จิตร ภูมิศักดิ์ : ชีวิตและตำนานของชายผู้เป็นเอกในทุกทาง (วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง. 2549)
จิตร ภูมิศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2473 ณ ตำบลประจันตคามอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี และเสียชีวิตจากคมกระสุนของเจ้าหน้าที่ในขณะปฏิบัติการร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) ในนาม สหายปรีชา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ที่ ตำบลบ้านหนองกุงอำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนครรวมอายุได้ 36 ปี
จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นบุตรของ นายศิริ ภูมิศักดิ์และนางแสงเงิน ภูมิศักดิ์ มีชื่อเดิมว่า สมจิตร ภูมิศักดิ์ แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็น จิตร เพียงคำเดียว ตามนโยบายการตั้งชื่อให้ระบุเพศชายหญิงอย่างชัดเจน ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวัยเด็ก จิตร ภูมิศักดิ์ติดตามบิดาซึ่งรับราชการเป็นนายตรวจสรรพสามิตที่จังหวัดกาญจนบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2479 และเข้ารับการศึกษาชั้นประถมในโรงเรียนประจำจังหวัดที่นั่น ต่อมาเขาได้ย้ายมาอยู่ที่สมุทรปราการ และย้ายตามบิดาที่ไปรับราชการในเมืองพระตะบองเมื่อปี พ.ศ. 2483 ซึ่งสมัยนั้นเมืองพระตะบองเป็นเมืองในการปกครองของไทย และได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมที่นั่น และต่อมาปี พ.ศ. 2490 ประเทศไทยต้องคืนดินแดนเมืองพระตะบองให้กับกัมพูชา ประกอบกับบิดาของเขาได้ไปมีครอบครัวใหม่กับหญิงอื่น เขาจึงต้องอพยพตามมารดากลับเมืองไทย มารดาของเขาได้เดินทางไปค้าขายที่จังหวัดลพบุรี ส่วนเขาเองและพี่สาวได้เดินทางมาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร โดยจิตร ภูมิศักดิ์เข้าเรียนที่โรงเรียนเบญจมบพิตร ต่อมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในที่สุด
จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการนำเสนอผลงานในฐานะนักวิจารณ์ศิลปวัฒนธรรม กวี และนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งผลงานล้วนสะท้อนปัญหาและวิพากษ์วิจารณ์สังคมด้านต่างๆ อย่างแหลมคมและตรงไปตรงมา ดังที่ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง. (2549:32) กล่าวว่า"สายตาของปราชญ์ย่อมแลเห็นการณ์ไกล กระทั่งอาจมองทะลุไปสู่กาลที่ยังมาไม่ถึง" และแม้แต่พระยาอนุมานราชธนซึ่งเป็นอาจารย์ของจิตรยังต้องแสดงความเป็นห่วงว่า"เขาเป็นคนแรง ความคิดความเห็นเฉียบแหลม ฉันไม่อยากให้เขาคิดไกลเกินไป อยากให้เขาเล่นทางนิรุกติ์ดีกว่า" (วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง. 2549:33)
บทบาทของจิตร ภูมิศักดิ์ เริ่มเมื่อเป็นนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะศึกษาปีที่ 3 (พ.ศ. 2496) เขาได้เป็นสาราณียกรหนังสือ มหาวิทยาลัย 23 ตุลา โดยรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการและรับผิดชอบในการตีพิมพ์ด้วย ในหนังสือเล่มนี้มีบทความ เปิดโปงและวิพากษ์วิจารณ์การคอรัปชั่นในวัด และ โจมตีผู้หญิงที่ไม่รับผิดชอบในความเป็นแม่ เป็นต้น ในระหว่างการพิมพ์หนังสือได้ถูกตำรวจสันติบาลอายัด และมีการสอบสวนเขาที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเหตุการณ์ครั้งนั้น จิตร ภูมิศักดิ์ถูกกลุ่มนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ตั้งศาลเตี้ยจับ"โยนบก"ลงจากเวทีหอประชุม จนได้รับบาดเจ็บและเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหลายวัน ต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษและมีมติให้เขาพักการเรียนเป็นเวลา1 ปี
ระหว่างถูกพักการเรียนในปี พ.ศ. 2497 จิตร ภูมิศักดิ์ได้ไปสอนวิชาภาษาไทยที่โรงเรียนอินทรศึกษา แต่สอนได้ไม่นานก็ถูกให้ออก เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีหัวก้าวหน้ามากเกินไป เขาจึงไปทำงานกับหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง ที่เขาได้สร้างสรรค์ผลงานการวิจารณ์ที่มีคุณค่าต่อวงวิชาการไทยหลายเรื่อง เช่น การวิจารณ์วรรณศิลป์ หนังสือ และภาพยนตร์ โดยใช้นามปากกา "บุ๊คแมน" และ"มูฟวี่แมน"
จิตร ภูมิศักดิ์ : คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย(วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง. 2549)
เมื่อเรียนจบในปี พ.ศ. 2500 จิตร ภูมิศักดิ์ได้ไปเป็นครูที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ขณะเดียวกันก็ได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เขาได้ผลักดันหนังสือรายปักษ์ "เสียงนิสิต" ซึ่งเป็นหนังสือสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ออกสู่เวทีวรรณกรรม รวมทั้งได้เขียน "ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน" ที่สั่นสะเทือนวงวรรณกรรมของพวกเผด็จการฟาสซิสต์และศัตรูของประชาชน ที่ได้มอมเมาประชาชนมานาน และอีกหนึ่งบทความที่สำคัญยิ่งของเขาก็คือ"โฉมหน้าศักดินาไทย" ที่ตีพิมพ์ในวารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 4 "โฉมหน้าศักดินาไทยนี่เองที่ทำให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เดือดร้อนอย่างหนักเหมือนถูกน้ำร้อนราดใส่ ถึงกับต้องเขียนหนังสือ "ฝรั่งศักดินา" ออกมาโต้" (ชมรมหนังสือแสงตะวัน. ม.ป.ป.:8-9)
โฉมหน้าศักดินาไทย เป็นบทความที่จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนในยุคที่ประเทศไทยอยู่ในสภาพกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ในนามปากกา สมสมัย ศรีศูทรพรรณ โฉมหน้าศักดินาไทย ก่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างร้อนแรงตั้งแต่เผยแพร่ เนื่องจากเป็นงานแหวกวงล้อมออกจากการเขียนงานทางประวัติศาสตร์ "สกุลดำรงราชานุภาพ" อันเป็นวิธีการหลักของนักประวัติศาสตร์ไทย มาสู่การศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อเป้าหมายแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น และเอื้อประโยชน์ต่อชนส่วนใหญ่ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ นอกคอกที่สุดตรงที่หนังสือเล่มนี้ใช้ลัทธิมาร์กซ์เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์สังคม หนำซ้ำยังนำออกเผยแพร่ในห้วงยามที่การป้ายสีคอมมิวนิสต์ตามแบบฉบับของ "ลัทธิแม็คคาร์ที" กำลังระบาดรุนแรงในสังคมไทย (วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง. 2549:27-28) เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ จึงเป็นงานศึกษาสังคมไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกษัตริย์ในฐานะศูนย์กลางของรัฐและสังคมไทย และในอีกด้านหนึ่ง ยังแสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของพระองค์ในฐานะที่เป็นปัญหาของรัฐและสังคมไทย นอกจากนั้น จิตร ภูมิศักดิ์ยังชี้ให้เห็นถึงระบบการขูดรีดของชนชั้นศักดินา หรือการแสวงหาผลประโยชน์จากปัจจัยแห่งการผลิต ที่ชนชั้นศักดินากระทำต่อไพร่ เช่น การเก็บภาษีอากรจากที่ดิน ค่าเช่า ดอกเบี้ย และการผูกขาดภาษี เป็นต้น การเขียนทั้งหมด เขาได้แสดงที่ไปที่มาตลอดจนการอ้างอิงตามหลักวิชา และยังได้แสดงข้อมูลที่ละเอียดลึกซึ้งอีกด้วย
ผลงานที่สำคัญและมีชื่อเสียงมากที่สุดอีกเล่มหนึ่งของจิตร ภูมิศักดิ์ ในนาม "ทีปกร" คือ หนังสือ "ศิลปเพื่อชีวิต"ที่ได้ตีพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกและครั้งเดียวในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ โดยสำนักพิมพ์เทวเวศม์เมื่อปี พ.ศ. 2500 และต่อมาได้มีผู้รวบรวมผนวกเข้ากับข้อเขียนของเขาอีกเล่มคือ "ศิลปเพื่อประชาชน" เป็น "ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน" นำมาตีพิมพ์อีกหลายครั้ง หนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อขบวนการนักศึกษา และปัญญาชนคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และถือเสมือนเป็นประทีปนำทางในการสร้างสรรค์งานศิลปะ วรรณกรรม แก่นักเขียน ศิลปิน แห่งยุคสมัยนั้น และเป็นต้นกำเนิดของวรรณกรรมเพื่อชีวิตและเพลงเพื่อชีวิตในเวลาต่อมา
เนื้อหาในหนังสือดังกล่าว ว่าด้วยการวิเคราะห์ชนชั้นทางสังคมมาเป็นทฤษฎีชี้นำการวิพากษ์ศิลปวรรณคดี โดยจิตร ภูมิศักดิ์ได้กล่าวถึงที่มาของคำว่า "ศิลปะเพื่อศิลปะ" ด้วยการอธิบายให้เห็นถึงที่มาของคตินิยมของศิลปะเพื่อศิลปะว่า ที่จริงมันมีต้นกำเนิดมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของสังคมมนุษย์ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งสังคมยุโรปในยุคสมัยนั้น ถือว่ามีความเจริญทางด้านอุตสาหกรรมและพาณิชย์ก้าวหน้าไปมาก จึงเกิดความขัดแย้งกันระหว่างชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นชนชั้นของผู้ผลิตที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น กับชนชั้นศักดินาซึ่งเป็นชนชั้นของผู้ปกครองที่ยังล้าหลัง และในที่สุดชนชั้นกลางก็สามารถเอาชนะเหนือชนชั้นศักดินาได้ ดังจะเห็นได้ในประเทศฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นกลางในปี ค.ศ. 1789 และขยายไปสู่ส่วนอื่นๆ ของโลกในเวลาต่อๆมา เช่น ในประเทศจีนหลังการปฏิวัติของชนชั้นกลางโดยการนำของ ดร.ซุน ยัดเซน เมื่อปี ค.ศ. 1911 และในประเทศไทยในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองปี พ.ศ. 2475 เป็นต้น นอกจากนั้น จิตร ภูมิศักดิ์ยังชี้ให้เห็นว่า อาวุธอันสำคัญที่ชนชั้นกลางใช้ในการต่อสู้ก็คือ ศิลปะและวรรณคดีในการโจมตีระบบศักดินา และเสนอแนวคิดใหม่ทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม โดยได้ยกตัวอย่างศิลปินที่สำคัญเช่น ในฝรั่งเศสได้แก่ วอลแตร์ รุสโซ มงแตสกิเยอ ติเดอโรต์ ในอังกฤษได้แก่ โจนาธาน สวิฟท์ ฟิลดิง ไบรอน เซลลี คีต และในประเทศไทยได้แก่ เทียนวรรณ หรือ ต.ว.ส. วรรณาโภ ครูเทพหรือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นต้น
แม้ในผลงานวิชาการของจิตร ภูมิศักดิ์หลายๆเล่ม ที่โจมตีระบบศักดินาอย่างรุนแรง เพราะเขาถือว่าชนชั้นศักดินาเป็นศูนย์กลางของชีวิตมนุษย์ในสังคม แต่ในหนังสือเล่มนี้ เขากลับมิได้โจมตีศิลปินว่าเลวทรามแต่อย่างใด เนื่องจากเขาเชื่อว่า ศิลปะและวรรณคดีในยุคใด ก็ย่อมรับใช้ผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองแห่งยุคสมัยนั้น แต่ความเป็นจริง ในบทความอีกหลายๆเล่ม เขาก็ยังอดที่จะวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะนักกวีไทยที่รับใช้ศักดินาว่า เป็นพวก "กวีแปดขา" (Eight legged essay) คือ พวกที่มิได้วิเคราะห์สภาพความเป็นจริงอะไรของชีวิตออกมา สักแต่เขียนคำและวลีที่ฟังดูใหม่ๆ และก้าวหน้ายุ่งเหยิงเต็มไปหมด ก็เพื่อรับใช้ชนชั้นศักดินาเท่านั้น เช่นเดียวกันเมื่อชนชั้นกลางสามารถเอาชนะชนชั้นศักดินาได้ในเวลาต่อมา ศิลปะและวรรณคดีของชนชั้นกลางก็ย่อมรับใช้ชนชั้นกลางไปด้วย ศิลปะและวรรณคดีของชนชั้นกลางจึงแหวกวงล้อมสกุลคลาสสิค (Classism) ของชนชั้นศักดินาออกไป กลายเป็นรูปแบบเพ้อฝันอย่างเสรีที่เรียกกันว่า จินตนิยม (Romanticism) ที่เกิดมาจากระบบเสรีนิยม (Liberalism) ซึ่งศิลปะจินตนิยมนี้แหละ ที่จิตร ภูมิศักดิ์เชื่อว่าเป็น "สะพาน" ที่นำไปสู่คตินิยม "ศิลปะเพื่อศิลปะ"
"ศิลปเพื่อศิลป"...ผู้ที่ประกาศคตินิยมนี้ออกมาเป็นครั้งแรกก็คือ วิคตอร์ กูแซ็ง (Victor Cusin) นักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 กูแซ็งได้ประกาศความเชื่อมั่นทางศิลปของเขาออกมาในปาฐกถาที่แสดง ณ มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (ในปารีส) เมื่อ ค.ศ. 1818 ว่า : "L' art pour l' art" ประโยคภาษาฝรั่งเศสสั้นๆ ประโยคนี้แหละ ที่ได้รับการแปลถ่ายออกเป็น "Art for Art's sake" ในภาษาอังกฤษ และ "ศิลปเพื่อศิลป"ในภาษาไทย (ทีปกร. 2540:3)
จากข้อความข้างต้น จิตร ภูมิศักดิ์ชี้ให้เห็นว่า แม้วิคตอร์ กูแซ็ง จะเป็นคนประกาศคำว่า "ศิลปะเพื่อศิลปะ" เป็นคนแรก แต่แท้ที่จริงแล้ว เขาได้รับอิทธิพลมาจากแนวความคิดของคานท์ (Kant) นักปรัชญาชาวเยอรมันในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่เสนอว่า "ความไม่สนใจในอะไรเลย" (Disintivestedness) รวมทั้งศิลปินทั้งหลายในสำนักจินตนิยม ล้วนมองเห็นศิลปะเป็นของบริสุทธิ์สูงส่งไร้ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชีวิตบนพื้นโลก ศิลปินควรจะมีโลกของศิลปินต่างหาก เป็นโลกเฉพาะของตนที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นจริงหรือความเป็นไปใดๆในสังคมมนุษย์ ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการเมือง และทั้งชีวิตของมวลประชาชน ฉะนั้นศิลปะของพวกเขา จึงควรเป็นศิลปะที่ไม่สนใจอะไรเลย เพราะศิลปะมันมีอยู่ได้โดยตัวของมันเอง และมีอยู่เพื่อตัวของมันเอง (Exists Ley itself and for itself) นั่นก็คือ มันเป็นศิลปะเพื่อศิลปะ
"คติศิลปเพื่อศิลป ได้กลายเป็นหอคอยงาช้างที่พวกศิลปินสำนักจินตนิยมปิดขังตนเองไว้ภายในและห่างขาดจากเรื่องราวอันเป็นไปได้จริงต่างๆ เสียโดยสิ้นเชิง... ชนชั้นกลางได้ยึดถือเอาคติศิลปเพื่อศิลปไว้เป็นสมบัติของชนชั้นตน พวกเขาเน้นหนักลงที่สภาวะอันสูงส่งในฝันของศิลป และที่สถานะอันเลอศักดิ์เหนือการเมืองของศิลปิน คตินี้ได้ปิดขังศิลปินไว้ภายในกรงทอง" (ทีปกร.2540:15)
จากข้อความข้างต้น เป็นคำกล่าวของ เฮาเซอร์ (Arnold Hauser) ที่เขียนสรุปไว้ในหนังสือ The Social History of Art ซึ่งจิตรยกย่องว่า เป็นการกล่าวสรุปลักษณะของศิลปะเพื่อศิลปะที่ชัดเจนและถูกต้องอย่างสมบูรณ์ นอกจากนั้น จิตร ภูมิศักดิ์ยังอธิบายต่อไปว่า ความไม่สนใจในอะไรเลย ศิลปินจึงต้องพยายามสร้างผลิตกรรมที่ไม่สะท้อนแทนอะไรเลย (Non-Representational Art) ให้ได้ ศิลปินจึงต้องพยายามทิ้งเนื้อใน (Essence) หรือเนื้อหา (Content) ของศิลปินเสีย และเอาใจใส่อยู่แต่เฉพาะกับเทคนิคหรือรูปร่างแต่อย่างเดียวนั่นคือ สร้างผลิตกรรมที่มีแต่รูปแบบปราศจากเนื้อหา ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์เรียกว่า "ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง" นอกจากนั้น เขายังได้อ้างคำกล่าวของหลายๆ ท่าน เพื่อสนับสนุนแนวความคิดของเขา เช่น ตอลสตอยที่เรียกว่า มันเป็นแค่งานฝีมือ (Craftmanship) ไม่เรียกว่า ศิลปะ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน ก็เรียกสิ่งนี้ว่า "ผลิตกรรมทางเทคนิค" พร้อมทั้งยกตัวอย่างงานศิลปะเพื่อศิลปะที่เขาเรียกว่า ศิลปะแบสแตรค (Abstract Art) หรือศิลปะเลออัตนิยม (Sur-realism)
ในท้ายบทความ จิตร ภูมิศักดิ์ได้ทิ้งท้ายให้ผู้อ่านหรือศิลปินตระหนักว่า จงสร้างศิลปะที่สัมพันธ์กับชีวิตของมหาชน จงสร้างศิลปะที่นำชีวิตประชาชนไปสู่ความดีงาม จงสร้างศิลปะที่รับใช้ชีวิตของประชาชน กล่าวคือ ศิลปะเพื่อชีวิต แล้วประชาชนจะต้อนรับท่านอย่างอบอุ่นที่สุด พร้อมทั้งยกคำกล่าวของตอลสตอยที่ว่า "นักคิดและศิลปินจักต้องไม่สิงสถิตอยู่อย่างขลึมขลัง ณ ที่อันสูงส่งราวกับเขาไกรลาศอย่างที่เราได้เคยคิดฝันกันมาแต่ก่อน...เขาจักต้องอยู่ในสภาพตื่นเต้นเร้าร้อนเสมอไปมิวายวัน ทั้งนี้เพราะเขาอาจจักต้องกล้าเสี่ยงภัยที่จะพูดอะไรสักอย่างที่รับใช้ประชาชน ที่ขจัดความทุกข์ยากและปลอบโยนมวลประชาชน ถ้าเขาไม่พูดสิ่งที่ถูกต้อง พรุ่งนี้ก็อาจจะช้าไปเสียแล้ว เขาอาจจะตาย...นักคิดและศิลปินประเภททาสอารมณ์และเจ้าสำราญจักมีอยู่ไม่ได้เด็ดขาด" (ทีปกร.2540:19-20)
งานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ในยุคแรก ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลการวิจารณ์วรรณคดีไทยโดยตรงจากอัศนีย์ พลจันทร์ หรือ "นายผี" และด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมจากสุภา ศิริมานนท์ นอกจากนั้น เขายังได้รับอิทธิพลจากงานเขียนในแนวอัตถนิยมทางสังคมนิยม(Socialist Realism) ของชาวโซเวียตและจีน ผู้ที่มีจิตใจเกลียดความอยุติธรรมทั้งปวง และยืนหยัดต่อสู้เพื่อโลกที่ดีกว่า ดังจะเห็นได้จากผลงานแปลเรื่อง "แม่" ของแมกซิม กอร์กี้ และงานเขียนของหลู่ซิ่น และในอีกหลายๆ บทความเขายังได้อ้างถึง คาร์ล มาร์ซก, ตอลสตอย, หลิว พันนุง, จูซื่อชิง, โกะ โมะ โยะ, หลิว อิเชิง, ชา โอว, หม่า ฟันโต, เติง จุงเซีย, เกวาะ เมาะ เยาะ, เจียง กวางจื้อ, เทียนเซียน ฯลฯ รวมทั้งเรื่องสั้นของชาวอียิปต์อีกหลายเล่ม ซึ่งนักเขียนทั้งหมดดังกล่าว ล้วนเป็นผู้ที่อยู่เคียงข้างประชาชนส่วนใหญ่ และอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพวกศักดินาและนายทุนทั้งหลาย
จิตร ภูมิศักดิ์ : อัจฉริยภาพแห่งปราชญ์ผู้มาก่อนกาล(วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง. 2549)
นามปากกาของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ใช้ในการเขียนบทความ หนังสือ บทวิจารณ์ บทกวี ฯลฯ มีหลายชื่อ เช่น นาคราช, ศูลภูวดล, ศรีนาคร, ทีปกร, สมสมัย ศรีศูทรพรรณ, ศิลป์ พิทักษ์ชน, สมชาย ปรีชาเจริญ, สุธรรม บุญรุ่ง, ขวัญนรา, สิทธิ ศรีสยาม, กวีการเมือง, กวี ศรีสยาม, บุ๊คแมน, มูฟวี่แมน(มูวี่แมน), ศิริศิลป์ อุดมทรรศน์ และ จักร ภูมิสิทธิ์ หนังสือและบทความที่เขียนขึ้นจากนามแฝงต่างๆ ดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความเป็นนักปราชญ์และนักต่อสู้ของจิตร ภูมิศักดิ์ ในรูปแบบและเนื้อหาที่ต่างกันออกไป ดังจะเห็นได้ในหลายๆ เล่ม อาทิเช่น ความเป็นมาของคำสยามไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, บทวิเคราะห์วรรณกรรมยุคศักดินาของ ทีปกร ศิลปิน นักรบประชาชน, บทวิเคราะห์มรดกวรรณคดี, รวมบทความทางภาษาและนิรุกติศาสตร์, รวมบทกวีและงานวิจารณ์ศิลปะวรรณคดีของกวีการเมือง, พระเจ้ากำเนิดข้ามาเสรี, ความใฝ่ฝันแสนงาม, ภาษาละหุหรือมูเซอร์, ข้อเท็จจริง ว่าด้วยชนชาติขอม,ความอบอุ่นอันอ่อนหวาน, ตำนานแห่งนครวัด, เสียงเพลงแห่งการต่อต้าน, ความเรียงว่าด้วยศาสนา, คาร์ล มาร์กซ, คนขี่เสือ, ด้วยเลือดและชีวิต, โคทาน, แม่, นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา, สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา, โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา และอีกหลายๆ เล่มที่สำคัญ ดังนี้
"บทวิพากษ์ ว่าด้วยศิลปวัฒนธรรม" เป็นหนังสือที่รวมเอาบทวิจารณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่เขียนในคอลัมน์ "ศิลปวิจารณ์" หนังสือปิตุภูมิรายสัปดาห์ระหว่างปี พ.ศ. 2499-2500 วาทกรรมเด่นๆ เช่น "ศิลปทั้งผองต้องเพื่อเกื้อชีวิตของมวลมิตรผู้ใช้แรงทุกแห่งหน ใช่เพื่อศิลปอย่างที่นับสัปดน ใช่เพื่อตนศิลปินชีวินเดียว",... "ปัญหาศิลปและวัฒนธรรมจักต้องผูกพันอยู่กับชนชั้นเสมอไป ศิลปินผู้เผยแพร่ศิลปและวัฒนธรรมจะแยกตัวออกจากปัญหาชนชั้นไม่ได้เลย ถ้าเขาไม่เป็นศิลปินที่รับใช้ชนชั้นผู้ขูดรีด เขาก็ต้องเป็นศิลปินของชนชั้นคนงานผู้ถูกขูดรีด...ทางสายกลางที่จะนำศิลปินไปสู่ความเป็นอิสระของศิลป ไปสู่ศิลปบริสุทธิ์นั้นย่อมไม่มี",... "ขึ้นชื่อว่าศิลปแล้ว มันจักต้องทำหน้าที่สะท้อนแทนความคิด และสภาพความจัดเจนของชีวิตมนุษย์เสมอไป",... "คำว่า สะท้อนภาพชีวิตได้อย่างงดงาม ตามความหมายของอัตถนิยมทางสังคมนิยม(Socialist Realism) ที่ข้าพเจ้ายึดเป็นหลักในการวิจารณ์ศิลปเสมอมานั้น หมายถึง การสะท้อนภาพชีวิตออกมาอย่างตรงต้องตามความเป็นจริงที่มันเป็นอยู่ (Objective Reality) และสะท้อนถ่ายออกมาได้อย่างตรึงตรา",... "การเป็นกลางที่ถูกต้อง จักต้องเป็นผู้รักษาความยุติธรรม ความยุติธรรมก็คือไม่ยอมให้ชนส่วนน้อยทำการขูดรีดชนส่วนข้างมาก...ศิลปินผู้ที่ทนดูเพื่อนมนุษย์ต้องถูกขูดรีดตายไปอย่างช้าๆ ทีละน้อยๆ ได้อย่างไร้ความรู้สึกและการช่วยเหลือ ก็ย่อมมีลักษณะเป็นผู้มีใจแข็งกระด้างอำมหิตไร้มนุษยธรรม" ฯลฯ
"ชีวิตและศิลป" เป็นหนังสือที่รวมเอาบทความของจิตร ภูมิศักดิ์ ในนาม "สมชาย ปรีชาเจริญ" ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สารเสรีระหว่างปี พ.ศ. 2500-2501 เนื้อหาภายในเล่มสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับงานได้อย่างก้าวหน้าล้ำยุค เช่น ข้อเขียนเกี่ยวกับศิลปะดนตรี "แคน...ดนตรีแห่งการต่อสู้ชีวิต" แคนของประชาชนภาคอีสานเป็นเสียงเพลงแห่งการต่อสู้อันไม่ท้อถอยของชีวิต จังหวะอันกระชั้น ลีลาอันแข็งแกร่งของเพลงแคนเป็นสัญลักษณ์แห่งการปลุกเร้าวิญญาณแห่งการต่อสู้โดยแท้จริง ความแห้งแล้งอันโหดร้ายทารุณของธรรมชาติ ความกดขี่ บีบคั้น อย่างสาหัสทางสังคมที่เขาเคยได้รับและยังได้รับอยู่นั้น หาได้ทำให้เขาค้อมหัวลงยอมจำนนต่อมันไม่ ตรงข้ามมันยิ่งจะชุบย้อมให้วิญญาณแห่งการต่อสู้ของเขาทุกๆ ดวงให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น (สมชาย ปรีชาเจริญ.2523:17) ในบทความ "อีศานนับแสนแสนสิพ่ายผู้ใดหนอ?" จิตร ภูมิศักดิ์ได้ยกเอาบทกลอน "อีศาน" ของนายผีผู้ซึ่งเขายกย่องว่าเป็นปราชญ์แห่งประชาชนในอนาคต ดังบทกลอนว่า
ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย
น้ำตาที่ตกราย ก็รีบซาบบ่รอซึม
แดดเปรี้ยงปานหัวแตก แผ่นดินแยกอยู่ทึบทึม
แผ่นอกที่ครางครึม ขยับแยกอยู่ตาปี...
(สมชาย ปรีชาเจริญ.2523:27)
จากงานเขียนที่ปรากฏทั้งหมดดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษา ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี อีกทั้งเชื่อมั่นในโลกอนาคตที่จะเป็นของประชาชนส่วนใหญ่ เขามีอุดมการณ์กับการต่อสู้ เขามิได้เป็นเพียงคนก้าวหน้าในยุคสมัยของเขาเท่านั้น แต่เขาเป็นผู้ที่กล้าประกาศตนเองเป็นศัตรูกับสถาบันชั่วร้ายทั้งหมดในยุคของเขา กล่าวได้ว่าเขาเป็นกบฏต่อยุคสมัยของตน (ชมรมหนังสือแสงตะวัน.ม.ป.ป.:7) จิตร ภูมิศักดิ์จึงกลายเป็นศิลปินนักรบประชาชน ที่ใช้รูปแบบทางศิลปะทิ่มแทงฝ่ายศัตรูได้อย่างแหลมคมที่สุด ด้วยการเปิดโปง ตีกระหน่ำ และสร้างสรรค์งานใหม่ ผลงานที่ออกมา จึงทำให้ฝ่ายตรงข้ามแทบกระอักเลือด เพราะไม่มีทางบิดเบือนแก้ไขได้ จนนำไปสู่การตั้งข้อกล่าวหาเขาว่า มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และถูกจับขังคุกในที่สุดเป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ.2501-2507)
จิตร ภูมิศักดิ์ จึงนับเป็นกวีผู้ไม่เป็นกลาง ไม่เป็นขวา แต่เป็นผู้ยึดมั่นศรัทธาในประชาชนอย่างสุดจิตสุดใจ เขาจึงเป็นฝ่ายซ้ายที่พวกฝ่ายขวาต้องการห้ำหั่นมากที่สุด และในที่สุด แม้เขาต้องจบชีวิตด้วยน้ำมือของฝ่ายตรงข้าม เมื่ออายุเพียง 36 ปี การตายของเขาเปรียบเสมือนดั่งบทกวีของ อาเวตีก อีสากยัน ที่เขาแปลเองว่า "เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์ สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์ แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน" แม้ชีวิตจะสั้น กาลเวลาจะผ่านไปยาวนาน แต่ตำนานการต่อสู้ อุดมการณ์ และผลงานอันเกรียงไกรของเขา ยังคงอยู่ในจิตใจของประชาชนผู้ไม่ยอมสยบให้กับอำนาจอยุติธรรม และจะยังคงอยู่ต่อไปจนกว่าโลกนี้ จะมีความเสมอภาคกัน
บรรณานุกรม
คำกรอง. (2523). "ลักษณะร้อยกรองเพื่อชีวิตช่วง 14 ตุลาคม 2516 - 6 ตุลาคม 2519 และอิทธิพลที่ได้รับจากงานร้อยกรองของ จิตร ภูมิศักดิ์ และกวีช่วง 2490 – 2500"ชื่อจิตร ภูมิศักดิ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ปุยฝ้าย.
ชมรมหนังสือแสงตะวัน. (ม.ป.ป.). บทวิเคราะห์วรรณกรรมยุคศักดินาของ จิตร ภูมิศักดิ์. ม.ป.พ.
ชลธิรา กลัดอยู่. (2517). วรรณคดีของปวงชน. กรุงเทพฯ : อักษรสาสน์.
ทีปกร. (2540). ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน. กรุงเทพฯ: นกฮูก.
ฝ่ายวิชาการ องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2517). วรรณคดีของปวงชน. กรุงเทพฯ: อักษรสาสน์.
วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง. (2549). จิตร ภูมิศักดิ์ คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย. กรุงเทพฯ : สารคดี.
ศิลป์ พิทักษ์ชน. (2517). บทวิพากษ์ว่าด้วยศิลปวัฒนธรรมของ"จิตร ภูมิศักดิ์". กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์.
สมชาย ปรีชาเจริญ. (2523). ชีวิตและศิลป. กรุงเทพฯ: ชัยวัฒนาการพิมพ์.
สมสมัย ศรีศูทรพรรณ. (2539). โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: รุ่งเรืองชัย.
สิทธิ ศรีสยาม (จิตร ภูมิศักดิ์) และหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์). (2533). นิราศ หนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา. กรุงเทพฯ: ส่องศยาม.