาชิเป็นผู้ที่ช่ำชองใน "ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่" อย่างหาตัวจับยากคนหนึ่ง จนแทบกล่าวได้ว่า กลยุทธ์ของมูซาชิ ใน คัมภีร์ห้าห่วงคือ ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่ในระดับปัจเจก นั่นเอง

คำสอนของซุนหวู่ ต่อไปนี้ล้วนเป็นหลักกลยุทธ์ที่มูซาชิได้ฝึกฝนจนชำนาญ

"ย่อม สามารถเอาชนะได้ เมื่ออีกฝ่ายเดาใจไม่ถูก"

"จะรู้ว่าได้เปรียบมากหรือน้อย ต้องประเมินสถานการณ์ เสียก่อน"

"จงคว้าชัยมาโดยยอมให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด"

"ต้องรู้ว่า เมื่อไหร่ควรโจมตี เมื่อไหร่ควรหลีกเลี่ยงการปะทะ"

"จงเอาชนะด้วยสติปัญญาเสียก่อน ที่จะเริ่มทำสงคราม"

"จงสู้รบเมื่ออยู่ในตำแหน่งที่มีแต่ทางชนะ" "ต้องใช้ทั้ง ความประหลาดใจ และ การโจมตีตรงหน้า ได้อย่างเหมาะสม"

"รสมีอยู่เพียงไม่กี่รส แต่ถ้าเรารู้จักผสมกันจะได้รสชาติอันโอชะแห่งชัยชนะมากมายให้ลิ้มได้ไม่รู้จบ"

"จงใช้พลานุภาพที่ทรงพลัง ใช้จังหวะเวลาที่แม่นยำ"

"จงบีบข้าศึกให้เคลื่อนไหวไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเรา"

"จงลึกลับอย่างมีเหลี่ยม ไปถึงอย่างไม่มีรูปแบบที่เห็นได้ชัด จงเร้นกายอย่างลี้ลับ ไปถึงอย่างไม่มีเสียง แล้ว ใช้ทักษะทุกอย่างควบคุมการตัดสินใจของข้าศึก"

"จงเป็นฝ่ายเลือกรบ จงหลีกเลี่ยงสงครามที่เราไม่ต้องการ"

"จงรบให้ชนะอย่างเด็ดขาด อย่าให้ข้าศึกมีโอกาสได้โงหัวขึ้นมาอีก"

"จงจัดรูปแบบการรบดุจ น้ำ จงทำตัวได้ดั่ง เงา"

"ชัยชนะได้มาจากการสร้างโอกาสโจมตี แม่ทัพต้องไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอย"

จากวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการของมูซาชิ ทำให้เราตระหนักได้ว่า การจะเป็นนักกลยุทธ์ และนักรบที่ดีได้อย่างมูซาชินั้น จำเป็นจะต้องฝึกฝนการใช้มันสมองซีกซ้าย (ส่วนที่เป็นความคิด ตรรกะ เหตุผล) และมันสมองซีกขวา (ส่วนที่เป็นญาณ สมาธิ ศิลปะ ความงาม พลังสร้างสรรค์) ให้ใช้งานได้ดีทั้งสองส่วน กล่าวคือ นักกลยุทธ์ที่ดีควรเป็นบุคคลที่มีทั้งญาณทัสนะ (intuitive) และตรรกะเหตุผล (rational) อยู่ในตัวเองอย่างพร้อมบริบูรณ์

"คัมภีร์ห้าห่วง" เป็นผลงานจากมันสมองซีกซ้ายของมูซาชิ ขณะที่ภาพเขียน ภาพแกะสลักเป็นผลงานจากมันสมองซีกขวาของมูซาชิ เหตุที่มูซาชิสามารถใช้สมองทั้งสองซีกได้ดีกว่าคนทั่วไป น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่เขาเป็นคนที่ถนัดทั้งสองมือ เพราะใช้ดาบคู่ได้อย่างแคล่วคล่อง

การทำงานของมือขวานั้น ถูกบงการให้เคลื่อนไหวด้วยคำสั่งจากสมองซีกซ้าย ส่วนการทำงานของมือซ้ายนั้นถูกบงการให้เคลื่อนไหวด้วยคำสั่งจากสมองซีกขวา ปัจจุบันวงการวิชาการต่างยอมรับแล้วว่า การฝึกใช้สองมือให้คล่องแคล่วนั้น มีส่วนกระตุ้นการทำงานของสมองโดยตรง โดยเฉพาะ การฝึกใช้ "มือซ้าย" ให้มาก ให้คล่องดุจมือขวา ตั้งแต่วัยเยาว์ย่อมมีผลดี ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อการพัฒนามันสมองซีกขวา ซึ่งบงการเรื่องญาณ จินตภาพ จินตนาการ การแสดงออกทางศิลปะ ความสร้างสรรค์อย่างแน่นอน

วิธีการหายใจอย่างมีศิลปะ ก็น่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนามันสมองทั้งสองซีกได้เช่นกัน นอกจากการฝึกหายใจแล้ว การฝึกสมาธิก็น่าจะมีผลให้ศักยภาพในการสร้างสรรค์ และทักษะฝีมือของคนผู้นั้นเพิ่มขึ้นสูงมากขึ้นได้

นอกจากการฝึกหายใจ และการฝึกสมาธิแล้ว การฝึกปลายนิ้วให้แข็งแรงและคล่องแคล่วปราดเปรียว ก็น่าจะมีผลต่อการพัฒนาการใช้สมองทั้งสองซีกของคนเราได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วบูรพาจารย์ในสมัยโบราณคงไม่กล่าวออกมาหรอกว่า "นิ้วมือคือมันสมองที่อยู่ภายนอกของร่างกายคน"

ในวิชาการแพทย์ของจีน ก็ยังสอนไว้อย่างชัดเจนเลยว่า ปลายนิ้วทั้งหมดของคนเรานั้น ล้วนเชื่อมต่อกับอวัยวะภายในทั้งหมดของคนเรา ยกตัวอย่างเช่น นิ้วหัวแม่มือ เชื่อมกับระบบประสาทที่เกี่ยวกับความสามารถในการตัดสินใจ นิ้วชี้ เชื่อมกับประสาทตาและระบบย่อยอาหาร นิ้วกลาง เชื่อมกับกระดูกสันหลัง และระบบหมุนเวียน นิ้วนาง เชื่อมกับกระเพาะ ลำไส้ นิ้วก้อย เชื่อมกับพลังชีวิต พลังทางเพศ จึงเห็นได้ว่า ถ้าหากต้องการจะเพิ่มพลังทางกาย ก็ควรที่จะเสริมความแข็งแกร่ง และคล่องแคล่วปราดเปรียวให้กับนิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย แต่ถ้าต้องการจะเพิ่มพลังสมองก็ควรจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้

มูซาชิฝึกพัฒนาการใช้สมองทั้งสองซีกของเขา โดยผ่านการฝึกดาบและการจับพู่กันวาดภาพเขียน เพราะการฝึกดาบ ถือดาบ ชักดาบ ฟันดาบของมูซาชิตามปกติก็เป็นการฝึกปลายนิ้วอยู่แล้ว ยิ่งมูซาชิยังใช้เวลาที่เหลือนอกจากการฝึกดาบมาจับพู่กันวาดภาพ เขียนหนังสือ หรือจับมีด แกะสลักก็ยังเป็นการฝึกปลายนิ้วอยู่ดี

โดยปกติ การใช้ พลังสมอง ของคนเราสามารถจำแนกได้ออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ

(1) การใช้พลังสมองที่ปรากฏออกมาในรูปของ ความสามารถในการจดจำ ในการใช้ตรรกะเหตุผล (มันสมองซีกซ้าย)

(2) การใช้พลังสมองที่ปรากฏออกมาในรูปของ ความสามารถในการคิดไอเดียใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ (มันสมองซีกขวา)

(3) การใช้พลังสมองที่ปรากฏออกมาในรูปของ ญาณทัสนะหรือสัมผัสพิเศษ ซึ่งเป็นการหยั่งรู้ที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการนึกคิดใช้เหตุใช้ผล (มันสมองซีกขวา)

ความโดดเด่นในการใช้ พลังสมอง ของมูซาชิในเชิงกลยุทธ์นั้น จะเห็นได้จากความสามารถในการคิดค้นไอเดียใหม่ๆ มาใช้ได้อยู่เรื่อยในการต่อสู้ของเขา ไม่ว่าจะเป็น การใช้สงครามจิตวิทยา การอ่านใจของคู่ต่อสู้ การไม่ยึดติดกับอาวุธที่ใช้เหล่านี้ เป็นต้น แน่นอนว่า ความสามารถในการคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ในการต่อสู้ของมูซาชินี้ เป็นผลงานจากมันสมองซีกขวาของเขาที่ตัวเขาฝึกฝนเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั่นเอง

เราสามารถดึงข้อสรุปที่เป็นหลักเกณฑ์ใหญ่ๆ ได้ 5 ประการในการฝึกฝน ความสามารถในการคิดค้นไอเดียเชิงกลยุทธ์ใหม่ๆ ออกมาได้เรื่อยๆ จากประสบการณ์ของมูซาชิดังต่อไปนี้

(1) จงล้มเลิกความคิดความเชื่อเก่าๆ ที่กลายมาเป็นความเคยชิน หรือเป็นสามัญสำนึกโดยไม่ตั้งข้อสงสัย (ความสามารถในการคิด "นอกกรอบ")

(2) จงมีความสนใจให้กว้างในสาขาวิชาต่างๆ (ความสามารถในการศึกษาอย่างบูรณาการ)

(3) จงหมั่นลับสมองให้เฉียบคมอยู่เสมอ โดยผ่านการอ่านหนังสือที่มีสาระอย่างสม่ำเสมอ หรือผ่านการเล่นหมากล้อมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อฝึกวิธีคิดในเชิงกลยุทธ์เป็นประจำ

(4) จงใส่ใจวิธีคิดที่แลไปข้างหน้า และวิธีคิดในเชิงบวก อย่าให้อดีตมาเป็นโซ่ตรวนที่จองจำความคิดของเรา

(5) จงสร้างนิสัยให้หมั่นฝึกสมาธิอยู่เสมอ

ในสมัยของมูซาชิมีความเชื่อในหมู่นักดาบชาวญี่ปุ่นว่า การใช้ดาบจะต้องใช้สองมือจับ แต่มูซาชิกลายมาเป็นนักดาบชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ใช้อาวุธที่มีอยู่ทั้งหมดในการต่อสู้กับปรปักษ์จำนวนมาก สำหรับเขาก็คือ การใช้ดาบคู่ที่เป็นดาบยาวกับดาบสั้น
ในเรื่องการมีความสนใจให้กว้างนั้น มูซาชิเคยกล่าวไว้ว่า "การฝึกแต่เทคนิคการใช้ดาบเพียงอย่างเดียว จะไม่ทำให้เข้าใจวิถีแห่งดาบที่แท้จริงได้" แต่การได้ฝึกศิลปะแขนงอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วยกลับจะทำให้ผู้นั้นสามารถเข้าใจวิถีแห่งดาบได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ในเรื่องการลับสมองให้เฉียบคมอยู่เสมอนั้น มูซาชิได้เคยเปรียบเทียบเอาไว้ว่า อันวิชาฝีมือของนักรบนั้น ก็ไม่แตกต่างไปจากวิถีของช่างไม้ที่จะต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดีอยู่เสมอ ถึงจะเป็นช่างไม้ที่ดีได้ ช่างไม้ที่ดีจะต้องหมั่นลับหมั่นฝนเครื่องไม้เครื่องมือของตนให้คมอยู่เสมอฉันใด คนเราก็ควรหมั่นลับสมองของตนให้เฉียบคมอยู่เสมอฉันนั้น

ในเรื่องการเอาใจใส่ในวิธีคิดในเชิงบวกที่แลไปข้างหน้าเสมอนั้น มูซาชิเคยกล่าวไว้ใน "วิถีที่เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว" ( ) ของเขาว่า "ตัวเราจะไม่สำนึกเสียใจในภายหลังกับเรื่องที่ตัวเราได้ทำลงไปแล้ว!"

ใช่หรือไม่ว่า ความทุกข์ส่วนใหญ่ของคนเราเกิดมาจากการยังยึดติดอยู่กับเรื่องราวในอดีต หรือเสียใจในเรื่องที่ได้กระทำลงไปแล้ว ว่าไม่ควรทำเช่นนั้นเลย? เพราะการกลุ้มใจอยู่กับอดีตนี่แหละ ที่ทำให้มนุษย์เราผลาญ "ปัจจุบัน" ไปอย่างไร้ค่า น่าเสียดาย และบั่นทอนศักยภาพของตัวเราในการทำงานที่สร้างสรรค์ออกมา มูซาชิคงต้องการจะบอกกับพวกเราว่า หากไม่อยากทุกข์ ก็จงใช้ แต่ละปัจจุบันขณะอย่างสร้างสรรค์ และคุ้มค่าเพื่อที่จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง

ส่วนการสร้างนิสัยให้หมั่นฝึกฝนสมาธิอยู่เสมอนั้น เป็นสิ่งสำคัญเพราะการฝึกสมาธิเป็นการช่วยผ่อนคลายร่างกายและจิตใจที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง และสภาพที่คนเราผ่อนคลายอย่างเต็มที่ ทั้งทางร่างกายและจิตใจก็ยังเป็นสภาพที่จะก่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ออกมาได้ง่ายที่สุดด้วย

นอกจากความสามารถในการคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์แล้ว มูซาชิยังมีความสามารถที่เป็นญาณทัสนะ หรือสัมผัสพิเศษ อันเป็นความสามารถที่จะหยั่งรู้อนาคตหรืออันตรายล่วงหน้าได้อย่างที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยตรรกะเหตุผล ความสามารถอันนี้เป็นผลของ การฝึกจิตรวมกาย มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน นักกลยุทธ์ที่ดีจะขาดความสามารถเชิงญาณทัสนะหรือสัมผัสพิเศษนี้ไม่ได้เลย

มูซาชิบอกว่า ผู้ใดก็ตามที่คิดจะฝึก วิชากลยุทธ์เชิงบูรณาการ ของเขาให้รุดหน้าได้ ผู้นั้นจะต้องฝึกใจจนมีใจเหมือนน้ำคือ มี ใจน้ำ และเป็นใจน้ำที่อยู่ใต้ทะเลลึกหนึ่งร้อยเชียะให้ได้เสียก่อน ใจน้ำในความหมายของมูซาชิคือ ใจนิ่งเป็นปกติแม้ตกอยู่ในภาวะคับขัน นอกจากมีใจที่นิ่งดุจใจของน้ำลึกแล้ว มูซาชิยังบอกอีกว่า นักกลยุทธ์ที่ดี จะต้องมีความสามารถในการรวมพลังจิตพลังใจของตนให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้เกิดพลังแรงกล้าที่จะเปล่งออกมาในทุกๆ การกระทำของตน สองสิ่งนี้ฟังดูเหมือนขัดแย้งกัน แต่ถ้าเราศึกษา "น้ำ" เราจะพบสองคุณสมบัติที่ว่านี้อยู่ในตัวน้ำ เพราะแม้ภายนอกน้ำจะดูอ่อนนิ่มและโอนอ่อนตาม แต่น้ำกลับแฝงอานุภาพทำลายอย่างคาดไม่ถึง

มีหลักเกณฑ์ใหญ่ๆ อยู่ 3 ประการใน การฝึกรวมพลังจิต ที่เราสามารถดึงข้อสรุปจากประสบการณ์ของมูซาชิออกมาได้ดังต่อไปนี้

(1) จงตั้งปณิธานให้แก่ตัวเอง หรือกำหนดเป้าหมายที่แน่วแน่แน่ชัดให้แก่ตนเอง

(2) จงตั้งเงื่อนไขเวลาเอาไว้ด้วยว่า จะต้องบรรลุปณิธานของตนในแต่ระดับภายในระยะเวลาที่จำกัดไว้เมื่อใด คือต้องแข่งขันกับเวลาด้วย
(3) จงใช้การฝึกลมหายใจ การฝึกลมปราณมาช่วยเสริมการรวมพลังจิตให้แรงกล้ายิ่งขึ้น

ผู้ใดก็ตามที่รักษาหลักเกณฑ์ 3 ประการข้างต้นนี้ ได้โดยตลอดต่อเนื่องในระหว่างการฝึกฝนเหมือนอย่างมูซาชิแล้ว พลังจิต ของคนผู้นั้น และ ความสามารถในการรบชนะ ของคนผู้นั้นจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

แม้แต่ "คนเก่ง" อย่างมูซาชิเองก็ยังมีช่วง "ขาลง" หรือมีบางช่วงที่มีสภาวะจิตตกต่ำเป็นการชั่วคราวได้เหมือนกัน เมื่อตกอยู่ในสภาพขาลงหรือสภาพตกต่ำเช่นนั้น มูซาชิมีวิธีการอย่างไร หรือทำอย่างไรถึงจะเอาชนะช่วงขาลง หรือช่วงสภาวะจิตตกต่ำของตนได้?

คนจริงคนแท้นั้น เขามิได้วัดกันดูกันที่ช่วง "ขาขึ้น" หรอก เขาวัดกันดูกันที่ช่วง "ขาลง" ต่างหากว่า จะทำตนเยี่ยงไร และผ่านพ้นห้วงยามนั้นมาได้อย่างไร จากประสบการณ์ของมูซาชิ เขาได้ใช้วิธีการ 3 วิธีดังต่อไปนี้สลับกันไป หรือเลือกใช้หนึึ่งในสามวิธีนี้ตามวาระโอกาส และสภาพแวดล้อมในการเอาชนะช่วง "ขาลง" ของตัวเขา

(1) หันไปทำไปศึกษาเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยกับวิชาดาบ (วิถีหลัก) ของเขา หรือ

(2) หันไปทุ่มเทให้กับการฝึกวิชาดาบ (วิถีหลัก) ของเขามากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ขนาดเรียกได้ว่า ฝึกอย่างเอาเป็นเอาตาย

(3) ปลีกตัวเร้นกายไปบ่มเพาะพลัง ถนอมพลังของตนเอาไว้ อดทนจนกว่าทุกอย่างจะดีขึ้นหรือคลี่คลายขึ้น

ภูมิปัญญาของมูซาชิ และวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการของเขาเป็นสิ่งที่ไม่ล้าสมัยเลยแม้ในยุคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคปัจจุบันที่ทั้งชะตากรรมของประเทศ และชะตากรรมของปัจเจกถูกโยงเข้าสู่วังวนของ "สงครามเศรษฐกิจ" และสงครามในมิติอื่นๆ นี่นับวันยิ่งรุนแรงขึ้นทุกที วิถีของมูซาชิเป็นวิถีของผู้ที่สามารถผ่านช่วงกลียุคแห่งยุคสมัยของเขามาได้อย่างองอาจ หฤหรรษ์ สง่างาม และเป็นไท วิถีของเขาจึงให้แรงบันดาลใจแก่พวกเราที่จะต้องฟันผ่าช่วงกลียุคแห่งยุคสมัยของพวกเราไปให้ได้เช่นกัน

Special Thank For Credit Link: http://e-service.agri.cmu.ac.th/download/course/lec_356303_%BE%CB%D8%BB%D1%AD%AD%D2%A2%CD%A7%C1%D9%AB%D2%AA%D4%E3%B9.doc